ถกงบฯ ต่อวันที่ 2 ส.ส.ก้าวไกลเดือด! ขอตัดงบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทั้งโครงการ ลั่นไม่เคยเป็นกลาง เป็นแค่เครื่องมือรัฐผูกขาดความจริง ชำแหละ "ทส." แก้ฝุ่นพิษล้มเหลว รุมจวก “ก.พลังงาน” อัด สนพ. จ้างบุคลากรทำซอฟต์แวร์ติดตามก๊าซเรือนกระจก-จ่อจัดซื้อพลังงานทดแทนทั้งที่ยังไม่มีแผนพลังงานชาติ ซุกงบเกินครึ่งให้โครงการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก-โซลาร์ลอยน้ำ ซัด พณ.ของบฯ อบรมผู้บริหารสูงถึง 17 ล้าน ไม่คุ้มค่า กรมส่งเสริมท้องถิ่นใช้งบผิดประเภท-ส่อฮั้วประมูล เสนอโละ "โครงการจัดซื้อรถผลิตน้ำดื่ม" ของ ปภ. เหตุลงงบผิดฝาผิดตัว
ที่รัฐสภา เวลา 09.00 น. วันที่ 21 มีนาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่สอง เรียงตามรายมาตรา ต่อเป็นวันที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยพิจารณาต่อในมาตรา 16 ในงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แปรญัตติว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ 4 ที่ตนจะอภิปรายตัดงบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในสำนักปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ทั้งโครงการ จำนวน 69,565,700 บาท โดยเดือน ก.ย.66 ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้คัดกรองจาก 5.4 ล้านข้อความ เหลือจำนวนเรื่องที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 539 เรื่อง จากนั้นจะถูกส่งไปที่หน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ศูนย์ เคยชี้แจงว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานราชการเท่านั้น ซึ่งตนสงสัยว่าทำไมศูนย์ถึงเลือกที่จะตรวจสอบข่าวจากหน่วยงานราชการเท่านั้น และสุดท้ายจาก 539 เรื่อง ได้รับผลการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งหมด 356 เรื่อง แต่สามารถเผยแพร่ได้เพียง 235 เรื่องเท่านั้น
"ตลอด 4 ปี 5 เดือน ตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์นี้มา ไม่เคยมีความเป็นกลาง หรือไม่เคยมีอิสระ เป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดความจริงแบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้ และปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็นเท่านั้น และยืนยันว่าโครงการแบบนี้ไม่ควรได้รับจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว” นายปกรณ์วุฒิกล่าว
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 16 ตามคณะ กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยเสียง 279 ต่อ 146 งดออกเสียง 0 ไม่ออกเสียง 0 เสียง
ต่อมาเวลา 11.00 น. เป็นการพิจารณามาตรา 17 งบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ กมธ.ตัดลดงบประมาณเหลือ 15,025,964,400 บาท จากที่เสนอมา 15,064,053,400 บาท โดยเนื้อหาการอภิปรายส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่กระทรวงไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการเกลี่ยงบประมาณภายในหน่วยงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ให้งบประมาณอย่างเพียงพอกับหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ปัญหาภัยแล้ง
โดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า งบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกปรับลดลงเหลือ 870 ล้านบาทถูกตัดทิ้ง ทั้งที่ประเทศมีวิกฤตเรื่องน้ำ แต่กลับไม่ติดอาวุธให้หน่วยงาน ขณะที่งบกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมีความทับซ้อนกับกรมควบคุมมลพิษ มีแต่งบงานอีเวนต์เป็นตัวตั้ง ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรเน้นเป้าหมายเรื่องการบรรลุยุทธศาสตร์ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน
ขณะที่ นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เกลี่ยงบไม่สมดุล กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้งบ 5,600 ล้านบาท ทั้งที่มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าอุทยานมากอยู่แล้ว มีรายได้ต่อปี 1,000 ล้านบาท แต่กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่มีส่วนสำคัญแก้ปัญหาภัยแล้ง กลับได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ อย่างกรมป่าไม้ มีอุปกรณ์ดับไฟป่าแค่ไม้กวาด เครื่องเป่าลม ควรได้รับงบเพิ่มเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าที่ทันสมัย
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 17 ตามเสียง กมธ.ข้างมาก
ถล่ม ก.พลังงานซุกงบฯ
เวลา 13.20 น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา 18 กระทรวงพลังงาน โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.ขอสงวนความเห็น อภิปรายว่า โครงการจัดทำระบบติดตามและประเมินผลงานดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ.2566-2580 (แผนพลังงานชาติ) จัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งเป็นการจ้างที่ปรึกษาจัดทำซอฟต์แวร์ Automated-MRV เพื่อประเมินและติดตามผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ (NEP) ปัญหาอยู่ที่แผนพลังงานชาติที่ควรจะออกมาตั้งแต่ปี 2565 เป็นเวลา 2 ปีที่เราอยู่กันโดยไม่มีแผนพลังงานชาติ กลายเป็นว่าโครงการนี้กำลังจะจัดจ้างที่ปรึกษา แต่วันนี้ยังไม่มีการจัดเปิดรับฟังความคิดเห็นแผนพลังงานชาติของปี 2565 เลย
“ระหว่างนี้ที่เราไม่มีแผนพลังงานชาติ ก็มีการอนุมัติแผนรับซื้อพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในที่ประชุมสภา สมัยที่แล้ว ตนได้ตั้งคำถามต่อการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว ว่าเป็นไปตามแผนพลังงานชาติหรือไม่ แม้ยังไม่มีแผนพลังงาน แต่กลับมีการอนุมัติทำสัมปทานซื้อพลังงานจากเขื่อนในลาวแล้วเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีการรับซื้อพลังงานทดแทน 5 พันเมกะวัตต์ และจ่ออนุมัติซื้อพลังงานทดแทนอีก 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่หรือไม่ ต้องสอบถามไปยัง กมธ.ว่ามีการพูดคุยเรื่องนี้กับสนพ.อย่างไร ถ้าเราไม่จำเป็นต้องมี PDP เราก็อนุมัติซื้อไฟฟ้าได้ ไม่ต้องมีแผนพลังงานชาติ เราก็รับซื้อไฟฟ้าได้ งั้นก็ไม่ต้องมี ให้อำนาจอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกฯ เป็นประธานไปเลยไหมคะ” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
ด้านนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า แม้กระทรวงพลังงานจะได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 1,856 ล้านบาท แต่การได้รับงบประมาณน้อยไม่ได้หมายความว่ากระทรวงนั้นจะไม่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น อาจจะเป็นที่ที่คนปล่อยปละละเลยจนมีการทุจริตมากที่สุด แต่ 1,172 ล้านบาทนั้น ถูกจัดสรรไปให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) หากเราไปดูเนื้อใน จะพบว่ามีโครงการหนึ่งที่ชื่อว่าโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้านพลังงานทดแทน ที่ได้เงินไปกว่า 800 ล้านบาท และนำไปชดเลยปาล์มน้ำมัน 300 ล้านบาท แต่เข้าใจได้เพราะเงินถูกส่งถึงมือชาวสวนปาล์ม ส่วนที่เหลือ 441 ล้านบาท ถูกนำไปใช้สร้างโรงไฟฟ้าทั้งเขื่อนขนาดเล็กและโซลาร์แบบลอยน้ำ
"คำถามสำคัญคือ เงินที่ได้จากการขายไฟจากโรงไฟฟ้าเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ค่าก่อสร้างที่แพงแล้ว นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่ ทำไมกระทรวงพลังงานต้องของบประมาณที่เป็นภาษีของพี่น้องประชาชนในการไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเช่นนั้น เพราะมีกลไกอื่นคือกองทุนด้านพลังงานที่ยังรอการนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์และถูกวัตถุประสงค์อีกหลายกองทุน" นายศุภโชติกล่าว
ท้าพท.เอาผิด 'ประยุทธ์'
ขณะที่ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า ขอปรับลดงบประมาณกระทรวงพลังงาน 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากอาจจะมีพลังงานซ่อนอยู่ เพราะแม้จะเป็นกระทรวงที่งบประมาณน้อย แต่มีขุมทรัพย์มหาศาลซ่อนอยู่ เพราะเมื่อปี 2561 หลังจากที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้สิทธิ์ในการประมูลและสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แหล่งเอราวัณ และบงกชไปถือครอง ทำให้เชฟรอนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นผู้ถือครองสัมปทานในแหล่งเอราวัณมาอย่างยาวนาน ได้พ่ายแพ้การประมูล และต้องทำแผนรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม และส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้กับรัฐ แต่หลังรัฐประหารปี 2559 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ไปแก้กฎกระทรวงย้อนหลัง ทำให้ผู้รับสัมปทานคือเชฟรอน ต้องไปชี้แจงว่าประเด็นนี้ไปสู้กันในอนุญาโตตุลาการ เป็นการออกมาภายหลัง แล้วจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังกลับไปได้หรือไม่
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในวันนี้ และ พล.อ.ประยุทธ์ในวันนั้น ไม่ดำเนินการตามนโยบายพลังงาน และเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่ผิดพลาด บกพร่อง ปล่อยปละละเลย ไม่รอบคอบไม่รัดกุมเช่นนี้ จะเอาผิดอย่างไรกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ วันนี้นอกจากรัฐบาลจะไม่เอาผิดอะไรคุณประยุทธ์ ยังอยู่สบายแถมรัฐบาลเพื่อไทยต้องมาตามชดใช้ความเสียหายให้กับรัฐบาลคุณประยุทธ์อีกด้วย” น.ส.เบญจากล่าว
จากนั้นเวลา 14.15 น. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะ กมธ. ชี้แจงว่า กมธ.ไม่ได้มีอำนาจไปออกกฎเกณฑ์เรื่องการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็ก แต่ทั้งหมดมีข้อซักถาม เราก็ตั้งข้อสังเกตไปที่หน่วยงานเช่นเดียวกัน ตนทราบดีว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ตระหนักดีถึงการทำงานในกระทรวงพลังงาน หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องมีการรื้อกฎเกณฑ์กติกา รื้อระบบ และรัฐมนตรีก็ทำตลอด อย่างการแก้ระเบียบกติกาให้เหมาะสมในการแก้ปัญหาได้ การผลิตพลังงานสะอาดหมุนเวียนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หลายโครงการมีวัตถุประสงค์ที่ดี ซึ่งเราได้เรียกหน่วยงานมาทบทวนหลายโครงการ หากดำเนินการภายในปีนี้ไม่ได้ หรือไม่มีความจำเป็นเราก็ขอปรับลดงบประมาณ
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบมาตรา 18 ตาม กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเสียง 278 ต่อ 161
จากนั้นเวลา 14.20 น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา 19 กระทรวงพาณิชย์ โดยนายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กระทรวงพาณิชย์มีการของบถึง 4,064 ล้านบาท มีการตัดงบประมาณไปแล้ว 38.436 ล้านบาท แต่ตนขอให้ตัดเพิ่มอีก 19.286 ล้านบาท ในเรื่องของสถาบันระหว่างประเทศ หรือ ITD ใน 2 โครงการหลักๆ เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการการอบรม โครงการแรกเป็นโครงการที่เอาไว้อบรมผู้บริหาร ซึ่งมีมูลค่าถึง 17.32 ล้านบาท มีการให้ผู้บริหารเข้ามาร่วมอบรมประมาณ 100 คน และโครงการเทศกาลส่งเสริมผู้ประกอบการสู่เวทีโลก งบที่ข้อไว้ประมาณ 25.286 ล้านบาท รวมสองโครงการประมาณ 42 ล้านบาท
จับพิรุธงบฯ พณ.-มท.
นายกันต์พงษ์กล่าวต่อว่า การที่ขอตัดงบในส่วนนี้เพราะเห็นว่าแพงเกินไป เช่น ค่าอาหาร โดยเฉพาะอาหารว่างมีมูลค่ากว่า 5.4 ล้านบาท ให้กับคน 1,800 คน ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะหาคนมาอบรมตามจำนวนจริงหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีค่าสถานที่ บอกว่าจะจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งตนตรวจสอบมาแล้ว หากจะจัดบูธ 300-500 บูธ เฉลี่ยบูธละ 3,500 บาท อย่างไรงบประมาณก็ไม่ถึง 17 ล้านบาทตามที่ขอมา เต็มที่ไม่น่าจะเกิน 8 ล้านบาท รวมถึงค่าทำโปรโมชั่นหรือสื่อออนไลน์ โครงการละประมาณ 2 ล้านบาท สองโครงการก็ประมาณ 4 ล้านบาท อย่างนี้คุมค่าหรือไม่ ซึ่งเห็นว่ามีความผิดปกติ
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบตามกมธ.เสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 280ต่อ 161 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1
จากนั้นเวลา 16.15 น. ในการพิจารณามาตรา 20 กระทรวงมหาดไทย น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิ่งที่น่าสนใจคือโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ของบประมาณมา 1,982 ล้านบาท ตนได้สอบถามข้อมูลในชั้นอนุ กมธ.แล้ว แต่สิ่งที่ได้ก็รู้สึกว่ายังไม่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อไปดูไส้ในของโครงการนี้ ปรากฏว่าร้อยละ 80 เป็นการติดไฟถนน แต่ระบุว่าเป็นบัญชีนวัตกรรม ทำไมต้องเป็นไฟตามบัญชีนวัตกรรม ไฟธรรมดาไม่สว่างหรือ และการจัดซื้อจัดจ้างเหมาะสมแค่ไหน จึงขอตัดงบประมาณโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด หากยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าบัญชีนวัตกรรมมีความโปร่งใส ก็ไม่สมควรได้งบประมาณในส่วนนี้
ต่อมา นายชลธานี เชื้อน้อย สส.ลำปาง พรรค ก.ก. อภิปรายว่า เสนอให้ปรับลด 135 ล้านบาท ในส่วนงบประมาณปี 67 ของงบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำหรับครุภัณฑ์ต้านภัยแล้ง ในการจัดซื้อรถผลิตน้ำดื่ม ขนาด 2,000 ลิตรต่อชั่วโมง จำนวน 120 คัน คันละ 7.5 ล้านบาท ซึ่งผูกพันไปถึงงบประมาณปี 68 อีก 765 ล้านบาท และเนื่องจากเป็นครุภัณฑ์นอกบัญชีมาตรฐาน จึงไม่มีราคากลาง
เมื่อตนได้สอบถามจากรองอธิบดีกรม ปภ. ก็ได้รับคำตอบว่าคิดจากจำนวนประชากร 300,000 คนต่อ 1 คัน แต่เมื่อสอบถามกับ ผอ.กอง ปภ.จึงทราบว่ามีรถประจำทุกเขตของ ปภ.อยู่แล้ว เพียงแค่มีไซส์เล็กกว่าคือ 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง และเมื่อตนไปสืบราคาจากบริษัทชั้นนำที่ทำเกี่ยวกับระบบประปา ซึ่งมีสเปกเดียวกันนั้น กลับมีราคาต่างกันเกิน 50% ที่ราคา 3,143,660 บาท ซึ่งหากโครงการนี้ผ่านไป โครงการนี้จะเกิดส่วนต่างของราคามหาศาล มูลค่ามากกว่า 522 ล้านบาทโดยประมาณ
“งบส่วนนี้ผิดฝาผิดตัว ขยับไปให้ อปท.ทำดีกว่าหรือไม่ เนื่องจากมีประสิทธิภาพมากกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่า จากที่ปรับลด ขอเสนอตัดทั้งโครงการ ให้มหาดไทยไปบริหารจัดการกลับมาใหม่ในปี 68 ให้ดีกว่านี้ ว่าควรอยู่ในหน่วยงานใด กรมใด ราคาใด หากโครงการนี้ผ่านไป ผมไม่อยากใช้คำว่าเงินทอน แต่จะมีส่วนต่างมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท จึงขอรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติในการใช้งบประมาณเกินจริง ขอตัดงบประมาณในปี 67 นี้ 135 ล้านบาท และโครงการนี้ทั้งหมด 900 ล้านบาท" นายชลธานีกล่าวทิ้งท้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย