เด้ง‘ผบ.ตร.-โจ๊ก’ นายกฯล้างภาพฉาวกากี ตั้ง‘บิ๊กฉิ่ง’ปธ.สอบ60วัน

สยบรอยร้าว! "เศรษฐา" สั่งเด้ง "บิ๊กต่อ-โจ๊ก" เข้าสำนักนายกฯ 60 วัน  ให้ "รองต่าย" รักษาการ ผบ.ตร. พร้อมตั้ง "ปลัดฉิ่ง-ชาติพงษ์-วินัย" สอบความขัดเเย้งใน ตร. รายงานผล 15 วัน หลังช่วงเช้าเรียก 2 นายพลเคลียร์ใจก่อนตั้งโต๊ะแถลงโอนสำนวนคดีพนันออนไลน์ทั้งหมดส่ง ป.ป.ช. โชว์สวมกอดประกาศทำงานเพื่อ ปชช. ลืมเรื่องในอดีต "นายกฯ" ชี้ย้ายทั้งคู่เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม ยันยังเป็นผู้บริสุทธิ์ หากปราศจากมลทินจะกลับเข้ามาได้อย่างสง่างาม "อัจฉริยะ" ซัดแค่ละคร นัดสื่อแถลงเบื้องหลัง 21 มี.ค.นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 20 มี.ค. เวลา 11.06 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงการคลัง ได้เรียก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อทำความเข้าใจปัญหาข้อพิพาทจากคดีเว็บไซต์พนันออนไลน์ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งใช้เวลาพูดคุยประมาณ 10 นาที

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าพบนายกฯ ว่า กำลังจะไปแถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากได้พูดคุยพร้อมกันกับนายกฯ แล้ว ตอนนี้ไม่มีอะไรแล้ว ทุกอย่างจบแล้ว ขอให้สื่อไปฟังแถลงที่ สตช. โดยตนและ ผบ.ตร.จะแถลงคู่กัน ส่วนในเรื่องของคดีก็ว่ากันไป แต่ตำรวจเราต้องไปทำงานให้กับประชาชน

"นายกฯ เน้นเรื่องเดียวคือต้องทำงานให้กับประชาชน และให้องค์กรตำรวจมีความสามัคคี นายกฯ เน้นเรื่องนี้เรื่องเดียว ซึ่งหลังจากตนและ ผบ.ตร.ได้แถลงข่าวร่วมกันก็ถือว่าจบ ไม่มีอะไรแล้ว  ความขัดแย้งไม่มีแล้ว ความขัดแย้งต้องเป็นศูนย์ ส่วนคดีไหนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับ ก็ต้องส่ง ป.ป.ช.ไป" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว

ถามถึงมีการแฉตัวอักษรย่อของนายตำรวจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ขอไม่พูดแล้ว เป็นเรื่องเก่าแล้ว วันนี้จบแล้ว ใครที่มีคดีก็ไปต่อสู้กันเอา วันนี้ความขัดแย้งต้องหยุด ต้องจบ ทำงานให้กับประชาชน

จากนั้นเวลา 11.50 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ร่วมกันแถลงข่าวสยบความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์เริ่มต้นว่า เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้สับสน ในฐานะที่ตนเป็น ผบ.ตร. ในกณีที่มีการแถลงข่าวเรื่องของคดีจากนี้ไปคดีทั้งหมดจะสั่ง ป.ป.ช.ทำคดี ให้เป็นคนกลางในการทำให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งได้เรียนให้นายกฯ ทราบแล้ว เพื่อไม่ให้เห็นภาพของความขัดแย้ง ทางนั้นพูดทีทางนี้พูดที จริงๆ ตนพูดเสมอว่ามีการพูดคุยกับรองสุรเชษฐ์ตลอด ภาพเราไม่ได้มีความขัดแย้ง ในฐานะที่ตนเป็น ผบ.ตร. ได้พูดเสมอว่าเราจะต้องอยู่เหนือความขัดแย้งเพื่อความกระจ่างในทิศทางที่ดี การสอบสวนหรือสำนวนการสอบสวนทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับคดีจะส่งให้ ป.ป.ช.ทั้งหมด

ถามว่า การส่งคดีให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ ใครเป็นคนสั่งการ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ตอบว่า ตนเป็นคนนำเรียนนายกฯ เป็นคนตัดสินใจในฐานะ ผบ.ตร. ไม่มีการคุยกันก่อน รองสุรเชษฐ์เองก็ไม่ได้มาบอกตนให้ส่ง ป.ป.ช. ตนอยากให้เป็นไปในทิศทางเดียว เพราะต้องไปเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรมอีกหลายหน่วยที่จะเข้ามาตรวจสอบเพื่อความยุติธรรมและได้มาตรฐานที่สุด เช่นเดียวกันกับคดีที่ สน.เตาปูน ก็ต้องส่ง ป.ป.ช.

ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ผบ.ตร.ได้พาตนไปพบกับนายกฯ ซึ่ง ผบ.ตร.มีแนวความคิดที่จะยุติความขัดแย้งทั้งหมด วันนี้ตั้งแต่รอง ผบ.ตร.-ชั้นประทวนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผู้บังคับบัญชาคนเดียวคือ ผบ.ตร. ทั้งนายกฯ, ผบ.ตร. และตนมีความคิดแนวเดียวกันจะมุ่งหน้าทำงานให้กับประชาชน

บิ๊กต่อ-โจ๊กจับมือเคลียร์ใจ

"สำนวนการสอบสวนเกี่ยวเนื่องทั้งหมดส่งไปที่ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการ เรื่องเดิมไม่คุยแล้วเดินหน้าทำงานให้ประชาชน ผมก็ต้องขับเคลื่อนช่วย ผบ.ตร. และที่นัดแถลงวันนี้ก็เพื่อให้เห็นชัดเจน ให้ประชาชนเชื่อมั่นจากวันนี้ไปจะไม่มีความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น จะนำพาองค์กรเพื่อความสามัคคี ทำงานให้ประชาชนเต็มรูปแบบ" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ย้ำว่า จริงๆ เราไม่มีความขัดแย้ง แต่มีคนพยายามให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น สื่อมวลชนเองก็แบ่งสองฝักสองฝ่าย อยากให้เป็นเนื้อเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่ในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกตั้งเยอะ ทำไมสื่อไม่โฟกัสให้พวกตนไปทำงานแบบนั้น แต่โฟกัสเหมือนพวกตนขัดแย้งกัน ตนไม่เคยขัดแย้งใคร

"ถามว่าผมเครียดไหม ก็เครียด แต่พยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ให้เกิดภาพความขัดแย้ง อยากให้ลูกน้องมีความสุขและขวัญกำลังใจ ไม่อยากให้เป็นประเด็น จึงตัดสินใจไปหานายกฯ" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กล่าว

เมื่อถามถึงคดีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ถูกออกหมายเรียก และพนักงานสอบสวนสน.เตาปูนให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 21 ม.ค.นี้ จะเดินทางไปหรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ผบ.ตร.มีนโยบายส่งสำนวนที่เกี่ยวเนื่องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ที่ออกหมายเรียกมาแล้วตนไม่อยู่ไปราชการที่ จ.เชียงใหม่ เท่ากับว่ายังไม่ได้รับหมาย ยังไม่เริ่มนับหนึ่ง แต่เมื่อสำนวนส่งไปยัง ป.ป.ช.แล้วก็เป็นการดำเนินของ ป.ป.ช.ทั้งหมด อำนาจของพนักงานสอบสวนก็ต้องหยุดอยู่แค่นี้

ถามถึงประเด็น พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ ผบก.ศฝร.บช.น. แฉเส้นเงินตำรวจเกี่ยวข้องกับเว็บพนันบีเอ็นเค  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า อะไรที่เป็นคดีก็ว่าไป เอาหลักฐานไปพิสูจน์ที่ ป.ป.ช. แต่การทำงานต้องไม่ขัดแย้ง

"วันนี้เราต้องเสียสละเรื่องราวในอดีต ลูกน้องผมมีคดีก็ไปแก้เอา แต่วันนี้งานที่ ผบ.ตร.มอบหมายทุกหน้างานผู้บังคับบัญชาต้องทำเต็มที่ภายใต้ความไม่ขัดแย้ง วันนี้ต้องจบ เซตซีโร" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว

ถามว่า สำนวนไปอยู่ที่ ป.ป.ช.แล้วจะเป็นการเปิดโอกาสให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เอาคืนกับพนักงานสอบสวนหรือไม่  พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กล่าวว่า เชื่อว่าวันนี้ที่เราคุยกันคนที่จะเติบโตมาระดับนี้ หรือคนที่จะมาเป็น ผบ.ตร. คุณธรรมต้องมานำ ถ้าไม่มีคุณธรรมฟ้าดินไม่ให้มาเป็นหรอก ถ้าไม่เชื่อผู้บังคับบัญชาองค์กรจะอยู่อย่างไร ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายต้องเชื่อใจกัน

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวเสริมว่า ถ้าตนทำแบบนั้น นายกฯ ด่าตนแน่นอน สังคมจะเห็นว่าตนทำเหมือนเดิมอีก ต้องไม่มีแล้ว ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ วันนี้ต้องเสียสละเรื่องราวในอดีต ต้องเซตซีโรใหม่ เดินหน้าทำงาน ทุกอย่างจบบนโต๊ะได้

"ผมเหลือเวลา 7 ปีเกษียณ คงไม่มีใครขัดแย้งกันจนเกษียณ คุยกันแบบลูกผู้ชายก็จบแล้ว ทุกอย่างต้องให้อภัย การเป็นผู้บังคับบัญชาคนต้องรู้จักให้อภัย เราไม่มีอำนาจอยู่นานเราต้องให้อภัย ทุกอย่างจบได้ด้วยการให้อภัย แล้วจะจบด้วยดี  การฟ้องร้องกันไปมาเมื่อเรียกมาคุยก็ถอนฟ้องกันก็จบแบบลูกผู้ชาย ใครฟ้องใครก็เคลียร์ ถอนฟ้องกันก็จบ เมื่อทุกอย่างคุยกันจบก็ต้องถอนฟ้อง ทุกอย่างจบด้วยการพูดคุย ยืนยันวันนี้ไม่มีอีเวนต์ วันนี้ที่เราแถลงร่วมกัน ลูกน้องทั่วประเทศดีใจ เราต้องให้เขาทำงานอย่างสบายใจ ไม่มีอะไรต้องกังวล" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังแถลงข่าวเสร็จทั้งคู่ได้เข้าสวมกอดกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชนให้เห็นว่าไม่มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด

เด้ง 2 นายพลเข้าสำนักนายกฯ

อยางไรก็ตาม มีรายงานจากทำเนียบฯ ในเวลาต่อมาว่า นายเศรษฐามีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี  เนื้อหาระบุให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ มีรายงานว่านายกฯ มอบหมายให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รองผบ.ตร. รักษาการแทน ผบ.ตร. โดยเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. นายกฯ ได้เรียกพล.ต.อ.กิตติ์รัฐเข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า  ทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 มี.ค.เวลา 08.00 น. นายกฯ เรียกประชุม ผบช.ขึ้นไป เพื่อมอบนโยบายการบริหารงานตำรวจ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เวลา 14.30 น. นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ และมอบหมายให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐรักษาการแทน ผบ.ตร.ว่า อย่างที่ทุกท่านทราบอยู่แล้วว่ามีประเด็นทางด้านการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เรื่องคดีความทั้งหลาย ซึ่งต้องให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปได้ด้วยความเป็นธรรม ไม่มีการแทรกแซง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่เพื่อให้การบริหารราชแผ่นดินเป็นไปด้วยความสะดวก และสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรม จึงขอโอนทั้งสองมาช่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เป็นเวลา 60 วัน ระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

 “เป็นการมาชั่วคราวและไม่ได้เป็นการลงโทษ เงินเดือน และทุกอย่างยังเหมือนเดิม” นายเศรษฐายืนยันเมื่อถูกถามเป็นการลงโทษหรือไม่

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการที่จะเข้ามาตรวจสอบนั้นในวันนี้มีการออกจดหมายฉบับหนึ่งที่เชิญทั้งสองท่านมาช่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี และอีกฉบับหนึ่งคือให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐเป็นรักษาการ และในช่วงเย็นจะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ท่าน ประกอบด้วย ตำรวจ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเก่า และคนจากสำนักงานอัยการ

ถามถึงเหตุผลในการเรียกทั้งสองท่านมาพบในวันนี้ นายกฯ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ในช่วงที่ถูกโอนมาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และก็ได้มีการรับปากว่าจะไม่ยุ่ง ปล่อยให้เป็นกระบวนการตามกฎหมาย ให้มีการสืบทราบความจริง ให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปข้างหน้าได้ โดยไม่มีการแทรกแซง และไม่ให้ลูกน้องของทั้งสองออกมาพูดอะไรอีกแล้ว

"ท่านเป็นผู้ใหญ่ ควรรู้ว่าจะพูดอะไร ไม่พูดอะไร ก็เป็นไปตามที่แถลงข่าว จริงๆ แล้วตอนนี้ทำเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปได้ ไม่ให้มีการก้าวก่ายหรือการล็อบบี้กันเกิดขึ้น" นายกฯ กล่าว

ย้ำว่าการโอนมาช่วยงานในครั้งนี้ จะไม่ทำให้เรื่องนี้บานปลายใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า เป็นไปตามหน้าที่และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ตนไม่ได้สบายใจที่ต้องทำแบบนี้ เพียงแต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินไปข้างหน้าได้ เพราะเรามีหน้าที่หลักในการดูแลพี่น้องประชาชน

"ทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ซึ่งภายใน 60 วัน หากคณะกรรมการทั้ง 3 ท่านตรวจสอบมาแล้ว หรืออาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถเดินไปได้ โดยที่ไม่ต้องมีการก้าวก่ายหรือแทรกแซง ก็อาจจะพิจารณาโอนย้ายกลับมา ขอเวลาให้คณะกรรมการทำงาน นายกรัฐมนตรีย้ำว่าคณะกรรมการจะมีการพิจารณาในทุกเรื่อง และทุกคดีที่มีการกล่าวโทษกัน" นายเศรษฐากล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปที่ สตช. เนื่องจากมีการเรียกประชุมกับรอง ผบ.ตร. รักษาการ ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผู้บัญชาการภาค และผู้บัญชาการทั้งหลาย เพื่อมอบนโยบายต่อไป ซึ่งคงไม่มีการชี้แจงอะไร แต่คงมีการเกริ่นคร่าวๆ ในที่ประชุมว่าจริงๆ แล้วเราอย่าลืมว่าเรามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องมาเข้าข้างใคร

"ขอยืนยันทั้งสองท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองท่าน การนำทั้งสองท่านออกจากตำแหน่งที่มีอิทธิพลชี้นำ หากถูกตรวจสอบแล้วปราศจากมลทิน ก็ทำให้ทั้งสองท่านกลับเข้ามาได้อย่างสง่า ไม่อยากให้เรียกว่าการประชุม เป็นการคุยกันมากกว่า" นายกฯ กล่าว

นายกฯ ตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง

จากนั้นนายเศรษฐามีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะต่อเนื่องติดต่อกัน มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมีการดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งกันและกัน จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแลประชาชนทั่วไป จนกระทบต่อการบริหารงานบุคคล และงานด้านกระบวนการยุติธรรม ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และอาจทำให้ประโยชน์ของทางราชการเสียหาย จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย 1.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ 2.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ 3.พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ กรรมการ และเลขานุการ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ข้อ 2 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 60 วัน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวในกรณีที่จำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปอีกได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุก 15 วัน

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ หรือประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลภายนอก เพื่อตรวจสอบ สอบถามหรือขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้

ช่วงเย็น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีถูกคำสั่งไปช่วยราชการสำนักนายกฯ ว่า ตอนที่กลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เห็นคำสั่งแล้ว ซึ่งก็รับตามคำสั่งตามที่นายกฯ สั่งการในฐานะผู้บังคับบัญขา โดยวันที่ 21 มี.ค. จะมีการไปรายงานตัว เพราะคำสั่งมีผลตั้งแต่วันนี้ 20 มี.ค.นี้

"เมื่อช่วงเช้าที่ไปพูดคุยกับนายกฯ ไม่ได้มีการส่งสัญญาณอะไร และผมเองไม่เคยมองเป็นภาพลบ ซึ่งท่านนายกฯ ได้แจ้งว่าจะมีคำสั่ง ก็ยอมรับตามคำสั่งนายกฯ ไม่ได้มีความขัดแย้ง ซึ่งก็ได้พูดมาเสมอ และก็ไม่ได้ทุกข์ใดๆ ไม่ได้เดือดร้อน ผมเป็น ผบ.ตร.ก็คือเป็น ผบ.ตร. ซึ่งหากนายกฯ เห็นว่าปฏิบัติงานไม่ผ่าน และในคำสั่งที่ได้อ่านคร่าวๆ และได้ให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้นั้น เพราะเนื่องจากมีเหตุขัดแย้งกันเยอะ และเราไม่สามารถที่จะบริหารให้ได้ และเนื่องจากเป็นระดับสูง  ดังนั้นก็จะให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐมารักษาการเข้ามาดู ซึ่งไม่มีส่วนได้เสีย" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กล่าว

ถามว่า ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หรือไม่ที่ย้าย ผบ.ตร.กับรอง ผบ.ตร.พร้อมกัน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กล่าวว่า ตนจะได้พักและสบายใจมาก เพราะอย่างน้อยก็ได้พักสมอง เบื่อเรื่องการมองภาพของความขัดแย้ง เพราะเราอยู่กันแบบพี่น้อง และตนพูดเสมอว่าหากบริหารงานไม่ผ่านก็ต้องพิจารณาตนจะต้องทุกข์อะไร

"ไม่ได้หวั่นไหวและไม่ได้ท้อ ไม่ได้เหนื่อย พี่พูดเสมอว่าแรงบันดาลใจของพี่คือในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่ง 70 ปีแห่งการครองราชย์ ท่านเหนื่อยมาทั้งชีวิต ส่วนพี่เป็นข้าราชการตำรวจมา 20 กว่าปี แล้วพี่บอกพี่ท้อพี่เหนื่อย พี่ไม่มีใจที่ไหนหรอกที่จะไปตอบประชาชนว่าพี่ท้อพี่เหนื่อยเพราะพี่ทำทุกวันนี้เพื่อพระองค์ท่าน งั้นพี่ไม่ท้อ พี่ไม่เหนื่อย" ผบ.ตร.กล่าว

ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวเช่นกันว่า  ยังไม่เห็นเนื้อหาให้ไปปฏิบัติหน้าที่อะไร แต่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อผู้บังคับบัญชามีคำสั่งมาก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่ และหากหนังสือคำสั่งดังกล่าวมีผลทันที วันที่ 21 มี.ค. ตนและ ผบ.ตร.ก็ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมกับนายกฯ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ เนื่องจากถือว่าต้องไปช่วยราชการแล้ว

"มูลเหตุคำสั่งย้ายยังไม่ทราบ ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง แต่จะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างผมกับ ผบ.ตร.หรือไม่ ก็ไม่ยืนยัน เพราะช่วงเช้าก็ไม่เห็นสัญญาณบ่งชี้ใดๆ นายกฯ กำชับเพียงเรื่องการทำงานอย่างเดียว" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว

ถามว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกฯ จะได้กลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกหรือไม่ รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา การไปทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ไม่ล้มเหลว เพราะตนไปทำงาน และงานก็สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี

"ยืนยันไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะผมเคยไปมาแล้ว แม้ว่าอยู่ที่ไหนตัวเองก็ต้องตั้งใจทำงาน ผมไม่กังวลใจ ไม่เป็นไร พร้อมทุกสถานการณ์" รอง ผบ.ตร.กล่าว

ถาม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เป็นไปตามฉายาแมวเก้าชีวิตหรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เพียงแต่หัวเราะและตอบว่า “ไม่หรอกครับ”

วันเดียวกัน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้นัดสื่อมวลชนวันที่ 21 มี.ค. เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมนนทบุรี พาเลซ เพื่อจะเปิดเผยกระบวนการยึดอำนาจในสำนักงานตำรวจ ซึ่งมีอำนาจจากคนการเมืองทั้งเก่าและใหม่ เนื่องจากมองว่าคำสั่งช่วยราชการที่สำนักนายกฯ เป็นเพียงละคร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอำนาจเบื้องหลัง โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันเถื่อนภาคใต้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นับหนึ่ง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ยังขลุกขลัก ‘ย้ายทะเบียนบ้าน’ส่อทำเงินกระจุก

เริ่มแล้ว! อย่างเป็นทางการสำหรับ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โครงการ เรือธง ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนวันแรก 1 สิงหาคม 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”