ทักษิณเริ่มเคลื่อนไหว ไปอยู่เชียงใหม่14-16มี.ค. ช่วงเดียว‘เศรษฐา’ลงพื้นที่

จับตา! "ทักษิณ" บินไปอยู่เชียงใหม่ 14-16 มี.ค. พักในสนามกอล์ฟ  ทำบุญ-เคารพสถูปบรรจุอัฐิบรรพบุรุษ  ช่วงเดียวกับ "เศรษฐา" ลงพื้นที่ติดตามปัญหาฝุ่น PM 2.5 คาดช่วงเย็น 15 มี.ค.อาจได้พบกัน ก่อนไปประชุม ครม.สัญจร จ.พะเยา "ภูมิธรรม" บอกอย่าคิดไกลปวดหัว แค่คิดถึงบ้านเกิดอยากกลับ "เทพไท"  ชี้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ "ยิ่งลักษณ์" หน้าที่รัฐบาล "กมธ.นิรโทษกรรม" ขีดเส้นเริ่มนับคดีตั้งแต่ 1 ม.ค.2548-ปัจจุบัน  สัปดาห์หน้าเล็งเชิญ "สุริยะใส-ณัฐวุฒิ-ภัสราวลี-iLaw" แจงเหตุการณ์

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวกรณีนายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี บอก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) บุตรสาว ว่าอยากไปไหว้บรรพบุรุษที่บ้านเกิดจังหวัดเชียงใหม่นั้น ล่าสุด มีรายงานเบื้องต้นว่านายทักษิณมีกำหนดการเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ซึ่งในช่วงเช้าเวลาประมาณ 07.30 น. จะเดินทางไปสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ   ก่อน จากนั้นจะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ด้วยเครื่องบินส่วนตัว และเข้าพักที่บ้านพักในสนามกอล์ฟซัมมิท กรีน วัลเล่ย์ ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ส่วน น.ส.แพทองธารจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสมทบกันที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยตลอดวันที่ 14 มี.ค. นายทักษิณยังไม่มีภารกิจและยังไม่มีรายงานว่าจะมีบุคคลสำคัญเข้าพบ

จากนั้นช่วงเช้าวันที่ 15 มี.ค. นายทักษิณและครอบครัวจะเดินทางไปทำบุญและเคารพสถูปบรรจุอัฐิบรรพบุรุษตระกูลชินวัตร ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง ซึ่งมีกู่พ่อเลิศ ชินวัตร และนางยินดี ชินวัตร มารดา กู่พี่สาวและพี่ชาย พร้อมญาติผู้ใหญ่ในตระกูลชินวัตรที่ล่วงลับไปแล้ว

มีรายงานด้วยว่า ในช่วงที่นายทักษิณอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็มีกำหนดจะเดินทางไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเย็นวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งคาดการณ์กันว่าทั้ง 2 คนอาจได้พบกัน ก่อนที่นายทักษิณและครอบครัวจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 มี.ค.

"นายกฯ เศรษฐามีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการใน จ.เชียงใหม่ วันที่ 16 มี.ค. เพื่อติดตามปัญหาฝุ่น PM 2.5 จนถึงวันที่ 17 มี.ค. จากนั้นช่วงเช้าวันที่ 18 มี.ค. จะเดินทางไป จ.พะเยา เพื่อร่วมประชุม ครม.สัญจร" แหล่งข่าวระบุ

ที่รัฐสภา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว โดยได้ย้อนถามเมื่อถูกถามถึงกระแสข่าวที่นายทักษิณจะขออนุญาตออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ว่า “จะออกจากกรุงเทพฯ ไปทำอะไร”

ผู้สื่อข่าวจึงตอบกลับว่า "นายทักษิณอยากเดินทางกลับไปเยี่ยมบรรพบุรุษ"  นายภูมิธรรมจึงตอบว่า “อ๋อ ก็น่าเห็นใจนะ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ จากบ้านเมืองไปหลายสิบปี กลับมาก็คิดถึงพ่อแม่ แล้วจะทำอะไรได้ดีกว่าไปเยี่ยมสุสานของบรรพบุรุษ ถามว่าถ้าเป็นท่าน ท่านอยากไปหรือไม่ ท่านก็อยากไป ถ้าไปด้วยเรื่องนี้ไม่มีปัญหาหรอกครับ ก็เป็นสิทธิ์ของมนุษย์คนหนึ่ง ที่เมื่อกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองแล้ว ก็อยากใช้เวลากลับไปเยี่ยมบรรพบุรุษ เท่านั้นเอง อย่าไปคิดอะไรเยอะ"

ถามว่า นายทักษิณยังมีความนิยมอยู่  หากเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่อาจมีประชาชนไปรอรับ จะเกิดประเด็นทางการเมืองหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ท่านมุ่งมั่นจะไปบ้านเกิดท่าน ถ้าตนไปแล้วมีคนรักตนเขาก็มาเยี่ยม ถ้ามีคนเกลียดตนเขาก็ไม่อยากมา เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปคิดไกลขนาดนั้น มันปวดหัว

ส่วนนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม  กล่าวถึงกระแสข่าวมีการปูทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับไทยคล้ายๆ ทักษิณโมเดลว่า ไม่รู้ ยังไม่ใช่ คนเริ่มสร้างประเด็น ตนยังไม่รู้ประเด็นมันมาหลายทาง บางครั้งมีคนกุขึ้นมาก็ได้ ถ้ามาเองก็ต้องฟังจากปากท่าน

ถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงไม่กลับใช่หรือไม่ หรือเวลายังไม่ได้ นายสุทินกล่าวว่า ยังไม่รู้ เพราะยังไม่เคยคุยกับท่าน เดาใจท่านไม่ออก ท่านอาจจะอยากมาหรือไม่อยากมา ถ้าเจอท่านเดี๋ยวจะถามดู

ซักว่าอยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมาหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ตามใจท่าน คนไทยทุกคน เราก็รู้ว่าทุกคนอยากกลับบ้านทั้งนั้น เราเป็นชาวพุทธ ก็ไม่อยากให้ใครเป็นทุกข์ อยากให้พี่น้องทุกคนมีความสุขก็เหมือนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทยระบุไว้

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ยิ่งลักษณ์ ยังไม่มีสิทธิ์ ขออภัยโทษ" ระบุว่า ผมเห็นการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่มีคุณสมบัติในการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเลย ซึ่งหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นการเฉพาะราย มีดังนี้ 1.ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว 2.ถูกคุมขังรับโทษอยู่ในเรือนจำ 3.ยอมรับผิด และสำนึกผิดในการกระทำ 4.ถ้าอ้างเหตุเป็นผู้ป่วย มีปัญหาด้านสุขภาพ ต้องมีบันทึกความเห็นของแพทย์หรือจิตแพทย์ 5.สำเนาคำพิพากษาทุกชั้นศาลที่ปรากฏและรับรองสำเนาถูกต้องโดยจ่าศาล 6.เอกสารประกอบคุณงามความดีตามที่ได้อ้าง

ขออภัยโทษปูหน้าที่รัฐบาล

นายเทพไทระบุว่า สำหรับผู้มีสิทธิ์ยื่นคือ นักโทษ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง (เช่น บิดามารดา บุตร คู่สมรส) สามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ  ทัณฑสถาน กระทรวงยุติธรรม สำนักราชเลขาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต ทั้งนี้ ไม่ว่าจะยื่นผ่านหน่วยงานใด ก็จะต้องส่งเรื่องให้เรือนจำ/ทัณฑสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องโทษ ดำเนินการสอบสวนและรวบรวมเอกสารทุกกรณี  จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ

"ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนที่นักโทษทั่วไปปฏิบัติกัน แต่ถ้าเป็นนักโทษพิเศษ ที่มีอภิสิทธิ์ชน หรือเป็นนักโทษเทวดา ก็จะมีช่องทางพิเศษ เช่น กรณีของคุณทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการให้ ไม่ต้องผ่านเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น ส่วนตัวผมได้ขอพระราชทานอภัยโทษเช่นเดียวกัน ได้ยื่นไปตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2566 จนถึงวันนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด" นายเทพไทกล่าว

ช่วงท้ายนายเทพไทระบุว่า สำหรับกรณีของคุณยิ่งลักษณ์ ถ้าจะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษจริง รัฐบาลชุดนี้คงเป็นผู้ดำเนินการให้ทุกอย่าง และคงใช้เวลาไม่ต่างกับกรณีของคุณทักษิณแต่อย่างใด ขอให้คนไทยทั้งประเทศเฝ้าระวัง อย่าให้กระบวนการยุติธรรมไทยถูกย่ำยีเป็นครั้งที่ 2 นะครับ

ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุม กมธ.ว่า การประชุม กมธ.วันนี้มีมติว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการเชิญบุคคลที่ส่วนใหญ่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งเราจะจำเป็นต้องทราบว่าเขามีความจำเป็นอะไรที่ต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น มีการกระทำอะไร และคดีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ในการประชุมวันที่ 14 มี.ค.นี้ จะมีการเชิญบุคคลดังต่อไปนี้ 1.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายถาวร เสนเนียม อดีต ผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.),  น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชน, นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ประธาน กมธ.ศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวว่า  เรื่องกระบวนการพิจารณาของ กมธ.นั้น ได้ข้อยุติว่า จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อจำกัดขอบเขตหน้าที่ว่า จะพิจารณาเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงจะต้องดูว่าการกระทำในช่วงเวลานั้น มีการกระทำอะไรบ้าง มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เกิดขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจะเป็นตัวที่บ่งบอกว่า ทางการเมืองเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งได้มอบให้นายนิกร จำนง เลขาธิการ กมธ. เป็นผู้รวบรวมข้อมูล

"ในการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 14 มี.ค. จะเป็นการรับฟัง และในวันที่ 21 มี.ค. จะเป็นการพิจารณาข้อมูลในส่วนนี้ ส่วนกรณีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังไม่มีการพิจารณาในขณะนี้" ประธาน กมธ.ศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกล่าว

ด้านนายนิกร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือขอข้อมูลคดีทางการเมืองราว 50,000 คดี รวมถึงคดีที่เกิดขึ้นหลังปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันได้ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานศาลยุติธรรม และศาลทหารด้วย เพื่อนำข้อมูลมารวมกัน และจำแนกเหตุการณ์เพื่อตัดสินใจ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

นายนิกรกล่าวว่า อนุกรรมาธิการฯ จะรวบรวมคดีที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งเป็นศัพท์ทางเทคนิคที่ใช้ในหลายกรรมาธิการและหลายประเทศ ซึ่งเป็นคำที่สำคัญ พร้อมยกตัวอย่างว่า สมัย นปช. หรือกลุ่มพันธมิตรฯ มีแรงจูงใจที่ต่างกัน แต่ก็จัดเป็นแรงจูงใจทางการเมืองเหมือนกัน ซึ่งจะนำมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

"ตอนนี้จะยังไม่พิจารณาว่าคดีใดที่จะไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรม เพียงแต่ดูเหตุการณ์ทั้งหมดในแต่ละช่วงเวลา แล้วนิยามว่ามีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ โดยเอาเหตุการณ์เป็นตัวตั้ง โดยไม่เอาตัวบุคคลผู้กระทำเป็นตัวตั้ง" นายนิกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย