ยื้อ2เดือน!สอบวินัยบิ๊กโจ๊ก

"บิ๊กต่าย" หนีบฝ่ายกฎหมาย พบนายกฯ หารือศึกนายพลสีกากี ยัน "บิ๊กโจ๊ก" ยังคงปฏิบัติราชการอยู่ตามปกติ   เป็นความเสมอภาคและเป็นธรรมกับข้าราชการทุกคนอย่างเท่าเทียม แม้จะถูกออกหมายจับ ระบุให้ กก.วินัยสอบ 60  วัน ยันไม่ยื้อ-ไม่หนักใจ ส่วน "ทนายตั้ม"    ยื่นหนังสือร้องเรียน ก.ร.ตร. จี้สอบวินัย "บิ๊กต่อ" ด้าน "เรวัช" ลั่น! ถ้าผิดยศพลตำรวจเอกก็ไม่รอด

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลอนุมัติออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเป็นจะต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนหรือไม่ ว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์  รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  และทีมกฎหมาย เดินทางมาประชุมร่วมกับตนที่รัฐสภา โดยรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะออกมาแถลง

ขณะที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อมารายงานความคืบหน้าเรื่องการสืบสวนปราบปรามและจับกุมความผิดต่างๆ ตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด การพนันออนไลน์ บ่อนการพนัน แหล่งมั่วสุม การทวงหนี้นอกระบบ ซึ่งจะมีการพูดคุยและรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และเรื่องของขั้นตอนและกระบวนการที่จะพิจารณากรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ทุกอย่างมีกระบวนการและขั้นตอนที่จะพิจารณา จะให้พิจารณาว่าเอาแบบนี้เลยไม่ได้ เพราะมีกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่ตนในฐานผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติ โดยแยกเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ก่อน วันนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แต่ในคำสั่งระบุไว้ชัดเจนว่า การรับเงินเดือน เงินพิเศษ เงินประจำตำแหน่ง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้รับจากต้นสังกัด

เขายืนยันว่า เป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ตามกฎหมาย ดังนั้นการพิจารณาในเรื่องของวินัยเป็นหน้าที่ของตน ตามมาตรา 105 ของกฎหมายตำรวจเมื่อปี 2565 ซึ่งในกระบวนการขั้นตอนจะต้องได้รับรายงานจากคณะพนักงานสอบสวนของนครบาล 1 ฉบับ ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานมา และฉบับที่ 2 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะต้องรายงานตนต้องคดี ซึ่งทั้ง 2 อย่าง 2 เส้นทางนี้ เป็นไปตามระเบียบตำรวจ ไม่เกี่ยวกับคดี ซึ่งมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน และเมื่อ 2 รายงานนี้มาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องรายงานมาที่กองคดีอาญา

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐเผยว่า เมื่อกองคดีอาญารวบรวมรายงานแล้ว จะรายงานมาที่ผมเพื่อพิจารณาเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ขณะเดียวกันกองวินัยจะต้องรายงานผลเช่นกัน โดยเอารายงานทั้ง 2 ทาง  ประกอบด้วย เหตุ พฤติการณ์ ความรุนแรงแห่งคดี นำมาประกอบการพิจารณาในฐานะฝ่ายอำนวยการให้รักษาการ ผบ.ตร.ได้พิจารณา ซึ่งการพิจารณาเราจะดูว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดวินัยเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นขั้นตอน และเมื่อกองวินัยได้ประมวลขึ้นมาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดวินัย ก็เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา คือผมจะต้องพิจารณาว่าตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏ และให้โอกาสกับผู้ถูกสืบสวนข้อเท็จจริงได้ชี้แจง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กำหนดไว้

'บิ๊กโจ๊ก' ปฏิบัติราชการปกติ

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐกล่าวว่า ในขั้นตอนกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงจะยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องของการพักราชการ ออกราชการ หรือสำรองราชการไว้ก่อน เพราะเป็นการปฏิบัติภายใต้กฎ ก.ตร. ที่กำหนดไว้ การสืบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงจะต้องใช้ระดับไม่ต่ำกว่าที่มียศต่ำกว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งตรงนี้ตนต้องไปพิจารณาว่าจะมอบหมายให้ใคร ขณะนี้ยังไม่ถึงกระบวนการดังกล่าว แต่หากการสืบสวนข้อเท็จจริงปรากฏเหตุออกมาว่ามีการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงเกิดขึ้น ก็จะไปเข้าอีกบทบัญญัติหนึ่งของมาตรา 119 ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ว่าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในขั้นตอนนั้นก็จะมีการใช้การพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขในกฎ ก.ตร.หรือไม่ เข้าองค์ประกอบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตำรวจปี 2565 หรือไม่ ซึ่งมีการกำหนดไว้อยู่แล้ว

 “ผมจะไม่ใช้ดุลยพินิจที่นอกเหนือไปกว่านี้เลย ซึ่งจะมาประกอบการพิจารณาว่าการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยจะต้องให้พัก หรือออก  หรือสำรองหรือไม่ อยู่ที่ขั้นตอนนี้ และทั้งหมดนี้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง อยากให้ทุกคนแยกออกระหว่างเรื่องของอาญากับเรื่องวินัย”  รักษาการ ผบ.ตร.กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลออกหมายจับ จะต้องนำคำสั่งศาลที่อนุมัติหมายจับดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วยใช่หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐตอบว่า ยังถือว่าพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังคงต้องปฏิบัติราชการอยู่ตามปกติ นี่คือสิ่งที่เราต้องให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมกับข้าราชการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ซักว่ากรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ได้มีการกำหนดระยะเวลาหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐกล่าวว่า มีกำหนดไว้ในกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) อยู่แล้วภายใน 60 วัน ที่จะต้องดำเนินการ และสามารถขอขยายระยะเวลาได้

ด้านนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ เข้ายื่นหนังสือต่อนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบกรณีมีนายตำรวจยศ พล.ต.อ. ที่เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องกับบัญชีส่วยและบัญชีเว็บไซต์พนันออนไลน์ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปถึงครอบครัวด้วย

โดยทนายตั้มกล่าวว่า ต้องขอบคุณผู้นำฝ่ายค้านฯ ที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ นับตั้งแต่ตนออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ ก็มีแต่ผู้นำฝ่ายค้านฯ ที่ประสานขอข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชัน ตนอยากให้หน่วยงานทุกภาคส่วนของสังคมมีความกระตือรือร้น ในเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการปรึกษากันว่าจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาปัญหาเรื่องส่วยและการทุจริตคอร์รัปชันในวงการราชการ ซึ่งมีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีไฟไหม้ฟางขึ้นอีก อยากให้มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่านี้

'ทนายตั้ม' เชื่อใจฝ่ายค้าน

ด้านนายชัยธวัชกล่าวว่า ขอบคุณที่นำเอกสารสำคัญมามอบให้กับเราในฐานะพรรคฝ่ายค้าน แน่นอนว่าเมื่อมีเรื่องราวการกล่าวหาว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะในวงการตำรวจเอง ไม่ว่าจะเรื่องส่วย หรือข้อมูลที่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย เราในฐานะฝ่ายค้านก็ต้องให้ความสำคัญ ติดตามหาข้อมูล

จากนั้นทนายตั้มจึงกล่าวเสริมว่า เมื่อฟังจากที่ผู้นำฝ่ายค้านฯ พูด ก็มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะเท่ากับตอนนี้ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเริ่มเห็นความสำคัญกับเรื่องส่วย และเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว การที่ท่านนายกฯ พยายามเชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ในประเทศไทยเองยังมีปัญหานี้อยู่เรื่อยๆ ตนกลัวว่าต่างชาติจะไม่เชื่อมั่น

ที่สำนักงานจเรตำรวจ (กองบินตำรวจ)  นายษิทรายังได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม ประธานกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.)อีกด้วย พร้อมเปิดเผยว่า เนื่องจากกรณีที่ก่อนหน้านี้ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ภรรยา และบัญชีม้า 2 ราย รวมทั้งหมด 4 ราย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของข้าราชการตำรวจรายอื่นๆ ที่มีเส้นทางการเงินจากเว็บพนันโอนไปถึง อีกทั้งในวันนี้ตนจะคุยเรื่องการทุจริตรับส่วยของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยที่มีการไปเก็บมาจากประชาชน และจะดูว่าคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) จะสามารถช่วยจัดการอะไรได้บ้าง แต่ทราบว่าขอบเขตของท่านคือดูในเรื่องการร้องเรียนข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดวินัย

ทั้งนี้ พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม  ประธานกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) พร้อมด้วยคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) อีก 4 ราย ประกอบด้วย  พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีต ผบช.ปส.,   พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตรอง ผบช.น., นางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ และนายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ ร่วมกันรับมอบเอกสารจากทนายตั้ม โดย พล.ต.ท.สรศักดิ์เปิดเผยว่า ชุดคณะกรรมการในวันนี้เป็นบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน จากนี้เราจะไปดูว่าเอกสารภายในซองมีเรื่องอะไรบ้างและจะร่วมกันพิจารณา ถือว่าเป็นขั้นตอนการยื่นและรับเอกสารเพื่อไปสู่กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ส่วนกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานนั้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการธุรการก่อน จากนั้นจึงจะเข้าสู่ที่ประชุมในการใช้อำนาจไต่สวนว่าจะมีอำนาจอย่างไร ตามกฎหมายคณะกรรมการฯ อาจจะดำเนินการไต่สวนเอง หรือมอบหมายให้จเรตำรวจแสวงหาข้อมูลเบื้องต้น แต่ในกรณีนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ ว่าหากรับเรื่องเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วจะใช้อำนาจอย่างไร ก็จะต้องไปดูรายละเอียดภายในเอกสารก่อน แล้วจึงจะมีการร่วมกันพิจารณา

ถ้าผิด 'พลตำรวจเอก' ก็ไม่รอด

พล.ต.ท.เรวัชกล่าวว่า การที่ทนายตั้มมายื่นเรื่องร้องเรียนกับตำรวจเพื่อขอให้ลงโทษทางวินัยกับตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนันและการฟอกเงินฟอก ยืนยันว่าเราจะให้ความเป็นธรรม ขอให้เชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นอย่างดี ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้แต่งตั้งโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แต่ได้รับการคัดเลือกมา ดังนั้น การทำงานจะอยู่นอกเหนืออำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งยังไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานใด หากพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงใคร ต่อให้ยศเป็นระดับพลตำรวจเอกก็จะดำเนินคดีด้านวินัย ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ใครถูกก็ต้องว่าไปตามถูก และถึงแม้ว่าวันนี้ทนายตั้มจะไม่ได้นำเอกสารมาร้องเรียนกับคณะกรรมการฯ แต่หากคณะกรรมการฯ ทราบเรื่องด้วยตัวเอง ก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อเข้าสู่การพิจารณาทันที ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่กระทบความเชื่อมั่นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวงกว้าง และกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ก็จะต้องมีการดำเนินการทันที พร้อมย้ำว่าไม่เคยหนักใจที่จะต้องทำงานนี้ ทุกอย่างว่ากันตามพยานหลักฐาน ไม่มีมวยล้มต้มคนดู ต่อให้เป็นระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หากพบหลักฐานความผิดก็จะดำเนินการให้หมด

ส่วนจะมีการเรียกทั้งสองบิ๊กตำรวจเข้ามาสอบถามหรือไม่นั้น พล.ต.ท.เรวัชระบุว่า หากพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใครก็จะต้องเรียกมาสอบถามทั้งหมด และหากข้อเท็จจริงปรากฏก็จะต้องได้รับการลงโทษทางวินัยเช่นเดียวกัน ซึ่งการพิจารณาเรื่องโทษทางวินัย หนักสุดคือพิจารณาไล่ออก

ขณะที่ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตรอง ผบช.น. ได้สอบถามกับทางทนายตั้มว่าเอกสารที่นำมายื่นในวันนี้ใช่เอกสารเดียวกับที่นำไปยื่นกับ บก.ปปป.หรือไม่ พร้อมกับถามว่าทนายตั้มว่าจะเข้ามาให้ปากคำกับคณะกรรมการฯ อย่างเร็วที่สุดในวันที่เท่าไร ซึ่งทางทนายตั้มตอบกลับว่า ภายในอาทิตย์หน้าจะมาให้การพร้อมกับนำตัวพยานมาด้วย

พล.ต.ท.อำนวยระบุอีกว่า  กรณีการกลับเข้ามารับตำแหน่งหรือเป็นแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น  วินัยบางเรื่อง การพิจารณาของ ก.ร.ตร. อาจจะพิจารณาถึงวินัยและการกระทำความผิดวินัยบางเรื่องนั้น ถ้าทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตำรวจ อาจจะเป็นข้อในการพิจารณาในการแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่งในอนาคตได้ ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้มีอิสระในการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบแล้วมีการพิจารณาให้ออก ไล่ออกหรือปลดออก ตำรวจต้องไปยื่นอุทธรณ์ที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ก.พท.ตร. ส่วนคดีทางอาญานั้น เป็นหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์ตามกระบวนการของกฎหมาย แต่หากการพิจารณาของ ก.ร.ตร. พบว่ามีคดีความผิดตามอาญา ก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ปลื้มส่งออกข้าวครึ่งปีเพิ่มขึ้น 25.12%

นายกฯ ยินดีผลส่งออกข้าวไทย ครึ่งปีแรกส่งออกข้าวแล้วกว่า 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 25.12% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกข้าว ตั้งเป้าปี 2567 ส่งออกข้าวมากกว่า 8 ล้านตัน