3นิ้วดันนิรโทษคดีม.112 พระจี้ศาลปล่อย‘ตะวัน’

สามนิ้วตบเท้าให้ข้อมูล กมธ.นิรโทษกรรม ยันต้องรวม ม.112 ด้วย  เพราะถูกบังคับให้ทำผิด ฉวยโอกาสอ่านจดหมาย "อานนท์" ตลกเจตนากักขังนักโทษ ม.112 "ณัฐวุฒิ" โหนคนรุ่นใหม่หนุนนิรโทษเหมาเข่ง ขณะที่กลุ่มพระภิกษุยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ขอบิณฑบาตชีวิต “ตะวัน-แฟรงค์” เกรงสูญเสียจนสายเกินเเก้ 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่รัฐสภา   น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

โดย น.ส.พูนสุขกล่าวว่า ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนได้เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2557-2562 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารแล้ว 2,400 คน และหลังจากยกเลิกศาลทหาร ก็มีในศาลยุติธรรมอีกหลายร้อยคน ซึ่งคดีที่ยังมีความเคลื่อนไหวและเป็นที่สนใจมากที่สุดขณะนี้ก็คือคดีเกี่ยวกับการชุมนุมตั้งแต่กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองแล้ว 1,957 คน และมีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกเดือน แม้จะไม่มีการชุมนุม ซึ่งคดีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการโพสต์ข้อความในทางออนไลน์ และคดีมาตรา 112 จึงคิดว่าประเด็นสำคัญที่จะนำมาพูดคุยกันในวันนี้คือ ทำไมจะต้องนิรโทษกรรม 112  และต้องนิรโทษทุกคดีโดยที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ขณะที่ น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญคนที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามาร่วมพูดคุยด้วย เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงถึงเหตุจูงใจในการออกมาชุมนุมออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในครั้งนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราจะได้อธิบายขยายความว่าการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 นั้น มีเหตุจูงใจที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสถาบันกับการเมืองไทยด้วยเช่นเดียวกัน  ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงที่คนในสังคมถกเถียงกันอย่างมาก และปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้น ก็เป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่ถูกสะสมมา และอาจจะก่อตัวเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงกว่านี้ได้ในอนาคต

"ฉะนั้น การนิรโทษกรรมถ้าหากจะให้เกิดขึ้นได้ประสิทธิภาพจริงๆ จำเป็นจะต้องนิรโทษกรรมรวมมาตรา 112 ด้วย เพื่อให้การคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองได้คลี่คลายที่จุดเริ่มต้นของปัญหาจริงๆ คนที่โดนคดีมาตรา 112 อยู่ตอนนี้ยังคงถูกขังอยู่ในเรือนจำมีอยู่อีกเยอะ   และคนที่อยู่ในกระบวนการระหว่างกระบวนการต้องต่อสู้ในชั้นศาลก็ยังมีอยู่เยอะเช่นเดียวกัน" น.ส.ภัสราวลีกล่าว

ดังนั้น ในวันนี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรา 112 จะต้องถูกรวมในการนิรโทษกรรมด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองจริงๆ   และเป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนด้วย

ส่วนข้อมูลของศูนย์ทนายฯ สามารถนำมายืนยันได้หรือไม่ว่าคดีมาตรา 112 ทั้งหมดมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง น.ส.พูนสุขระบุว่า ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ มีมากกว่าตัวเลขของกรรมาธิการที่ออกมาบอกก่อนหน้านี้ คดีของเราเป็นคดีที่เกิดขึ้นจากเสรีภาพทางการแสดงออก และคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร ต้องบอกว่าบางคดีของมาตรา 112 หรือมาตราอื่นที่ขึ้นศาลทหาร อาจจะไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองด้วยซ้ำ ในบางกรณี เช่น คนที่มีอาการทางจิตเวช ถูกดำเนินคดี 112 หรือไม่ได้มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แต่กลับถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย

ทั้งนี้ หากดูจากร่างของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เราเสนอไป 2 ส่วนคือเสนอให้มีการนิรโทษกรรมในทันทีโดยที่ไม่ต้องดูมูลเหตุจูงใจ และอีกส่วนคือตัวมาตรา 112 เองก่อให้เกิดปัญหา ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตัวของมันเอง มีการบังคับใช้ที่ทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ์ ซึ่งในคดี 112 เป็นคดีการเมือง แต่บางคนไม่ได้มีมูลเหตุทางการเมือง ซึ่งเขาสมควรจะได้รับการนิรโทษกรรมเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ น.ส.พูนสุขได้อ่านจดหมายที่นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่อยู่ในเรือนจำ ฝากข้อความออกมาว่า "หลักในการมองว่านิรโทษกรรมครอบคลุมมาตรา 112 ไหม ต้องดูว่าเจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรม คือครอบคลุมการแสดงออกในทางการเมืองหรือไม่ เพราะมาตรา 112 เป็นเรื่องทางการเมืองอย่างชัดเจน ผู้แจ้งต้องมีเจตนาซ่อนเร้นทางการเมือง การกระทำหรือข้อกล่าวหา การพูด การปราศรัย ก็เป็นเรื่องทางการเมือง หากนิรโทษฯ ก็ต้องรวมด้วย ดูว่าเจตจำนงของข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอะไร ในประวัติศาสตร์ก็มีการรวมมาตรา 112 ด้วย หากในอดีตไม่ยกเว้น การยกเว้นในปัจจุบันก็ตลก แสดงว่ามีการเจตนากักขังนักโทษมาตรา 112"

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่า การนิรโทษกรรมควรหมายรวมถึงทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกคดีความ ทุกข้อกล่าวหา ในที่นี้ตนก็เสนอให้มีการยกเว้นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน และคดีความที่ถึงแก่ชีวิต ซึ่งตนได้แสดงจุดยืนนี้มาตลอด

"ข้อกล่าวหาอันเกี่ยวกับ ม.112 ส่วนตัวผมเห็นว่าเงื่อนไขทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศเป็นเงื่อนไขที่ไม่เคยเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วง 20 ปีที่สู้กันมา ดังนั้น หากอยากคลี่คลายความขัดแย้ง ก็ควรจะขยายพื้นที่ของการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงความผิด หรือข้อกล่าวหาในมาตราดังกล่าวด้วย" นายณัฐวุฒิกล่าว

นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ชุมนุมเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เปิดเผยภายหลังการเข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ.ว่า ประเด็นเรื่องคดีความผิดตาม ม.112 ยังมีความเห็นต่างกันใน กมธ.อยู่ คิดว่าต้องไปตั้งแท่นดูเรื่องนี้ให้ละเอียด เพราะคดีการเมืองเป็นเรื่องที่ทำง่ายและไม่มีปัญหา แต่เรื่อง ม.112 มีข้อมูลต่างกัน ซึ่งข้อมูลยังไม่พอ ทาง กมธ.จะตั้งกลไกขึ้นมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ และต้องถามไปยังศาลถึงจำนวนและลักษณะคดีทั้งหมด ดังนั้นต้องให้เวลากับ กมธ.ไปตรวจสอบ

"ต้องยอมรับว่าบางคนก็จาบจ้วงจริง บางคนก็มีอุดมการณ์ และบางทีเขาก็ไม่ได้ต้องการให้นิรโทษกรรม ดังนั้น จะไปทำให้เขาทำไม แต่ถ้าเราตั้งหลักเรื่องนี้ดีๆ  เริ่มจากข้อมูลที่ตรงกัน จำแนกคดีเป็นกองๆ ก็ยังมีโอกาส ไม่ได้ปิดประตูเสียทีเดียว" นายสุริยะใสกล่าว

นายถาวร เสนเนียม อดีตผู้ชุมนุมกปปส. เปิดเผยว่า กรณีความผิดตาม ม. 112 ว่าจะให้นิรโทษกรรมหรือไม่ ตนมองว่าการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์กับการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์แตกต่างกัน ซึ่งตนต่อต้านการล้มล้างสถาบันฯ  มาโดยตลอด แต่ก็มีหลายคน หลายคดี ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การแชร์โพสต์ของคนอื่น หรือถูกกลั่นแกล้ง ด้วยการแจ้งความให้ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด จึงต้องมาพิจารณาความหนักเบาของคดีเป็นหลัก จับเข่าคุยกันเพื่อหาข้อยุติ

ที่สำนักประธานศาลฎีกา สนามหลวง กลุ่มพระภิกษุและสมณะ นำโดยสมณะดาวดิน ปฐวัตโต (อดีตนักบวชชาวอโศก) พร้อมประชาชนจำนวนหนึ่ง เดินทางมายื่นหนังสือถึงนางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เพื่อพิจารณาคืนสิทธิในการประกันตัวให้แก่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน นายณัฐนนท์  ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องขังคดี มาตรา 116 จากการบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 นายมงคล ถิระโคตร หรือบัสบาส และบรรดาผู้ที่ถูกคุมขังจากการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

สมณะดาวดิน ปฐวัตโต (อดีตนักบวชชาวอโศก) กล่าวว่า ด้วยเมตตาธรรมที่มีอยู่ ศาลควรจะกรุณาให้สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวกับผู้ต้องขังทางการเมือง จากเหตุเพราะคดีทางความคิด เพราะในพุทธศาสนา หลักเมตตาธรรมถือว่าเป็นหลักธรรมขั้นพื้นฐานที่คนในสังคมควรจะมีต่อกัน ซึ่งจริงๆ แล้วในวันนี้มีพระภิกษุสงฆ์ที่เห็นด้วยอย่างมาก แต่ไม่ได้ลงนามในแถลงการณ์นี้ เพราะไม่อยากเป็นปัญหา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง