"ประธาน กกต." ชี้ "ทักษิณ" เดินสายเข้า "เพื่อไทย" พบ ปชช. ไม่ถือครอบงำพรรคการเมือง ขออย่าคิดไปเองต้องดู กม. ยันติดตามความเคลื่อนไหว บอกทำกิจกรรมครอบครัวกับครอบงำใกล้เคียงกันแค่ "ค.ควาย" เสื้อแดงอีสานคึกรอ "แม้ว" จัดคิวมาเยือน "จุรินทร์" เหน็บไม่คิดเลี้ยงหลานเหมือนที่บอก "ฝ่ายค้าน" รับซักฟอก ม.152 ไม่ใช่หมัดน็อกแค่วิจารณ์การทำงาน "จักรภพ เพ็ญแข" ประกาศกลับไทย 28 มี.ค. หลังลี้ภัยไป 10 ปี "กกต." แจงร้องยุบ "ก้าวไกล" เร็วกว่า "ภท." เหตุร้องคนละประเด็น
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกพักโทษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ไปปรากฏตัวที่ทำการพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเข้าข่ายเป็นการครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่ว่า กกต.มีหน้าที่ดูแลพรรคการเมือง โดยห้ามพรรคการเมืองพรรคใด ยินยอมให้บุคคลใดครอบงำพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 และ 29 เพราะฉะนั้นถ้ามีการกระทำใดๆ ที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่ กกต.สามารถดำเนินการได้
"การที่นายทักษิณไปปรากฏตัวที่พรรค พท. มีสมาชิก นักการเมือง รัฐมนตรีไปต้อนรับนั้น ก็ต้องดูกฎหมาย กรณีการปรากฏตัวนี้ไม่ถือเป็นการครอบงำ หากมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าเป็นการครอบงำ เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่ กกต.จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย" นายอิทธิพรกล่าว
ถามว่า หากเข้าห้องประชุมและมีการมอบนโยบาย จะถือว่าเป็นการครอบงำหรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงที่มี ส่วนข้อสันนิษฐานอะไรพวกนี้ จะเอามาพิจารณาไม่ได้ แต่ทุกๆ เรื่องเวลาที่เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง สำนักงาน กกต.ก็จะมีการติดตามเรื่อง รวบรวมข้อเท็จจริง และหากมีประเด็นเพียงพอ ก็จะเสนอให้ เลขาธิการ กกต. ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง พิจารณาว่าสมควรจะต้องตั้งกรรมการ รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานหรือไม่ ถ้าเห็นว่าสมควรก็ต้องตั้ง และทำการสืบพยานรวบรวมเอกสารให้ครบถ้วน และพิจารณาว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่
ซักว่านายทักษิณเดินสายต่างจังหวัดพบประชาชนและสมาชิกพรรคสามารถทำได้หรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า ถ้าการกระทำใดๆ ไม่เข้าข่ายที่จะถือได้ว่าเป็นการครอบงำ ก็ไม่สามารถที่จะไปห้ามได้ ต้องมีข้อเท็จจริง มีพฤติการณ์ที่พูดได้ว่าเป็นการครอบงำ ซึ่งคงไม่สามารถไปตัดสินได้จากข้อเท็จจริงปรากฏเฉยๆ คงไม่ได้
เมื่อถามว่า มีการมองว่าเป็นเรื่องของครอบครัว ดังนั้นการทำกิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัวกับการครอบงำ แตกต่างกันหรือไม่ ประธาน กกต.บอกว่า ไม่ใกล้เคียงกันเลย สิ่งที่ใกล้เคียงกันมีเพียง "ค" ควาย
มีรายงานจากพรรค พท. กรณีนายทักษิณเดินทางเข้าพรรคเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากรัฐมนตรี สส.พรรค พท. สมาชิกพรรค พท. และกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว ปรากฏว่ามี สส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เดินทางเข้ามาพบนายทักษิณด้วย คือ น.ส.สุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร พรรคไทยสร้างไทย ที่ได้ร่วมเฟรมถ่ายภาพกับนายทักษิณและบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยกันอย่างคึกคัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ น.ส.สุภาพร ถือเป็น 1 ใน 3 สส.ของพรรคไทยสร้างไทย ที่โหวตสวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในวาระหนึ่ง จนทำให้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ พรรคไทยสร้างไทย ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
แดงอีสานคึกรอรับทักษิณ
ขณะที่ ผศ.พรรณวดี ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มสตรี 20 จังหวัดภาคอีสาน และอดีตแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสาน ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความดีใจภายหลังเห็นนายทักษิณเดินทางเข้าพรรค พท.ว่า กลุ่มแนวร่วม นปช., กลุ่มคนเสื้อแดงและคนที่รักในอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น อิจฉาคณะรัฐมนตรี, สส.และสมาชิกพรรค ที่มารอให้การต้อนรับ ส่วนตัวดีใจที่สุดหลังจากที่คนที่รักกลับประเทศไทยและกลับมาในที่ที่เคยทำงาน ท่ามกลางการต้อนรับที่อบอุ่น
"คนเสื้อแดงอีสานและคนอีสานที่รักในตัวท่านทักษิณ มีความหวังว่าท่านมาเยือนอีสาน มากินข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง กับคนอีสานในเร็วๆ นี้ ทุกคนต่างมีความหวังและพร้อมที่จะไปต้อนรับอดีตนายกฯ ในดวงใจ หากมีกำหนดการมาเยี่ยมเยือนคนอีสาน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใด มั่นใจว่าคนเสื้อแดง, แนวร่วม นปช.และคนที่รักในตัวท่าน จะไปรอต้อนรับ ไปพบปะกันนับหมื่นคน แม้บางคนรู้ตัวเองว่าจะไม่ได้ใกล้ชิดหรือเข้าถึงตัวท่าน แต่ขอเพียงได้เห็นไกลๆ หรือได้ไปถือป้ายต้อนรับคนที่รักก็สุขใจแล้ว" อดีตแกนนำคนเสื้อแดงอีสานกล่าว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ปฏิเสธที่จะบอกถึงกำหนดการเข้าพบนายทักษิณ โดยระบุว่า ไม่บอก จะบอกทำไม
ถามว่า นายทักษิณระบุไม่ว่าจะเป็นใครก็พร้อมให้คำปรึกษา นายอนุทิน กล่าวว่า เราเอาเรื่องที่เป็นหน้าที่ของเราดีกว่า ส่วนสมมติว่าจะเข้าพบนายทักษิณ ตนคงพบในฐานะที่เป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นผู้ที่มีพระคุณในอดีต ให้โอกาสเราทำงานมาจนถึงวันนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร คงไม่ต้องมานั่งบอกผู้สื่อข่าวว่าจะไปพบวันนั้นวันนี้ ไม่ใช่ เพราะนั่นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับงานราชการแผ่นดิน
"หากจะไปก็ต้องไปในเวลาส่วนตัว ไม่ใช่เวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไปแสดงความคารวะ ซึ่งผมบอกมาตลอดว่าเป็นผู้ที่มีพระคุณทางการเมืองมากๆ คนหนึ่ง มาอยู่ตรงนี้ได้ ถ้าวันนั้นในปี 2547 นายทักษิณไม่ให้โอกาส รัฐมนตรีช่วยในรัฐบาลของนายทักษิณ ก็ไม่มีวันนี้ ผมคิดแบบนี้ก็สบายใจ" นายอนุทินกล่าว
ถามว่า มีบางส่วนเกิดข้อสงสัยเรื่องนายกฯ 2 คน นายอนุทินยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีมีคนเดียว พร้อมขออย่าไปพูดสองสามคน อย่าลืมว่าใครเป็นคนตั้งนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นอย่าไปพูด 2 คน 3 คน อันนี้ไม่ถูก และมีรัฐมนตรี 35 คน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.ภายหลังนายทักษิณเดินทางเข้าพรรค พท.ว่า จริงๆ ข่าวนี้ก็มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่อย่างที่ตนเคยกล่าวไปช่วงที่จะมีการปรับ ครม.นั้น ท้ายที่สุดคงจะมีการพูดคุยกันในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีนายทักษิณเดินทางไปพบ สส.พรรค พท.ว่า ความจริงเชื่อว่าคนคาดการณ์อยู่แล้วว่าจะมาเลี้ยงหลานไม่จริง ไปเลี้ยงดิโอนลี่ (ลูกสิงโตขาวที่ จ.เชียงใหม่) มากกว่า และเป็นสิ่งที่ไม่เหนือการคาดการณ์
"จะกระทบทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องรอดูว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่ช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าความนิยมของรัฐบาลยังไม่ดีขึ้นจากการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เชื่อว่าการไปพรรค พท. มีความมุ่งหวังทางการเมือง แต่ยังไม่อยากวิจารณ์ไปตั้งแต่ตอนนี้ว่าผลจะออกมาอย่างไร เพราะคนไทยก็ติดตามกันอยู่แล้ว" นายจุรินทร์กล่าว
จักรภพประกาศกลับไทย
ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ กล่าวถึงความพร้อมการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า การอภิปราย ม.152 เป็นการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เหมือนเป็นการถามแล้วให้รัฐบาลตอบ ตามหลักการอภิปรายที่เป็นหมัดน็อกอยู่ที่ ม.151 ซึ่งการอภิปรายคงเน้นไปที่ 1.การทำงานของรัฐบาลตามที่นายกฯ เคยแถลงไว้แล้วไม่ทำ เราต้องทวงถามให้ประชาชนอยู่แล้ว 2.การที่วันนี้เศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้นมา นายกฯและรัฐบาลจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร 3.เรื่องยาเสพติดก็เป็นปัญหาหลักที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากการแก้ไขกฎกระทรวงจากผู้ที่ถือครองยาเสพติด 5 เม็ด เหลือ 1 เม็ด จากผู้เสพกลายเป็นผู้ป่วย ข่าวคลุ้มคลั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ แค่เม็ดสองเม็ดก็คลุ้มคลั่งแล้ว ถ้า 5 เม็ดคงบานปลาย ต้องแก้ที่ต้นเหตุ อย่าแก้ที่ปลายเหตุ
ถามว่า การอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม จะเชื่อมโยงไปถึงนายทักษิณหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ต้องดูว่ามีข้อมูลไหนบ้างที่ สว.ได้ถามรัฐมนตรีไปแล้ว ถ้าเรามาถามต่อก็คือเรื่องเดิม ต้องดูในรายละเอียดว่าตรงไหนที่ยังไม่ครบถ้วน ค่อยนำประเด็นนี้มาต่อยอด แต่ถ้าพูดครบถ้วนแล้ว ก็ต้องหาประเด็นใหม่ ไม่เช่นนั้นประชาชนที่ฟังจะได้อะไร
ซักว่ามีแนวโน้มจะไม่แตะนายทักษิณใช่หรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า อย่าพูดว่ามีแนวโน้มไม่แตะ เรายังไม่ได้บอกว่าจะแตะ-ไม่แตะเรื่องนี้ ทุกอย่างต้องดูข้อมูลให้ครบถ้วน เพราะถ้าพูดวันนี้ว่าจะแตะ แต่สุดท้ายไม่พูดก็เหมือนหลอก แต่หากเราพูดว่าจะพูด แต่สุดท้ายกลับไม่พูดก็กลายเป็นการหลอกเหมือนกัน
ถามว่า นายทักษิณเข้าไปรักษาตัวรพ.ตำรวจ ห้องผู้ป่วยพิเศษชั้น 14 ใช้งบประมาณส่วนใด นายชัยชนะกล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ตอบกลับมาเพียงว่าใช้หลักประกันสุขภาพ และห้องที่นายทักษิณพักไม่ใช่ห้องพิเศษ แต่เป็นห้องที่ดูแลพิเศษ เนื่องจากนายทักษิณเคยถูกลอบวางระเบิดโดยรถยนต์ หรือคาร์บอมบ์เมื่อปี 2549 ซึ่งตนได้ศึกษาข้อกฎหมายตามหลัก พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ ผู้ป่วยห้ามพักห้องพิเศษ แต่หากป่วยหนักก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องไปดูในหลักกฎหมายปลายเปิดว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน
เมื่อถามกรณีนายทักษิณเข้าพรรคพท. นายชัยชนะกล่าวว่า ตามสิทธิที่กระทรวงยุติธรรมระบุนั้นสามารถทำได้ แต่สุดท้ายแล้วสังคมจะเป็นผู้ตัดสินเอง ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยก่อนหน้านี้ หรือเรื่องอื่นๆ สังคมสรุปได้เอง โดยส่วนใหญ่ก็เข้าใจเหมือนกันว่าอะไรเป็นอะไร
วันเดียวกัน นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ลี้ภัยในต่างแดน เปิดเผยผ่านเพจส่วนตัว "จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair" ระบุ "วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 07.35 น.จักรภพ เพ็ญแข กลับไปรับใช้ เมืองไทยครับ"
ทั้งนี้ ได้มีแฟนเพจของนายจักรภพเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก อาทิ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวของนายทักษิณ เข้ามาคอมเมนต์ว่า "ขอให้ท่านจักรภพเดินทางโดยสวัสดิภาพครับ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายจักรภพ เคยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลนายทักษิณปี 2546-2548 อดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย อดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี และอดีตผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ เคยโดนฟ้องร้องคดี ม.12 จากการปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อเรื่อง “ระบบอุปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย” เมื่อปี 2550 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (เอฟซีซีที) แต่อัยการสั่งยกฟ้อง เมื่อช่วงเดือน ก.ย.2554
ทั้งนี้ เมื่อมีการรัฐประหารปี 2557 ได้ถูก คสช.เรียกรายงานตัว แต่ไม่มาจึงถูกศาลทหารออกหมายข้อหาฝ่าฝืนการไปรายงานตัว และถูกกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธสงครามในปี 2560
บี้แก้ กม.พรรคการเมือง
ที่อิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเสวนาวิชาการเรื่องพรรคการเมืองสร้างชาติและการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการพรรคการเมือง มีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานเปิดงาน รวมทั้งมีหัวหน้าพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมือง เข้าร่วมงาน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคการเมืองมองว่าเรามีเจตนาในจัดตั้งพรรคขึ้นก็จริง แต่เราถูกจำกัดมากมายหลายประการ ในข้อกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถที่จะเรียกร้องอะไรได้ จึงมองว่าทางออกที่จะดีสุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นพรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย
"ลึกๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยในเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นโดยง่าย ซึ่งเราเคยเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรา 92 (2) และ (3) แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็แก้ไม่สำเร็จ ซึ่งเราควรจัดทำรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่" รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าว
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า น่าเสียดายที่สังคมไทยสวนทางกับโลก และบอกว่าพฤติกรรมของพรรคก้าวไกลมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง และถูกยุบพรรค ซึ่งในแง่นี้หมายความว่าพรรคการเมืองพรรคนี้ไม่น่าจะมีบทบาทให้การเมืองดีและสร้างชาติ แต่ในทางตรงกันข้ามถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองทำลายชาติเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ดี ซึ่งมีนัยที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่
"พรรคก้าวไกลเอง พยายามพัฒนาบุคลากรและตัวแทนของพรรคให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะพูดถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ เราระดมสมองจากนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญ แต่ในเมืองไทยเราไม่เคยเห็นพัฒนาการทางการเมือง เราไม่เคยเห็นการถกเถียงทางการเมืองกันอย่างจริงจังดังนั้นคิดว่าควรจะมีได้แล้ว" นายชัยธวัชกล่าว
นายภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2550 และฉบับ 2560 ที่มีกติกาในการยุบพรรค ซึ่งตนคิดว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองจากกติกาที่เขียนว่าจะต้องยุบจาก เหตุผลหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างอยู่ที่กติกา อย่างที่นายชูศักดิ์บอกว่า ชนใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มาจากผู้ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เขียนกฎหมายเขียน รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์การเลือกตั้งปี 2562 กติกาจึงบิดเบี้ยวมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นคิดว่าสิ่งที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าประเด็นแรกที่จะต้องทำคือการแก้ไขกติกาให้เป็นสากล แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน
จากนั้น นายอิทธิพรให้สัมภาษณ์กรณีพรรคการเมืองมอง กกต.จ้องจับผิด โดยเฉพาะเรื่องการยุบพรรคการเมืองว่า ไม่ได้เป็นการจ้องจับผิด แต่ กกต.มีหน้าที่ดูแลการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ไม่มีการจ้องจับผิด และอยากเน้นอีกครั้งว่า ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง หากมีข้อสงสัยพรรคการเมืองสามารถสอบถาม กกต.ได้
นายอิทธิพรกล่าวถึงการส่งเอกสารเพิ่มเติมประกอบคำร้องเพิ่มเติมเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลว่า กกต.ได้ส่งคำร้องเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา โดยสิ่งที่ส่งไปคือเอกสารประกอบฉบับหนึ่งที่อยู่ในคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นมาถึงกกต.และมีความไม่ชัดเจน ซึ่งเอกสารส่วนหนึ่งที่เลือนราง อ่านลำบาก ตนจึงขอให้สำนักงาน กกต.ไปขอรับสำเนาเอกสารที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งให้เรียบร้อยแล้ว
ถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้มีการยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย นายอิทธิพร กล่าวว่า อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองตามมาตรา 93 ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานให้มากที่สุด เพื่อให้นายทะเบียนพิจารณาว่าเรื่องนี้สมควรที่จะเสนอให้ กกต.พิจารณาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีระยะเวลาตามระเบียบ 30 วัน และสามารถขอเพิ่มระยะเวลาได้
เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำร้องขอให้พิจารณายุบพรรคภูมิใจไทยมีความล่าช้ากว่าพรรคก้าวไกล นายอิทธิพรกล่าวว่า เป็นคนละกรณีกัน โดยในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้น เป็นคำร้องเกี่ยวกับเรื่องเงิน ส่วนของพรรคก้าวไกลก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง และอำนาจหน้าที่ของ กกต.ก็เป็นคนละมาตรากัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกต. เตือนข้อพึงระวังหาเสียงและยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง อบจ.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ข้อพึงระวังในการหาเสียง การรายงานค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68