ซักฟอก3-4เม.ย. ‘อนาคตไกล’ขยับ

สภาเคาะซักฟอกรัฐบาล  "เศรษฐา" 2 วัน 3-4 เม.ย. ส่วนงบ 67   วาระ 2-3 ระหว่าง 20-22 มี.ค. "วันนอร์" ชี้สมาชิกอภิปรายโยง "ทักษิณ" พิจารณาตามกรณี "วิสุทธิ์" ยันเปิดเวลาฝ่ายค้านเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องตั้งองครักษ์ ดักคอพาดพิงบุคคลที่สามเสียหายรับผิดชอบคดีเอง “โรม” ปัดก้าวไกลดอดเข้าบ้าน “บิ๊กป้อม” ลั่นยุบพรรคทำการเมืองไทยล้าหลัง "หมออ๋อง" ไม่หวั่นจ่อโดนตัดสิทธิ์ “อนาคตไกล” เร่งส่งเอกสารให้ กกต. คาดเสร็จสิ้นก่อนศาล รธน.ตัดสิน

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ไม่มีปัญหา จึงส่งไปให้รัฐบาลได้พิจารณาเพื่อสอบถามความพร้อม โดยได้รับรายงานจากประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทั้ง 2 ฝ่าย ว่าตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าให้ประชุมในวันที่ 3-4 เม.ย.นี้ รวมเวลา 2 วัน

เมื่อถามว่า หากมีสมาชิกอภิปรายพาดพิงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากอภิปรายพาดพิงถึงคนนอก มีข้อบังคับการประชุมสภาอยู่แล้ว หากอยากกล่าวถึงบุคคลที่ 3 โดยไม่จำเป็น ประธานการประชุมคงไม่อนุญาต แต่ถ้าบุคคลนั้นเกี่ยวข้องกับญัตติการอภิปราย จะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป

ส่วนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระ 2 และวาระ 3 ได้มีการตกลงกันอีกครั้งว่าจะพิจารณาในวันที่ 20-22 มี.ค. เนื่องจากวันที่ 25 มี.ค. ตรงกับวันอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ของวุฒิสภา ซึ่งไม่อยากให้มีการประชุมซ้ำซ้อน เพราะจะมีผลกระทบกับการถ่ายทอดสด อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถลงมติวาระ 3 ได้ไม่เกินเวลา 18.00 น. ของวันที่ 22 มี.ค. จึงเชื่อว่าจะจบการพิจารณาได้ภายใน 3 วัน

ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า มีการตกลงกันเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ซึ่งจะเป็นวันที่ 3-4 เม.ย.  เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านซักฟอกอย่างเต็มที่ รวมถึงทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล อาจถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ประชาชนจะได้เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลเป็นเช่นไร เรามีการเตรียมตัวอย่างดี และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความพร้อม โดยไม่ต้องตั้งองครักษ์อะไร โดยเวลาส่วนใหญ่จะเปิดให้พรรคฝ่ายค้านได้ใช้เวลามากที่สุด คาดว่าน่าจะเกิน 30 ชั่วโมง

ส่วนญัตติที่เสนอมามีเรื่องกระบวนการยุติธรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับนายทักษิณจะมีขอบเขตอย่างไรนั้น นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ในข้อบังคับสภาฯ เขียนไว้ชัดเจนว่า การจะกล่าวถึงบุคคลภายนอก กล่าวได้ต่อเมื่อมีความจำเป็น แต่หากทักท้วงแล้วยังมีการพาดพิงทำให้เสียหาย ผู้อภิปรายจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณหรือผู้ใดที่ทำให้เกิดความเสียหาย ทางสภาไม่มีคุ้มครอง จะต้องรับผิดชอบจากผลของคดีเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุมวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ได้มีการสรุปสาระสำคัญคือ การกำหนดวันเวลาในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ  2567 วาระที่ 2-3 ดังนี้ 20 มี.ค. เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น. ส่วนวันที่ 21 มี.ค.67 เริ่มประชุมเวลา 09.00-24.00 น. และวันที่  22 มี.ค.67 เริ่มประชุมเวลา 09.00-18.00 น. 

ส่วนการอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย. ดังนี้ วันที่ 3 เม.ย. เริ่มเวลา 09.00 น. แล้วพักการประชุมหลังเวลา 01.00 น. ก่อนเริ่มประชุมในวันถัดไป และวันที่ 4 เม.ย.67 เริ่มเวลา 09.00-23.00 น. โดยการจัดสรรเวลาให้ประธานของที่ประชุม   2 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล 6 ชั่วโมง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 22 ชั่วโมง ส่วนกรณีผู้ประท้วงให้หักเวลาจากฝ่ายของผู้ประท้วง

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีข่าว สส.พรรคก้าวไกลเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่บ้านมีนบุรี ว่าไม่มีทางเป็นตนแน่นอน และยังไม่ทราบว่ามีคนของพรรคก้าวไกลไปหรือไม่ ต้องไปตรวจสอบก่อน เชื่อว่าคงไม่มีใครไป และก่อนที่จะไปพูดถึงว่า สส.พรรคไหนไปบ้าน พล.อ.ประวิตร ต้องบอกมาก่อนว่า สส.พรรคพลังประชารัฐอยู่ครบที่จะไปบ้าน พล.อ.ประวิตรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามี สส.พรรคก้าวไกลไปจริงๆ คงต้องคุยกัน

 “เป็นบทเรียนแล้วว่างูเห่าจะไม่มีทางมีพื้นที่ในสังคมไทยได้ การเป็นงูเห่าเท่ากับว่าคุณได้ตัดอนาคตของตัวเอง และทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตทางการเมืองได้อีกแล้ว ประชาชนจะไม่มีทางไว้ใจคุณอย่างเด็ดขาด นี่คือราคาที่คนที่เป็นงูเห่าต้องจ่าย และทุกครั้งที่มีเรื่องการยุบพรรค ก็จะมีข่าวเรื่องการซื้อตัวเข้ามาอยู่แล้ว ก็เป็นธรรมชาติของข่าว ผมจึงยังฟังหูไว้หู มองบนพื้นฐานข้อเท็จจริง” นายรังสิมันต์ ระบุ

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ขณะนี้คดียุบพรรคก้าวไกลยังอยู่ในกระบวนการของ พวกเรา จะต้องเตรียมการรับมือในทุกรูปแบบ โดยโฟกัสไปที่การต่อสู้ทางคดีไม่ให้ถูกยุบ พยายามชี้ให้องค์กรที่มีอำนาจเข้าใจว่าการยุบพรรคไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ได้ทำให้การเมืองดีขึ้น แต่ทำให้ประเทศไทยอยู่กับที่หรือล้าหลัง

 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ซึ่งจะเข้าข่ายถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากศาลวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคุยเรื่องยุบพรรค ตอนนี้เดินหน้าทำงานเต็มที่ ใช้เวลาที่เหลืออยู่ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวให้ดีที่สุด เท่านั้นพอแล้ว หากมีคำวินิจฉัยจริงๆ มีเดดไลน์ค่อยเตรียมตัว ทั้งนี้ หากระบบศาลไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง คงต้องมีการตั้งคำถามกับระบบความยุติธรรม การจะกล่าวหาข้อกล่าวหาที่รุนแรงขนาดนี้ แล้วบอกไม่ต้องมาชี้แจง  นั่นผิดทันที เรื่องนี้ทั้งประชาคมโลกและสังคมไทยจะมีคำถามกับระบบยุติธรรมมากมาย

ที่พรรคอนาคตไกล ถนนสุโขทัย นายภวัต เชี่ยวชาญเรือ โฆษกพรรคอนาคตไกล เปิดเผยว่า ภายหลังพรรคอนาคตไกลประชุมใหญ่สามัญจัดตั้งและเลือกกรรมการบริหารพรรคอนาคตไกลเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2566 แล้วได้รายงานให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครทราบ เพราะถือเป็นขั้นตอนตามกฎหมายพรรคการเมือง และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรอบระยะเวลา 180 วัน ขณะนี้คณะทำงานของพรรคอนาคตไกลอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบเอกสารให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนเสนอให้นายอภิสัณห์ ศรวัชรณัฏฐ์ หัวหน้าพรรคอนาคตไกล ลงนามในเอกสาร คาดว่าจะยื่นเอกสารทางทะเบียนให้แก่ กกต.ภายในเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรครอบปฐมฤกษ์ครั้งแรก โดยแถลงนโยบายการบริหารฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2567 และมีการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 2 วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีการเรียกประชุมทุกวันอังคาร เดือนละหนึ่งถึงสองครั้ง จึงขอให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนที่ติดตามถึงความคืบหน้าอดใจรอ เป็นพรรคการเมืองของประชาชนแน่นอน

"การดำเนินทางทะเบียนคงใช้ระยะเวลาไม่นาน คาดหมายว่าจะเสร็จสิ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล พรรคเปิดรับอุดมการณ์ทางการเมือง  หากเห็นว่าตรงกันสามารถทำงานร่วมกันได้ แต่ต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เพราะอนาคตไกลเป็นมิตรกับทุกพรรคการเมือง ไม่ซ้ำเติมใคร เข้าใจหัวอกซึ่งกันและกัน แต่นับจากนี้ไป การเมืองไทยจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึก เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ และจะพบเห็นปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง ทั้งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคและ ป.ป.ช.มีมติยื่นศาลฎีกาฯ เชือดกลุ่ม สส.ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง"   นายภวัตระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง