คลังชงแพ็กเกจ 5มาตรการใหม่ ครม.เคาะเม.ย.

ปลัดคลังลั่นเตรียมชงผลรับฟังปม “ดิจิทัลวอลเล็ต” ให้ “เศรษฐา”  ก่อนสงกรานต์ตัดสินใจเอาอย่างไรต่อ  “คลัง” เตรียมดัน 5 มาตรการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ ครม.เคาะต้น เม.ย. พร้อมส่งซิก “ธปท.” หั่นดอกเบี้ยนโยบาย   

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2567 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า คณะอนุกรรมการ 2 ชุดที่ได้แต่งตั้งขึ้นมา ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 100 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชนเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อประมวลผล โดยคาดว่าจะเสนอความคิดเห็นทั้งหมดให้ สศค.ได้ภายใน 2 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 29 มี.ค.นี้ ก่อนส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิจารณาได้ในช่วงก่อนสงกรานต์  ว่าจะตัดสินใจดำเนินการโครงการนี้อย่างไร จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ขณะที่ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะชะลอตัว โดยคาดว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโตได้เพียง 2.8% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงที่ 2.5% ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก ติดลบ -0.8% โดยชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 บ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ  กระทรวงการคลังจึงได้ร่วมมือกับ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เตรียมออกมาตรการเพื่อลดภาระภาคประชาชนและภาคธุรกิจเพิ่มเติม ผ่านโครงการแบงก์รัฐลดก่อนผ่อนภาระประชาชน ซึ่งเป็นโครงการใหม่ 5 มาตรการ

นายพรชัยกล่าวต่อว่า มาตรการเพื่อช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 5 โครงการ จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ประมาณต้นเดือน เม.ย.2567 ประกอบด้วย 1.สินเชื่อตามโครงการ IGNITE THAILAND โดยดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน สนับสนุนเอสเอ็มอี กลุ่มศูนย์กลางการท่องเที่ยว สินเชื่อศูนย์กลางการแพทย์ และศูนย์กลางอาหาร 2.สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ โดยธนาคารออมสิน เป้าหมายคือกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 10 ล้านคน 3. สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4.สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อบุคลากรภาครัฐ โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ SME Refinance ช่วยลดต้นทุน

 “แพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ออกมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นมาตรการการคลัง เพื่อช่วยเหลือดูแลบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณถึงธนาคารพาณิชย์ให้หันมาช่วยเหลือประชาชน เช่น ลดดอกเบี้ย  พักหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือลดอัตรากำไรลง เพื่อให้มีเม็ดเงินประคองชีพเพิ่มขึ้น อาจไม่มาก แต่ก็ช่วยต่อลมหายใจ กระตุ้นการลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเปราะบางได้” นายพรชัยกล่าว

นายพรชัยกล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังยังคาดหวังว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.นี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาปัจจัยและตัวแปรทางเศรษฐกิจให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อนำมาประเมินก่อนตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องระดับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต่างจากเงินเฟ้อในต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้เงินเฟ้อกลับไปสู่กรอบเป้าหมาย

 “ตลาดมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ กนง.จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หากเป็นเช่นนั้นจะช่วยให้เอกชนวางแผนธุรกิจได้ง่ายขึ้น ช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ฟื้นตัวได้เร็ว รวมถึงเศรษฐกิจในปีหน้าด้วย ซึ่งการลดดอกเบี้ยไม่ได้ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเสมอไป เพราะการประเมินว่าดอกเบี้ยลดลง 0.25% จะเพิ่มการบริโภคได้ 0.15% เพิ่มการลงทุนได้ 0.16%” นายพรชัยกล่าว

ส่วน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.การคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง ที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.),  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ที่ต้องการขยายเวลาปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ จาก 0.25% ต่อปี เป็น 0.125% ต่อปี ต้องมีมาตรการใหม่ที่สะท้อนว่า เงินนำส่งกองทุนฯ ที่ลดลงนั้นได้นำไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มฐานราก ลูกหนี้นอกระบบ

ดร.เผ่าภูมิกล่าวอีกว่า มาตรการใหม่ต้องมีแนวทาง ดังนี้ 1.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราผ่อนปรนพิเศษให้แก่ลูกหนี้เป็นการทั่วไป 2.เงินนำส่งกองทุนฯ ที่ลดลงไปดำเนินโครงการใหม่ ที่มีการชดเชยความเสียหายที่เกิดจาก NPLs หรือชดเชยความเสียหายเพิ่มเติมจากโครงการหรือมาตรการของรัฐที่ได้รับการชดเชยไปแล้ว 3.ลดอัตราดอกเบี้ยหรือเงินต้นตามสัญญา และ 4.เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ที่ทำให้เงินต้นของลูกหนี้ปรับลดลงในทุกงวดที่ผ่อนชำระ ซึ่งการช่วยเหลือลูกหนี้ จะต้องมากกว่า หรือเท่ากับเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ที่ลดลง ซึ่งเงินทุกบาทต้องตรงถึงประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย