17ปีที่รอ!ยกฟ้องพธม.ชุด2

ศาลยกฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ ชุด 2 คดีปิดสนามบิน ชี้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ทำเพื่อส่วนรวม ต้านระบบทักษิณ “ปานเทพ” ลั่นเป็นคำพิพากษาที่งดงามและความครบถ้วน หลังถูกตราหน้าเป็นผู้ก่อการร้าย-ทำลายความมั่นคงของชาติมานานกว่า 17 ปี 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม มีห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีม็อบ พธม.บุกสนามบินดอนเมือง หมายเลขดำ อ.1087/56 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ ฟ้องนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์, นายการุณ ใสงาม,  นายวีระ สมความคิด, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค หรือจอย อดีตนักแสดงชื่อดัง ร่วมกับพวกรวม 67 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุมปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551 พวกจำเลยที่ 1-14 ได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมใหญ่โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และนำจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ของบริษัท วิทยุการบินฯ ปิดกั้นสะพานกลับรถตรวจค้นตัว จนท.บริษัท การบินไทยฯ  ร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน ทำลายทรัพย์สินของบริษัท ของท่าอากาศยานไทยฯ เสียหาย 627,080 บาท เพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า พวกจำเลยเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมมาจากหลายอาชีพ ทั้งศิลปิน นักร้อง ดารา สื่อมวลชน อดีตเอกอัครราชทูต  มาชุมนุมเพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของนายทักษิณ ชินวัตร มีการทุจริตเชิงนโยบาย และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร หลายคดี โดยเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายฐานชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน   ไม่ผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและข่มขืนใจผู้อื่น จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดทุกข้อหา

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ศาลอาญาพิจารณาประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น ความยาว 51 หน้า มีข้อเท็จจริงยุติ 10 หน้า โดยสรุปแล้ว 1.ข้อหาการฟ้องซ้ำ ศาลเห็นว่าด้วยพฤติการณ์ บุคคล ข้อหาคดีที่เคยมีการฟ้องร้องก่อนหน้านี้และจำเลยหนึ่งราย ร้องเป็นการฟ้องซ้ำการลงโทษจะซ้ำซ้อนหรือไม่ ศาลพิพากษาเห็นว่าพฤติการณ์ ข้อหาบุคคลที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาและสถานที่ เป็นคนละสถานที่ ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าไม่ได้เป็นการฟ้องซ้ำ และศาลมีสิทธิ์ที่จะพิจารณา

ส่วนพฤติการณ์ของรัฐบาล เป็นพฤติการณ์ที่เป็นสาเหตุของการชุมนุม โดยศาลจึงวิเคราะห์ตั้งแต่การก่อตั้งของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเหตุในปี 2551 คือความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างความผิดคดียุพรรคพลังประชาชน ซึ่งทุจริตการเลือกตั้ง มีความพยายามแก้ไขมาตราในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกอำนาจการตรวจสอบของ คตส.ในคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยศาลเห็นว่าทั้งสองประเด็นนี้เป็นประเด็นของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงการต่อต้านนำปราสาทเขาพระวิหารไปขึ้นเป็นมรดกโลกให้กับประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนั้นศาลยังได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งหมด ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นเป็นการชุมนุมภายใต้กรอบที่มีเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยตลอดระยะเวลาการชุมนุมจำเลยทั้ง 67 ราย ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ใดๆ  ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ หรือมีอาวุธอยู่ในครอบครอง ศาลจึงเห็นว่าไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย การก่อกบฏ หรือก่อความวุ่นวาย

ส่วนเรื่องท่าอากาศยาน ศาลได้มีการพิจารณาวิเคราะห์จากหลักฐานทั้งหมดด้วยพยานฝ่ายโจทก์เอง พบว่าไม่สามารถยืนยันว่าจำเลยทั้ง 67 คน ทำความผิดอย่างไรที่ก่อให้เกิดการขัดขวางท่าอากาศยานได้จริงในทางปฏิบัติ แม้แต่ดาวเทียม ซึ่งเป็นทีวีการถ่ายทอดสด ก็ไม่สามารถกระทบต่อสัญญาณการบินได้ และพื้นที่การชุมนุมไม่ได้กระทบต่อการบิน ดังนั้น ด้วยพยานฝ่ายโจทก์ประกอบกับการที่พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมแล้วไม่เกิดความเสียหาย  สามารถดำเนินการบินและให้บริการได้ทันที สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีความเสียหาย ศาลเห็นว่าไม่มีความผิดในการขัดขวางตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบินและพื้นที่ชุมนุมไม่กระทบหรือความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้น

ส่วนการปะทะ ซึ่งอาจมีเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม เช่น พยายามเข้าพื้นที่บางส่วนของผู้ชุมนุม การขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐแล้วเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นการสั่งการของจำเลย 67 คน แต่อาจการกระทบกระทั่ง แต่เป็นวิถีของการเกิดขึ้นเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งการ การยั่วยุ ให้กระทำการรุนแรง ศาลพิจารณาจำเลยทั้ง 67 คน ล้วนมีเจตนาอย่างชัดเจนว่าให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ และยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง ศาลจึงพิพากษาว่าการกระทำของภาครัฐในเวลานั้น ทั้งการทุจริตการเลือกตั้ง การทุจริตคอร์รัปชันทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และพวกเป็นเรื่องจริง และมีคำพิพากษาจำนวนมาก รวมถึงศาลพิจารณาการกลับมาของนายทักษิณ ที่หลบหนีไป 15 ปี และการกลับมาขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยข้อความว่าสำนึกผิด ยอมรับการกระทำความผิด แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีมูลเหตุของการเจตนารมณ์เป็นเรื่องจริง ดังนั้นการชุมนุมจึงไม่ใช่เป็นไปด้วยประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

และประเด็นสุดท้าย หลังศาลพิจารณาว่าเป็นการชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ ศาลยังได้พิจารณาเรื่องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ศาลพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กระทำการลงไปเพื่อขัดขวาง งดเว้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรม โดยเฉพาะการชุมนุมของพันธมิตรฯ แม้กระทบต่อการบินบ้าง แต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าการกระทำความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงไม่เข้าข่าย เพราะว่าได้รับการยืนยันว่าในเวลาต่อมามีการหลบหนีคำพิพากษาของนายทักษิณ และการยอมรับความผิด แม้จำเลยจะกระทบต่อประชาชนผู้ใช้สนามบินอยู่บ้าง แต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงไม่เป็นความผิดฐาน ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด 67 คน

"คำพิพากษาเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งผมสรุปเพียงใจความสำคัญบางส่วนเท่านั้น แต่ความงดงามและความครบถ้วนของเนื้อหาไม่สามารถจะตัดทอนได้ จากคำพิพากษาชุดนี้ จนอาจจะบอกว่าเป็นการเยียวยาความรู้สึกของพวกเราในฐานะผู้ที่ถูกกระทำมา 17 ปี ว่าพวกเราเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยโทษที่รุนแรง โทษถึงขั้นประหารชีวิต หรือการก่อการร้ายทั้งที่คนเหล่านี้เป็นแค่พิธีกรเป็นประชาชน เป็นศิลปิน แต่คนที่อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพความเสมอภาค ไม่เคยออกมาเรียกร้องหรือเห็นใจของการชุมนุมของพวกเรา แต่คำพิพากษานี้ให้ความเป็นธรรมกับพวกเราที่ต่อสู้และเคารพกระบวนการยุติธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนทำให้จำเลยจำนวนมากที่มาฟังคำพิพากษาน้ำตาซึมและน้ำตาไหลออกมา เพราะพวกเขาเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรมจากการพิสูจน์ตัวเองมายาวนาน 17 ปี" นายปานเทพกล่าว

วันเดียวกันนี้ จากกรณีนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ แกนนำม็อบคณะราษฎร ที่ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาวันที่ 28 มี.ค. ในคดี ม.112 ล่าสุด ไมค์โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "ในสภาวะที่ศาลไทยไม่สามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้เรื่องความยุติธรรม ก็ไม่มีความเชื่อใจใดที่ผมจะต้องรีบไปศาลในวันนี้ หลายท่านคงเห็นว่าศาลไทยพยายามเร่งตัดสินคดีทางการเมืองในช่วงนี้จำนวนมาก และมีคนสูญเสียอิสรภาพเป็นรายวัน .. คุกเคยเข้าแล้ว แต่ขอเลือกวันเข้าด้วยตัวเอง".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ