ถล่ม‘เซลส์นิด’มือหนักถลุงงบ

เดือดถกงบฯ รายจ่าย 67   "ภูมิธรรม" เผย กมธ.วิสามัญฯ ปรับลดกว่า 9 พันล้านบาท "ศิริกัญญา" เปิดฉากหั่นงบฯ 3 หมื่นล้าน ชี้ขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย ออกนโยบายเหลวเก็บรายได้พลาดเป้า "จุลพันธ์" ลุยไฟ พ.ร.บ.เงินกู้หามโครงการดิจิทัลวอลเล็ต “ก้าวไกล” ชำแหละเลือดสาด เอาเด็กเป็นตัวประกันถลุงงบกลาง เรียงหน้าลุยขย้ำ "กอ.รมน.-กองทัพ" หน่วยงานลับแล อ้างมั่นคงซ่อนงบลับ ถล่มยับนายกฯ เซลส์แมน ถลุงเงินมือหนัก เปลี่ยนพรมขนแกะเป็นล้านชาวบ้านไม่มีจะกิน พท.ดิ้นพล่านขุดปมเสียภาษีนายใหญ่ทักษิณ

 เมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่สอง เรียงตามรายมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวสรุปรายงานของคณะ กมธ.ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เริ่มพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ถึงวันที่ 13 มี.ค. ซึ่งถือว่าดำเนินการได้รวดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 2 สัปดาห์ เป็นการพิจารณารายละเอียดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ รวม 737 หน่วยรับงบประมาณ โดยในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายฯ  จำนวน 8 คณะ ได้ปรับลดงบประมาณลง 9,204 ล้านบาท

นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า นอกจากนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แผนงานบุคลากรภาครัฐ  รายการบุคลากรภาครัฐ จำนวน 191 ล้านบาท ไปเป็นงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นเงินอุดหนุน สำหรับสนับสนุนการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด 43 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542

ต่อมาเวลา 09.40 น. ที่ประชุมสภาฯ  เข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ เรียงตามรายมาตรา กระทั่งมาตรา 4 ภาพรวมงบประมาณรายจ่ายฯ  จำนวน 3,480 ล้านล้านบาท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. สงวนความเห็นว่า ขอปรับลด 3 หมื่นล้านบาท เพราะงบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากงบปี 67 มีการอนุมัติงบไปพลางก่อนไปแล้วโดย ผอ.สำนักงบประมาณ มูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือที่สภาสามารถพิจารณาได้จริงๆ โดยที่ไม่ต้องไปโอนเปลี่ยนแปลงคืน มีมูลค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งคือ 1.68 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้ามีใครบอกว่างบประมาณไม่ออก 2 ไตรมาสแรก ไม่ได้เป็นปัญหาจากที่สภา เนื่องจากสำนักงบฯ ได้มีการอนุมัติงบไปพลางก่อนแล้ว

ไร้ประสิทธิภาพเบิกจ่าย

น.ส.ศิริกัญญาระบุว่า แต่ที่เบิกจ่ายล่าช้าเป็นเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ  สำหรับงบประจำเบิกจ่ายไปแล้ว ณ วันที่ 15 มี.ค. เบิกได้แค่ 79 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่กังวลคือรายจ่ายลงทุน มีการอนุมัติไปแค่ 155,000 ล้านบาท ซึ่งปกติเราอนุมัติรายจ่ายลงทุนทั้งปี ประมาณ 6 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่าเบิกจ่ายไปได้เพียง 55 เปอร์เซ็นต์ ใน 6 เดือน นอกจากนี้ยังประมาณการรายได้อาจผิดพลาด รัฐบาลได้ออกนโยบายที่จะกระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น จะไม่เก็บภาษีการขายหุ้น ทำนโยบายลดหย่อนกองทุน ESG ลดการนำส่งรายได้ของ กฟผ. ตอนนี้ลดไปแล้ว 8 พันล้านบาท แต่ไม่รู้ว่านำส่งจริงจำนวนเท่าไหร่ ลดภาษีสรรพสามิตสำหรับลดค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันให้กับประชาชน ทั้ง 12 เดือน น่าจะใช้ไป 6 หมื่นล้านบาท 4 เดือนแรกก็ต่ำกว่าประมาณการ 2 หมื่นกว่าล้านบาท  และยังมีรายได้ที่อาจจะจัดเก็บน้อยลงเนื่องจากเศรษฐกิจโตช้ากว่าตอนทำงบประมาณ

 น.ส.ศิริกัญญาระบุว่า ดังนั้นคำนวณแล้วมีความเสี่ยงที่จะประมาณการรายได้ประมาณ 110,000 ล้านบาท และจัดเก็บงบประมาณได้จริงไม่ถึง 2.787 ล้านล้านบาท ตามที่ประมาณการไว้ปัญหาที่ตามมาคือ หากรายได้พลาดเป้า รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท เสี่ยงต่อการชนเพดานเงินกู้ซึ่งอยู่ที่ 790,656 ล้านบาท อีกเพียง 97,656 ล้านบาท จะชนเพดาน

 “หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจะทำอย่างไร แน่นอนว่าใครของบก่อนได้ก่อน จึงเห็นว่าควรต้องมาจัดสรรลำดับความสำคัญกันใหม่ ด้วยการปรับลดงบประมาณลงเล็กน้อย เพื่อให้สถานะทางการคลังของประเทศไม่สะดุดหยุดลงหรือมีปัญหา โดยเราจะติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับงบปี 68 ซึ่งจะเผยโฉมหน้าให้ประชาชนทราบ ที่จะเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า” น.ส.ศิริกัญญาระบุ

รัฐบาลลุยไฟเงินดิจิทัล

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะรองประธาน กมธ. ชี้แจงว่า การอนุมัติเห็นชอบผ่านนายกฯ รวมกับสำนักงบฯ และเนื่องจากเวลาในการทำงบประจำปีไม่ทัน จึงมีความจำเป็นต้องใช้  แต่ในการใช้งบไปพลางก่อนจะมาตั้งโครงการใหม่ ซึ่งไม่ได้รับการบรรจุในงบประมาณปีก่อนหน้าทำไม่ได้ งบประมาณไปพลางก่อนข้อดีคือ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในปีก่อนหน้ามาเรียบร้อยแล้ว  ดังนั้นจึงเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนประชาชนในระดับหนึ่ง  ซึ่งนายกฯ และ ผอ.สำนักงบฯ สามารถกำหนดได้เฉพาะหลักเกณฑ์เงื่อนไขเท่านั้น เช่น งบประจำ เงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น

 “ยืนยันว่าโครงการของรัฐบาลทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ต หรือโครงการใดก็ตาม ยังจะเดินหน้า แต่ด้วยกรอบการพิจารณาของชั้นคณะกรรมการผู้ดำเนินการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เรายังยืนยันว่าอาจจะต้องมีความจำเป็นจะต้องกู้ผ่าน พ.ร.บ. แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็คงจะมาผ่านการพิจารณาการให้ความเห็นของจากสมาชิกอีกครั้ง ยืนยันว่าเราจะเดินหน้าแน่นอน” นายจุลพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ สภามีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้คงตามคณะ กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยเสียง 262 ต่อ 140 งดออกเสียง 1 ไม่ออกเสียง 5 เสียง

สับพิรุธงบกลาง

จากนั้นเวลา 11.00 น. เป็นการพิจารณามาตรา 6 งบกลาง โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขอสงวนความเห็น อภิปรายขอปรับลดงบกลาง 1.4 พันล้านบาทว่า ในการพิจารณาปรับเพิ่ม 1 พันล้านบาท มีการบอกว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอมา ตนฟังแล้วก็ตกใจ ถ้าบอกขอมาเช่นนี้วันนี้ตนต้องขอเสนอตัดออก ถ้าให้ผ่านไปในมาตรา 144 ต้องถูกร้องแน่ ตนจะใช้สิทธิ์ที่จะไปต้องยื่น ป.ป.ช.แน่นอน 

ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ กมธ.สัดส่วนพรรคไทยสร้างไทย​ (ทสท.) ขอสงวนความเห็น อภิปรายว่า รัฐบาลได้แปรเพิ่มจากงบที่ปรับลดจากหน่วยราชการต่างๆ  มาไว้ในงบกลางอีกจำนวน 1 พันล้านบาทรวมเป็นงบกลางที่ตั้งไว้ใช้จ่ายเพื่อสำรองจ่ายในกรณีที่ฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเป็น 9.95 หมื่นล้านบาท อีกเพียง 500 ล้านจะถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากอย่างเป็นประวัติการณ์ มีการตั้งข้อสังเกตน่าจะมีบางส่วนมาจากการปรับลดโครงการซื้อเรือฟริเกตกว่า 1,700 ล้านบาท แต่ถูกตัดออกทั้งหมด ย่อมถูกนำมาอยู่ในงบกลาง ฉะนั้นต้องใช้จ่ายให้ตรงกับวัตถุประสงค์คือเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ไม่เปิดช่องไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันใดๆ

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า ขอตัดงบในมาตรานี้ลง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินหรือรายจ่ายจำเป็น มีเรื่องของโครงการที่เรียกว่าเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้หรือรัฐบาลปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะเอาเด็กเป็นตัวประกันในการใช้จ่ายงบกลาง และเมื่อย้อนกลับไปดู ประเทศไทยมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบทั้งหมด 4 ล้านคนเศษ แต่รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าแบบงบประจำถ้วนหน้าไปเลย แต่ใช้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบจำกัดจำนวน และมีการใช้จ่ายงบกลางทั้งสิ้น 998.4 ล้านบาท นี่คือการสะท้อนประสิทธิภาพ เพราะหากรัฐบาลใช้ระบบโครงการอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยงบกลางแบบนี้

ด้านนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ที่หลายคนบอกว่างบกลางเป็นการตีเช็คเปล่านั้น ซึ่งการตั้งงบประมาณของงบกลางส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลที่จำเป็น ไม่อาจจัดสรรงบนั้นให้กับหน่วยงานโดยตรงได้ ส่วนที่มี กมธ.ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าท่านนายกฯ ขอเงิน 1 พันล้านบาทนั้น ดิฉันยืนยันว่าท่านนายกฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ท่านนายกฯ ได้ใช้งบประมาณในรอบ 1 ปี ท่านจะมีคำอธิบายต่อสภา ให้มีการตรวจสอบ ย้ำว่างบประมาณทุกบาททุกสตางค์

จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขตามเสียงข้างมากของ กมธ.

ชำแหละงบลับมั่นคง

ต่อมาเวลา 12.25 น. พิจารณามาตรา 7 งบประมาณรายของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ โดยนายชยพล สท้อนดี สส.กทม.พรรคก้าวไกล ผู้แปรญัตติ อภิปรายว่า กอ.รมน.เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบได้ยากที่สุด เป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถชี้แจงข้อมูลอะไรได้เลย เนื้อหาของโครงการและแผนงานที่มีเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ไม่ค่อยมีความสอดคล้องกัน เหตุผลความจำเป็นคือเรื่องของการให้ประชาชนเพิ่มการมีส่วนร่วมเผยแพร่หลักเศรษฐกิจพอเพียง และหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับการรักษาความสงบภายในประเทศ

นายชยพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเงินค่าซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์อีก 120 ล้านบาท ทั้งที่ กอ.รมน.ไม่มียุทโธปกรณ์ สิ่งที่น่าสงสัยในงบก้อนนี้มีการจ้างเหมาลำเครื่องบินจากภาคเอกชน 12 เดือนมูลค่า 190 ล้านบาท ตนสงสัยไม่ได้ว่าเช่าไปทำไม เดินทางอย่างไรถึงต้องเช่าเหมาลำเครื่องบิน

ต่อมา นายปรีติ เจริญศิลป์ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล ผู้แปรญัตติ อภิปรายมาตรา 7 งบประมาณรายจ่ายของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับว่า นายกรัฐมนตรีมีทรัพย์สินกว่า 1 พันล้านบาท ค่าเช่ารถประจำตำแหน่ง เดือนละ 136,500 บาท มากกว่าเงินเดือนที่นายกฯ ได้รับ ท่านบอกว่าท่านบริจาคเงินเดือนให้กับมูลนิธิการกุศล แต่ท่านพูดไม่หมด สิ่งที่ท่านได้ประโยชน์จากรัฐมากกว่าเงินเดือนของท่าน ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐต้องเสียเงินค่าเช่ารถ ส่วนรถไฟฟ้าส่วนตัว นายกฯ ก็มาชาร์จไฟที่ทำเนียบฯ ฟรี รัฐได้มีการจัดหารถให้แล้ว แต่ทำไมยังมีการตั้งงบค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งอีกปีละกว่า 2 ล้านบาทขึ้นมา งบส่วนนี้เข้ากระเป๋าใคร ขณะที่ สส.สามารถเบิกค่ารถมาที่สภาได้กิโลเมตรละ 4 บาท ฝ่ายนิติญัตติกับฝ่ายบริหารช่างดูต่างกันเหลือเกิน

 “ผมไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้เพิ่มค่ารถให้ สส. แต่อยากให้นายกฯ เป็นตัวอย่างที่ดี ยกเลิกรถประจำตำแหน่งหรือเงินตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถยนต์ประจำตำแหน่งทุกอย่าง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีกับข้าราชการระดับสูงทั่วประเทศ ส่วนพรมทอมือขนแกะ 100 เปอร์เซ็นต์ 9 ผืน มูลค่า 10,557,200 บาท ที่จะเปลี่ยนแปลงใน 3 ตึก ของทำเนียบฯ  ซึ่งเราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา อะไรที่อู้ฟู่หรูหรา ไม่จำเป็นก็ควรจะตัดออก ดังก่อนที่ท่านจะใช้เงินก็ขอให้คิดถึงคนยากจน คนไม่มีจะกินบ้าง เพราะเงินเหล่านี้คือภาษีของประชาชน” นายปรีติกล่าว

กระทั่งเวลา 14.40 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะรองประธาน กมธ. ชี้แจงมาตรา 7 งบประมาณรายจ่ายของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับว่า ข้อสงสัยเรื่องนายกรัฐมนตรีมีรถประจำตำแหน่งแล้ว เหตุใดยังมีค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งอีก ซึ่งค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ใช่ของนายกรัฐมนตรี แต่เป็นของบุคลากรในสำนักนายกรัฐมนตรี 17 ราย ส่วนงบพรมทอมือขนแกะกว่า 10 ล้านบาทนั้น เป็นการใช้ในงานพระราชพิธี และงานสำคัญต่างๆ ที่ต้องเปิดห้องรองรับอาคันตุกะต่างแดนให้สมเกียรติ เป็นหน้าตาประเทศ ส่วนงบประมาณเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯ ใช้อย่างคุ้มค่า นายกฯ ไม่ได้เดินทางโดยใช้เฟิร์สต์คลาส มีการประหยัดงบประมาณ

จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบ มาตรา 7 ตามที่ กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขมาด้วยคะแนน 292 ต่อ 169

จากนั้นเวลา 15.05 น. เป็นการพิจารณามาตรา 8 กระทรวงกลาโหม โดยนายชยพล สท้อนดี สส.กทม.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานลับแล ซ่อนเร้น ซ่อนเงื่อนที่รายละเอียดไม่ชัด มีการซ่อนงบหลายอย่างไว้ในเอกสารลับหลายจุด การอ้างความมั่นคงเพื่อซ่อนงบไว้ในเอกสารเพื่อไม่ให้ กมธ.ตรวจสอบเพื่อความมั่งคั่งยั่งยืนของกองทัพที่มีการแยกการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ซึ่งมีเอกสารเพียงแค่บรรทัดเดียวแล้วมาของบ เงินราชการลับ งบลับที่มีการขอทุกปี ขอซ้ำๆ ขอเท่าเดิมมาโดยตลอด กมธ.อนุมัติงบประมาณส่วนนี้ไป ก็ไม่ต่างอะไรจากการตีเช็คเปล่าที่ไม่มีข้อมูลมาประกอบ

ดิ้นพล่านแตะนายใหญ่

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย อภิปรายว่า  งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ระบุปรับลดงบ 2,485 ล้านบาท หรือลดลง 2.8% ปรับลดไม่จริง เพราะถูกเอาไปซ่อนอยู่ในรายการของงบผูกพันปี 2568-2569 เช่น งบกองทัพเรือมีโครงการผูกพัน 9 โครงการ ตั้งแต่ปี 2557-2574 เป็นงบประมาณรวม 44,618 ล้านบาท หรือกองทัพอากาศบอกปรับลดงบประมาณ 103 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีงบผูกพันใหม่ตั้งแต่ปี 2568-2570 มากถึง 5,709 ล้านบาท รวมแล้วงบประมาณทั้ง 3 เหล่าทัพ ลดไม่จริง เพราะไปอยู่ในงบผูกพันปี 2568-2570 ที่เป็นโครงการใหม่รวมแล้ว 36,231 ล้านบาท เป็นงบกองทัพบก 9,641 ล้านบาท กองทัพเรือ 20,879 ล้านบาท กองทัพอากาศ 5,709 ล้านบาท

ต่อมา 16.40 น. นายธเนศ เครือรัตน์ ประธานอนุกรรมาธิการงบฯ 67 ด้านมั่นคง ชี้แจงงบประมาณมาตรา 8 กระทรวงกลาโหมว่า การตัดงบประมาณจัดซื้อเรือฟริเกต 1 ลำ วงเงิน 17,000 ล้านบาทนั้น เนื่องจากกองทัพเรือไม่มีทีโออาร์ชัดเจนจะจัดซื้อจากประเทศอะไร ซึ่งเราเป็นห่วงว่าถ้าจัดซื้อเรือในเวลาที่เหลือเพียง 5เดือน ก็เกรงว่าจะเกิดปัญหาเหมือนเรือดำน้ำอีก ทาง กมธ. จึงให้ตัดงบประมาณจัดซื้อเฉพาะในส่วนปี 2567

จากนั้นเวลา 16.55 น. ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 8 ตามคณะ กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยเสียง 284 ต่อ 163 งดออกเสียง 1 ไม่ออกเสียง 2 เสียง

ต่อมาเวลา 17.05 น. ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณามาตรา 9 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการคลัง จำนวน 11,507 ล้านบาท ระหว่างที่นายเรืองไกร ขอสงวนความเห็น ขอปรับลดงบประมาณของกรมสรรพากร 45 ล้านบาท เพราะศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ากรมสรรพากรประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายทักษิณ ชินวัตร และยึดทรัพย์ 45 ล้านไม่ชอบนั้น ปรากฏว่า สส.พรรคเพื่อไทยหลายคนลุกขึ้นประท้วงเป็นระยะ เช่น น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม., น.ส.ชนก จันทาทอง สส.หนองคาย, นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องนอกประเด็น วนเวียนซ้ำซาก และใช้เอกสารที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายฯ ทำให้การอภิปรายของนายเรืองไกรไม่เป็นผลสำเร็จ โดยประธานสภาฯ ได้ขอให้นายเรืองไกรจบเรื่องและรักษากฎระเบียบ จะได้ดำเนินการประชุมต่อ จากนั้นได้ตัดบทให้ สส.คนต่อไปอภิปราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง