"นายกฯ" สั่ง ครม.สแตนด์บายตอบทุกวงประชุมสภา ลั่นพร้อมแจงปมทักษิณ "เสี่ยอ้วน" ขอพวกร้อง "รมต.-สส.-ขรก." ไปรับ "ทักษิณ" ทำใจให้กว้าง บอกแค่เจ้านายลูกน้องไปเยี่ยมเวลาป่วย ชี้มองเป็นการเมืองหมดประเทศเดินไม่ได้ ซัด "พิธา" บุกเชียงใหม่วัดพลัง "เฉลิมชัย" ระบุ "ทักษิณ" คือนักโทษคนหนึ่งที่ยังตัดการเมืองไม่ขาด อัดระบบยุติธรรมเสื่อมชาวบ้านขาดที่พึ่ง "วิปฝ่ายค้าน" เล็งตัดงบ "กลาโหม" พบมีโครงการไม่โปร่งใส "พริษฐ์" แนะ ปชช.จับตา 2 โจทย์ใหญ่อภิปรายงบฯ "สว." ดักคอ "เศรษฐา" หนีฟังซักฟอก ม.153 "ฮุน เซน" แนะ "พท." 3 ต้องทำงานเพื่อ ปชช.
ที่หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา วันที่ 19 มี.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ได้มีการพูดคุยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ว่า ได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุม ครม. ทุกคนต้องเตรียมพร้อมเข้าไปนั่งร่วมประชุม ซึ่งมี 2 เรื่อง ทั้งเรื่องการพิจารณางบประมาณวาระ 2 และวาระ 3 และเรื่องที่ สว.จะเปิดอภิปรายด้วย รวมถึงเรื่องของ สส.ที่จะอภิปรายแบบไม่ลงมติด้วย ก็มีการเตรียมพร้อม และขอให้ทุกคนได้สแตนด์บายให้พร้อม
นายเศรษฐายืนยันว่า หากในการอภิปรายมีการนำเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาอภิปรายด้วยนั้น ถ้าเกิดถามมาก็ต้องตอบ แต่ตนไม่ทราบจะถามว่าอะไร แต่ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ซึ่งเรายืนยัน ได้ยึดมั่นตามหลักกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด
ถามว่า อาจมีการตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมที่อาจมีสองมาตรฐาน นายเศรษฐากล่าวว่า เราอย่าไปสันนิษฐานกันดีกว่าว่าจะตั้งคำถามอย่างไร เมื่อตั้งคำถามมาในสภา หน้าที่ของฝ่ายบริหารก็ต้องไปตอบ ยืนยันว่าพร้อมครับ
ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีมีคนจะไปร้องเอาผิดรัฐมนตรี, สส., ข้าราชการ ที่ไปต้อนรับนายทักษิณต่อป.ป.ช.ว่า คิดมากไป คนที่เคารพกันไปพบกันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ต้องไปตีความให้ชัดเจน เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหรือไม่ การที่พ่อลูกเขาเจอกัน หรือเจ้านายลูกน้องเจอกัน ไปเยี่ยมเยียนเวลาป่วยไข้เป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่ไปยื่นร้องควรทำใจให้กว้างนิดหนึ่ง มองความเป็นมนุษย์ของคนให้เป็นมนุษย์ อย่ามองทุกอย่างเป็นการเมืองหมด เพราะถ้ามองเป็นการเมืองหมด แล้วเอาชนะกันด้วยประเด็นเล็กน้อยจุ๋มจิ๋ม สังคมไม่สงบ ประเทศก็เดินไม่ได้
ถามว่า นายทักษิณมีโปรแกรมจะเดินสายไปที่ไหนต่อ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องไปถามนายทักษิณ และที่ผ่านมาตนยังไม่ได้เจอเลย เขาไปเชียงใหม่กัน ตนไปตรวจราชการอยู่อีสาน
เมื่อถามว่า ทางพรรคไม่ได้ห้ามสมาชิกเจอนายทักษิณใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราอยากไปเจอใคร เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยากเจอใครก็มีสิทธิทุกอย่าง หากกฎหมายไม่ได้ห้ามทำได้ทั้งนั้น
"โอกาสเจอถ้ามีผมก็จะเจอ เจอในฐานะนายภูมิธรรมที่เคยเป็นลูกน้องท่าน ไปแสดงความเคารพรักคิดถึงกัน คนห่างจากบ้านไปตั้ง 17 ปี ที่ผ่านมาเห็นแต่ภาพถ่าย เห็นแต่รูป ก็อยากเจอเช่นกัน" นายภูมิธรรมกล่าว
ถามอีกว่า นายทักษิณจะกลับมาเป็นศูนย์รวมอำนาจใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ศูนย์รวมอำนาจอะไร ท่านเป็นศูนย์รวมของหลานๆ ไม่มีหรอกศูนย์รวมอำนาจ เพราะศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่นายกฯ เพราะมีอำนาจเต็มที่สามารถจัดการทุกอย่าง
ซักว่าการที่นายทักษิณลงเชียงใหม่ทำให้กระแสพรรคเพื่อไทยดีขึ้นหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ทราบเลย ไม่ได้คิดเรื่องนั้นเลย ก็ถือว่าท่านกลับไปเยี่ยมบ้าน อย่าไปคิดเป็นเรื่องการเมือง เพราะถ้าคิดเป็นเรื่องการเมืองหมดชีวิตมันเข้ม ยุ่งยาก
พอถามว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ลงพื้นที่เชียงใหม่เหมือนกัน จะเป็นการวัดพลังหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็ไม่เป็นไร ให้คุณพิธาไป เป็นหน้าที่ของคุณพิธาที่ต้องไปดูแลพื้นที่ของตัวเอง และให้อยู่ในประเด็นที่ตัวเองเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เรื่องที่คนนี้ไปฉันจะต้องไปด้วย อันนี้มันคิดทุกอย่างเป็นการเมือง มันก็จะทำให้ใจไม่สงบ
ทักษิณตัดการเมืองไม่ขาด
ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เท่าที่ฟังประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ก็ต้องการให้นายทักษิณเดินทางไปเยี่ยมเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ต้องแล้วแต่นายทักษิณ ส่วนตนก็จะหาเวลาเจอพวกท่านอยู่
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีนายทักษิณปรากฏตัวว่า นายทักษิณเขาก็ยังตัดการเมืองไม่ขาด แต่สิ่งหนึ่งที่ตนอยากจะพูด ไม่อยากจะพูดถึงเรื่องตัวบุคคล เพราะตัวบุคคลนายทักษิณก็เป็นคนคนหนึ่ง ถ้าพูดตรงๆ คือได้รับคำพิพากษา ก็เป็นนักโทษคนหนึ่ง แต่อยากพูดถึงกระบวนการยุติธรรม วันนี้ระบบยุติธรรมมันเสื่อม ทั้งที่ระบบยุติธรรมต้องทำให้เป็นที่พึ่งที่คาดหวังของประชาชนให้ได้
“ตราบใดที่ระบบยุติธรรมไม่สามารถที่จะสร้างความยุติธรรม หรือทำให้เป็นที่พึ่งหรือที่คาดหวังของพี่น้องประชาชนได้ สังคมนั้นไปยาก ผมถึงบอกว่าระบบยุติธรรมบ้านเรามันเสื่อม” นายเฉลิมชัยกล่าว
ถามว่า การที่มีคนสำคัญต่างๆ และฝ่ายการเมืองไปต้อนรับนายทักษิณ มองว่าจะมีผลอะไรกับทางการเมืองบ้าง นายเฉลิมชัยกล่าวว่า อนาคตไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พูดไปก็เดากันทั้งหมด ไม่มีใครทราบ มีแต่หมอเดา ไม่มีคนรู้จริง เดาถูกกับเดาผิดแค่นั้น ตนคิดว่าการเมืองก็เดินต่อไป อะไรที่ถูกต้องก็อยู่ได้ อะไรที่ไม่ถูกต้องก็อยู่ไม่ได้ เหมือนกระบวนการยุติธรรม มันเจ็บ มันป่วย มันเสื่อม เราก็อย่าไปว่ากระบวนการทั้งหมด เสื่อมตรงไหนก็รักษาและแก้ไขตรงนั้น สังคมก็จะไปได้ เพราะไม่ได้เลวทรามทั้งหมด
นายเฉลิมชัยกล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระ 2 และ 3 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20-22 มี.ค.ว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำเต็มที่เหมือนทุกๆ รอบที่ผ่านมา เราก็ทำเต็มที่ มีการประชุม มีคณะยุทธศาสตร์ มีคณะทำงาน ที่จะช่วย สส. ในการทำงานไปด้วยกัน ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่พรรคอยู่ในสถานะไหน ตนยืนยันประชาธิปัตย์ทำหน้าที่เต็มที่ และสมบูรณ์ที่สุด เป็นฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่สมบูรณ์ที่สุด
"เลิกกระแนะกระแหนกันได้แล้ว การเมืองต้องเอาความจริงมาพูด และเอาประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้งดีกว่า" หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว
ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระ 2-3 ในวันที่ 20-22 มี.ค.ว่า ขณะนี้มี สส. หลายคนได้เตรียมเนื้อหาในการอภิปรายงบฯ วาระ 2 ไว้ โดยหากย้อนดูการทำงานของพรรคก้าวไกล จะเห็นว่า สส.ของพรรคก้าวไกล ที่เป็นหนึ่งใน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2567 เมื่อเจอรายการบางรายการ หรือบางโครงการของแต่ละกระทรวง ที่ต้องการจะตัดลดแต่ไม่สามารถตัดได้ในชั้น กมธ. ก็จะนำโครงการที่ไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสมเหล่านั้นมาอภิปรายในวาระ 2 เพื่อให้ทางสภาพิจารณาตัดลด
ถามว่า กระทรวงใดที่มีโครงการมองดูแล้วไม่คุ้มค่า นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า กระทรวงกลาโหมมีโครงการที่ไม่โปร่งใสในแทบทุกปี เนื่องจากมีเอกสารลับเยอะ ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ส่งเอกสารมาแล้วขอเอกสารคืนจากคณะอนุกรรมการฯ โดยในส่วนของกระทรวงกลาโหม มีหลายโครงการที่เป็นไฮไลต์เรื่องความไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสม และไม่โปร่งใส
ซักว่าการอภิปรายงบฯ ในครั้งนี้จะส่งผลต่อการจัดงบประมาณปี 2568 ของรัฐบาลหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า คาดหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งอยากฝากไปถึงนายกฯ งบประมาณปี 2568 เป็นงบที่นายกฯ และรัฐบาลมีอำนาจเต็ม และเวลาที่จะจัดทำค่อนข้างนานพอสมควร โดยรอบงบฯ ปี 68 เป็นของจริงที่จะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลง อย่างที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพูดเอาไว้ว่า ประเทศเปลี่ยนทันที ซึ่งตอนนี้ผ่านมา 6-7 เดือนแล้ว วิธีการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของพี่น้องประชาชนว่าจะเปลี่ยนจริงหรือไม่ และคาดหวังว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
ดักคอเศรษฐาหนีซักฟอก
ส่วนนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการอภิปรายงบประมาณว่า การที่ประชาชนได้เห็นการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 67 และการอภิปรายของ สส.ในสภา จะทำให้ประชาชนเห็นชัดขึ้นว่างบประมาณปี 67 ถูกจัดสรรอย่างสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน ในการแก้ไขวิกฤตต่างๆ ของประเทศ รวมถึงวาระต่างๆ ที่รัฐบาลอยากจะผลักดัน หากบอกว่าไม่สามารถจัดสรรงบประมาณปี 67 ได้อย่างชัดเจนเพียงพอ ก็ยังมีพื้นที่ที่สามารถตัดงบที่ไม่จำเป็นออกในชั้นกรรมาธิการฯ และแปรไปสู่งบส่วนอื่นตามโครงการที่รัฐบาลตั้งไว้ได้
"ผมคิดว่ามี 2 โจทย์ที่อยากเชิญชวนให้ประชาชนจับตาดู คือ 1.งบประมาณปี 67 ยังมีอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่หรือไม่ 2.รัฐบาลได้ทำเต็มที่หรือไม่ ในการจัดสรรงบประมาณผ่านกลไกกรรมาธิการฯ เพื่อที่จะทำให้เป็นไปตาม หรือสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลนั้นมีวาระไว้" นายพริษฐ์กล่าว
ถามถึงการอภิปรายทั่วไปมาตรา 152 นายพริษฐ์กล่าวว่า การอภิปรายทั่วไปอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการคัดเลือก ที่คณะกรรมการฯ จะมีการคัดกรอง ซึ่งเมื่อกำหนดวันแล้ว ก็พอจะคำนวณได้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีเวลาในการอภิปรายเท่าไหร่ และด้วยเวลาจำกัดที่เรามีอยู่ จะแบ่งให้ผู้อภิปรายได้กี่คน และครอบคลุมได้กี่ประเด็น ยืนยันว่าครอบคลุมทุกประเด็นที่ประชาชนให้ความสำคัญแน่นอน รวมถึงนโยบายหลักของรัฐบาลที่ประชาชนคาดหวัง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
"เราคาดหวังให้ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารให้ความสำคัญกับงานในสภาอยู่แล้ว แน่นอนการมาตอบคำถามของ สส.ในการเปิดอภิปราย เป็นความคาดหวังขั้นพื้นฐาน แต่เราไม่ได้คาดหวังแค่ตรงนั้น เราอยากให้นายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนให้ความสำคัญกับสภา ที่สุดแล้วเราอยู่ในระบบรัฐสภา ที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีความเชื่อมโยงกัน ฝ่ายบริหารเข้าสู่ตำแหน่งได้ก็เพราะได้รับการรับรองจากฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน" นายพริษฐ์กล่าว
ถามถึงกรณี กกต.ส่งเรื่องคดียุบพรรคก้าวไกลให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคงต้องรอพรุ่งนี้ว่าศาลจะรับคำร้องหรือไม่ และจะวางกระบวนการหลังจากนี้อย่างไร ซึ่งก็ต้องมีการแจ้งคำร้องมาให้กับพรรค
"เราก็หวังว่าศาลจะให้โอกาสพรรคก้าวไกลได้แสดงความเห็นหรือชี้แจงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาได้ ทางพรรคก้าวไกลและทีมกฎหมายจะทำเต็มที่เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง และไม่ปล่อยให้คดีนี้มาทำให้เสียสมาธิในการทำงานในสภา" โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าว
ถามถึงพรรคสำรองมีการเตรียมตัวไว้หรือไม่ นายพริษฐ์ระบุว่า พรรคก้าวไกลเตรียมแผนรองรับทุกสถานการณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในเมื่อสถานการณ์ยังไม่มาถึง ก็ยังไม่ลงรายละเอียดในตอนนี้ ท้ายที่สุดเราทั้ง 150 คน ถูกรับเลือกมาจากการเลือกตั้ง เพื่อพยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เราได้สื่อสารในช่วงการเลือกตั้ง แม้จะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ประชาชนก็คาดหวังให้เราใช้กลไกสภาในฐานะฝ่ายค้านอย่างเต็มที่
ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงแนวทางปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ในวันที่ 25 มี.ค.ว่า ทาง สว.พร้อมที่จะอภิปราย ซึ่งเรื่องสำคัญที่เราเห็นว่ารัฐบาลจะต้องรีบเร่งในการนำปัญหาเหล่านี้ไปแก้ไข ในการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ แต่ปัญหาต่างๆ รัฐบาลพยายามดึงเวลามาถึง 2 เดือนก็ไม่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจะใส่ใจ โดยรัฐบาลบอกว่ามีภารกิจเยอะ แต่เราก็เห็นว่ารัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ เอาแต่ไปต่างประเทศ กลับประเทศมาแล้วก็ยังมีเวลาไปเชียงใหม่ ซึ่งเห็นว่ายังมีเวลาเยอะแยะ แต่เวลาจะประชุมร่วมกันในเรื่องของประเทศกลับบอกว่าไม่มีเวลา เราจึงต้องท้วงติงเอาไว้
"เราจึงต้องท้วงติงเอาไว้ เพราะได้ข่าวว่าในวันที่ 25 มี.ค. มีฝ่ายรัฐบาลมาบอกว่านายกฯ จะไม่มาฟังการอภิปราย เราก็หวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องนำปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินมาพูดคุยกับวุฒิสภา ถ้านายกฯ ไม่มา ก็อาจจะทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จผล และการมาของรัฐบาลนั้น ในรัฐธรรมนูญบอกว่าให้มาเป็นคณะ ไม่ใช่มาเพียง 1-2 คนแบบขอไปทีเพื่อให้ผ่านไปเท่านั้น เรื่องนี้ต้องขอเรียนไว้เบื้องต้น จะได้ไม่เกิดการต่อว่ากันในที่ประชุม" นายเสรีกล่าว
ถามว่า ที่บอกนายกฯ จะไม่มาฟังการอภิปราย มีการยืนยันชัดเจนแล้วหรือยัง นายเสรีกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มีนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. ซึ่งเป็นกรรมาธิการด้วยได้ยินมากับหูว่านายตวง อันทะไชย สว. ในประธาน กมธ. พูดในที่ประชุมว่าได้รับแจ้งจากคนในรัฐบาลว่านายกฯ จะไม่มาฟังการอภิปราย ซึ่งอาจจะทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย เพราะเรื่องสำคัญนายกฯ ควรมาร่วมฟัง
ฮุน เซน แนะ พท.ทำเพื่อ ปชช.
วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารพรรค เข้าพบสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และหัวหน้าพรรคประชาชนกัมพูชาว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน ยกเว้นแต่ผู้ช่วยอดีตนายกฯ ฮุน เซน ได้ส่งข้อความมาหาตนเมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 19 มี.ค. ว่าท่านสมเด็จฮุน เซน ฝากความคิดถึงมา
"การที่ทั้ง 2 หัวหน้าพรรคเสริมความสัมพันธ์กัน ก็เป็นเรื่องที่ดีของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน การมีความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร รวมถึงการพบกันทั้งการเยือนประเทศไทย และการเดินทางไปร่วมประชุมที่ต่างประเทศ ยิ่งพบกันบ่อย ยิ่งพูดจากันบ่อย ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่มีอะไรเสียหาย ทั้งนี้ หากมีการประชุมพรรค พท.ครั้งต่อไป จะได้นำมาพูดคุยกัน" นายกฯ กล่าว
ที่ประเทศกัมพูชา นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค พท. และนายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรค แถลงสรุปการหารือทวิภาคีเต็มคณะร่วมว่า สมเด็จฮุน เซน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้คำแนะนำถึงการทำพรรคการเมือง และการทำประโยชน์เพื่อประชาชน รวมถึงเปิดโอกาสและพัฒนาศักภาพคนรุ่นใหม่ร่วมกันของทั้ง 2 พรรคการเมือง รวมทั้งยังเน้นการทำงานด้านสร้างเครือข่ายสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเชื่อว่าประชาชนจะเป็นรากฐานสำคัญในการทำงานทางความคิดของพรรค
ส่วนพรรค พท.เสนอให้จัดตั้งทีมทำงานระดับพรรคการเมืองต่อพรรคการเมือง เพื่อให้ สส.ในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่ติดกับแนวชายแดน หารือร่วมกันถึงแนวทางการพัฒนาการค้าชายแดนที่มีแนวเขตชายแดนไทย-กัมพูชาติดกันถึง 7 จังหวัด ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นสนามรบ ที่ยังคงมีกับระเบิดสมัยสงครามหลงเหลืออยู่ เป็นสนามการค้า ให้นำไปสู่การสร้างสันติภาพและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อิ๊งค์’ปลื้มผลโพลดันก้น โรมรุกทักษิณนอนชั้น14
รัฐบาลปลื้ม! ผลสำรวจดัชนีการเมืองไทยขยับขึ้นเกินครึ่งแล้ว ตัวชี้วัด 25 ประเด็นพุ่ง
คลั่งชาติปลุกต้านขายชาติ!
นายกฯ เรียกพรรคร่วมถกปมเกาะกูด "นพดล" โต้เดือดไม่ได้ขายชาติ
18บอสหนาว ดีเอสไอจ่อฟัน ผิด‘แชร์ลูกโซ่’
คนส่วนใหญ่ยังเชื่อทนายความจิตอาสาไม่หิวแสงมีจริง แต่ไม่มาก “ดีเอสไอ” จ่อฟันแชร์ลูกโซ่เร็วๆ นี้
ปชน.หนุนพท.ลักไก่ประชามติ
นายกฯ เรียกแกนนำรัฐบาลถกแก้ รธน. 4 พ.ย.นี้ ปธ.วิปรัฐบาลรับหาก
ลุ้นชื่อประธานธปท. ‘โต้ง-กุลิศ-สุรพล’คุณสมบัติครบ/ม็อบชุมนุมบางขุนพรหม
จับตาประชุมคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ “สถิตย์” ลั่นกรรมการสรรหาฯ จะใช้วิจารญาณโดยอิสระ
จ่อร้องยุบรัฐบาล! ‘วีระ’ อ้างเป็นกบฏทำ เสียดินแดน / ‘ผบ.ทร.’ ลงพื้นที่เกาะกูด
ผบ.ทร.ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กำชับกำลังพลหากมีเรื่องใดขัดข้องให้รีบแจ้งเพื่อแก้ไข ขณะที่นายอำเภอเกาะกูดลั่นเป็นของไทยมากว่า