อย่ามองทับซ้อนอำนาจ‘อิ๊งค์’

นายกฯ หารือบริษัทชั้นนำภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นฝรั่งเศส เตรียมดึงลงทุนในไทย ยกผ้าไหมไทยและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ฟุ้งต่อยอด "ผ้าขาวม้า"  ขายต่างประเทศผืนละ 1 พัน ดึงการแข่งรถยนต์ไฟฟ้ามาจัดในไทย ขออย่ามองทับซ้อนอำนาจ “อิ๊งค์” เป็นการช่วยกันทำงาน ย้ำเดินทางต่างประเทศช่วยแก้วิกฤต ดึงนักลงทุนเข้าไทย

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม เวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส) ณ ร้าน Dior สาขา Avenue Montaigne  สถานที่ก่อตั้งห้องเสื้อ Christian Dior เมื่อปี 2849 (ค.ศ.  1946) นาย Bernard Arnault, Chairman and CEO of LVMH Group ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของโลกในภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและสินค้าลักชัวรี ได้พบหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยนายกฯ เน้นย้ำว่า ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการลงทุน และเดินหน้าเพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตที่สูงขึ้นและความยั่งยืนในภาคส่วนสำคัญต่างๆ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับโลก สร้างซอฟต์พาวเวอร์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งไทยมีความภาคภูมิใจในมรดกทางงานฝีมืออันยาวนาน เช่น ผ้าไหมไทยและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทั้งความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีเทคนิคที่ซับซ้อน

นายกฯ กล่าวโดยเชื่อมั่นว่า งานฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณนี้จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย จึงอยากจะเชิญชวนกลุ่ม LVMH  ร่วมกับประเทศไทย ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเสริมสร้างเทคนิค และพัฒนาผ้าไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น โดยไทยพร้อมต้อนรับนักออกแบบและทีมงานสร้างสรรค์จาก LVMH เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือที่เป็นไปได้กับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องต่อไป

ต่อจากนั้นเวลา 10.00 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงปารีส)  ณ ห้อง Chaillot ชั้น 1 โรงแรม PrincedeGalles นาย Jean-Marc Duplaix, Deputy CEO บริษัท Kering ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจสินค้าประเภทแฟชั่นและสินค้าลักชัวรี รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ได้เข้าพบนายเศรษฐาโดยหารือกันในประเด็นขยายความร่วมมือ

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า บริษัทได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย เช่น Gucci และ Bottega ถือได้ว่ามียอดขายอันดับต้นๆ ในไทย โดยนายกฯ กล่าวว่า ปีหน้าจะเป็นปียิ่งใหญ่ของการท่องเที่ยวไทย หากบริษัทพิจารณาเปิดสาขาเพิ่มจะเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ด้านบริษัทรับทราบด้วยความยินดี และกล่าวชื่นชมว่า ลูกค้าชาวไทยเป็นลูกค้าคุณภาพ และขอบคุณที่ไทยให้ความสนใจ ทั้งนี้ บริษัทมีความสนใจร่วมมือกับไทยในเรื่องการเพิ่มปริมาณสินค้าที่ส่งขายในประเทศไทย และธุรกิจ Luxury Cruise

นอกจากนี้ นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศสู่การเติบโตที่สูงขึ้น และความยั่งยืนในภาคส่วนสำคัญต่างๆ พร้อมกับเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวเชิญชวนบริษัท Kering ร่วมมือกับไทยเปิด Regional Office ที่ประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยจะแก้ไขประเด็นอุปสรรคทางการค้า เช่น มาตรการภาษี สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ  (Ease of doing business)

วันเดียวกัน นายเศรษฐาโพสต์เฟซบุ๊ก “เศรษฐา ทวีสิน-Srettha Thavisin” ระบุว่า "มาฝรั่งเศสเมืองแห่งแฟชั่น ผมตั้งใจเอาผลิตภัณฑ์กระจูดของดีขึ้นชื่อจังหวัดนราธิวาส และผ้าขาวม้า จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นสินค้าท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นและเอกลักษณ์มาด้วย

ผ้าขาวม้าคือเครื่องหมายของการผูกมิตร มีความเป็นสากล และ muti-color ถ้าเราต่อยอดและขยายตลาดในต่างประเทศได้ ในอนาคตข้างหน้าผ้าขาวม้า ผืนละ 50 บาทอาจจะยกระดับราคาให้เป็น 1,000 บาทได้ และนั่นคือการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยครับ"

จากนั้นนายเศรษฐายังได้โพสต์อีกข้อความระบุว่า "ผมเดินทางมาพบกับ Mr. Jean Todt นักแข่งรถระดับโลก  อดีตผู้บริหาร Ferrari และประธาน FIA ที่บ้านพักชานกรุงปารีส เพื่อพูดคุยถึงวงการแข่งรถยนต์​ รวมถึงการต่อยอดเรื่องนำเอา Formula E ซึ่งเป็นการแข่งรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจัดในประเทศไทยครับ

ทาง Mr.Todt สนใจถึงความร่วมมือดังกล่าว และพร้อมสนับสนุนการจัดการแข่งขัน นอกจากนี้เรายังได้พูดคุยกันถึงโครงการ Road Safety ที่ได้รับการสนับสนุนจาก UN เพื่อลดอุบัติเหตุจากการใช้รถ ซึ่งทำได้โดยการสวมหมวกนิรภัย และถือเป็นโครงการที่ดี โดยมีต้นแบบการผลิตหมวกนิรภัยให้มีราคาที่ต่ำกว่า 700 บาท เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงได้ด้วย ซึ่งผมชวน Mr.Todt เข้ามาร่วมทำกิจกรรมนี้ในเมืองไทยร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อสร้างความปลอดภัยในที่สาธารณะ (Public Safety) ด้วยครับ"

 ทั้งนี้ นายเศรษฐากล่าวถึงกรณีมีเสียงจากสื่อวิพากษ์วิจารณ์ว่า มาต่างประเทศจะแก้วิกฤตประเทศได้อย่างไรว่า  การที่ตนเดินทางมาต่างประเทศก็ถือเป็นการแก้วิกฤตอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเซ็นสัญญา  FTA ซึ่งในอดีตไม่ได้ทำ การดึงนักลงทุนไปลงทุนในประเทศ ในอดีตก็ไม่มีการทำ ซึ่งถือเป็นการแก้วิกฤตในระยะกลางและระยะยาวอยู่แล้ว ถ้าเกิดมีนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีการจ้างงานที่มากขึ้น  เชื่อว่าจะเป็นจุดหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤต

เมื่อถามว่า กังวลต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกมาเรื่อยๆ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ส่วนตัวกังวลทุกเรื่อง และรับฟังทุกเรื่องกับทุกสื่อที่ให้คอมเมนต์มา หากทำได้ก็จะปรับปรุงตัวเองและปรับปรุงวิธีการทำงานของตัวเอง

เมื่อถามว่า การร่วมคณะของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ถูกมองว่าเป็นภาพทับซ้อนของอำนาจ นายเศรษฐากล่าวว่า ขอให้ดูว่าเป็นการช่วยกันทำงานมากกว่า เพราะนางสาวแพทองธารเป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ฯ ซึ่งตนมาเจอบริษัทใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ เกี่ยวกับเรื่องแฟชั่น  เกี่ยวกับเรื่องดีไซน์และอีเวนต์ ว่าจะสามารถเอาสินค้าอะไรเข้าไปได้บ้าง

 “ขออย่าคิดว่าเป็นการทับซ้อนอำนาจหรือไม่เลย มองว่าเป็นการช่วยกันทำงานมากกว่า เพราะทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤต ทำคนเดียวอาจจะไม่ไหว ต้องมีคนช่วยทำด้วย ส่วนตัวไม่ได้ติดอะไรตรงนี้” นายเศรษฐากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง