เอกฉันท์ยุบก้าวไกล กกต.ชี้หลักฐานมัดล้มล้างปกครอง/ไอติมรับมีพรรคสำรอง

กกต.มีมติเอกฉันท์สั่งยุบ "พรรคก้าวไกล" ชี้มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่ากระทำการล้มล้างการปกครองฯ คาดใช้เวลายกร่างคำร้องส่งศาล รธน.เร็วสุด 2  วัน ช้าสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์ เหตุไม่มีข้อกฎหมายซับซ้อน อิงตามคำวินิจฉัย "พิธา-ชัยธวัช-หมออ๋อง" ระทึก! ส่อโดนตัดสิทธิ์ 10 ปี “พริษฐ์” ขออย่าด่วนสรุปผลลัพธ์ เผยทีม กม.ทำเต็มที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ลั่นเตรียมรับมือทุกฉากทัศน์ ต้องมี “ยานพาหนะ” ขับเคลื่อนต่อ ยันไม่อยากให้ยุบพรรคกลายเป็นค่านิยมทางการเมือง ป.ป.ช.เร่งสอบจริยธรรม 44 สส.

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม สำนักงาน​คณะกรรมการ​การเลือกตั้ง ​(กกต.) ​ออกเอกสารข่าวว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..... กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญนั้น

ในวันนี้ (12 มี.ค.67) สำนักงาน​ กกต.ได้เสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อคณะกรรมการ กกต. โดยเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92  วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

คณะกรรมการ​ กกต.ได้พิจารณาผลการศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มีมติโดยเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยมอบหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนคณะกรรมการ กกต. ตามมาตรา 93 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน

รายงานข่าวแจ้งว่า กระบวนการหลังจากนี้ ทางสำนักกฎหมายและคดีของสำนักงาน กกต. จะต้องดำเนินการยกร่างคำร้องเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ  พร้อมแนบหลักฐานโดยเฉพาะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเอกสารประกอบคำร้อง ทั้งนี้ ตามมาตรา 93  ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้ แต่เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อที่ประชุม กกต. และที่ประชุมมีมติเรียบร้อยแล้วนั้น ตามกระบวนการต้องดำเนินการโดยเร็ว อีกทั้งคดีนี้ไม่มีข้อกฎหมายซับซ้อน เนื่องจากเป็นการพิจารณาผลการศึกษาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เมื่อยกร่างคำร้องเสร็จสิ้นก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ทันที คาดว่าเร็วสุดจะใช้เวลายกร่างคำร้องไม่เกิน 2 วัน หรือไม่ช้าไปกว่า 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคต่อไป

'พิธา' ส่อโดนตัดสิทธิ์ 10 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในช่วงที่เกิดเหตุตามคำร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ คือช่วงที่ สส.พรรคก้าวไกลร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 และช่วงที่พรรคก้าวไกลนำเรื่องมาตรา 112 ไปหาเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมาปี 2566 พบว่า เป็นกรรมการบริหารพรรคในยุคที่ขึ้นมาทำหน้าที่กรรมการบริหารพรรค ตามมติที่ประชุมใหญ่พรรคเมื่อ 14 มี.ค.2563 ที่เป็นการประชุมหลัง พรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค และมีการย้าย สส.มาที่พรรคก้าวไกล

วันดังกล่าว มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ผลการประชุมออกมาดังนี้ กรรมการบริหาร 10 คน ได้แก่ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 2.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค 3.นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรค ประกอบด้วย  5.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา (ปัจจุบันลาออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกล ไปอยู่พรรคเป็นธรรม เพื่อรักษาเก้าอี้รองประธานสภาฯ )  6.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร  7.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 8.นางสาวเบญจา แสงจันทร์ 9.นายอภิชาติ ศิริสุนทร 10.นายสุเทพ อู่อ้น

โดยจะพบว่า มีกรรมการบริหารพรรคที่เป็น สส.ในปัจจุบัน 6 คน โดยทั้งหมดล้วนเป็น สส.บัญชีรายชื่อ คือ นายพิธา นายชัยธวัช นายสมชาย ฝั่งชลจิตร นายอภิชาติ ศิริสุนทร ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรค นางสาวบญจา นายสุเทพ ซึ่งหากพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค แล้วศาลรัฐธรรมนูญสั่งตัดสิทธิการเมืองสิบปี ทั้งสิบคนจะโดนด้วย รวมถึงตัวนายปดิพัทธ์ รองประธานสภาฯ อย่างไรก็ตาม วันดังกล่าวนายพิธายังได้มีการเสนอชื่อตามข้อบังคับของพรรค เพื่อแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรค 4 คน ประกอบไปด้วย 1.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ  2.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 3.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม และ 4.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล และแต่งตั้งคณะโฆษกพรรค 4 คน ได้แก่ 1.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 2.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ 3.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา และ 4.ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 

ขณะที่นายชัยธวัช ในฐานะเลขาธิการพรรค เสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งรองเลขาธิการพรรค 11 คน ประกอบไปด้วย 1.น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน 2.นายเอกภพ เพียรพิเศษ (แต่ต่อมาย้ายสังกัดพรรคภูมิใจไทยและลงสมัคร สส.เชียงราย ในการเลือกตั้งปี 2566 แต่สอบตก) 3.น.ส.วรรณวลี ตะล่อมสิน 4.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 5.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 6.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ 7.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน 8.นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ (ต่อมาช่วงเลือกตั้งย้ายไปพรรคเพื่อไทย)  9.นายคำพอง เทพาคำ 10.นายรังสิมันต์ โรม และ 11.นายธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์

ทั้งนี้ พบว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2563 มีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองเรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ที่ลงชื่อโดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่ประกาศรับรองรายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลชุดแรก ได้ประกาศรับรองเฉพาะ 10 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคเท่านั้น ไม่ได้มีการประกาศรับรองรายชื่อ กรรมการบริหารพรรคที่เสนอโดยนายพิธาและนายชัยธวัช ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าหากพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค อาจมีเพียง 10 คน ที่ถูกตัดสิทธิ์การเมือง ทำให้บางคนเช่น น.ส.ศิริกัญญา อาจรอดจากคดียุบพรรค และถูกคาดหมายว่าจะถูกดันเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ กับพรรคใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาหากก้าวไกลโดนยุบพรรค 

เตรียมรับมือทุกฉากทัศน์

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า  พรรคก้าวไกลและทีมกฎหมายได้เตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ ไม่อยากให้ด่วนสรุปว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ทีมกฎหมายจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องไม่ให้เกิดการยุบพรรค และการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ประเด็นนี้ไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่ชะตากรรมและอนาคตของพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพยายามพิสูจน์ ว่าสิ่งที่พรรคทำไปไม่ใช่สิ่งที่ผิด หากเราทำได้จะสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องสำหรับการเมืองไทยในอนาคต

"ทางพรรคเองเข้าใจดี การถูกยุบพรรคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งกับหลายพรรค เราไม่อยากให้พรรคการเมืองถูกยุบเป็นเรื่องปกติ ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเป็นพรรคที่มีคดีถูกยุบพรรคอยู่ อย่างกรณีพรรคภูมิใจไทยที่สังคมความสนใจอยู่ แม้จะมี สส.พรรคก้าวไกลเป็นผู้เปิดโปง เรื่องของการทุจริตที่เกิดขึ้นกับบริหารพรรค แต่บทลงโทษที่เหมาะสมคงไม่ใช่การยุบพรรค ควรลงโทษที่ผู้บริหารพรรค"

เมื่อถามว่า มีการสร้างพรรคสำรองไว้หรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า เรามีการรับมือ และวางแผนทุกฉากทัศน์อยู่แล้ว แต่อย่าเพิ่งด่วนพูดถึงสิ่งที่อาจจะยังไม่เกิดขึ้น ตอนนี้ทำเต็มที่ในการพิสูจน์ความจริงเท่าที่จะทำได้ จนถึงวันที่จะเกิดการวินิจฉัยคำตัดสินออกมา สส.และทีมงานของพรรคก็ยังทำงานเต็มที่ในการผลักดันกฎหมายความเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎร แต่ทางผู้บริหารพรรคได้เตรียมการรับมือทุกสถานการณ์หรือไม่นั้น ก็ต้องตอบว่ามีแน่นอน

"ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกความคิด ทุกนโยบายที่เราพยายามจะผลักดัน เราก็ต้องมียานพาหนะที่ขับเคลื่อนชุดความคิดต่อไปในการเมืองไทยแน่นอน ไม่อยากให้เราด่วนสรุปว่าจะถูกยุบ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยศาลออกมา แต่สำคัญกว่านั้น ก็ไม่อยากให้เราตั้งค่านิยม การยุบพรรคเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะพรรคใดก็ตาม"

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ลูกพรรคจะเสียขวัญ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีเหตุการณ์ยุบพรรค ก็มีสถานการณ์ผึ้งแตกรัง นายพริษฐ์กล่าวว่า สิ่งที่เรากังวลมากกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อค่านิยมของการเมืองไทย ถ้าพูดถึงขวัญกำลังใจ หรือความทุ่มเทของสมาชิกพรรค คิดว่าเราเดินหน้าต่อเต็มที่อยู่แล้ว

ถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจะจับมือกันแน่นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. มี 2 อย่างที่เราเห็นตรงกัน คืออยากเปลี่ยนแปลงสังคม และสภาวะนิติสงครามไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งแม้เราจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้เกินจินตนาการ มั่นใจว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างมีเอกภาพ

ถามอีกว่า ในช่วงที่มีความอ่อนไหว จะไม่มี สส.ย้ายพรรคใช่หรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า มั่นใจว่าทุกคนที่มาสมัครเข้าพรรคถูกกลั่นกรองโดยคณะกรรมการสรรหา มีชุดความคิดตรงกัน และมีเอกภาพในการขับเคลื่อนชุดความคิดให้เป็นจริง

"ไม่เสียสมาธิแน่นอน ตั้งแต่เริ่มทำงานสภาชุดนี้มา พรรคก็เดินคู่ขนานอยู่แล้วทีมกฎหมาย ก็ทำเต็มที่ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ส่วน สส.ก็ทำงานในสภา โดยเดินหน้าต่ออย่างไม่เสียสมาธิ ยังเข้มข้นเหมือนเดิม เราก็ทำงานท่ามกลางความเสี่ยงที่เรารับรู้เรื่องนี้มาโดยตลอด ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้เสียสมาธิ" นายพริษฐ์กล่าว

วันเดียวกัน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ และนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร เคยยื่นร้องเรียนกับ ป.ป.ช.ให้สอบจริยธรรม สส. 44 คนของพรรคก้าวไกล กรณีเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ถึงแม้จะมีคำวินิจฉัยของศาลมาแล้ว แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาชี้แจงในการกระทำ ซึ่งกรอบระยะเวลาได้กำหนดไว้ 180 วันนับจากได้รับเรื่องร้องเรียน แต่อย่าลืมว่าเราต้องตรวจสอบถึง 44 คน ก็ต้องใช้เวลา แต่จะเร่งให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลาดังกล่าว ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง