จับตาวุฒิสภา โหวตชื่อวิษณุ ศาลปค.สูงสุด

จับตา สว.โหวต “วิษณุ” จะได้นั่งประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่หรือไม่ คาดประชุมลับอภิปรายเดือด หลังสื่อสังคมออนไลน์วิจารณ์หนัก เผยสภาสูงสอยตุลาการศาลสูงมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ระดับประมุขยังไม่เคย

ในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 จะมีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 30 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมีเรื่องด่วนที่น่าสนใจคือการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด (ตามมาตรา 15/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 9) พ.ศ.25660)

สำหรับผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่คือ นายวิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด อาวุโสอันดับหนึ่ง ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เมื่อ 20 ธ.ค.2566 แทนนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุดคนปัจจุบัน ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะอายุครบ 70 ปีในวันที่ 1 ต.ค.2567 ซึ่งได้มีการส่งชื่อ-ประวัติ และผลการพิจารณาของ ก.ศป.มาให้วุฒิสภาเมื่อ 22 ม.ค.2567 ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมแล้ว

โดยเอกสารรายงานของคณะ กมธ.ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธานนั้นได้เรียกผู้เกี่ยวข้องของสำนักงานศาลปกครอง เช่น เลขาธิการศาลปกครองมาชี้แจง ทั้งยังได้ทำหนังสือขอข้อมูลในทางลับไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติการณ์ต่างๆ เช่น สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงได้ส่งหนังสือแบบตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายวิษณุ ไปยังผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงได้เรียกนายวิษณุมาสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567 ซึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมง เพื่อตอบคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนายวิษณุกับ กมธ. โดยข้อมูลทั้งหมดจะปรากฏอยู่ในเอกสารลับที่คณะ กมธ.จะนำเสนอต่อ สว. ในที่ประชุมวันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดเป็นขั้นตอนปกติเหมือนกับการตรวจสอบประวัติที่ สว.จะลงมติให้ความเห็นชอบ กรรมการองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่กรณีของนายวิษณุ รอบนี้พบว่าถูก สว.บางส่วนจับตามองมากเป็นพิเศษ

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่ สว.จับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากก่อนหน้านี้สื่อสังคมออนไลน์และสังคมโซเชียลมีเดียได้มีการเสนอข่าวและการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับภูมิหลังและทัศนคติทางการเมืองและสังคมของนายวิษณุอย่างกว้างขวาง ทำให้นายวิษณุทำหนังสือเปิดผนึกถึง สว.เพื่อชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีมีภาพไปร่วมงานแต่งงานของนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่มีแนวคิดชัดเจนในเรื่องการปฏิรูปสถาบันและการแก้ไขมาตรา 112 โดยนายวิษณุที่เคยเป็นอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงว่าเป็นการไปร่วมงานแต่งงานในช่วงนายปิยบุตรยังเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ยังไม่ได้เล่นการเมือง และหลังนายปิยบุตรลาออกไปตั้งพรรคการเมืองและเล่นการเมือง ก็ไม่ได้พบกับนายปิยบุตรอีก และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน

  รายงานแจ้งอีกว่า นายวิษณุยังได้ชี้แจงอีกหลายประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่น กรณีเสียงวิจารณ์ว่ามีความเห็นลบต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี กรณีมีโพสต์แสดงความเห็นต่อข่าวการทุบบ้านสี่เสาเทเวศร์  โดยนายวิษณุชี้แจงว่าไม่ได้เขียนขึ้นเอง แต่เป็นโพสต์ที่ไปพบเข้าในโซเชียลมีเดีย และนำมาแชร์ในเฟซบุ๊กเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ และเจตนาที่แท้จริงที่นำโพสต์มาแชร์นั้น เพื่อเยาะเย้ยเสียดสีกลุ่มบุคคลที่เคยชุมนุมประท้วงและไปชุมนุมล้อมบ้านสี่เสาฯ ซึ่งต้องคดีถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ไม่ได้มีเจตนาตำหนิหรือด่าว่าหรือคิดในทางลบต่อ พล.อ.เปรมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ คาดว่าหลัง กมธ.นำเสนอเอกสารลับเกี่ยวกับการตรวจสอบประวัติและการสัมภาษณ์นายวิษณุ คงมี สว.หลายคนลุกขึ้นอภิปรายซักถาม และแสดงความเห็นพอสมควร โดยเฉพาะ สว.สายอดีตทหาร ที่ให้ความเคารพ พล.อ.เปรม สำหรับการลงมติทั้งให้ความเห็นชอบและไม่ให้ความเห็นชอบ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นกรรมการองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กรรมการ กสทช.นั้น พบว่า สว.เคยไม่ให้ความเห็นชอบตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตามที่ ก.ศป.ส่งชื่อมาแล้ว 3 ครั้ง และได้โหวตให้ความเห็นชอบบุคคลไปทำหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว 2 คน คือนายชาญชัย แสวงศักดิ์ และนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ซึ่งการโหวตจะใช้เพียงแค่เสียงข้างมากของที่ประชุมเท่านั้น ไม่ใช่เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เหมือนกับการโหวตเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง