เตือนเลิกทะเลาะธปท. ‘TDRI’บี้ทบทวนดิจิทัล

"ทีดีอาร์ไอ" เตือน "เศรษฐา"    ปรามทีมงาน เลิกทะเลาะแบงก์ชาติ ยกบทเรียนต่างชาติสุดท้ายนายกฯ ต้องลาออกเอง แนะรัฐบาลคิดรอบคอบแจกเงินดิจิทัล ทบทวนแลนด์บริดจ์

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง ในหัวข้อ Unlocked Thailand จัดโดยประชาชาติธุรกิจว่า ประเทศไทยต้องปลดล็อกการทำงาน โดยต้องมีการทดลอง และการเรียนรู้ แต่การแจกเงินดิจิทัลไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะไม่ใช่การแจกเงินครั้งแรกในประเทศไทยหรือในโลก และไม่ทราบว่าจะยังแจกกันอยู่หรือไม่ แต่การจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดกันมาแล้วแทบทุกรูปแบบ ประสบการณ์ต่างๆ จะช่วยให้การวางแผนดีขึ้น และทำงานกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นผลสำเร็จ คือการดูบทเรียนในอดีตทั้งใทยและต่างประเทศ

โดยกรณีของประเทศไทย ถ้าไปศึกษาดูพบว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจ จากการอัดฉีดเงินไม่ได้สูงอย่างที่รัฐบาลปัจจุบันคาดการณ์ไว้ ถ้าเป็นการแจกเงินสำหรับคนทั่วไปจะประมาณที่ 0.4-0.5 เท่า ดังนั้น ไม่ได้สูงขึ้นเป็นดั่งลมพายุตามที่รัฐบาลพูดกันว่าจะหมุนถึง 4-5 รอบ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คิดให้ดี และการจ่ายเงินโดยไม่รักษาวินัยการคลังจะมีตัวอย่างจากบทเรียนทั่วโลกว่ามีความเสี่ยงสูงได้ และหนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นมา ประเด็นที่จะตามมาก็คือเอกชนจะถูกลดเครดิตเรตติ้งไปด้วย จึงอยากให้คิดรอบคอบมากขึ้น

"อยากให้เห็นบทเรียนของการที่รัฐบาลชอบไปมีปัญหากับธนาคารกลาง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก อยากให้นายกรัฐมนตรีช่วยปรามทีมงาน อย่าเที่ยวไปทะเลาะหรือแอตแท็กธนาคารกลาง ซึ่งต่างคนต่างทำหน้าที่ ความเห็นต่างกันเป็นเรื่องไม่แปลก อย่างบทเรียนในอดีตในหลายประเทศ เช่น ตุรกี ไล่ผู้ว่าฯ  แบงก์ชาติออก 3 คน เพราะรัฐบาลอยากให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งผลก็คือเกิดเงินเฟ้อขึ้นมา 80% ในรัฐบาลอังกฤษ ยุคของลิซ ทรัสส์ เป็นนายกฯ อยู่ในอำนาจสั้นที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ เพราะตอนนั้นต้องการลดภาษี ขาดดุลการคลัง และไม่ฟังแบงก์ชาติของอังกฤษ สุดท้ายนายกฯ เองก็อยู่ไม่ได้" นายสมเกียรติระบุ

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวด้วยว่า ขอฝากอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสนใจ จะคิดว่ากระบวนการวางแผนยังมีปัญหาคือโครงการแลนด์บริดจ์  ถ้าจะลุยทำแลนด์บริดจ์ อยากเห็นรัฐบาลคิดให้ดี คิดให้รอบคอบก่อน และมีประสบการณ์ทั่วโลก เพราะเมกะโปรเจกต์ไม่ใช่เคยทำแต่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก แต่เมกะโปรเจกต์ทำกันหลายหมื่นหรือใกล้แสนโปรเจกต์แล้ว โดยกระทรวงคมนาคมเห็นว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดี สร้างมูลค่าปัจจุบันประมาณ 260,000 ล้านบาท ขณะที่การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ทำให้กับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ติดลบ 121,037 ล้านบาท ด้านอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กระทรวงคมนาคมระบุ 17.43% แต่จุฬาฯ และ สศช.ชี้ติดลบ 4.37% เรียกว่าต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของภาครัฐด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ควรทำ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง