สธ.ลั่นกฎกระทรวงถูกกม. 5เม็ดไม่บำบัดต้องติดคุก

“สมศักดิ์” ถก กก.บำบัดผู้ติดยาเสพติด สั่ง ขยาย “CBTx ชุมชนล้อมรักษ์" ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  หวังช่วยบำบัดผู้ป่วยกลุ่มใหญ่สุด เผยปี 67 มีผู้ป่วยยาเสพติดสะสม 4.6 หมื่นคน รับการบำบัดเป็นปลายน้ำ ต้องเร่งแก้ต้นน้ำ "ชลน่าน” ยันกฎกระทรวงกำหนดยาบ้า 5 เม็ด เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมาย ผู้เสพเป็นผู้ป่วยมีเงื่อนไขชัดเจน หากไม่บำบัดก็ติดคุก โต้ “ผู้การแต้ม” รธน.ใหม่ถอดถอน สส.ไม่ได้

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 11 มีนาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายวิชัย ไชยมงคล  ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการเข้าร่วม

โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลมีความต้องการที่จะทำให้ยาเสพติดพ้นไปจากประเทศไทย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน ส่วนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการชุดนี้ ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดนั้นเป็นปลายน้ำ โดยต้นน้ำคือการปราบปรามผู้ผลิตยาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าไม่ได้จัดการกับผู้ผลิตอย่างจริงจัง ในขณะที่สังคมโลกก็จับตาว่าไทยจะดำเนินการอย่างไร เพราะแหล่งผลิตยาเสพติดอยู่ติดกับไทย

 “คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ชะลอให้มีผู้ติดยาเสพติดน้อยลง พร้อมช่วยดูแลไม่ให้มีผู้ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยบูรณาการกับหน่วยงานที่ทำต้นน้ำ ทั้งการปราบปรามและยึดอายัดทรัพย์ โดยสถานการณ์ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดก็เริ่มมีจำนวนมาก ซึ่งในปี 2566 มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวม 195,604 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยสีแดง 12,614 คน  ผู้ป่วยสีส้ม 5,089 คน ผู้ป่วยสีเหลือง 3,269 คน และผู้ป่วยสีเขียว 174,632 คน ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ช่วง 26 ก.พ.-3 มี.ค. 67 มีจำนวน 532 คน ทำให้มีผู้ป่วยสะสมในปี 2567  แล้วจำนวน 46,566 คน โดยกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นสีเขียว จำนวนถึง 36,825 คน" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า การบำบัดผู้ป่วยสีเขียวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยขณะนี้ได้ใช้ระบบ CBTx ชุมชนล้อมรักษ์  คือการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว ที่เป็นผู้ป่วยยาเสพติดอย่างเดียว ไม่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งตนมองว่าควรมีทุกอำเภอ จากขณะนี้เริ่มต้นประมาณ 200 อำเภอ 31 จังหวัด แต่ด้วยสถานการณ์ผู้ป่วยสีเขียวก็ควรขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนการบำบัดผู้ป่วยสีแดง คือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยและกำลังแสดงอาการอาละวาดคลุ้มคลั่ง ก็ควรมีการรองรับได้ทั่วประเทศด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้มากขึ้น

ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวถึงความคืบหน้าการตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ว่า สำหรับมินิธัญญารักษ์ หรือสถานบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน จะเป็นการทำงานร่วมกับชุมชน ขณะนี้มีเกือบ 160 แห่งแล้ว โดยจะมุ่งรักษาผู้ป่วยระยะเฉียบพลัน เป็นกึ่งเฉียบพลันหรือระยะยาว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกฎกระทรวงกำหนดปริมาณการถือครองยาบ้า 5 เม็ด หากสมัครใจต้องบำบัดรักษาตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งมีผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา 

เมื่อถามว่า แสดงว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของการบำบัดรักษาผู้เสพยาที่สมัครใจนั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎกระทรวงที่กำหนดปริมาณยาบ้า 5 เม็ดใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่าถูกต้อง เพราะหากเปิดโอกาสให้คนถือครองไม่เกินกำหนด ซึ่งไม่มีพฤติกรรมการขายได้เข้าสู่การบำบัดแล้ว หรือไม่เสพต่อ และให้เขาคืนสู่สังคมด้วยการดำเนินงานผ่าน “ชุมชนล้อมรักษ์”  ซึ่งตนเพิ่งจะลงพื้นที่ไปที่อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล พบว่ามีผู้เข้ารับการบำบัดรักษา 37 คน โดยมีผู้ผ่านบำบัดและได้รับการรับรองแล้ว 5 คน และมี 2 ใน 5 ยืนยันกับเราว่าตั้งใจแล้วจะไม่กลับไปเสพซ้ำ และจะตั้งใจทำงานตามที่ฝึกมา

เมื่อถามถึงกรณี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือผู้การแต้ม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณ โดยเห็นว่ากฎกระทรวงดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจะยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) เพื่อขอให้ถอดถอนความเป็น รมว.สาธารณสุข  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตนไม่ได้กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เราก็พิสูจน์ในสิ่งที่เราทำนั้นอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ไว้ และกระบวนการออกกฎกระทรวงก็ทำตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจในการออกประกาศฉบับนี้

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ในการที่จะถอดถอนนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีอำนาจในการถอดถอน สส. อย่างไรก็ตาม ตนยินดีที่จะเข้าไปชี้แจง อย่างเช่นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่รับข้อมูลไว้ หากนัดหมายมาเมื่อไหร่เราก็พร้อมเข้าไปให้ข้อมูล ตอบข้อชี้แจงข้อกล่าวหา โดยเฉพาะประเด็นที่บอกว่าไปออกกฎกระทรวงขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย คนครอบครองติดคุก คนเสพเท่านั้นถึงจะได้รับการบำบัดรักษา

"แต่กฎหมายฉบับนี้คำว่าคนเสพที่ได้รับการบำบัดรักษา หมายถึงผู้ถือครองในปริมาณเล็กน้อยตามที่กฎหมายกำหนดถึงจะได้เข้ารับการบำบัดรักษา นี่คือสิ่งที่เราจะชี้แจงทำความเข้าใจได้ ยืนยันว่าเราไม่ได้อนุญาตให้ถือครอง แต่ให้โอกาสในการเข้าสู่การบำบัด หากไม่เข้ารับการบำบัดจะต้องติดคุก มีความผิด แต่หากสมัครใจก็รับบำบัด เมื่อบำบัดครบได้หนังสือรับรองถึงจะไม่มีความผิด" นพ.ชลน่านกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ที่ยังมีคนไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายอีกจำนวนมาก นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายยาเสพติด ในการแยกผู้เสพเป็นป่วยเพื่อตัดวงจรการค้ารายย่อย ซึ่งมีข้อมูลว่ามีผู้เสพที่ยังอยู่ใน 1.9 ล้านคน ซึ่งเราก็ให้โอกาสเข้าบำบัด ไม่ถูกตีตราเป็นคดีเมื่อสมัครใจเข้ารับการบำบัดครบ เราต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้เข้าใจ

 “คนที่เจตนาบิดเบือนเพื่อหวังผลประโยชน์อื่น เราก็ต้องพยายามต่อสู้ให้เขาเหล่านั้นกลับมาเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง เห็นแก่ลูกหลานเยาวชนที่เราต้องแก้ปัญหาและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะสื่อมวลชนการสื่อสาร หากสื่อสารโดยการพูดครึ่งเดียวก็จะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้” นพ.ชลน่านกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง