ห้ามแตะแม้ว-อุ๊งอิ๊ง พท.สกัดไม่ให้ซักฟอก22ชม. ‘บิ๊กทิน’มั่นใจไร้‘รัฐประหาร’

“บิ๊กทิน” เห็นพ้อง “เศรษฐา” บอกรัฐประหารคุมไม่ได้ แต่มั่นใจไม่เกิดง่ายๆ ชี้บริบทปัจจุบันต่างจากอดีต โดยเฉพาะเหล่าทัพเป็นคนรุ่นใหม่ "ภูมิธรรม" เดือดวาทกรรมก้าวไกลโหมโรงอภิปราย “รัฐบาลเพื่อใคร  หัวใจไม่ใช่ประชาชน” ซัดเล่นการเมืองแบบเก่าตีตราคน  ท้าตัดหัวใจออกมาดูใครทำเพื่อ ปชช.มากกว่ากัน สอนญัตติแค่แนะนำสอบถาม ถ้าจะเล่นแรงให้อภิปรายตามมาตรา 151 “เพื่อไทย” พาเหรดขู่ห้ามพาดพิง “ทักษิณ-แพทองธาร” เล็งตัดเวลาอภิปรายไม่ให้ครบ 22 ชม.ตามขอ เผยดัชนีการเมือง มี.ค.ลด

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 ยังคงมีความต่อเนื่องจากการให้สัมภาษณ์สื่อประเทศฝรั่งเศสของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กล่าวถึงการรัฐประหารว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวประเด็นนี้ว่า นายกฯ พูดถูก เรื่องนี้ถ้ามันจะเกิด เรื่องกฎหมายก็ควบคุมไม่ได้ ส่วนการบริหารควบคุมได้หรือไม่นั้น ยอมรับว่าไม่ง่าย ส่วนที่จะคุมได้คือสังคมจิตวิทยา โดยความต้องการของประชาชน แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ก็ไม่ง่าย ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะผ่านมาไกลพอสมควร

เมื่อถามว่า ความสัมพันธ์รัฐบาลกับกองทัพตอนนี้เป็นอย่างไร นายสุทินกล่าวว่า เป็นปกติที่ควรเป็น อย่างระบบราชการ ส่วนจะต้องถอดบทเรียนหรือไม่ เพราะนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย (พท.) มักถูกทำรัฐประหารนั้น ก็แล้วแต่บริบท ตอนนั้นกับตอนนี้ยังสบายใจ ไม่ได้กังวลอะไร คิดว่าบริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อถามว่า มีสัญญาณอะไรหรือไม่เพราะเป็นรัฐบาลมา 6 เดือนแล้ว นายสุทินยืนยันว่าไม่มี มีแต่สัญญาณดีๆ  อันนี้จริงๆ นะ ไม่มีหรอก

ถามอีกว่า มีการขัดใจทหารในการจัดซื้ออาวุธ จะเป็นปัจจัยในการทำรัฐประหารหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่หรอก ถ้าเรามีเหตุผล อย่าไปค้านโดยไม่มีเหตุผลหรือคิดเป็นประโยชน์ส่วนตัว ถ้าเราค้านโดยมีเหตุผลเขาก็รับได้  แต่ถ้าจะไปคิดทำประโยชน์ให้ตัวเอง หรือทำประโยชน์ทางการเมืองให้ตัวเอง ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา เราก็หลีกเลี่ยง เรื่องอย่างนี้ไม่ให้เกิด

เมื่อถามว่า มองตา ผบ.เหล่าทัพแล้วไม่มีอะไรผิดปกติใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่รู้ ทุกคนเป็นคนรุ่นใหม่  ความคิดดีๆ ความคิดใหม่ๆ ทั้งนั้น

เมื่อถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับการที่นายกฯ ออกมาระบุ กรณีรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเลียรองเท้าบูตทหาร นายสุทินกล่าวว่า มองด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอะไรไปเอาใจกัน ไม่มีเลย หลายเรื่องก็ยังขัดใจกันอยู่ อยากจะซื้อเรือก็ไม่ได้เรือ และในเร็วๆ นี้มาตรการซื้ออาวุธก็จะออกมา เป็นแบบแพ็กเกจรวม         

“ไม่มีหรอก ไม่มีไปเลีย สิ่งเหล่านี้ไม่มี อยู่ตามเส้นของตัวเอง” นายสุทินย้ำ

เมื่อถามย้ำว่า ก่อนปี 2549 ทำแพ็กเกจเสร็จ และนำเงินงบประมาณไปทำนโยบายประชานิยมก่อนถูกรัฐประหาร นายสุทินร้องอ๋อ อย่างที่บอกตอนนั้นกับตอนนี้คงไม่แล้ว วันนี้กองทัพเขาก็รู้ว่าสังคมก้าวไปขั้นไหน ก็ต้องปรับตัวอยู่ ไม่เป็นปัญหาหรอก เราก็บริหารไปบนความต้องการของประชาชน เขาก็รู้ ถ้าเราบริหารบนความต้องการของตัวเองมันก็จะยุ่ง เราก็ยึดหลักนี้ไว้

ด้านความเคลื่อนไหวของนายเศรษฐา ได้เรียกรัฐมนตรีเข้าพบเพื่อติดตามสอบถามความคืบหน้าการทำงานต่างๆ ทั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ  ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที

สหายอ้วนเดือดวาทกรรม

ต่อมาเวลา 12.16 น. นายภูมิธรรมเผยภายหลังเข้าพบว่า นายกฯ ได้เรียกรัฐมนตรีเข้าพบเพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานต่างๆ โดยนายกฯ กำชับให้เดินหน้าการทำงาน ไม่ต้องกลัว เอาสิ่งที่ทำมาพูด ไม่ต้องห่วงอะไรทั้งนั้น ซึ่งในส่วนของนายกฯ เองก็ไม่ได้กังวลอะไร

เมื่อถามว่า นายกฯ ได้กำชับเตรียมความพร้อมรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้อะไร อย่างที่บอกทุกคนทำงาน เขาถามก็ตอบ ไม่มีอะไรอยู่แล้ว ถามเรื่องอะไรก็ตอบ

นายภูมิธรรมยังกล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านตั้งหัวข้อการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า “รัฐบาลเพื่อใคร  หัวใจไม่ใช่ประชาชน” ว่า ไม่อยากให้ใช้วาทกรรมทำงานการเมือง ต้องเอาความเป็นจริงมาพูดในรายละเอียด  รัฐบาลเพื่อใคร หัวใจไม่ใช่ประชาชน คนที่ตอบได้คือประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านจะมาตอบ  และการตั้งประเด็นตามมาตรา 152 เป็นการพูดคุย เสนอแนะปัญหาต่อรัฐ ไม่ใช่ตรวจสอบเพื่อให้รัฐบาลมีปัญหา  เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นต้องขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ดังนั้นอย่าบิดเบือนประเด็น เอาการอภิปรายเรื่องข้อเสนอแนะมาเป็นประเด็นดิสเครดิตรัฐบาล  มันไม่เป็นประโยชน์ การเลือกตั้งยังเหลืออีก 3 ปีครึ่ง ค่อยไปว่าตรงนั้นดีกว่า 

“หมดสมัยแล้วใช้วาทกรรมปั๊มตราใคร แล้วให้คนอื่นมาพูด ที่บอกว่าจะทำการเมืองสมัยใหม่ร่วมกัน มีแต่ใช้วาทกรรมมาคอยจิกกัดเช่นนี้ มันไม่สร้างสรรค์ ถ้าสร้างสรรค์ให้มาเสนอแนะว่าไม่รับใช้ประชาชนตรงไหน หรือหัวใจเพื่อใคร จะตัดหัวใจออกมาดูร่วมกันว่าหัวใจใครเพื่อประชาชนกว่า ผมว่าให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน อย่าใช้วาทกรรมเพราะไม่ใช่การเมืองใหม่ เป็นการเมืองเก่าที่หาคำพูดมาคอยจิกกัดโดยไม่ได้ดูความเป็นจริง ผมเสียใจที่เห็นน้องหลายคนซึ่งดูท่าว่าเป็นคนรุ่นใหม่ อยากทำการเมืองสมัยใหม่ แทนที่จะมาพูดคุยถึงความเป็นจริงแล้วมีข้อเสนอแนะ” นายภูมิธรรมกล่าว

เมื่อถามว่า เตรียมรับมืออย่างไรกรณีมีการหยิบยกเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขึ้นมา นายภูมิธรรมกล่าวว่า นายทักษิณอยู่นอกสภา ไม่มีตำแหน่งอะไร อย่าเข้าใจผิด คิดแต่กลัวว่านายทักษิณมาแล้วจะมีความนิยมจากประชาชนที่ยังศรัทธา มีผลต่อเพื่อไทย อย่าคิดแต่เอาชนะทางการเมืองเพราะมันไม่ใช่การเมืองใหม่

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวประเด็นนี้ว่า ต่างคนต่างมีแนวคิด ฝ่ายค้านจะมาเชียร์รัฐบาลก็ไม่ใช่ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีคำว่าทำอะไรเพื่อตัวเอง ต้องทำให้ประชาชน รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้อยู่ที่ประชาชน ถ้ารัฐบาลไม่ทำงานก็ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนอยู่รอดได้ หากคิดถึงประโยชน์ตนเป็นหลัก ไม่นึกถึงประชาชน จอดทุกราย

ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรค พท. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงความพร้อมรับมือญัตติอภิปรายว่า พรรคไม่มีองครักษ์พิทักษ์ใครทั้งสิ้น แต่ฝ่ายค้านต้องอภิปรายให้อยู่ในกรอบการสอบถาม หรือแนะนำการทำงานของรัฐบาล ไม่ใช่การตีกินทางการเมืองหรือหลอกด่าฟรี ซึ่งจะไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นแน่นอน หากจะยื่นอภิปรายก็ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจไปเลย

ขู่ไม่ให้ 22 ชม.แน่นอน

เมื่อถามว่า หากมีการอภิปรายพาดพิงนายทักษิณ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. เตรียมรับมืออย่างไรบ้าง นายสรวงศ์กล่าวว่า ทั้ง 2 ท่านเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้อยู่ในที่ประชุมที่จะมาชี้แจงได้ ฉะนั้น การกล่าวถึงบุคคลภายนอกที่ไม่จำเป็นก็เป็นดุลพินิจของประธานในที่ประชุมว่าจะจัดการอย่างไร และต้องควบคุมการประชุม

“หากมีการพูดจาเสียดสีหรือเอ่ยถึงบุคคลภายนอก หากไม่จำเป็นก็ประท้วงได้ ซึ่งพรรคไม่ได้กำหนดตัวบุคคลว่าใครจะเป็นคนประท้วง เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ สส. ซึ่งหากไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้ประท้วง แต่หากมีการอภิปรายนอกประเด็นพวกเราก็ยอมไม่ได้ อีกอย่างคือเรื่องของกรอบเวลา” นายสรวงศ์กล่าว

นายสรวงศ์ยังกล่าวว่า ในวันที่ 2 เม.ย. นายพิเชษฐ์  เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้เรียกวิปฝ่ายค้านและรัฐบาลมาพูดคุยกันอีกครั้งเรื่องกรอบเวลา ว่าเราจะเอาจำนวน สส.หารเลย เพราะตามเดิมฝ่ายค้านจะได้เวลาทั้งหมด 22 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลมีประมาณ 4-5 ชั่วโมง ขณะที่ประธานมี 2 ชั่วโมง แต่ได้พูดคุยในวิปรัฐบาลแล้วว่า หากฝ่ายค้านเล่นเกมการเมืองกันเช่นนี้ เราก็ต้องคุยกันใหม่ไม่มีทางที่คุณจะได้  22 ชั่วโมงแล้วแน่นอน

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวเรื่องว่า พรรคไม่จำเป็นต้องเตรียมองครักษ์คอยประท้วง แต่ตามข้อบังคับการประชุมสภา หากไปพาดพิงบุคคลภายนอกโดยไม่จำเป็น  ประธานในที่ประชุมจะทักท้วง แต่ถ้ายังพาดพิงอยู่ก็ต้องรับผิดชอบผลทางคดีเอาเอง ไม่ใช่แค่นายทักษิณหรือ น.ส.แพทองธาร แต่รวมถึงบุคคลภายนอกอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหา เพราะเขาไม่สามารถมาชี้แจงได้

“ถ้าพาดพิงแล้วไม่เสียหายก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเขาเสียหายก็เป็นเรื่องปกติที่จะดําเนินคดีอาญา ไม่ใช่ว่าปกป้อง หรือห้ามพูดถึง แต่ต้องรับผิดชอบผลการกระทําที่ตามมา  เป็นแบบนี้มาทุกยุคสมัย สส.ในสภาก็เคยถูกฟ้องร้อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนายทักษิณอย่างเดียว” นายวิสุทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่หากฝ่ายค้านยื่นเรื่องที่อภิปรายให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบซ้ำ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรผิด และยังไม่ได้ใช้งบประมาณสักบาท

นายวิสุทธิ์ยังกล่าวว่า กรอบเวลาอภิปรายที่แบ่งให้ฝ่ายรัฐบาล 4 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 22 ชั่วโมงไม่เป็นธรรมเท่าไหร่ เพราะเมื่อดูจากการอภิปรายของ สว.ที่ผ่านมา นายภูมิธรรมยังมีเวลาชี้แจงแค่ 2 นาที ดังนั้นวิป 3 ฝ่ายต้องหารือตกลงกันอีกครั้งในวันที่ 2 เม.ย. ยืนยันว่าไม่ได้กีดกัน หรือเล่นเกมตัดเวลาฝ่ายค้าน แต่ต้องทำให้ยุติธรรมทุกฝ่าย

“ผมมองว่าฝ่ายรัฐบาลอย่างน้อยต้องได้เวลา 10  ชม.ขึ้นไป ฝ่ายค้านก็ต้องลดลงมาจาก 22 ชม. อาจจะเหลือ 18 ชม. ก็ถือว่ามากกว่ากันเท่าตัว ฉะนั้นการอภิปรายก็เพื่อให้มีการตอบให้ประชาชนหายข้องใจ เพราะถ้าฝ่ายค้านเอาเวลาไป 22 ชม. แล้วให้รัฐบาล 4-6  ชม. ก็ไม่ได้ และเมื่อหักเวลาประท้วงแล้ว รัฐบาลก็ได้ไม่น่าจะเกิน 4 ชม. ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถตอบได้ทุกประเด็นที่ฝ่ายค้านถาม” นายวิสุทธิ์กล่าว

‘วิโรจน์’ ย้ำอภิปรายแค่เตือน

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการเตรียมข้อมูลเพื่ออภิปรายทั่วไปว่า เราคงนำเสนอถึงความล่าช้าในการปฏิบัติงานของรัฐบาล และนโยบายที่เรารู้สึกว่ารัฐบาลน่าจะมาผิดทาง ซึ่งจริงๆ เรามีเป้าหมายที่จะเตือนรัฐบาล ว่าควรเร่งทำงานตามที่เคยให้คำมั่นกับประชาชนได้แล้ว ส่วนในเรื่องที่มีการเตรียมข้อมูลหรือค้นพบหลักฐานเด็ด ที่จะส่งผลให้รัฐบาลล้ม คิดว่ายังไม่ถึงเวลาตรงนั้น เพราะนี่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ข้อมูลเราก็มีอยู่แล้วในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเราก็ต้องรวบรวมหลักฐานต่อไป เพราะบางเรื่องเราก็เห็นแค่นโยบายที่มาผิดทาง  แต่เนื่องจากงบประมาณปี 2567 เพิ่งจะผ่าน มันก็ยังไม่มีหลักฐานที่กระทำการ แต่แทนที่เราจะเก็บเรื่องเงียบเอาไว้  มันไม่เกิดประโยชน์แล้ว ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เรารู้แน่นอนว่าถ้าเดินต่อไปผิดทางแน่นอน หรืออาจเอื้อให้เกิดการทุจริต  เราจึงตัดสินใจเตือนรัฐบาลจากหลักฐานเบื้องต้นที่เราพบ เพราะเราไม่ต้องการให้ความเสียหายเกิดขึ้นกับประชาชน

เมื่อถามว่า หากเราเตือนรัฐบาลแล้วแต่ยังเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่อการทุจริตในอนาคตจะทำอย่างไร นายวิโรจน์กล่าวว่า เราก็ต้องตามต่อ ซึ่งจะเป็นการชี้เจตนาของรัฐบาลเลย ไม่ใช่ว่ารัฐบาลหลงผิดหรือคิดไม่ได้แล้ว แต่เป็นเจตนาที่จะเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากยังคงเกิดเหตุการณ์ส่อทุจริตในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำเรื่องไปยื่นให้กับ ป.ป.ช. หรืออาจร้องไปที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่วนมีเรื่องใดบ้างที่น่าจับตามองเป็นพิเศษนั้น ขอให้รอดูดีกว่า

นายสุระ เตชะทัต เลขาธิการพรรคพลังบูรพา กล่าวว่า  แม้ว่าการอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีการลงมติ ฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคก้าวไกลเตรียม สส.อภิปรายไว้ 34 คน พร้อมตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่าเป็นรัฐบาลเพื่อใคร ส่วนพรรคประชาธิปัต แกนนำพรรคยืนยันจะอภิปรายเต็มที่ ไม่มีมวยล้มต้มคนดูนั้น เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ประชาชนคงจะจับตามองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ในส่วนของฝ่ายค้านคงจะถูกจับตาว่าจะมีข้อมูลหลักฐาน ไม้เด็ดอะไรอย่างที่ได้ยื่นญัตติ ทำให้กระทบถึงเสถียรภาพรัฐบาลโดยรวมได้หรือไม่ ส่วนรัฐบาลการชี้แจงข้อสงสัยจากนายกฯ และรัฐมนตรีให้ความกระจ่างชัดได้มากน้อยเพียงใด หากชี้แจงได้ดีจะเกิดแต้มกับรัฐบาล ในทางตรงกันข้ามหากไม่สามารถชี้แจงได้ ก็จะเกิดผลกระทบกับรัฐบาลเอง ตามความเห็นส่วนตัวมองว่า  ส่วนหนึ่งต้องให้ความเป็นธรรมรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีชุดนี้ บริหารประเทศไม่ถึง 1 ปี ยังไม่ได้ใช้งบประมาณ ยังไม่มีประเด็นเชิงทุจริตเป็นที่ประจักษ์ จึงมั่นใจว่านายกฯ และรัฐมนตรีหลายคนคงจะชี้แจงฝ่ายค้านได้

“อยากให้มีการมุ่งเน้นเนื้อหาสาระในปัจจุบัน การบริหารงานเชิงผิดพลาด ไม่ทำตามนโยบายมากกว่า การมุ่งที่จะใช้วาทกรรมรุนแรง เสียดสี เพื่อทำให้เกิดความขัดแย้ง นอกจากอภิปรายติติงแล้ว ควรที่จะให้ข้อเสนอแนะ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ด้วย นายเศรษฐาและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้รับฟังคำแนะนำ ข้อเสนอแนะจากฝ่ายค้าน จะได้นำไปปรับปรุง ประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อเกิดประโยชน์กับประเทศ ประชาชนในอนาคต”

ดัชนีการเมือง มี.ค.ลดลง

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต  สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่องดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมีนาคม 2567 โดยสอบถามจำนวน  2,254 คนทางทางออนไลน์และภาคสนาม โดยเมื่อถามถึงดัชนีการเมืองไทย เดือน มี.ค. 2567 ภาพรวมคะแนนเต็ม  10 ได้ 5.10 คะแนน ลดลงจากเดือน ก.พ.ที่ได้ 5.16 คะแนน

สำหรับตัวชี้ดัชนีการเมืองไทยในเดือน มี.ค.จำนวน 25 ตัวชี้วัด ส่วนใหญ่พบว่าจะลดลง โดยมีเพิ่มขึ้นเพียงผลงานของฝ่ายค้านอยู่ที่ 5.56 คะแนน กับผลงานของนายกฯ  ที่ได้คะแนน 5.45 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เป็นต้น ในขณะที่ส่วนใหญ่จะลดลง ทั้งการดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยภาพรวม, การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้, การมีส่วนร่วมของประชาชน, ความมั่นคงของประเทศ และผลงานของรัฐบาล เป็นต้น

เมื่อถามถึงนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ประชาชนคิดว่ามีบทบาทโดดเด่นในเดือน มี.ค. 2567 ในส่วนของรัฐบาลนั้น นายเศรษฐา 53.22%, นายอนุทิน 28.30% และ น.ส.แพทองธาร 18.48% ส่วนฝ่ายค้านนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 59.32%, นายรังสิมันต์  โรม 20.91% และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 19.77%  ส่วนผลงานที่ประชาชนชื่นชอบในเดือน มี.ค. ทั้ง 2 ฝ่ายนั้น  ฝ่ายรัฐบาลคือ สงกรานต์ 21 วัน ดันซอฟต์พาวเวอร์  47.51%, จับบ่อน ปราบมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล 30.94% และย้าย 2 บิ๊กตำรวจ 21.55% ส่วนของฝ่ายค้านคือ อภิปรายงบประมาณปี 2567 48.36%,  กระตุ้นเรื่องแก้ฝุ่น PM2.5 ดับไฟป่า 31.75% และผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม 19.89%

สุดท้ายเมื่อถามถึงปัญหาที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไข คือ  50.62% ยาบ้า กัญชา ยาเสพติด 31.78% เศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ และ  17.60% ฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง