ฮึ่ม!กระทบสถาบัน ‘ชัยธวัช’โวยยุบก้าวไกลตอกลิ่มขัดแย้ง/กกต.โต้ไม่มีใบสั่ง

"ปธ.กกต." ยันชงศาล รธน.ยุบ "ก้าวไกล" ยึดกฎหมายไร้ใบสั่ง    ชี้โทษหนักตัดสิทธิการเมือง "กก.บห."   10 ปี แจงคำร้องยุบ "ภูมิใจไทย" อยู่ระหว่างพิจารณา "ชัยธวัช" รับอาจสู้ยากกว่าคดีอื่น ลุ้นศาลเปิดไต่สวนให้แจงข้อเท็จจริง ชี้ยุบพรรคไม่ใช่เรื่องต้องทำใจ อ้างเป็นการเซาะกร่อนสถาบันเอง  บอกยังไม่คิดหาพรรคสำรอง ปัดตอบลูกพรรคดอดคุยบิ๊กป้อม-พรรครัฐบาล  "อนุทิน" ลั่นยุบพรรคไม่ใช่โดมิโนลาม "ภท." อุบอ้าแขนรับ สส.ส้ม

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) กล่าวถึงมติ กกต.เสนอส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกลว่า ในที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาข้อเสนอแนะที่สำนักงาน กกต. นำเสนอต่อที่ประชุมว่า การดำเนินการของพรรคก้าวไกล ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือการเป็นล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่   ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นควรที่จะส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

นายอิทธิพรกล่าวว่า กระบวนการพิจารณาในเรื่องนี้ ที่ประชุมได้ขอให้สำนักงาน กกต.ศึกษาวิเคราะห์รายละเอียด ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.2567 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ในกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในขณะดำรงแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ใช้การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ จากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 โดยศาลสั่งให้เลิกการกระทำการแสดงความคิดเห็น การเขียนเพื่อให้มีการยกเลิก ม.112 และไม่ให้แก้ ม.112

"เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 92 โดยใช้คำว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครองฯ ให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งเรื่องดังกล่าวใช้เวลาพอสมควร โดยสิ่งที่เป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง มีทั้งรายละเอียด ข้อกฎหมายข้อเท็จจริง พร้อมทั้งพยานหลักฐานและเอกสารประกอบ มีคำไต่สวนการให้ถ้อยคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นหลักฐานเพียงพอที่ทำให้ กกต.สามารถส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้" นายอิทธิพรกล่าว

ถามว่า สังคมโซเชียลตั้งข้อสงสัย กกต.รับใบสั่งจากใครหรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า เราทำงานมาก็ทำงานตามกฎหมาย คนที่จะสั่งให้เราปฏิบัติหน้าที่คือกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้  ซึ่ง กกต.ก็เป็นองค์กรอิสระที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและนิติธรรม  เพราะฉะนั้นถ้าไม่ทำตามกฎหมาย ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่

ซักถึงกรอบระยะเวลาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล   ประธาน กกต.กล่าวว่า ตามกระบวนการแล้ว ถ้ามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการตามคำร้องประกอบไปด้วยมติ กกต. คำวินิจฉัย เอกสารอื่นๆ โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ถ้าเสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

ส่วนกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร  อดีต กกต. ระบุโทษที่ร้ายแรงที่สุดในเรื่องนี้คือตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค ประธาน กกต.กล่าวว่า ตามกฎหมายมาตรา 92 ถ้า กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค   กกต.สามารถยื่นขอให้ศาลพิจารณายื่นถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ที่เป็นระยะเวลาคือถ้าขอให้ศาลสั่งไม่ให้ตั้งพรรคใหม่หรือขอให้ศาลสั่งไม่ให้เป็นกรรมการบริหารพรรคอื่น ซึ่งมีกรอบระยะเวลาว่าศาลจะสั่งได้ไม่เกิน 10 ปี

"เรื่องการจะดำเนินคดีอาญาด้วยหรือไม่ ก็ต้องมาพิจารณาต่อไปว่าการกระทำเช่นนั้นฝ่าฝืนกฎหมายอื่นๆ ด้วยหรือไม่" ประธาน กกต.กล่าว

เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะมีการยื่นตรวจสอบพรรคการเมืองอื่นอีกด้วยหรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า ถ้ามีการเสนอเรื่องพรรคการเมืองหรือผู้บริหารพรรคการเมือง พรรคใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การที่จะต้องยื่นต่อศาล กกต.ก็จะดำเนินการ ไม่ได้มีเฉพาะเจาะจงว่าเป็นพรรคใด

ประธาน กกต.กล่าวถึงการพิจารณาคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทยกรณีรับเงินบริจาคจากห้างหุ้นส่วน​จำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ว่าเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมือง คือเลขาธิการ กกต. ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐาน ยังไม่ถึงขั้นที่จะสรุปความเห็นเพื่อนำเรื่องสู่เข้าที่ประชุม กกต.

ก.ก.ยังไม่คิดพรรคสำรอง

ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล  กล่าวถึงแผนการรองรับหากมีการยุบพรรคว่า ตอนนี้ก็เตรียมเรื่องการต่อสู้คดีตามกฎหมาย และทำงานทุกวันให้ดีที่สุด แม้ต้องยอมรับว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะทำให้เราต่อสู้ได้ยากมากกว่าในคดีอื่นๆ แต่เราคงต้องต่อสู้เต็มที่ว่าไม่มีเหตุผลเพียงพออย่างไรที่จะต้องมีการวินิจฉัยถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งโดยปกติศาลต้องไต่สวนอยู่แล้ว

"อย่างน้อยที่สุดศาลต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องอย่างพรรคก้าวไกลได้แก้ข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ได้เสนอข้อเท็จจริง พยานผู้เชี่ยวชาญในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่" นายชัยธวัชกล่าว

ถามว่า หากไม่เปิดให้มีการไต่สวนจะดำเนินการอย่างไร หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า เรื่องนี้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญอยู่ที่ดุลพินิจของศาลว่าเมื่อไหร่ที่ศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว ศาลมีสิทธิ์ที่จะยุติการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกลคงต้องต่อสู้ให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงให้มากที่สุด

ซักว่าจะนำบทเรียนเมื่อครั้งยุบพรรคอนาคตใหม่มาใช้หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ได้มีการคุยกันเรื่องนี้ในพรรค คิดว่าบทเรียนที่สำคัญน่าจะเป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทยและผู้มีอำนาจมากกว่า ว่าการยุบพรรคการเมืองไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองแต่อย่างใด ซ้ำร้ายอาจจะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสวนทางกับการคาดหวังของพี่น้องประชาชนหลังจากที่เรามีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารแล้ว ซ้ำร้ายการยุบพรรคการเมืองโดยอ้างเหตุผลเรื่องการล้มล้างการปกครอง การเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน 

"ผมเป็นห่วงสังคมไทยมากกว่า ลองจินตนาการถึงสังคมไทยหลังจากนี้ เรากำลังเข้าสู่วังวนแบบเดิมๆ ที่หาทางออกไม่เจอ และอาจจะยิ่งถลำลึกต่อไปมากขึ้นก็ได้ การยุบพรรคการเมืองจากเหตุที่กล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองและเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ผมยืนยันในเรื่องนี้" นายชัยธวัชกล่าว

ถามถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคสำรอง หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า   ตอนนี้อยู่ในขั้นต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ก่อน ส่วนที่วิเคราะห์กันว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่กลับคำวินิจฉัยตัวเองนั้น แม้ว่าจะมีโอกาสน้อย แต่ก็ต้องสู้อย่างเต็มที่

เมื่อถามว่า เริ่มมี สส.ภายในพรรคก้าวไกล รวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค โพสต์เชิงตัดพ้อ ทำใจกับเรื่องนี้ไว้แล้วใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องยุบพรรคไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำใจ แต่ต้องเป็นเรื่องที่ยืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในทางการเมือง

ซักว่ามีข่าว สส.พรรคก้าวไกลเริ่มไปคุยกับพรรครัฐบาล จะต้องมีการตรวจสอบหรือไม่ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของพรรค เรามั่นใจว่าผู้แทนราษฎรที่ดีก็คือผู้แทนราษฎรที่ดี เรื่องนี้ไม่สามารถมีใครไปบังคับใจกันได้ พรรคมีหน้าที่ต้องเตรียมทุกทางออกให้กับสมาชิก

ย้ำถึงข่าว สส.ไปพบ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  นายชัยธวัชกล่าวว่า ตนว่าต้องตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าพรรคไหน

 “ถ้าเรายังยอมรับวิธีการทำงานการเมืองแบบนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่เป็นปัญหาของพรรคก้าวไกล เป็นปัญหาของวิธีการการเมืองแบบเดิมๆ ซึ่งควรจะหมดไปได้แล้ว รวมถึงการคิดว่าจะเอาชนะกันทางการเมืองด้วยการยุบพรรคการเมือง ผมเป็นบทเรียนสังคมแล้วว่ามันไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่แย่ลง” นายชัยธวัชกล่าว เมื่อถามว่า การสกัดกั้นพรรคก้าวไกล มีพรรครัฐบาลเข้าไปร่วมด้วย มองแบบนั้นหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ไม่ทราบ อาจจะเป็นเรื่องกระแสข่าว ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ

หนูอุบอ้าแขนรับ สส.ส้ม

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)  กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวหากยุบพรรคก้าวไกลแล้วจะลามมาถึงการยุบพรรคภูมิใจไทยเพื่อรีเซตการเมืองว่า เรื่องยุบพรรคการเมืองไม่มีนักการเมืองคนไหนเห็นชอบ เห็นด้วย หรือดีใจ ในส่วนของความเป็นพรรคการเมืองด้วยกันก็ต้องให้กำลังใจสมาชิกพรรคก้าวไกล แต่เรื่องของกฎหมายก็มีกระบวนการและขั้นตอนอยู่

"เรื่องจะลามมาถึงยุบพรรคภูมิใจไทยนั้น ไม่ใช่โดมิโน การที่จะยุบพรรคการเมืองได้ พรรคนั้นต้องกระทำผิดระเบียบ ขั้นตอนรัฐธรรมนูญ ถ้าไปถามคนของพรรคนั้นๆ ก็ต้องบอกว่าเขาไม่ผิด จึงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือ กกต.ที่ต้องพิจารณาตามกฎหมาย พรรค ภท.เชื่อมั่นและน้อมรับกระบวนการยุติธรรม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าผิดก็คือผิด  ถ้าสมมุติว่าเกิดมีความสงสัยตรงไหนเราก็ต้องชี้แจง หากชี้แจงได้ก็ไม่ผิด ชี้แจงไม่ได้ก็ผิด” นายอนุทินกล่าว

ถามว่า พรรค ภท.เตรียมตัวอย่างไรหลังมีคนไปยื่นยุบพรรค นายอนุทินกล่าวว่า มีการมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกฯ ดูแลเรื่องนี้อยู่ เราก็ไม่ได้ประมาท ส่วนจะมีการตั้งพรรคสำรองหรือไม่นั้น เรายังไม่คิดไกลถึงขนาดนั้น

ซักว่า หากสมมุติพรรคก้าวไกลถูกยุบจริง จะมีกระบวนการหนูเปล่านะเขามาเองอีกหรือไม่ หัวหน้าพรรค ภท.กล่าวว่า รอให้ถึงวันนั้นก่อนดีกว่า เราไปพูดก่อนก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร และเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาลด้วย

ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์เฟซบุ๊กกรณีเลวร้ายสุด (Worst case scenario) เมื่อ กกต.ส่งคำร้องยุบพรรคก้าวไกลว่า 1.ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะใช้เวลาในการวินิจฉัยไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากแทบไม่ต้องไต่สวนใหม่ แต่อาจมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเพิ่มเติมได้ 2.คำร้องยุบพรรค เป็นการยุบจากกรณีพรรคการเมืองกระทำความผิด มาตรา 92 (1) และ (2) ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง กระทำการล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ซึ่งนอกจากยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารพรรคมีโทษถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตด้วย

3.กรรมการบริหารที่ถูกตัดสิทธิ คือ กรรมการบริหารตามข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 20 ที่มีตำแหน่ง หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิกพรรค และกรรมการบริหารพรรคอื่นๆ รวม 10 คน (ไม่มีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค) 4.ส่วนกรณี 44 สส. ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข ม.112 นั้น ไม่เกี่ยวกับกรณียุบพรรค แต่เป็นการร้อง ป.ป.ช. กรณีผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) ซึ่งหาก ป.ป.ช.ลงมติว่าผิด ต้องส่งศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย หากศาลประทับรับฟ้อง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากศาลว่าผิด มีโทษตามมาตรา 235 วรรคสาม ให้พ้นจากตำแหน่ง สส. ตั้งแต่วันยุติปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และอาจจะพ่วงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้   และ 5.ขั้นตอนในขั้น ป.ป.ช. ถึงจบศาลฎีกา น่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี และไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะอยู่พรรคใหม่ใด ถ้าผิดก็ถือว่าผิดครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง