ธปท.แย้งเงินดิจิทัล ล้วง‘ธกส.’ส่อผิดกม.‘เศรษฐา’ดี๊ด๊าได้5แสนล้าน

"เศรษฐา" อารมณ์ดีแถลงแจกเงินดิจิทัลฯ 1 หมื่นบาท ประกาศรัฐบาลฝ่าฟันทุกอุปสรรค ทำตามสัญญาพลิกชีวิต ปชช. ดีเดย์เงิน 5 แสนล้านบาทเข้ากระเป๋าไตรมาส 4 มีผู้ได้สิทธิ์ 50 ล้านคนตามเกณฑ์ อายุ 16 ปีขึ้นไป มีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ช็อปได้เฉพาะร้านสะดวกซื้อ-ร้านค้าขนาดเล็ก หวังกระตุ้น ศก.ปีหน้าจีดีพีโต 5%  "ปลัดคลัง" แจง 3 แหล่งเงิน จากงบปี 67-68 และ ธ.ก.ส. "แบงก์ชาติ" กังวลแหล่งที่มาเงิน กลุ่มเป้าหมาย เสถียรภาพการเงิน และระบบชำระเงิน "ศิริกัญญา" เตือนใช้เงิน ธ.ก.ส.เสี่ยงผิด กม. แนะถามกฤษฎีกาก่อน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 เม.ย.เวลา 10.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ครั้งที่ 3/2567 โดยก่อนการประชุม นายกฯได้ถามหานายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่า ธปท. ตอบกลับว่า “ผู้ว่าฯ ธปท.ติดภารกิจประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครับ” โดยนายกฯ กล่าวว่า “ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวค่อยว่ากัน”

จากนั้นเวลา 11.30 น. นายเศรษฐา พร้อมด้วยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง, นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.การคลัง, นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันแถลงผลการประชุมดังกล่าว

โดยทันทีที่นายเศรษฐานั่งแถลงข่าวได้กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า ฝนตกเป็นนิมิตหมายอันดี วันนี้รัฐบาลมีความยินดีที่จะประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายโดยตรงของรัฐบาล เป็นนโยบายที่จะยกระดับเศรษฐกิจ ทั้งระดับประเทศและระดับประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนส่งมอบนโยบายที่จะพลิกชีวิตให้กับประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส 3 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4 ปี

นายเศรษฐากล่าวว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร โดยการดำเนินโครงการจะให้สิทธิ์แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 1.2 ถึงร้อยละ 1.6 จากกรณีฐานครั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการ

 “รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยกระบวนการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การดำเนินโครงการจะต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด”นายเศรษฐากล่าว

50 ล้านคนได้เงินดิจิทัลฯ

ถามว่ามาตรการที่ออกในวันนี้ความรู้สึกของนายกฯ ผิดจากความตั้งใจในตอนหาเสียงอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ก็เป็นระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนเราเป็นรัฐบาลที่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน เราคาดทีแรกจะออกประมาณต้นปีนี้ แต่ก็ดีเลย์ไปถึงปลายปี อย่างที่เรียนเราต้องฟังเสียงของทุกคน ให้ข้อแนะนำ คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ เราก็พยายามตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งต้องมีการดูอย่างดี อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นโครงการที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต และผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกอยู่กับพี่น้องประชาชน

ซักว่าซีเรียสหรือไม่ที่ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่เข้าร่วมการประชุมบอร์ดดิจิทัล 2 ครั้งสำคัญติดต่อกัน นายกฯ กล่าวว่า ก็ท่านติดภารกิจ ท่านบอกมาว่าติดภารกิจ ก็รับทราบ อย่างที่นายจุลพันธ์ตอบก็เป็นไปตามกฎหมาย และมีการส่งมอบตัวแทนมา ก็ถือว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความชอบธรรมถูกต้อง

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ บอกจะตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ 100,000 ล้านบาท ยังคงเดิมหรือไม่ และจะเอางบตรงไหนมาใส่ นายกฯ พยักหน้าพร้อมกล่าวว่า ยืนยันไม่ได้ไปบั่นทอนเรื่องลดขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เงินตรงนี้ยังมี Level อยู่

ถามว่าเงินที่จะเข้ากระเป๋าประชาชนในไตรมาส 4 เป็นวันไหน ได้วางไว้หรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบคำถามดังกล่าว

ส่วนนายจุลพันธ์กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้วางแนวทาง รายละเอียด และเงื่อนไขโครงการ 1.กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน  โดยจะมีเกณฑ์ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี จากเดิมที่กำหนดให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน เพื่อสะดวกในสอดคล้องกับกระบวนการของสรรพากร

2.เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งเป็นสองส่วนคือ 2.1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น 2.2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้าการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไปจะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

3.ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม 4.การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย

5.คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงการทุจริต และเกิดผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

กาง 3 แหล่งที่มาเงิน 5 แสนล.

รมช.การคลังกล่าวว่า ประชาชนและร้านค้าเข้าร่วมโครงการภายในไตรมาส 3 ปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ปี 2567 นอกจากนี้เพื่อป้องกันการทุจริต ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ  โดยมีรอง ผบ.ตร.เป็นประธาน มี ผบช.สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.ไซเบอร์) เป็นกรรมการ

"ที่ประชุมยังได้มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการการดำเนินกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีผมเป็นประธาน และยังทำหน้าที่ประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการนี้ด้วย  อีกทั้งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังนำมติดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน เม.ย.นี้" รมช.การคลังกล่าว

ถามว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นจีดีพี 1.2-1.6% จะมีผลต่อปีนี้ และปี 2568  เท่าไหร่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า จีดีพีจะเพิ่มขึ้นในปี 2568 เป็นหลัก เพราะเราเริ่มจ่ายเงินช่วงปลายปี 2567 ถามต่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในปีหน้าโตใกล้เป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ 5 % หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า แน่นอน เมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นอื่นๆ เช่น การกระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์

ซักว่า 7-11 และแม็คโคร ถือเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่เข้าเงื่อนไขหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เบื้องต้นร้านสะดวกซื้อลงมาถือว่าเป็นร้านขนาดเล็ก เพราะต้องการให้เงินกระจายอยู่ในชุมชน ส่วนแม็คโคร ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาเก็ตและห้างสรรพสินค้าไม่รวมไม่นับ

ด้านนายลวรณกล่าวว่า ในส่วนแหล่งที่มาเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต  10,000 บาท กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาแหล่งเงินว่าวงเงิน 5 แสนล้านบาท จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างไรบ้างนั้น มีคำตอบแล้วว่าวงเงิน 5 แสนล้านบาทนี้ สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณในปี 67 และปี 68 ควบคู่กันไป จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.งบประมาณปี 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้มีการขยายกรอบวงเงินในปี 68 เรียบร้อยแล้ว

2.จะมาจากการดำเนินการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท รายละเอียดตรงนี้จะใช้มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน ผ่านกลไกมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 68 และ 3.มาจากการบริหารจัดการเงินงบประมาณของปี 67 ของรัฐบาลเอง จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 67 เพิ่งใช้ ยังมีเวลาที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาว่ารายการไหนสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง อาจจะมีการนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ

 “ขอยืนยันการดำเนินการแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ กฎหมายงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.เงินตรา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความกังวล โดย ณ วันที่เริ่มโครงการในปลายปี จะมีเงิน 5 แสนล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่ได้มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ยืนยันว่ามีเงิน 5 แสนล้านบาทในวันที่เริ่มโครงการแน่นอน ขอให้มั่นใจว่าเราตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน” ปลัด ก.คลังกล่าว

มีรายงานว่า หลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้น ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายกฯ ว่าได้อธิบายไปแล้วสบายใจขึ้นหรือไม่ ซึ่งนายกฯ กล่าวว่า ก็อย่างที่บอก ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดไว้ ไม่มีอะไรที่ผิดแปลก ท่านถามมาตนก็ตอบไปแล้วทุกอย่าง วันนี้ก็ให้กลไกดำเนินงานไป และพี่น้องจะได้สตางค์ ทุกคนก็จะได้สตางค์ตามกฎที่บอกไว้ก็คือ  50 ล้านคน

พอถามว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทไม่ได้ จะทำให้คนที่อดออมมารู้สึกไม่ดีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนทำตามคำแนะนำของ ธปท.ที่ให้ดูแลเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน

ธปท.ห่วงเสถียรภาพคลัง

ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท.  กล่าวว่า ธปท.ได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณีที่แหล่งที่มาของเงินในการดำเนินโครงการจากมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งในฐานะ ธปท.ต้องให้แน่ใจว่าวงเงินที่ได้และใช้ในโครงการต้องครบถ้วน เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินตรา

น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า การใช้มาตรา 28 เป็นเรื่องที่ต้องกังวล ควรต้องผ่านกระบวนการหลักเกณฑ์ถูกต้องครบถ้วน มองทั้งเรื่องเสถียรภาพ สภาพคล่องที่ต้องพิจารณา ซึ่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ดำเนินการ หลังจากนี้ก็ต้องคุยตามขั้นตอนต่อไป ถ้าดำเนินการได้ตามปกติ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินตรา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ ธปท.มองไว้

 “ธปท.ให้ข้อสังเกตมาโดยตลอด คือ ให้ทำเฉพาะกลุ่ม เพราะด้วยความสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ไม่กระทบเสถียรภาพการคลังเกินไป และอยากเห็นแนวทางปรับลดระดับหนี้สาธารณะอย่างไร คณะงบประมาณได้คุยเรื่องนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญ รวมถึงเรื่องระบบการชำระเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นระบบใหม่ open loop ซึ่งมีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาการทำ ระบบต้องเสถียร และดูแลข้อมูลส่วนบุคคลได้ ต้องปลอดภัยต่อภัยไซเบอร์ ต้องใช้เวลา ทั้งหมดจะส่งผลต่อประเทศ เป็นจุดที่เป็นข้อกังวล” โฆษก ธปท.กล่าว

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า อยากฝากไปยังรัฐบาล เมื่อมีการยืนยันไตรมาส 4 จะไม่เลื่อนแน่นอน รวมทั้งอยากจะเห็นแผนงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องหาแหล่งที่มาให้ครบจำนวน ไม่ว่าจะเป็นออกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี จะทำเมื่อไหร่ และทางสภาก็รอรับอยู่ว่าจะอนุมัติหรือไม่ อย่างไร และยังมีเรื่องการพัฒนาระบบ ซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าไม่ได้เป็นแอปพลิเคชันเป๋าตัง แต่มีการทำแอปใหม่ โดยให้กระทรวงดีอีเอสกับสำนักงานรัฐบาลดิจิทัลเป็นคนจัดทำนั้น จะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะกระบวนการทำระบบจำเป็นต้องมีการทดสอบระบบก่อนที่จะใช้งานได้จริง เพราะหากใช้จริงแล้วเกิดข้อผิดพลาดขึ้นเยอะ ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเช่นเดียวกัน 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ที่มีการระบุให้ใช้รอบแรกสำหรับร้านค้ารายเล็กเท่านั้น เรายังได้ยินไม่ชัดเจนว่าตกลงร้านสะดวกซื้อเป็นร้านขนาดเล็กหรือไม่  เพราะร้านขนาดเล็กคือร้านสะดวกซื้อลงมา เพราะกลไกที่ค่อนข้างยุ่งยากในการแลกเป็นเงินสด คือต้องใช้ 2 รอบ แล้วจึงสามารถแลกเป็นเงินสดได้ ซึ่งร้านที่แลกได้ก็แลกได้เฉพาะที่อยู่ในฐานภาษีเท่านั้น อาจจะทำให้ร้านค้ารายเล็กรายย่อยตัวจริงไม่อยากเข้าร่วมโครงการ หรือเข้าร่วมโครงการน้อยลงหรือไม่ เพราะแลกมาแล้วก็ยังแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ก็ต้องไปใช้จ่ายต่อ แต่เงินก็ต้องหมุนไปรายวัน จะมีความลำบากสำหรับร้านค้ารายเล็ก

"หากสุดท้ายร้านค้ารายเล็กเข้าร่วมโครงการได้น้อย วัตถุประสงค์ของโครงการจะทำให้เศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในระดับฐานรากได้มากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ แต่ทั้งนี้วันนี้ยังไม่ค่อยได้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติม คงต้องรอนัดถัดไปเพื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ถือว่ารับฟังความเห็นจากประชาชน ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนในการที่จะปรับในเรื่องของร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการ" น.ส.ศิริกัญญากล่าว

รองหัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวว่า เรายังกังวลเรื่องที่รัฐบาลสัญญาไว้ว่า 4 ปี จีดีพีต้องโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปีที่อัดทุ่มเงินงบประมาณมากที่สุดยังโตได้แค่ 5.1 อย่างเต็มที่ แล้วปีอื่นๆ ที่เหลือ ที่ไม่เหลือเงินไปทำอย่างอื่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเรื่องที่จะตามมาคือหนี้สาธารณะ ซึ่งตอนนี้เฉพาะที่ขยายวงเงินของปี 68 หนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 67 เปอร์เซ็นต์เรียบร้อยแล้ว และภาระดอกเบี้ยที่จ่ายในแต่ละปีขึ้นเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ เท่ากับว่าจะเก็บภาษีมาเท่าไหร่ก็เอาไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยหมดไปแล้ว ยังไม่นับว่าปี 67 ก็ต้องกู้เพิ่มอีก

 “จึงเป็นคอขวดที่สำคัญที่รัฐบาลต้องก้มหน้ารับไป และยิ่งใช้เร็วก็น่าจะยิ่งดี ยิ่งไปกินเงินงบประมาณในส่วนอื่นๆ ไปอีกระยะหนึ่ง รัฐบาลชุดต่อไปที่จะต้องมาแบกรับภาระหนี้ต่ออยู่แบบคอหอยแล้ว อีกนิดเดียวจะชนเพดานที่ 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว นี่ขนาดเป็นกู้สาธารณะเพียงแค่งบ 67 และงบ 68 ยังไม่นับรวมกู้ ธ.ก.ส. ซึ่งไม่ได้อยู่ในหนี้สาธารณะก็จริง แต่สุดท้ายก็ยังต้องใช้เงินงบประมาณในการใช้คืนหนี้อยู่ดี ฉะนั้นนอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังมีเรื่องภาระที่แฝงมาด้วย หลังจากที่ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต” รองหัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าว

ถามว่า รัฐมีอำนาจในการใช้เงินของธ.ก.ส.และเป็นไปตามวินัยการคลังหรือไม่ว่า น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรื่อง ธ.ก.ส.ยังมีประเด็นในเรื่องของข้อกฎหมาย เพราะว่าตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ที่ระบุไว้ตามกฎหมายสามารถทำได้ในการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ข้อใดที่จะไปทำให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็นประเด็นกันอยู่ว่าจะต้องส่งคณะกรรมกฤษฎีกาตีความเหมือนกับกรณีของธนาคารออมสินหรือไม่ แต่มีความเทาๆ ที่จะสามารถตีความให้เข้าข้างรัฐบาลก็สามารถทำได้

"การละเลยที่จะมีการให้กฤษฎีกาช่วยตีความก่อนก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้มีเงินมาใช้จ่ายให้เต็มที่ เพราะ ธ.ก.ส.ยังติดเกณฑ์ของกรอบวินัยการเงินการคลัง รัฐบาลก็พูดย้ำหลายรอบว่าไม่มีการขยายแน่นอน ก็ต้องมารอดูว่าโครงการไหนจะไปก่อน เพราะพักหนี้เกษตรกรจะทำต่อจนครบ 3 ปีหรือไม่ หรือว่าโครงการไร่ละ 1 พันจะยังคงเดินหน้าไปต่อได้หรือไม่ อันนี้ก็เป็นข้อกังวลสำหรับการใช้เงินของธ.ก.ส." น.ส.ศิริกัญญากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง