อสส.ยุติ2คดีใหญ่ ยิ่งลักษณ์โยกถวิล พันธมิตรบุกสภา

"ยิ่งลักษณ์" ติดปีก อสส.ไม่ยื่นอุทธรณ์คดีฟ้องโยกย้ายไม่เป็นธรรม "ถวิล เปลี่ยนศรี" ขณะที่แกนนำพันธมิตรเฮ! คดีถึงที่สุด โฆษกอัยการ เผยไม่ยื่นฎีกาต่อ หลัง 2 ศาลยกฟ้องปิดล้อมสภา 51 ไล่สมัคร

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดเห็นชอบควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษายกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คดีนี้ อัยการสูงสุดรับดำเนินคดีอาญาฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่  อม.11/2565

ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย

อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  โดยเห็นควรไม่อุทธรณ์ และจะได้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ และรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกอบการพิจารณา ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 79 วรรคสอง ต่อไป

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวผู้สื่อข่าวรายงานว่า อัยการสูงสุด โจทก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งโยกย้าย และให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่เป็นธรรม

วันเดียวกัน นายประยุทธกล่าวว่า อัยการสูงสุดไม่รับรองให้ฎีกาคดีฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก เป็นผลให้คดีถึงที่สุดตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 2 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 3 นางมาลีรัตน์ แก้วก่า จำเลยที่ 4 นายประพันธุ์ คูณมี จำเลยที่ 5 ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.4924/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.590/2562

คดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.275/2556 และคดีหมายเลขแดงที่อ.591/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา  10 กับนายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 1  นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 2 นายอมร อมรรัตนานนท์ จำเลยที่ 3 นายสำราญ รอดเพชร จำเลยที่ 4 นายศิริชัยไม้งาม จำเลยที่ 5 นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่ 6 นายพิชิต ไชยมงคล จำเลยที่ 7 นายอำนาจ พละมี จำเลยที่ 8 นายกิตติชัย ใสสะอาด จำเลยที่ 9 นายประยุทธ วีระกิตติ จำเลยที่ 10 นายสุชาติ ศรีสังข์ จำเลยที่ 11 นายสมบูรณ์ ทองบุราณ จำเลยที่ 12 นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี จำเลยที่ 13 นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก จำเลยที่ 14 นายพิเชฐ พัฒนโชติ จำเลยที่ 15 และให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่  อ.3881/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.592/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับนายวีระ สมความคิด จำเลย (รวมทั้งหมด 3 คดีให้เป็นคดีเดียวกัน)

โดยกล่าวหาจำเลยทั้งหมด ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุมร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการไม่กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นปราศจากจากเสรีภาพในร่างกาย

คดีทั้งหมดดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 เว้นแต่กรณีอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีมีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้ลงชื่อรับรองในฎีกาได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งไม่รับรองฎีกาคดีดังกล่าว เป็นผลให้คดีถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-7 ต.ค.51 จำเลย ซึ่งเป็นแกนนำได้ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดัน ก่อความวุ่นวายให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นลาออก โดยปิดล้อมสถานที่ราชการ รัฐสภา เพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรี สส., สว. และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ