โยนขี้ขรก.รับผิดชอบ พท.พลิ้ว‘แม้ว’ไม่เคยบอกป่วย คปท.บุกกรมคุกจี้นำน.ช.จำคุก

“ทวี” ย้ำยึดตามกฎหมายทุกกระเบียดนิ้วเรื่องพักโทษทักษิณ แพลมลงพื้นที่คู่ “เศรษฐา” หากไม่ขัดใน 10 ข้อกรมคุมประพฤติทำได้ ระบุ 19 มี.ค.นี้ต้องรายงานตัว “ชูศักดิ์” พลิ้วแทนนายใหญ่ ชี้เจ้าตัวไม่เคยบอกว่าป่วย มีแต่คณะกรรมการระบุ “โรม” ถามสังคมจะเชื่อนักการเมืองมุสาหรือ “สมชาย” จี้ ป.ป.ช.เร่งไต่สวนป่วยทิพย์ เตือนพวกไปยืนกุมเป้าต้อนรับอย่าลืม “แม้ว” มีคดีมาตรา 112 “คปท.” ยกพลบุกกรมคุก จี้นำตัว น.ช.มาจำคุกให้ครบ 1 ปี เพราะไม่สำนึกต่อความผิดที่ได้ยื่นขออภัยลดโทษไป ละเลยอาจเจอ ม.157

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในการเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการพักโทษและลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวถึงกรณีมีผู้เตรียมร้องรัฐมนตรีและ สส.เดินทางเข้าพบนายทักษิณ เข้าข่ายการเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาจกระทบการพักโทษว่า การปฏิบัติของรัฐบาลในเรื่องพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ เราปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมด ซึ่งการกำหนดโทษเป็นเรื่องของศาล แต่การบริหารโทษเป็นเรื่องของราชทัณฑ์ ซึ่งเราปฏิบัติตามกฎหมายทุกข้อ โดยใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์มีการเขียนเรื่องการพักโทษเอาไว้ ซึ่งมีเงื่อนไขหลายข้อ แต่ไม่มีเงื่อนไขจะพบหรือไม่พบใคร เงื่อนไขเรื่องเจ็บป่วยแต่อาการดีก็ไม่ได้ระบุ ทั้งหมดเราต้องไปดูในเงื่อนไข โดยเราต้องเคารพมุมมองของแต่ละคน และเมื่อถึงจังหวะก็คงได้ชี้แจง

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าไม่เข้าข่ายที่จะพักโทษ พ.ต. อ.ทวีกล่าวว่า เราต้องไปดูเงื่อนไขของการพักโทษ ซึ่งอยู่ในกระบวนการกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แม้แต่อธิบดีกรมราชทัณฑ์หรือ รมว.ยุติธรรมก็ทำไม่ได้ เพราะเราต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งกรมคุมประพฤติก็รายงานว่าไม่ได้ผิดเงื่อนไขอะไร

ถามต่อว่า ในอนาคตนายทักษิณสามารถลงพื้นที่กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง เพื่อพบปะประชาชนก็ได้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ต้องไปดูรายละเอียดของเงื่อนไขกรมคุมประพฤติซึ่งมีอยู่ 10 ข้อ ถ้าไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขก็เป็นสิทธิเสรีภาพ แต่สิ่งที่เราพูดกันอยู่นี้อาจไม่เกิดขึ้น เพราะในทางปฏิบัตินายกฯ ก็เป็นผู้บริหารประเทศอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า กรมคุมประพฤติมีการรายงานถึงการรายงานตัวของนายทักษิณ ที่จะครบกำหนดการพักโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ถ้าจำไม่ผิดการครบกำหนดการรายงานตัวคือวันที่ 19 มี.ค. ซึ่งกรมคุมประพฤติต้องรายงาน เพราะหลักสำคัญของเงื่อนไขคือต้องรายงานตัว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐาร่วมทานข้าวกับนายทักษิณ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าใครคือนายกฯ ตัวจริงกันแน่ว่า เป็นสิ่งที่ดีที่มีผู้ใหญ่ซึ่งมีศักยภาพในหลายมิติมาช่วยทำงาน เพราะการเป็นนายกฯ ไม่ได้แปลว่าจะต้องรู้ทุกเรื่อง การมีที่ปรึกษาเป็นอดีตนายกฯ มาให้คำปรึกษานั้นเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งนายกฯ มีที่ปรึกษาเยอะ พบปะผู้คนเยอะ จะเป็นประโยชน์กับการทำงานของรัฐบาล

เมื่อถามถึงกรณีนายเศรษฐาระบุว่า อาจพานายทักษิณลงพื้นที่ร่วมกัน จะเป็นกระแสลบต่อรัฐบาลหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า มองได้หลายมุม หากฝ่ายที่คิดจะโจมตีก็มองว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่ในมุมพรรคร่วมรัฐบาลมองว่าสองหัวดีกว่าหัวเดียว ไม่ว่าเป็นที่ปรึกษาหรือตำแหน่งอะไรก็ตามย่อมเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

‘ชูศักดิ์’ พลิ้วแทน ‘ทักษิณ’

ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่ทั้ง สส.และ สว.จองอภิปรายเกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณ ว่า ข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง วันนี้ท่านอดีตนายกฯ  ทักษิณเป็นบุคคลภายนอก หากมีการอภิปรายใส่ร้ายกัน  หรือถ้าอภิปรายเป็นเรื่องส่วนตัว เราถือว่าผิดข้อบังคับ ก็ต้องประท้วงกัน ชี้แจงกัน ดีไม่ดีอาจเป็นความผิดที่นำไปสู่การฟ้องร้องกันได้        

 “ไม่ได้หนักใจอะไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปท้าทาย เพราะ สส.โดยเฉพาะ สส.ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่จำเป็นที่จะไปท้าทาย รัฐบาลภายใต้ท่านนายกฯ เศรษฐาพร้อมตอบทุกคำถาม พ.ต.อ.ทวีซึ่งรับผิดชอบกระทรวงยุติธรรมโดยตรง หลายครั้งก็มาตอบกระทู้สดและให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ยืนยันว่าไม่ได้กังวลอะไร” นายครูมานิตย์กล่าวและย้ำว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ถึงกับต้องตั้งวอร์รูม

นายครูมานิตย์กล่าวว่า 17 ปีไปอยู่ต่างประเทศ ถ้าไม่ใช่คนชื่อทักษิณ พี่น้องประชาชนคนไทยคงลืม แต่นี่พิสูจน์ให้เห็นว่า 17 ปีมิได้จางหายเลย ฉะนั้นเป็นเรื่องปกติของความศรัทธา ส่วนเรื่องอาการป่วยนั้นก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่เชื่อเถอะว่าคนอายุ 75 ปีสภาพร่างกายก็คงไม่ค่อยปกติธรรมดา ถ้าคนที่ชอบท่านนายกฯ  ทักษิณก็มองให้ความเป็นธรรม มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบ ถึงท่านจะนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่เห็นหน้า ก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบ  เป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวว่า การที่จะมาตัดสินใจว่าไม่ป่วยจริง คำถามคือใครเป็นคนชี้ ใครเป็นคนตัดสินใจ เข้าใจว่าอดีตนายกฯ ทักษิณก็ไม่ได้ตัดสินใจเอง ท่านไม่ได้บอกเองว่าท่านป่วยหรือไม่ป่วย แต่คนตัดสินใจคือคนที่รับผิดชอบหรือคณะกรรมการ ซึ่งชี้แจงมาโดยลำดับ เพราะฉะนั้นโดยรวมอยากให้เราก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปเถอะ อย่าเอามาเป็นประเด็น ท้ายสุดก็จะวนเวียนกับเรื่องนี้ ประเทศไทยก้าวไม่พ้นอะไรกันสักที วนกลับไปที่เดิม

ขณะที่นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ตอบโต้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ให้สัมภาษณ์พาดพิงนายทักษิณ ซึ่งระบุเศรษฐกิจปัจจุบันแย่กว่าช่วงต้มยำกุ้งว่า สิ่งที่นายทักษิณให้สัมภาษณ์ที่เชียงใหม่ พูดในฐานะคนที่ห่วงใยบ้านเมือง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง และไม่ได้ต้องการให้เห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤต เพื่อใช้เป็นข้ออ้างนำไปผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะดำเนินการ แต่พูดด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ซึ่งนายพิธาเองก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจนั้นซึมลึกมาร่วมสิบปี ส่วนที่นายพิธาเตือนรัฐบาลอย่าบริหารเศรษฐกิจแบบหยดน้ำอย่างที่เคยชิน แต่ควรบริหารเศรษฐกิจแบบฐานรากนั้น นายพิธาน่าจะรู้ดีว่าจุดแข็งของ พท.คือเน้นเศรษฐกิจฐานราก นโยบายในอดีตสมัยพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายและความเหลื่อมล้ำให้ประชาชน เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ล้วนนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งนายพิธาเคยไปทำงานที่ทำเนียบฯ สมัยนายทักษิณเป็นนายกฯ น่าจะเข้าใจประเด็นนี้ดี

 “ที่นายทักษิณได้สัมภาษณ์ว่าคนไม่ชอบหน้าให้ต่างคนต่างอยู่นั้น นัยของคำพูดคือ แม้มีความเห็นต่างแต่อยู่ในสังคมกันได้ ไม่ต้องขัดแย้งกัน แต่ที่ น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล โพสต์พาดพิงในทางที่เสียหายนั้นถือว่าล้ำเส้นไปมาก เป็นการใช้จินตนาการและใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม สังคมประชาธิปไตยไม่ควรใช้เฮตสปีช หรือวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง” นายนพดลกล่าว

‘โรม’ ซัดนักการเมืองมุสา

ส่วนนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงคำชี้แจงต่างๆ เกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณว่า ข้อชี้แจงไม่สามารถทำให้สังคมสิ้นข้อสงสัยได้  เช่นที่โฆษกพรรค พท.ออกมาแถลงอาการของนายทักษิณ ว่าเป็นเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย เช่นเดียวกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน  รองนายกฯ ที่ระบุว่านายทักษิณต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานาน แต่สุดท้ายนายทักษิณก็ดูแข็งแรงดีในการลงพื้นที่  สามารถนั่งยองคุยกับประชาชนที่มารอรับได้ ดังนั้นสังคมไทยต้องถามตัวเอง ไม่ใช่ถามนายทักษิณ ว่าเรายอมรับได้แค่ไหนที่เห็นนักการเมืองพูดมุสา

 “ขอเรียกร้องให้นำเอกสารทางการแพทย์มายืนยันอาการป่วย ไม่ต้องไปอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ขอให้นายทักษิณมายืนยันด้วยตัวเอง และอย่ามาบอกว่านายทักษิณไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว เพราะการลงพื้นที่เชียงใหม่ในครั้งนี้คึกคักกว่าการลงพื้นที่ของนายเศรษฐา  จึงต้องยอมรับว่านายทักษิณมีความไม่ธรรมดาอยู่แล้ว สังคมไทยก็ต้องตอบตัวเองว่าจะยอมรับได้แค่ไหนเกี่ยวกับการโกหก” นายรังสิมันต์ระบุ

นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐาระบุหากเป็นไปได้จะควงนายทักษิณลงพื้นที่ว่า เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สังคมตั้งคำถามมาก เพราะนายทักษิณยังเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักโทษ การขออนุญาตเดินทางไปเพื่อไหว้สุสานบรรพบุรุษ ถ้ากรมคุมประพฤติอนุญาตก็ทำได้ แต่ถ้าดูจากการเดินทางและพฤติการณ์ทั้งหมดที่สื่อมวลชนได้ถ่ายทอดสดตลอด เสมือนหนึ่งเป็นนายกฯ ไปจัดงานรื่นเริงสังสรรค์ที่ร้านอาหารกับเพื่อนมงฟอร์ต ที่บ้านในสนามกอล์ฟ โดยมีนายกฯ, รัฐมนตรีว่าการ, รัฐมนตรีช่วยว่าการ, ปลัดกระทรวง, อธิบดีกรมต่างๆ รอง ผบ.ตร., ผู้การตำรวจ,จังหวัด, ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปรายงานปฏิบัติการต่างๆ  คิดว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะนายทักษิณยังอยู่ในคดียังไม่พ้นโทษ

 “นายทักษิณยังมีคดีในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยคดีนี้ตำรวจสั่งฟ้อง แต่รออัยการพิจารณาในวันที่ 10 เม.ย. เรื่องนี้จะทำให้ทางการเมืองยิ่งตกต่ำลงไปอีก โดยเฉพาะต่อรัฐบาล  ความไม่เหมาะสมของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นเรื่องที่ต้องทบทวน แต่ถ้านายทักษิณพ้นโทษแล้วก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง” นายสมชายกล่าว

นายสมชายยังกล่าวถึงอาการป่วยของนายทักษิณว่า การลงพื้นที่ของนายทักษิณแสดงให้เห็นถึงการหายป่วยเกือบ 100% หรืออาจป่วยไม่ได้เยอะอย่างที่หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ  หรือโฆษกพรรคระบุไว้ว่าป่วยวิกฤตต่อเนื่องร้ายแรง ถ้าไม่อยู่ในการรักษาจะทำให้เสียชีวิต ซึ่งถือว่าขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ว่าข้าราชการเอื้ออำนวยต่อนายทักษิณหรือไม่ ซึ่งทราบว่าอยู่ระหว่างการหาข้อมูลเพื่อที่จะส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะมีมติให้ไต่สวนหรือไม่ ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา 2  คณะ ได้ส่งเอกสารที่มีการสอบไปแล้วให้แก่ ป.ป.ช. ส่วนตัวจึงเห็นว่า ป.ป.ช.ควรมีมติไต่สวนเพิ่มเติม โดยไต่สวนและผู้ที่รับผิดชอบคือ 1.นายกฯ ในฐานะผู้กำกับรัฐบาล  ประธาน ก.ตร. เป็นผู้ดูแลโรงพยาบาลตำรวจ ว่าการเจ็บป่วยที่รักษา 180 วัน โดยแพทย์ รพ.ตำรวจมีข้อเท็จจริงประการใด เวชระเบียนซึ่ง ป.ป.ช.มีอำนาจเรียกมาตรวจ หากผิดไปจากความเป็นจริงก็จะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของส่วนแพทย์

นายสมชายกล่าวอีกว่า นอกจากนี้หน่วยที่ 2 ที่จะต้องมีการตรวจสอบ คนที่รับผิดชอบคือ รมว.ยุติธรรม, ปลัดยุติธรรม, อธิบดีกรมราชทัณฑ์, ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, คณะกรรมการพักโทษ จะต้องมีการสอบสวนว่าได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการอนุมัติตั้งแต่วันที่ 22  ส.ค. 2566 ด้วยระบบที่ถูกต้องหรือไม่ ที่ให้นายทักษิณไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ และการอนุมัติให้รักษาตัวต่อในโรงพยาบาลเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และส่วนที่ 3 ที่ต้องถูกตรวจสอบคือกรมคุมประพฤติ ในการอนุญาตให้ไปพักโทษในการคุมขังนอกเรือนจำตามระเบียบ ซึ่งในเงื่อนไข 8 ประการ มีการกำหนดห้ามดื่มเหล้า แต่กลับอนุญาตให้ดื่มไวน์ได้ รวมถึงการอนุญาตให้ไปไหว้สุสาน และการไปสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี ซึ่งต้องเปรียบเทียบกับบรรทัดฐานที่ปฏิบัติกับนักโทษรายอื่น

จี้นำทักษิณมาจำคุก 1 ปี

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช  พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “สมมุติว่าเป็นทักษิณ!!!” ระบุว่า การลงพื้นที่ของนายทักษิณเป็นเรื่องของคนมีทิฐิ เอาชนะผู้อื่นตลอดเวลา ไม่ยอมแพ้กับกฎระเบียบของบ้านเมือง หรือที่ผู้ปฏิบัติธรรมเรียกว่าคนประเภทปลงไม่ตก ปล่อยวางไม่ได้ หรือที่ภาษาชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่าพวกจมไม่ลง

วันเดียวกัน ที่กรมราชทัณฑ์ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ เคลื่อนขบวนมาจากเวทีสะพานชมัยมรุเชฐ เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอให้นำตัวนักโทษเด็ดขาดชายนายทักษิณ ชินวัตร มาจำคุกตามคำพิพากษา โดยมีนายไพรัตน์ ขมินทกูล ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้รับหนังสือแทน

โดยนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566 นายทักษิณไม่เคยได้รับโทษจำคุก เพราะหนีคุกมาอยู่ รพ.ตำรวจเป็นเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งเป็นการอยู่โดยหลบหนีหรือหลบเลี่ยงการจำคุก  เนื่องจากไม่มีการรักษาอาการป่วยไข้ โดยเห็นได้จากช่วงวันที่ 14-17 มี.ค. ซึ่งนายทักษิณไป จ.เชียงใหม่ ไม่มีอาการป่วยไข้หรือฟื้นจากการป่วยไข้ให้เห็น คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่านักโทษเด็ดขาดชายนายทักษิณ ไม่เคยป่วยไข้ตามที่อ้างกันตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566

“นายทักษิณได้ยื่นขออภัยลดโทษ โดยอ้างว่าได้สำนึกและยอมรับผิดต่อการกระทำของตนเองไปแล้ว แต่กลับปฏิบัติเหมือนการไม่สำนึกต่อความผิดของตัวเองที่ได้ยื่นขออภัยลดโทษไป เป็นการกระทำที่ย่ำยีกระบวนการยุติธรรมจนเสียหายย่อยยับตกต่ำอย่างสุดขีด โดย คปท.ได้ทำหนังสือคัดค้านการพักโทษของนักโทษเด็ดขาดชายนายทักษิณต่อ รมว.ยุติธรรมแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 แต่กลับยังเพิกเฉย จึงขอให้ท่านสั่งการให้นำตัวนักโทษเด็ดขาดชายกลับเข้ามารับโทษจำคุก ซึ่งเป็นโทษที่เหลือจากที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นายทักษิณ ที่คงเหลือโทษจำคุกอีก 1 ปีทันที หากไม่ดำเนินการจะถือว่า รมว.ยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  157”

หลังจากยื่นหนังสือเสร็จ มวลชนได้เดินทางกลับไปยังสะพานชมัยมรุเชฐ โดยแกนนำแจ้งว่าในวันที่ 19 มี.ค.จะเดินทางมายื่นหนังสือที่สำนักงาน ป.ป.ช.ต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย