บิ๊กต่อเอาคืน!ฟันทนายตั้ม ‘ป.ป.ช.’ยัน‘คดีโจ๊ก’ไม่เงียบ

"ประธาน ป.ป.ช." ยันสำนวนคดี "บิ๊กโจ๊ก" ไม่ปล่อยให้เงียบ ชี้สังคมสนใจต้องทำให้ชัดเจน-โปร่งใส "บิ๊กต่อ" เอาจริงยื่นฟ้องศาลเอาผิด  "ทนายตั้ม" หมิ่นประมาทโยงเส้นทางเงินเว็บพนัน พร้อมเรียกค่าเสียหาย 5 ล้าน ศาลนัดไต่สวน 10 มิ.ย. "อัจฉริยะ" แฉมีขบวนการล้วงข้อมูลส่วนตัว "ผบ.ตร.-ครอบครัว" มิชอบ "สังศิต" แนะปฏิรูปครั้งใหญ่ให้เป็นตำรวจท้องถิ่น เชื่อแก้ปัญหาส่วยหวย-บ่อน-ซ่องได้แน่

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. พล.ต.อ.วัชรพล  ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการนำสำนวนคดีตรวจสอบเอาผิด พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้าในคณะกรรมการป.ป.ช.สอบสวนว่า ป.ป.ช.มีมติให้นำเข้าแล้ว เพราะเข้าเงื่อนไขของกฎหมายเป็นเรื่องร้ายแรง ถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 66 พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งระยะเวลาการพิจารณาอยู่ที่กระบวนการ เมื่อรับเรื่องมาก็ต้องตรวจสอบ เนื่องจากเรายังไม่ได้รับเอกสาร ทุกอย่างจึงเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ในส่วนข้อมูลที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ออกมาเปิดโปงข้อมูลบิ๊กตำรวจเชื่อมโยงเงินพนันออนไลน์นั้น ถ้าเรื่องส่งมาถึง ป.ป.ช.ก็จะพิจารณา แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวยังไม่มี

"เราไม่หนักใจเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน สำคัญคือต้องให้ความเป็นธรรมและตรวจสอบตามหลักฐาน" พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว

ถามว่าจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพิ่มหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า จะต้องมีการตรวจสอบเบื้องต้นก่อน หากมีหลักฐานเพียงพอต้องไต่สวน ซึ่งทำได้ 2 กรณี เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานไต่สวนดำเนินการ เมื่อมีมติแล้วก็ต้องส่งเอกสารมาให้คณะกรรมการฯ ดูว่ามีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานอะไรบ้าง เป็นไปตามกระบวนการของ ป.ป.ช. หากเราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบก็จะมีกรรมการ 2 คนทำการไต่สวน แต่หากเป็นเรื่องที่ใหญ่มากคณะกรรมการฯ ทุกคนก็จะมาไต่สวน

ซักว่าเรื่องนี้จะไม่เงียบใช่หรือไม่ ประธาน ป.ป.ช.ยืนยันว่า เงียบไม่ได้หรอก เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนสนใจ ป.ป.ช.จะทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนและโปร่งใส

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ในฐานะผู้ได้รับอำนาจจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. พร้อมนายศิริพงษ์ พงศ์พันธุ์สุข อดีตอัยการอาวุโส สำนักงานคดีศาลสูงสุดภาค 1 ยื่นฟ้องนายษิทรา หรือทนายตั้ม ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา  รวมทั้งฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท เนื่องจากมีการกล่าวหาว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ไปเกี่ยวข้องกับบัญชีม้าหรือรับเงินส่วย โดยศาลได้รับสำนวนคำฟ้องนัดหมายไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 10 มิ.ย. เวลา 13.30 น.

นายอัจฉริยะกล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์และครอบครัวพร้อมรับการตรวจสอบทุกเรื่อง ไม่เฉพาะในกรณีของทนายตั้ม ทั้งกรณีที่มีการไปร้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. หรือคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ ตั้งขึ้น เพื่อให้มีการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาล ซึ่งหากหลักฐานทั้งหมดเป็นความจริง หรือได้รับการพิสูจน์เอกสารว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า ก็ยินดีให้ศาลได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง

"การฟ้องทนายตั้มไม่ใช่การฟ้องแก้เกี้ยว แต่ต้องการเอากระบวนการยุติธรรมขึ้นสู่ศาล ทนายตั้มจะได้ถามค้านและใช้สิทธิได้เต็มที่ หากสงสัยอะไรก็จะมีการตอบในศาล เพราะจะมีการบันทึกปากคำของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มันบิดเบือนไม่ได้ และยืนยันว่าท่านจะไม่มีการถอนฟ้องในอนาคต ไม่มีการไกล่เกลี่ยหรือต่อรองโกรธแค้น" นายอัจฉริยะกล่าว

ถามถึงหลักฐานเส้นทางเงินที่ทนายตั้มนำมาเปิดเผย นายอัจฉริยะกล่าวว่า ไม่มีเส้นทางการเงินแม้แต่รายการเดียวเชื่อมโยงมายังบิ๊กต่อโดยตรง ซึ่งหน่วยงานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการเงิน คือ สำนักงาน ปปง. หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการในคดีเกี่ยวกับการฟอกเงิน แต่ในเมื่อบิ๊กต่อไม่เคยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษแม้แต่คดีเดียว เหตุใด ปปง.หรือข้าราชการจึงเข้าถึงข้อมูลทะเบียนราษฎร  ดังนั้นจะต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง เพราะถือว่าร่วมกันเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ชอบหรือไม่

"เราพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต เข้าไปสืบค้นทะเบียนราษฎรบิ๊กต่อ 1 วัน จำนวน 20 ครั้ง หรือเข้าไปสืบค้นข้อมูลส่วนตัวของภรรยา 40 ครั้ง ซึ่งจากนี้จะมีหนังสือให้ทุกหน่วยงานที่เข้าระบบไปดูข้อมูลมาชี้แจงถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ อีกทั้งเรายังมีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่บางส่วนเข้าไปที่สถาบันการเงินเพื่อขอรายการเดินบัญชี (Statement) ของบิ๊กต่อและครอบครัวด้วย รวมทั้งยังมีรองต่ายและรอง ผบ.ตร.อีกหลายรายที่โดนกระทำในลักษณะนี้ด้วย" นายอัจฉริยะกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังนายอัจฉริยะแถลงข่าวเสร็จสิ้น ทนายตั้มได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งระบุว่า การที่ผมออกมาเปิดโปงการทุจริตระดับชาติขนาดนี้ ถ้าไม่มีข้อมูล ใครจะกล้า พี่เองก็เปิดๆ ปิดๆ มาตลอดชีวิต น่าจะเข้าใจดี ก็น่าแปลกใจที่ประชาชนธรรมดามาออกตัวแทนตำรวจยศใหญ่ระดับนั้น เรียนตามตรง ผมไม่เคยเห็นครับ

วันเดียวกัน รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ตำรวจ : เดินหน้าหรือถอยหลัง" ตอนหนึ่งระบุว่า ข้อมูลการทุจริตของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับสูงสุดสองท่าน หากเกิดขึ้นในประเทศที่มีระบบราชการที่เข้มแข็ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็สามารถที่จะดำเนินการสอบสวน และหากมีมูลก็สามารถดำเนินคดีกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองท่านได้ทันที ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ทั้งสองท่านต้องแสดงความเห็นหรือออกมาปฏิเสธข้อมูลต่างๆ ต่อหน้าสื่อมวลชนไปแบบวันต่อวัน แต่เพราะว่าระบบตำรวจไทยเองเป็นระบบราชการที่ล้าหลัง และมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แบบอุปถัมภ์เชิงแลกเปลี่ยน แบบพวกพ้อง และแบบสถาบันนิยม จึงทำให้ระบบตำรวจไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองได้อย่างที่สังคมคาดหวัง ระบบตำรวจจึงไม่มีความสามารถอย่างเพียงพอและอย่างที่เป็นตำรวจมืออาชีพสมัยใหม่ที่จะแก้ปัญหาภายในของตัวเองได้

รศ.ดร.สังศิตเสนอว่า แนวทางที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยและประชาชนคนไทยส่วนใหญ่แล้ว ควรจะนำไปสู่ข้อเสนอให้มีการปฏิรูประบบและโครงสร้างของตำรวจเสียใหม่ โดยจัดระบบตำรวจให้เป็นตำรวจของแต่ละจังหวัดไป ระบบแบบนี้เป็นการกระจายอำนาจของตำรวจสู่ท้องถิ่น ทำให้ตำรวจกลายเป็นตำรวจของท้องถิ่นไป งานหลักของตำรวจคือการดูแลทุกข์สุข และปัญหาอาชญากรรมของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น ระบบแบบนี้เป็นระบบของตำรวจทั่วทั้งโลก เป็นระบบที่ตำรวจจะใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด และทำหน้าที่ดูแลประโยชน์สุขให้กับประชาชนได้ดีที่สุด

"แนวทางแบบนี้จะช่วยทำให้ระบบส่วยที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องหวยใต้ดิน บ่อนการพนัน ซ่องและยาบ้า  ตลอดจนธุรกิจที่กฎหมายไม่ยอมรับลดลงได้บ้าง แนวทางแบบนี้จะช่วยทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจลดลง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจกับตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น" รศ.ดร.สังศิตระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา