พรึ่บ! มาตรการเข้มสกัดโอมิครอนถล่มหลังปีใหม่ หน่วยงานรัฐสั่งเข้มกฎเหล็ก WFH ขณะที่ทำเนียบฯ ยกเลิกหมายงานนายกฯ รวด เดินหน้าประชุม ครม.ออนไลน์เต็มรูปแบบ ด้าน “บิ๊กตู่” นั่งไม่ติดสั่งถอดบทเรียนกาฬสินธุ์ “หมอยง” กางข้อมูลวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 แนะยึดหลักแนวทางศึกษาในประเทศสำคัญที่สุด ขณะที่ทีมแพทย์ สธ.เตรียมประเมินสถานการณ์ในประเทศ จับตาใกล้ชิด “อุบลฯ-ชลบุรี” ลำปางหนาวแน่ โผล่พรวดต่อเนื่องรายที่ 3
เมื่อวันอาทิตย์ ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากที่ น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำด้านประสานกิจการภายในประเทศ แจ้งสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า จากมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มีไปยังส่วนราชการและหน่วยงานในทำเนียบรัฐบาล
ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะปฏิบัติตามมาตรการ โดยจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออนไลน์จากที่พัก และเลื่อนวาระงานพบปะนัดหมายไปก่อน และด้วยมาตรการข้างต้น จึงขอให้สื่อมวลชนงดรวมกลุ่มในทำเนียบรัฐบาลให้เวิร์กฟรอมโฮมตามแนวปฏิบัติของ ศบค.และหน่วยงานราชการ ระหว่างวันที่ 4-14 ม.ค.นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ทำเนียบรัฐบาลได้แจ้งยกเลิกวาระงานประจำวันอังคารที่ 4 ม.ค.ทั้งหมด อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีหนังสือด่วนแจ้งไปยัง ครม. ผู้ติดตาม ครม. ผู้เข้าร่วมประชุม ครม. และผู้ประสานงานประจำกระทรวงให้ทราบว่าในการประชุม ครม.ในครั้งต่อไป วันที่ 4 ม.ค.65 จะเป็นการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เต็มรูปแบบ
วันเดียวกัน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการในส่วนของสถานศึกษาหลังเทศกาลปีใหม่ว่า โรงเรียนต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการมีทั้งสิ้นประมาณ 2.9 หมื่นแห่ง ในส่วนของอาชีวศึกษามีประมาณ 1,000 แห่ง ขณะที่ส่วนของภาคเอกชนมีประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ยืนยันว่าทุกโรงเรียนทำตามมาตรการที่กำหนดอยู่แล้ว โดยวันที่ 3 ม.ค. กระทรวงศึกษาธิการจะมีการประชุมเพื่อให้มีการเคร่งครัดเรื่องมาตรการเพิ่มขึ้น อาจมีการยกระดับมาตรการ ขณะที่มาตรการโดยรวมนายกฯ ได้มีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐเวิร์กฟรอมโฮมเป็นเวลา 14 วันหลังเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว โดยวันที่ 5 ม.ค.ทาง ศปก.ศบค.จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์และจะมีข้อเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 7 ม.ค.ต่อไป
ด้าน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงนามในประกาศแนวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายหลังเทศกาลปีใหม่ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยนายนิวัติไชยกล่าวว่า ให้ส่วนราชการในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมช่วงปีใหม่ โดยเฉพาะจังหวัดที่ตรวจพบเชื้อโอมิครอน เมื่อกลับมาปฏิบัติงานให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งหน่วยงาน (เวิร์กฟรอมโฮม) เป็นระยะเวลา 7 วัน โดยกำหนดสัดส่วนให้มีผู้มาปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ในสังกัดทั้งหมด ทั้งนี้ ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และสำนักงาน ป.ป.ช. และการให้บริการประชาชน รวมทั้งผลปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงานของส่วนราชการ
สั่งถอดบทเรียนกาฬสินธุ์
ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาดูสถานการณ์กลุ่มผู้ติดเชื้อโอมิครอนเข้มข้น ป้องกันการไม่ให้เกิดรูปแบบคลัสเตอร์ที่แพร่กระจายเชื้อ ถอดบทเรียนจากคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ที่มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนคลัสเตอร์นี้แล้ว 244 ราย จำกัดวงลดการแพร่กระจายเชื้อภายในประเทศให้มากที่สุด
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแผนการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ในปี 2565 ถึงการรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า แม้จะมีรายงานการติดเชื้อเข้ามา แต่สิ่งที่เราต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดคือ อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต ต้องพยายามกดยอดส่วนนี้ให้อยู่ในจุดที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ พร้อมไปกับการเปิดทางให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ การปิดเมืองจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่เราจะพิจารณาใช้อย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุด
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโอมิครอนยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โรคไม่รุนแรง แต่มีการติดเชื้อมากขึ้น โดยผู้ป่วยโรคต่างๆ ทุกโรคที่กังวลคือ กรณีที่ติดเชื้อแล้วจะมีการเสียชีวิต แต่ถ้าติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ และสร้างภูมิคุ้มกันได้ ก็ไม่เป็นอะไร อย่างไรก็ตาม สธ.จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 3 มกราคมนี้ ก่อนสรุปสถานการณ์และมาตรการเพื่อเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 หรือ ศบค. ในวันที่ 7 มกราคมนี้ ทั้งนี้ ภาพรวมของโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอน โรคน่าจะมีการระบาด แต่ขณะนี้ยังไม่ก่อโรครุนแรง ยังอยู่ภายใต้การควบคุม
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โอมิครอนในประเทศ ในการตรวจหาสายพันธุ์ตั้งแต่เปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-วันที่ 1 มกราคม 2565 พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสม 1,551 ราย แบ่งเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 779 ราย และติดในประเทศ 772 ราย
"โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นวันเดียว 189 ราย แบ่งเป็น ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 68 ราย และติดในประเทศ 121 ราย ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 47 จังหวัด โดยจังหวัดที่พบมากสุดคือ กรุงเทพมหานคร 395 ราย กาฬสินธุ์ 195 ราย ชลบุรี 148 ราย ภูเก็ต 125 ราย และ ร้อยเอ็ด 119 ราย
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก็เป็นไปตามที่เราคาดสถานการณ์ไว้ว่า จะพบการติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นหลังปีใหม่ ขณะนี้ประชาชนเริ่มกลับมาทำงานแล้ว ทาง สธ.ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ออกมาตรการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (work for home) ให้มากที่สุด เพื่อประเมินสถานการณ์ประมาณ 2 สัปดาห์” นพ.ศุภกิจกล่าว
และว่า ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนตรวจ ATK เพื่อคัดกรองตนเอง โดยเฉพาะช่วงที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ แม้ผลตรวจเป็นลบก็ต้องตรวจซ้ำ ในช่วง 1-3 วัน และย้ำว่าอยู่ร่วมกันในครอบครัวก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ที่ จ.อุบลราชธานี วันนี้ (2 มกราคม 2565) ตนเองได้ลงพื้นที่ติดตามคลัสเตอร์ที่ จ.อุบลฯ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคลัสเตอร์ที่ จ.กาฬสินธุ์ คือกรณีร้านอาหารกึ่งผับที่มีคนเข้าไปเที่ยวต่อเนื่องจากผับแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง
"ขณะนี้ที่ผมจับตาอยู่ 2 จังหวัดนี้คือ ชลบุรีและอุบลราชธานี อย่างสถานการณ์ที่อุบลฯ นั้น พบมีผู้ติดเชื้อวันหนึ่งขึ้นไป 300 คน และขึ้นค่อนข้างเร็ว ต้องติดตามรายละเอียดกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) อุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่งว่าจะต้องมีมาตรการอย่างไร จะต้องปิดอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่คนกำลังเดินทาง ขอให้ดำเนินการตรวจ ATK เป็นระยะๆ อย่างน้อยกลับเข้าพื้นที่ก็ตรวจ หากมีอาการก็ตรวจอีก หรือตรวจหลัง 7 วัน ย้ำเลยว่า ATK ช่วงนี้สำคัญมาก" นพ.โอภาสกล่าว
หมอยงเปิดข้อมูลกระตุ้นเข็ม 3
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องโควิด-19 วัคซีนการกระตุ้นเข็ม 3 ในสูตรต่างๆ ของประเทศไทยว่า วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 จะใช้ mRNA และไวรัสเวกเตอร์ เช่น Pfizer (PZ), Modena (MN), AstraZeneca (AZ) วันนี้จะให้ดูข้อมูลการกระตุ้นด้วย mRNA ในสูตรต่างๆ ของประเทศไทยที่ใช้ เช่น เชื้อตาย 2 เข็ม SP-SP, SV-SV, SV-AZ, AZ-AZ ซึ่งเป็นสูตรหลักที่ใช้ในประเทศไทย
นพ.ยงระบุว่า การใช้วัคซีน mRNA ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้เป็นเข็มกระตุ้น เพราะได้ฉีดวัคซีนชนิดอื่นมาแล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนการกระตุ้นด้วย AZ ในกลุ่ม SV-SV-AZ ได้มีการตีพิมพ์แล้ว ส่วน SV-AZ-AZ และ AZ-AZ-AZ จะนำมาเสนอต่อไป ได้ฉีดให้อาสาสมัครไปแล้ว Moderna ที่ใช้เป็นเข็มกระตุ้นในอเมริกาจะให้เพียงครึ่งโดสเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นหลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ Moderna หรือ J&J ที่เป็นไวรัสเวกเตอร์
นพ.ยงกล่าวว่า ในทำนองเดียวกัน ประเทศอังกฤษก็ใช้วัคซีน Moderna เข็มกระตุ้นตามหลัง AZ ด้วยขนาดครึ่งโดส เพื่อลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือเจ็บบริเวณที่ฉีด ยกแขนไม่ขึ้น ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย และที่สำคัญในเข็มกระตุ้น จะพบการโตของต่อมน้ำเหลืองที่ใต้แขนมากกว่าเข็มที่ 1 และ 2 (ข้อมูลของ US CDC)
"ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูล PZ-PZ-PZ 3 เข็ม (triple P) ในประเทศไทยเพื่อนำมาเปรียบเทียบ (ขณะนี้ได้จำนวนหนึ่งแล้ว) และกำลังศึกษา AZ-AZ-AZ หรือที่เรียกว่า triple A อีกด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลทุกกลุ่มที่มีการใช้ในประเทศไทย ส่วนกลุ่ม MN-MN-MN หรือ triple M คงจะหายากหรือต้องรออีกนาน การให้ mRNA ในขนาดครึ่งโดส โดยเฉพาะ MN ผลที่ได้ไม่ได้แตกต่างกันมากกับการให้ขนาดเต็มโดส เพราะภูมิขึ้นสูงมาก และที่เห็นได้ชัดคืออาการข้างเคียงน้อยกว่า" นพ.ยงระบุ
นพ.ยงระบุว่า ระดับภูมิต้านทาน neutralizing antibody (NT) ต่อสายพันธุ์ต่างๆ ได้ดำเนินไปมากพอสมควรแล้ว โดยใช้ sVNT หรือไวรัสเทียม และไวรัสจริง สายพันธุ์ Delta และ Omicron (แยกไวรัสจากผู้ป่วยได้แล้ว และได้ทำไปส่วนหนึ่งแล้วโดย อาจารย์จุฑาทิพย์ และคณะ ที่ศิริราช) และปฏิกิริยาระดับเซลล์ CMIR ก็ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน จะแสดงในโอกาสต่อไป รวมทั้งเก็บเม็ดเลือดขาวที่จะศึกษาในทางลึกต่อไป
"ในอดีตที่ผ่านมาการศึกษาระดับภูมิต้านทานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ sVNT ในสายพันธุ์ต่างๆ ดังที่ได้มีการเผยแพร่ในวารสารนานาชาติไปแล้ว ข้อมูลดังกล่าวจะมีการเผยแพร่ในวารสารต่างประเทศต่อไป และจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการวัคซีนในประเทศไทยให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย โดยการศึกษาในประเทศไทยมากกว่าที่จะใช้ข้อมูลจากต่างประเทศ และในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาจากสถานการณ์จริงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค" นพ.ยงระบุ
ลำปางวุ่นพรวด 3 รายแล้ว
ที่ จ.ลำปาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ระบุว่า พื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ล่าสุดได้พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 1 ราย พบว่าติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นประชาชนในหมู่บ้าน เขต ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยชายรายนี้ อายุ 23 ปี ทำงานอยู่ใน จ.เชียงใหม่ และได้เดินทางกลับมาบ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ ตลอดช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ พื้นที่ จ.ลำปาง พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 3 ราย แล้ว โดย 2 รายแรก เป็นผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ
ที่ จ.ตรัง นายแพทย์ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษก ศบค.จ.ตรัง กล่าวว่า มีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเติมอีก 1 ราย เป็นรายที่ 2 ซึ่งเป็นเพศหญิง อายุ 33 ปี สัญชาติสวีเดน ไม่มีโรคประจำตัว มีประวัติได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 โดส เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยร่วมกับครอบครัวจำนวน 5 คน ผลการตรวจ ATK เป็นลบทั้ง 5 คน ผู้ติดเชื้อได้เข้าร่วมโครงการ TEST & GO เดินทางมาจากจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน