อันตราย! ผลตรวจล็อตแรก 8 คนใน 11 คนงานสมุทรสาคร พบแคดเมียมเกินมาตรฐานในร่างกาย ลุยตรวจต่อโรงงานที่ 2 พร้อมสแกนพื้นที่ชุมชนโดยรอบ แพทย์ชี้กลุ่มเสี่ยงคือคนที่อยู่ในโรงงาน-กลุ่มสัมผัสโดยตรง ขณะที่ "สมศักดิ์" นั่งไม่ติด สั่งด่วน “สทนช.” เกาะติดภัยสารเคมีรั่วลงแม่น้ำโขง สั่งเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 3 จุดในพื้นที่เชียงคาน-ปากชม ยันสถานการณ์ยังปลอดภัย
เมื่อวันจันทร์ ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลสมุทรสาคร นายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5 พร้อมด้วยนายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร, นายแพทย์ศุภฤทธิ์ เฮงคราวิทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี ผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร คณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้ประชุมร่วมกันเพื่อวางมาตรการและแนวทางการรักษาผู้ที่ได้รับสารแคดเมียมจากบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า โดยเบื้องต้นจากการตรวจปัสสาวะของพนักงานภายในโรงงาน 11 คน จากจำนวนทั้งหมด 19 คน เมื่อวันที่ 4 เม.ย. พบสารแคดเมียมในร่างกายทั้ง 11 คน แต่เป็นผู้ที่มีสารในร่างกายสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 8 คน ส่วนที่เหลืออีก 8 คน อยู่ระหว่างการนำตัวเข้ามาตรวจหาสารแคดเมียมเช่นเดียวกัน พร้อมกันนี้ยังได้มีการวางแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจเชิงรุกให้แก่ประชาชนในชุมชนรอบโรงงาน และ ปฏิบัติการตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกายของพนักงานบริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ที่มีการตรวจพบกากแร่แคดเมียมในพื้นที่ ต.บางน้ำจืดเช่นเดียวกัน โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด
“สำหรับผลการเก็บตัวอย่างหาสารแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงานแห่งแรก 11 คน พบมีสารแคดเมียมทุกคน แต่ที่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานมีจำนวน 8 คน โดยทั้งหมดไม่มีอาการผิดปกติ จึงได้ประสานพนักงานโรงงานทั้งหมดทั้งที่ตรวจแล้วและยังไม่ได้ตรวจรวม 19 คน ให้มาเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อยืนยันผล ก่อนนำเข้าสู่การวิเคราะห์และประเมินแนวทางหรือวิธีการรักษาใน รพ.สมุทรสาครโดยผู้เชี่ยวชาญต่อไป” นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า กระบวนการดูแลรักษาในเบื้องต้นจะต้องตรวจสุขภาพร่างกาย ตรวจเช็กอวัยวะต่างๆ ของร่างกายก่อน เช่น ปอด ไต ตับ กระเพาะอาหาร ระบบการหายใจ จากนั้นก็จะประเมินร่างกาย พร้อมนำข้อมูลปริมาณสารแคดเมียมที่ตรวจพบว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใดมาวิเคราะห์แล้วรักษา ซึ่งหากมีสารแคดเมียมในร่างกายที่ไม่สูงเกินไป ระบบร่างกายจะสามารถขับถ่ายออกมาเองโดยธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ต้องมีการคัดแยกกลุ่มคนเหล่านี้ออกมาจากพื้นที่เดิม ส่วนผู้ที่พบมีสารแคดเมียมสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หรือร่างกายไม่สามารถขับออกมาได้ทันนั้น อาจจะต้องมีการให้ยาขับสาร ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครกล่าวอีกว่า สำหรับสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครยังได้เตรียมความพร้อมของทีมสอบสวนโรค ลงพื้นที่ให้บริการตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกายแก่ประชาชนที่อยู่ในชุมชนรอบโรงงาน (แห่งแรก) ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ซึ่งนอกจากเพื่อเป็นการตรวจสุขภาพให้แก่พี่น้องประชาชนแล้ว ยังเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงของประชาชนภายนอกโรงงาน ที่มีโอกาสอาจจะได้รับสารแคดเมียมอีกด้วย
“ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 ที่มีการตรวจพบการกักเก็บกากแร่แคดเมียมเช่นเดียวกันนั้น ก็จะลงพื้นที่ปฏิบัติการตามแนวทางเดียวกับโรงงานแห่งแรก ขณะที่ภาพรวมทางด้านความเสี่ยงของประชาชนโดยรอบขณะนี้ พบว่าผู้ที่ได้รับสารแคดเมียมคือผู้ที่อยู่ภายในโรงงานและมีการสัมผัสกับกากแร่แคดเมียมโดยตรง ส่วนประชาชนภายนอกต้องรอผลการตรวจร่างกายที่ทางสาธารณสุขกำลังเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยก่อน จึงจะสรุปผลที่ชัดเจนได้" นพ.สุรวิทย์ระบุ
ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดูแลกลุ่มเสี่ยงใน 3 พื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครที่ผลการตรวจสุขภาพออกมาแล้วนั้น ตอนนี้ยังไม่ได้มีการให้ยารักษาแต่อย่างใด เพราะไม่มีอาการ ต้องดูผลการตรวจเลือดที่ชัดเจนอีกครั้ง
วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เปิดเผยถึงกรณีสารเคมีรั่วไหลลงแม่น้ำโขงว่า ตนได้รับรายงานว่าที่ สปป.ลาวได้เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ส่งผลให้มีกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid) หรือกรดกำมะถัน รั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลผ่านเมืองหลวงพระบางไปถึงเขื่อนไซยะบุรี แล้วไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีออกไปยังพรมแดนไทย-ลาว
"จุดที่เกิดเหตุถึง อ.เชียงคาน จ.เลย มีระยะทางประมาณ 340 กิโลเมตร จะใช้ระยะเวลาการเดินทางของน้ำ 3 วัน โดยภายหลังเกิดเหตุผมได้กำชับ สทนช.ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะมีความห่วงใยชาวริมโขงของทั้งสองประเทศที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่ง สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ก็ได้เร่งรัดประสานงานกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และ สปป.ลาว ตามแนวทางปฏิบัติด้านเทคนิคของระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำ" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า สทนช.ยังได้ประสานกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานของประเทศไทย (National Focal Point) เพื่อติดตามความรุนแรงของสถานการณ์และคุณภาพน้ำ โดยผลจากการตรวจวัดค่าคุณภาพน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ปัจจุบันได้ค่าเท่ากับ 8 ถือว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ สัตว์น้ำและคนสามารถใช้น้ำได้โดยปลอดภัย
“แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงร่วมปฏิบัติตามแผนดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในพื้นที่ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชมอย่างเคร่งครัด โดยเฝ้าระวังคุณภาพน้ำจำนวน 3 จุด ในเวลา 09.00 น. และ 15.00 น. ตั้งแต่วันที่ 5-12 เม.ย. 67 ขอเน้นย้ำประชาชนในพื้นที่ จ.เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย” นายสมศักดิ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม