เชียงใหม่ ๐ แพทย์ มช.ระบุฝุ่น PM 2.5 มีผลทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดทางภาคเหนือพุ่งสูงสุดในประเทศ โดยเฉพาะเชียงใหม่และลำปาง มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด เผยพบสัดส่วนคนหนุ่มสาวภาคเหนือสูงกว่าภาคอื่น
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เผยตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ภาคเหนือสูงที่สุดในประเทศ ซึ่งสัมพันธ์กับค่าฝุ่น PM 2.5 โดย รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในภาคเหนือที่สะสมมายาวนานกว่า 10 ปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยของโรงพยาบาลในช่วงที่เกิดฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย จากการเปรียบเทียบอัตราการตายของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2553-2564 ระหว่างภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ พบว่าภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด
นอกจากนี้ ยังพบสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งปอดในคนหนุ่มสาวของประชากรภาคเหนือสูงกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากมีงานวิจัยที่รองรับทั่วโลกแล้วว่า การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอดได้อย่างมีนัยสำคัญ
รศ.นพ.เฉลิมระบุว่า หลักฐานสนับสนุนความสัมพันธ์ของฝุ่น PM 2.5 กับมะเร็งได้จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มช. ที่ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง) ในพื้นที่ อ.เชียงดาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูงอันดับต้นๆ ของ จ.เชียงใหม่ โดยการขูดเซลล์บริเวณกระพุ้งแก้มของผู้ป่วยถุงลมโป่งพองไปตรวจ เปรียบเทียบกันระหว่างช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงและช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 ต่ำ ผลปรากฏว่าในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง เซลล์กระพุ้งแก้มของผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลง บ่งบอกว่า ยีนมีความผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต
นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เลือดกำเดาไหล น้ำมูกไหลจากจมูกอักเสบ เจ็บคอ เสียงแหบ ไอ ซึ่งเป็นอาการจาก PM 2.5 ที่ไม่รุนแรง แต่โรคที่มีความรุนแรงซึ่งมีความสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่น PM 2.5 และพบมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คือการกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่การเจ็บป่วยที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
งานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มช. ที่ได้ทำการศึกษาผู้ที่เสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ ที่สัมพันธ์กับระดับ PM 2.5 พบว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ที่เพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ย PM2.5 รายวัน จะสัมพันธ์กับการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นของประชากรเชียงใหม่ 1.6% ในอีก 6 วันต่อมา
รศ.นพ.เฉลิมเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การจะลดจำนวนผู้ป่วยได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ สิ่งสำคัญคือการลดปริมาณฝุ่น ได้แก่ ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ควบคุมฝุ่นควันข้ามแดน ส่วนประชาชนจำเป็นต้องปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม แนะนำให้ติดตามค่าฝุ่นละอองทุกวัน หากเกินค่ามาตรฐานควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือหากมีความจำเป็น ควรใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ คือหน้ากากมาตรฐาน N-95, KN-95 หรือ FFP2 และใช้ระยะเวลาในการออกนอกอาคารให้สั้นที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการสูด PM 2.5 เข้าไปในร่างกายในปริมาณมากๆ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ปัญหาไฟป่าหมอกควัน PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือยังคงรุนแรงหนักขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ค่า PM 2.5 ดัชนีคุณภาพอากาศ AQI ขยับพุ่งสูงขึ้นเป็นสถิติอีกครั้ง และยังคงเป็นเมืองคุณภาพอากาศยอดแย่อันดับ 1 ของโลกตลอดทั้งสัปดาห์ โดยวันนี้มีกลุ่มหมอกควันไฟปกคลุมเหนือเมืองเชียงใหม่และหลายจังหวัดอย่างเห็นได้ชัด ทัศนวิสัยแย่เพิ่มขึ้น ขณะที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ก็รายงานว่ายังพบจุด hotspot จากไฟเผากระจายหลายพื้นที่ช่วงเช้าของวันนี้ครบ 74 จุด ลดลงจากวันก่อนเล็กน้อย ซึ่งไฟไหม้ป่าที่สะสมตลอดทั้งสัปดาห์ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาในระยะนี้ ทำให้เกิดกลุ่มควันสะสมลอยปกคลุมเหนือน่านฟ้าของเมืองเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือทางตอนบน เป็นผลให้ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ก็ยังเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศยอดแย่ระดับโลกเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องหลายวันจากเว็บไซต์ Iqair.com
ล่าสุด จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอัคคีภัย ไฟป่า แล้ว 2 อำเภอคือ อำเภอพร้าวและอำเภอฝาง หลังจากที่ก่อนหน้านายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดยืนยันว่า แนวทางตามนโยบายเชียงใหม่โมเดลสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นผลสัมฤทธิ์ สถานการณ์ดีกว่าปีก่อนจะไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพราะจะกระทบกับบรรยากาศของการท่องเที่ยว
ขณะที่โรงพยาบาลนครพิงค์และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่แจ้งว่า มีผู้ที่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองมลพิษทางอากาศเข้ารับรักษาเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัวในเดือนมีนาคมนี้ เฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือถุงลมโป่งพอง มีกว่า 3,000 ราย ซึ่งยังไม่รวมผู้ที่ได้รับผลกระทบเกิดอาการแพ้ แสบตา ผิวหนังและอื่นๆ อีกจำนวนมาก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน