บีบศาลปล่อย3นิ้ว ม็อบแต่งดำช่วย‘ตะวัน-แฟรงค์’หยุดขังไม่มีเงื่อนไข

กรุงเทพฯ ๐ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองนัดแต่งดำ-ถือดอกทานตะวัน-ผูกริบบิ้นขาว พร้อมยืนหยุดขัง 1.12 ชั่วโมง  บีบศาลอาญาปล่อย “ตะวัน-แฟรงค์”   โดยไม่มีเงื่อนไข ประชาธิปัตย์-รวมไทยสร้างชาติย้ำจุดยืน ไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริต-ม.112 "หมอวรงค์" ลากไส้ก้าวไกล หวังใช้สภาด่าศาลรัฐธรรมนูญ  เตือนระวังละเมิดอำนาจศาล

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นางพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และทนายความสิทธิมนุษยชน, นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ, น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม สองนักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมมวลชนบางส่วน ร่วมทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการสวมใส่เสื้อดำ ถือดอกทานตะวัน ผูกริบบิ้นขาว เข้ายื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาไม่รับฝากขังในครั้งต่อไปอีก หากมีใครมายื่นคำร้อง เพราะไม่มีความจำเป็นและเป็นการคุมขังเกินความจำเป็น ไม่เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในคดีของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ สองผู้ต้องหาในความผิดตามมาตรา 116

โดยนางพรเพ็ญระบุว่า การออกมาเคลื่อนไหวในวันนี้ เพื่อขอให้ศาลทบทวนคำสั่งเมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) ที่อนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้นเสนอให้มีการขยายฝากขังเป็นครั้งที่ 3 เป็นเวลาอีก 12 วัน โดยบทบาทของตุลาการสามารถเข้าแทรกแซงและอำนวยความยุติธรรมในคำสั่งได้ทันที   เรามีความเชื่อมั่นว่าแม้กระทั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเขียนระบุในคำขอฝากขังว่า บุคคลทั้ง 2 ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 116 พนักงานสอบสวนมีการอ้างว่า มีเจตนาแสดงความผิด และคำฟ้องดังกล่าว ไม่สามารถยุ่งเหยิงพยานได้

โดยเหตุดังกล่าวนี้ เราเชื่อว่าศาลที่เป็นผู้พิพากษารับผิดชอบสำนวน และรับผิดชอบหน้าที่ในวันนี้ จะพิจารณาถึงความจำเป็นและเหตุผลทางกฎหมาย รวมทั้งทางมนุษยธรรม ว่าการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขประกันตัวเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังมีความหวังกับระบบตุลาการได้ โดยเฉพาะในคดีนี้  และผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนเป็นเพียงเยาวชนที่ร่วมกันแสดงอารยะขัดขืนในการอดอาหารด้วยความสงบ ไม่สามารถทำร้ายใคร ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมด้วยวิธีการใดๆ ดังนั้นเหตุและผลที่เราต้องการนำเสนอคือ ข้อเท็จจริงกฎหมาย และมนุษยธรรม ซึ่งผู้พิพากษาซึ่งเป็นนักกฎหมายด้วยกัน สามารถพิจารณาเนื้อหาสาระได้อย่างมีความเป็นธรรม  เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบตุลาการต่อไป

ด้าน น.ส.อรวรรณระบุว่า ผู้หญิงในสังคมนี้เข้มแข็งและอดทนกันมาก พลังผู้หญิงสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมเป็นอย่างมาก ตนอยากจะพูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรม อยากให้ทุกคนในประเทศนี้ได้รับความยุติธรรม สำหรับตะวันและแฟรงค์ ที่ทำทุกวันนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการทำเพื่อไม่อยากให้ใครมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้  เพราะกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวทำร้ายประชาชนและเยาวชนในประเทศนี้ เราควรจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าเร็วหรือช้า จะต้องทำให้ได้ เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกอย่างมาก และประเทศไทยไม่สมควรที่จะได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพราะทุกวันนี้ยังมีผู้ต้องขังและคนถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นมากขึ้น และประชาชนที่ถูกปิดปากมากขึ้นทุกวัน ทั้งที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น

หิวความยุติธรรมมากกว่า

ทั้งนี้ กฎหมายให้ศาลพิจารณาความสมควรของการฝากขังเพื่อกลั่นกรองให้เกิดความยุติธรรม ไม่ใช่รับฝากขังทุกครั้ง เราจึงยอมให้อำนาจตำรวจในการตัดสินใจเอง และศาลไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับตำรวจทุกครั้ง และตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังบิดเบี้ยว ทุกคนสามารถเจอเรื่องแบบนี้ได้ทุกคดี

“ขอเป็นกำลังใจให้กับนักกิจกรรมที่เผชิญกับความยากลำบากในการอดอาหาร สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมยังบิดเบี้ยว ทุกคนในสังคมบอกว่า "แค่ให้น้องกินอาหารกินน้ำ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" แต่สำหรับพวกเขาเหล่านี้มองว่าหิวความยุติธรรมมากกว่า นอกจากนี้ตนขอย้ำ 3 ข้อเรียกร้องคือ ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่าง ประเทศไทยไม่ควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และหลังจากนี้เราจะมีกิจกรรมยืนหยุดขัง 1.12 ชั่วโมง

สำหรับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์  มวลชนได้สวมใส่ชุดดำ เปรียบเหมือนการไว้อาลัยให้กับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย และเป็นความหม่นหมองเศร้าโศกของประชาชน ส่วนดอกทานตะวัน แสดงถึงพลังของตะวันและสิทธิสตรีที่เป็นแสงสว่างของประเทศ  โดยตะวันจะขึ้นทุกย่ำรุ่ง และจะตกในทุกเย็น แต่จะขึ้นใหม่ทุกครั้งทุกเช้า   เสมือนเป็นความหวังให้กับประชาชนในประเทศนี้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนายชูศักดิ์ ศิรินิล  ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาฯ ออกมาระบุถึงมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองที่จะนำมาพิจารณาในที่ประชุม กมธ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะเริ่มนับจากวันที่ 1 ม.ค.2548 และจะมีการตั้งอนุ กมธ.เพื่อเก็บสถิติทางคดีที่จะเกิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมืองว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการติดตามเรื่องดังกล่าวมาอย่างใกล้ชิด และสื่อสารผ่านตัวแทนพรรคที่ไปดำรงตำแหน่งเป็น กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าว ว่าพรรคไม่ติดใจเรื่องเงื่อนเวลาของการพิจารณา แต่เป็นห่วงในความไม่ชัดเจนของ กมธ. ว่าจะพิจารณาคดีทุจริตหลายคดีที่เกิดขึ้นไปในแนวทางใด เพราะพรรคไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมคดีทุจริตไว้ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาได้เคยมีความพยายามในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยรวมคดีทุจริตมาแล้ว

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า   หากกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังพิจารณาในชั้น กมธ.นี้ เป็นไปในแนวทางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเดิม ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยับเยิน และจะเป็นตัวปะทุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาอีกมาก

ยังไม่ชัดเจนกรณี ม.112

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่ง กมธ.ชุดนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนอีกเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็มีจุดยืนว่า จะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตราดังกล่าวด้วย เพราะทั้งคดีทุจริต และคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ไม่ใช่คดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง อันเป็นเหตุให้กระทำความผิด ส่วนคดีอื่นๆ ที่ กมธ. วิสามัญจะพิจารณานั้น พรรคก็จะได้ติดตามดูว่าเป็นคดีที่มีองค์ความผิด หรือฐานความผิดใดที่สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณา โดยไม่เอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง

“พรรคมีจุดยืนชัดเจนว่าจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริต และคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เพราะไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่เกิดจากกรณีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองที่จะต้องให้กระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว เพราะฉะนั้น 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พรรคจะติดตาม และแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ  สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้ข้อยุติเริ่มนับเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยจะเชิญทุกฝ่ายการเมืองที่มีคดีความจากการชุมนุมมาแสดงความคิดเห็นว่า ตนเห็นด้วย หากจะเริ่มนับ 1 ในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยเฉพาะความเห็นต่างทางการเมือง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ ซึ่งอาจจะต้องดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับแต่ละคดีประกอบอย่างละเอียด เพราะหลายเหตุการณ์ที่เกิดการชุมนุมทางการเมืองขึ้น ยอมรับว่าไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ มีการใช้อาวุธทำลายสิ่งของและสถานที่ราชการด้วย จึงต้องดูให้ละเอียดรอบคอบ เพราะเป็นคดีอาญา การเชิญตัวแทนกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ มาร่วมประชุมแสดงความเห็นถือเป็นนิมิตหมายที่ดีทางการเมือง

เขาย้ำว่า ขอสนับสนุน กมธ.นิรโทษกรรม ที่ยังไม่พิจารณาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ไม่ควรเหมารวมกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ รวมกับความเห็นต่างทางการเมือง และเชื่อว่าหากมีการรวมคนที่ทำผิดมาตรา 112 ให้รับการนิรโทษกรรม ตนเองและคนไทยทั้งชาติไม่มีใครยอมได้แน่นอน

ก้าวไกลละเมิดอำนาจศาล?

“ขอให้ กมธ.นิรโทษกรรมพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ ไม่ควรหยิบเอาคดีทำผิดหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์มาพิจารณารวมกับคดีการเมือง เพราะไม่เกี่ยวกัน แม้ว่าจะมีบางพรรค พยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นความเห็นต่างทางการเมืองก็ตาม ซึ่งความจริงแล้ว สถาบันฯ อยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นการสร้างชุดข้อมูล สร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ให้กับบางกลุ่มและประชาชน จึงจำเป็นที่ กมธ.นิรโทษกรรม จะต้องมีจุดยืนทางกฎหมาย หากมีการเหมารวมและยกโทษให้กับผู้กระทำความผิดมาตรา 112 เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศไม่มีใครยอมได้” นายธนกรระบุ

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า    ก้าวไกลจะละเมิดอำนาจศาล สภาจะละเมิดรัฐธรรมนูญ ตามที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อม สส.ของพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอญัตติด่วน ขอให้สภา ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หรือคดีลบล้างการปกครองของพรรคก้าวไกล

ความจริงทุกสิ่งที่พรรคก้าวไกลสงสัย มีคำตอบโดยละเอียดในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่จะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112

ที่สำคัญถ้าพรรคก้าวไกลคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินขอบเขต ประพฤติมิชอบ ก็สามารถใช้ช่องทางป.ป.ช. หรือช่องทางอื่นๆ ในการตรวจสอบได้

การที่เสนอเป็นญัตติเข้าสู่สภา แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ว่าจะใช้เวทีสภาด้อยค่า แก้ตัว ว่ากล่าวให้ร้ายศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลน่าจะรู้จักรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคท้ายนะ "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ"

ดังนั้นสิ่งที่พรรคก้าวไกลกำลังทำ   ท่านกำลังจะละเมิดอำนาจศาลหรือไม่  และขอเตือนไปยังประธานสภาฯ ว่า ถ้าท่านบรรจุระเบียบวาระนี้ เท่ากับสภากำลังจะละเมิดรัฐธรรมนูญด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป