"สภาผู้บริโภค" ร้อง "กมธ.สื่อสารฯ" ลดค่าบริการเน็ต-เปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม "ธีรรัตน์" รับนำไปศึกษาต่อ หาข้อสรุปชงแก้กฎหมาย เอื้อประโยชน์ประชาชน "กลุ่ม 24 มิถุนาฯ" ชงก้าวไกลซักฟอกรัฐบาล เบี้ยวหาเสียงปมค่าแรงขั้นต่ำ-เบี้ยผู้สูงวัย พร้อมจี้สอบจริยธรรม "รมว.แรงงาน"
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับหนังสือ
โดย น.ส.สุภิญญากล่าวว่า ขอเสนอแนะให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาทบทวนและยกเลิกการควบรวมธุรกิจของกิจการโทรคมนาคมที่ดำเนินการแล้วทั้งหมด ให้พิจารณาจัดทำมติเรื่องการลดราคาค่าบริการพื้นฐานลง 12% ตามมาตรการที่กำหนด โดยให้ลดค่าอินเทอร์เน็ตลงจาก 0.16 บาท เป็น 0.14 บาทต่อเมกะไบต์ หรือค่าโทรศัพท์จาก 0.60 บาท เป็น 0.52 บาทต่อนาที เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ ขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำหนดนโยบายการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการยกระดับการแข่งขันของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ยอมรับว่า โครงสร้างของ กสทช. มีปัญหา ซึ่ง กมธ.นำปัญหานี้ขึ้นมาพูดคุย และคิดว่าต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันในหลายเวที เพื่อมุ่งหาทางออก รวมถึงต้องดูที่ต้นตอของปัญหา ซึ่งปัญหาอยู่ที่โครงสร้างของ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นระบบดูแลอำนาจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงเวลาแล้วที่ทุกส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคประชาชน
"ขณะนี้ กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงถึงการบริหาร ซึ่งการบริหารงานนั้นจะไม่สำเร็จได้หากไม่ได้รับความจริงใจจากทุกภาคส่วน ดังนั้นจะนำรายงานฉบับนี้ไปศึกษาเพื่อให้ได้ข้อสรุป และดูว่าปัญหาที่ประสบอยู่ขณะนี้คือเรื่องใด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย โดยถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้สิทธิในการดูแลและรับบริการ และเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมและประโยชน์สูงสุดกับประชาชน แม้จะไม่สำเร็จในวันนี้ แต่เชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้จะได้รับความพึงพอใจ" ประธาน กมธ.การสื่อสารฯ ระบุ
วันเดียวกัน กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นําโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เข้ายื่นหนังสือต่อพรรคก้าวไกล ซึ่งมีนายอภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายค้านเสนอหัวข้อในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย.67 เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ดังนี้
1.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 400 บาท ในเดือน พ.ย.2566 แต่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน บอกว่าทำไม่ได้ โดยมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2567 เพียงวันละ 363 บาท แม้ว่านายเศรษฐาให้ทบทวน แต่ รมว.แรงงานยืนยันตามความเห็นของคณะกรรมการค่าจ้าง แสดงให้เห็นว่า รมว.แรงงานไม่สามารถบริหารจัดการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลได้ สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้แรงงาน และทำให้นายเศรษฐกลายเป็นคนตระบัดสัตย์ โกหกหลอกลวงประชาชน ไม่มีความรับผิดชอบต่อสัญญาประชาคม ดังนั้นจึงขอให้พรรคฝ่ายค้านผลักดันให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศวันละ 400 บาท ในวันแรงงาน 1 พ.ค.2567
2.นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บอกว่าจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2566 แต่ไม่มีการดำเนินการตามที่พูดออกมา ทั้งๆ ที่พรรคชาติไทยพัฒนา หาเสียงว่าจะประกันรายได้ให้คนชราเดือนละ 3,000 บาท อีกทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติหาเสียงจะเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท และพรรคพลังประชารัฐจะเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท แต่ขณะนี้ไม่มีการเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันเดือนละ 600 บาท เป็นอัตราที่ต่ำมากมาหลายปีแล้ว ในโอกาสรัฐบาลจะจัดงานมหาสงกรานต์ ซึ่งจะเป็นวันครอบครัว จึงเป็นการเร่งด่วนที่จะเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท ในวันที่ 13 เม.ย.นี้
3.ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย นายทุนข้ามชาติมีการเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยกระทรวงแรงงานไม่มีการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ไม่มีการดำเนินคดีนายจ้าง ทำให้ลูกจ้างบริษัท เอเอ็มซีฯ, แอลฟ่าฯ และบอดี้แฟชั่น ต้องตกงาน ไม่มีรายได้ดำรงชีวิต ได้ร้องเรียนต่อ รมว.แรงงาน และมีการประชุมตกลงกันในวันที่ 21 ธ.ค.2566 ว่าจะมีการเพิ่มเงินสงเคราะห์ให้ลูกจ้าง 3 บริษัท และจะของบกลางภายในวันที่ 9 ม.ค.2567 แต่ปรากฏว่าไม่ดำเนินการตามสัญญาข้อตกลง ไม่เพียงแต่เป็นความล้มเหลวของ รมว.แรงงาน ยังเป็นการขาดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตําแหน่งทางการเมืองอีกด้วย
"เรียกร้องต่อหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ ให้มีการอภิปรายทั่วไป ตรวจสอบการหาเสียงพูดแล้วไม่ทำในประเด็นดังกล่าว และผลักดันให้มีการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุและค่าจ้างขั้นต่ำอย่างจริงจัง ตามที่หาเสียงไว้โดยทันที และตรวจสอบจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน" นายสมยศระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน