‘เครดิตบูโร’ผวาหนี้พุ่ง! ‘ครู-สหกรณ์’รอระเบิด

“เครดิตบูโร” เปิดไส้ในหนี้ครัวเรือนไทยอ่วม 16.2 ล้านล้านบาท จับตาหนี้สหกรณ์รอระเบิด หนี้จ่อตกชั้นเพิ่มกว่า 6.1 แสนล้านบาท คาด 12 เดือนข้างหน้าปูด 8 แสนล้านบาท ห่วงหนี้บ้านไหลไม่หยุด โพลตอกย้ำประชาชนอยากให้เร่งแก้ปัญหาปากท้อง “เศรษฐา” จ่อทัวร์พื้นที่แฟลตดินแดง

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยถึงข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ 91% ของจีดีพี 17.8 ล้านล้านบาท ว่าข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่เก็บโดยเครดิตบูโร อยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท โดยยังมีหนี้ที่มองไม่เห็นและพร้อมระเบิด คือ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ปล่อยกู้สมาชิก 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษามากู้สหกรณ์ ทั้งที่ทำงานอยู่และเกษียณรวม 8 แสนล้านบาท และกลุ่มนี้ยังขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์อีก 6 แสนล้านบาท รวมเป็นทั้งสิ้น 1.4 ล้านล้านบาท

นายสุรพลกล่าวต่อว่า ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากการเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร มีทั้งสิ้น 1.05 ล้านล้านบาท อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 1.04 ล้านล้านบาท และยังมีหนี้กลุ่มเป็นพิเศษ (SM) ค้างชำระ 30-90 วัน ซึ่งอันตรายสุด เพราะไหลมาเรื่อยๆ โดยสิ้นปี 2566 หนี้กลุ่ม SM อยู่กว่า 6.1 แสนล้านบาท และคาดการณ์ 12 เดือนข้างหน้า หนี้เสียจะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านบาท และ SM หรือหนี้ที่ใกล้เสียมี 8 แสนล้านบาท

 “หนี้เสียสำหรับที่อยู่อาศัยมี 1.4 แสนหลัง เท่ากับว่าเป็นส่วนที่บ้านถูกยึด หนี้เสียรถเข้าลานประมูลเยอะ ทำให้ราคามือสองลด และเมื่อมีรถไฟฟ้าอีวีราคาเกือบเท่าราคามือสอง ทำให้ตลาดรถมือสองถูกกระทบ แต่ที่น่าจับตาคือหนี้เสียบ้าน เพราะมีอัตราการไหลเป็นหนี้เสียถึง 22% ทำให้บ้านมีความเสี่ยง เพราะมีคนเลี้ยงงวด หรือจ่าย 2-3 งวดไม่ให้เกิน ซึ่งหนี้เสียบ้านมี 1.2 แสนล้านบาทที่มูลค่าบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท และส่วนใหญ่กู้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งการตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ (AMC) เป็นเพียงย้ายหนี้ไปอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ทำให้หนี้หายไป” นายสุรพลกล่าว

นายสุรพลกล่าวอีกว่า ข้อมูลเครดิตบูโร ในจำนวนหนี้ครัวเรือน 13.6 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้บัตรเครดิตคงค้าง 5 แสนล้านบาท จำนวน 24 ล้านใบ แต่มี 6 ล้านใบไม่เคยหยิบมาใช้เลย 2 ปีที่ผ่านมา และมีหนี้ส่วนบุคคล 31.8 ล้านบัญชี รถยนต์ 6.5 ล้านคัน และสินเชื่อบ้าน 5 ล้านล้านบาท เป็นต้น ซึ่งมีอัตราการเติบโตมากขึ้น เช่น สินเชื่อบ้านมีการอนุมัติ 1 แสนบัญชีต่อไตรมาส และสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพิ่มขึ้นช่วงโควิด-19 จากการให้กู้เพื่อใช้ดำรงชีพ 10,000-20,000 บาท ซึ่งครบ 1 ปี แต่ลูกหนี้ไม่สามารถปิดหนี้ส่วนนี้ได้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากเป็นหนี้เสียรัฐจะรับชดเชย 50%

นายสุรพลยังกล่าวว่า หนี้ครัวเรือนได้เร่งตัวขึ้นมาจากหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จาก 76% เป็น 85% และเป็น 91% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับจุดอันตรายที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) กำหนดไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี ซึ่งระดับของไทยถือว่าอันตรายมาก โดย ธปท.ได้คาดการณ์ลดหนี้ครัวเรือนให้อยู่ระดับ 89% ในอีก 3 ปี หรือในปี 2570 ซึ่งระบุไว้ในการให้ธนาคารพาณิชย์ทำแผนสเตรสเทสต์ หรือแผนรองรับวิกฤตเข้ามา โดยปัญหาของหนี้ครัวเรือนไทยยอมรับว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนใหญ่กู้มากินมาใช้ ต่างจากมาเลเซียที่กู้เพื่อที่อยู่อาศัย

 “ครัวเรือนไทยรายได้ไม่เท่าเทียมกัน แบ่ง 6 กลุ่มรายได้ รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีค่าใช้จ่ายดำเนินชีวิต 113 บาท จากรายได้ 100 บาท แถมบางคนมีหนี้อีกก้อนต้องจ่ายเพิ่ม 25 บาท ทำให้ต้องออกไปใช้หนี้นอกระบบ เอาเงินมาหมุนวนในชีวิต เป็นแบบนี้เพราะศักยภาพหารายได้ต่ำ สิทธิ์การทำมาหากินน้อย รายได้ไม่พอจ่ายราย มองว่าเศรษฐกิจไทยมี 2 ระบบ คือ เศรษฐกิจคนรวย เป็นเศรษฐกิจสังคมนิยม และเศรษฐกิจระดับล่าง เป็นเศรษฐกิจทุนนิยม” นายสุรพลระบุ

วันเดียวกัน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความต้องการของประชาชน  กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,382 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความต้องการของประชาชน พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ 67.4% ประชาชนต้องการให้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงินดิจิทัล แก้ไขปัญหาปากท้อง เสริมสภาพคล่องธุรกิจ, 63.9% ต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพออนไลน์ โจรไซเบอร์, 61.8% แก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ, 60.7% แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนทุกมิติ และ  60.5% แก้ไขปัญหายาเสพติด

มีรายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 1 เม.ย.เวลา 16.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดลงพื้นที่เขตดินแดง พบปะประชาชนในพื้นที่บริเวณลานกีฬาแฟลต 51-53 ตลาดกลางดินแดง, ซ.ประชาสงเคราะห์ 11 ซ.ประชาสงเคราะห์ 9 ผ่านสำนักงานเคหะนครหลวง สาขาดินแดง 2 ซ.ประชาสงเคราะห์ 7, 5, 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร,  ปลัด พม. และผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ร่วมคณะลงพื้นที่ พูดคุยกับประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงเรื่องปัญหายาเสพติด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล