แจงช่วย‘เมียนมา’ถูกต้อง ก.ก.ตีกันเอื้่อรัฐบาลทหาร

นายกฯ เรียก ผบ.เหล่าทัพ-กต.ถกรับมือสถานการณ์สู้รบในเมียนมา กต.แจง “เมียนมา” นำเครื่องลงจอดสนามบินแม่สอดขออนุญาตถูกต้อง ยันไม่ได้ขนอาวุธ-กำลังพลเที่ยวบินจากเมียนมา “พิธา-โรม” ประสานเสียงตีกันช่วยฝ่ายรัฐบาลทหาร “นพดล” ผุดทรอยกาพลัส หนุนไทยเป็นแกนกลางเชิญอาเซียน-จีน-อินเดียช่วยหาทางออก ด้านอดีตรอง ผอ.ข่าวกรองเชื่อเมียนมายังไม่ล่มสลายในเร็ววัน

เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เครื่องบินโดยสารแบบเหมาลำ Atr 72-600 Myanmar  Airlines ได้บินมารับทหารเมียนมาที่ชายแดนไทย- เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศเมียนมา ทั้งนี้หลังจากที่นายทหารเมียนมาทั้งหมดยอมมอบตัวกับฝ่ายกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง The Karen National Union (KNU)  และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF)

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านได้ยึดค่ายทหารกรมทหารราบ และที่ตั้งกองบังคับการยุทธวิธี ในพื้นที่บ้านปางกาน บ้านผาลู  และในเขตเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.แม่สอด ซึ่งเครื่องบินได้วางแผนจะรับทหารชุดแรกประมาณ 20 คน ตั้งแต่ระดับยศพลจัตวา, พันเอก, พันโท และพันตรี พร้อมครอบครัวประมาณ 20 คน โดยเครื่องบินได้บินมาลงรอที่ท่าอากาศยานแม่สอดประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง คณะนายทหารเมียนมาไม่มาจึงบินกลับไปประเทศทันที เนื่องจากทหาร KNU และฝ่ายต่อต้านยังไม่ยอมปล่อย บรรยากาศในสนามบินเงียบมาก มีแต่เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานไปรอช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการจัดการในท่าอากาศยาน และสื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปในท่าอากาศยานได้

สำหรับทหารเมียนมาและครอบครัวที่จะเดินทางไปยังประเทศเมียนมามีทั้งหมด 617 คน แยกเป็นนายทหาร 67  นาย ทหารชั้นประทวน 410 นาย ทหารหญิง 56 นาย  ครอบครัว 81 คน รวมทั้งหมด 617 คน โดยรัฐบาลทหารเมียนมาได้ประสานกับรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และใช้เวลาไปรับทหารเมียนมาเป็นเวลา 3 วัน  เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. ถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง  กล่าวว่า การเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 9 เม.ย.นั้น เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง จึงได้เชิญนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก รวมทั้งที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ มาพบเพื่อกำหนดทิศทางให้ไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนการเตรียมความพร้อมรองรับหากมีประชาชนจากฝั่งเมียนมาทะลักเข้ามาในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องการการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ ชายแดนไทย-เมียนมามีเขตติดต่อกันประมาณ 2,000 กิโลเมตร อีกทั้งเมียนมาเองก็มีประชากรเกือบ 70 ล้านคนเท่ากับเรา ความประสงค์ของรัฐบาลไทยมีความชัดเจนว่าอยากให้เมียนมาเกิดความสงบ เป็นหนึ่งเดียวกัน ก้าวหน้าไปและเจริญเติบโตก้าวหน้าไปตามศักยภาพที่มี อยากให้เกิดสันติภาพ  เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไทยอยากให้มีสันติภาพเกิดขึ้นในเมียนมา

ด้านนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ  โพสต์ข้อความผ่าน x ชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวว่า “เรื่องเครื่องบินเมียนมาที่เป็นข่าวได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นเรื่องการขอนำเครื่องบินพลเรือนมาลงเพื่อขนสิ่งของพลเรือน ไม่ได้มีการขนกำลังทหารหรืออาวุธ หรือการขอลี้ภัยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด เป็นเรื่องคำขอทางการทูตเพื่อนำเครื่องบินพลเรือนมาขนย้ายสิ่งของทางการทูต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติครับ”

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ตามที่ปรากฏข่าวการอนุมัติเที่ยวบินพิเศษของสายการบินเมียนมาลงจอดที่ท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงว่า กระทรวงได้รับคำขอจากสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 6 เม.ย. 2567 ขอรับการอนุมัติให้เครื่องบินเที่ยวบินพิเศษ จำนวน 3 เที่ยว สำหรับวันที่ 7, 8 และ 9  เม.ย. 2567 เส้นทางย่างกุ้ง-แม่สอด เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสิ่งของ

นายธนวัตกล่าวว่า หลังจากกระทรวงได้รับคำขอดังกล่าว และคำนึงถึงสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วน และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการอพยพบุคลากรของเมียนมาพร้อมครอบครัวไปยังพื้นที่ปลอดภัย จึงมีการตัดสินใจในระดับรัฐบาลที่จะอนุมัติคำขอของฝ่ายเมียนมาด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ต่อมาสภาความมั่นคงแห่งชาติ  (สมช.) ได้จัดการประชุมที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายในเมียนมา ตามหลักมนุษยธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการบริหารจัดการ หากเกิดกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือมีผู้ขออพยพข้ามแดนมายังฝั่งไทย โดยไม่อนุญาตให้มีการนำอาวุธจากฝ่ายใดๆ เข้ามาฝั่งไทย

นายธนวัตกล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2567 ได้มีเที่ยวบิน 1 เที่ยวบินจากเมียนมา มาลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด ตามคำขอ และได้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้วในวันเดียวกัน แต่ล่าสุดฝ่ายเมียนมาแจ้งขอยกเลิก 2 เที่ยวบินที่เหลือสำหรับวันที่ 8 และ 9 เม.ย. 2567 แล้ว รัฐบาลยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองเมียวดี

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ กล่าวว่า คณะ กมธ.ต่างประเทศได้เคยมีข้อเสนอแนะถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อซึ่งยังใช้ได้ทุกข้อ คือ 1.รีบตั้งกลไกติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด 2.มีแผนรองรับผู้อพยพหนีภัยสงครามและผลกระทบการสู้รบในเมียนมา 3.ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทั้งคนเมียนมาและชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลจากการสู้รบ 4.ผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาโดยผ่านกลไกทรอยกาพลัส  ไทยควรเป็นหัวหอกเชิญประธานอาเซียน จีน อินเดีย เข้ามาผลักดันการเจรจาสร้างสันติภาพในเมียนมา ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตรงเป้าที่สุด 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กว่า "รัฐบาลไทยต้องตอบให้ได้ว่านี่คือการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจริงหรือไหม มีรายละเอียดอย่างไร เพราะถ้าเป็นการช่วยเคลื่อนย้ายทรัพยากร เงินตรา อาวุธ ฯลฯ ก็อาจจะถูกตีความว่าช่วยเหลือรัฐบาลทหารเมียนมา โดยเฉพาะในพื้นที่ เท่าที่้เช็ก มีความกังวลจากหลายฝ่ายว่าเมียวดีจะถูกโจมตีแบบปูพรมตามหลังก่อให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรม มีผู้ลี้ภัยสงครามมากกว่าเดิมอีก ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยครั้งนี้ ต้องระวังว่าอาจจะอ้างเรื่องมนุษยธรรมเป็นด่านแรก แต่ต่อไปจะเป็นกลายเป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยมากกว่าเดิมหรือไม่"

นายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ  กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โพสต์ข้อความว่า "อยากให้ช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดของรัฐบาลไทยอย่างมาก ในการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกขนส่งทหารของรัฐบาลเมียนมาที่ยอมแพ้ไปก่อนหน้านี้ และพวกทรัพย์สินเงินทองของฝั่งเมืองเมียวดีมาสู่สนามบินแม่สอด  เพื่อที่จะส่งกลับไปภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเมียนมา"

 "แนวทางแบบนี้นี่แหละคือการชักศึกเข้าบ้าน สงครามกลางเมืองในเมียนมาเราไม่ควรที่จะวางตัวในการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาแบบนี้ ตอนนี้หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าอาจจะมีการระเบิดปูพรมในเมียวดี ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต และอาจนำไปสู่การหนีภัยการสู้รบมาที่ประเทศไทยได้ นานาชาติจะมองประเทศไทยว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่องนี้อย่างแน่นอน ที่สำคัญก็จะเป็นประเทศไทยนี่แหละที่จะต้องรองรับผู้หนีภัยการสู้รบ" นายรังสิมันต์ระบุ

ขณะที่นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และอดีตเลขานุการ รมว.การต่างประเทศ ในสมัยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ โพสต์ข้อความว่า "สถานการณ์เมียนมาสื่อประโคมข่าวเมียวดีแตก รัฐบาลเมียนมากำลังจะแย่ ข้อเท็จจริงของสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาเป็นอย่างนี้มานานมากกว่า 30 ปี ขึ้นๆ ลงๆ รบกันไปเจรจากันไป ตกลงกันไป หยุดยิงกันเป็นครั้งคราว การรบพ่ายแพ้ของฝ่ายรัฐบาลเพียงจุดเดียว ไม่ทำให้รัฐบาลกลางเมียนมาล่มสลายง่ายๆ รัฐบาลเมียนมายังแข็งแกร่งพอเพียง แต่มีความยากลำบากในการทำลายค่ายของฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากอาศัยหลบซ่อนติดชายแดนไทย หากจะปราบปรามรุนแรงต่อค่ายของฝ่ายตรงข้ามต้องล้ำแดนไทย และได้แต่ตั้งความหวังว่าเมียนมาจะสามารถแสวงหาหนทางในการตกลงทางการเมืองกันได้ เพราะได้ตกลงกับหลายกลุ่มไปมากแล้ว".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง