สปก.เขาใหญ่ ลั่นจบในศาล 2รมต.เท‘กมธ.’

ศึกที่ดิน "ส.ป.ก." เขาใหญ่  กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพย์ ยังไม่จบ 2 กมธ.สภาฯ เรียกผู้เกี่ยวข้องแจง "ธรรมนัส-พัชรวาท" ไม่ยอมมาให้ข้อมูล "ชัยวัฒน์" ย้ำปัญหาปมแผนที่ทหารจบในชั้นศาล "กฤษฎีกา" ชี้ ส.ป.ก.ออกเอกสารสิทธิได้เฉพาะในพื้นที่จำแนกออกจากป่าถาวรเท่านั้น "กมธ.ที่ดินฯ" มั่นใจมีขบวนการทุจริต

วันที่ 6 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการการที่ดิน  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอภิชาติ ศิริสุนทร  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน กับ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ  กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน มีการพิจารณาวาระติดตามปัญหาเขตปฏิรูปทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ในการประชุมได้เชิญ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ ร.อ.ธรรมนัสมีหนังสือแจ้งขอเลื่อน เนื่องจากติดภารกิจเร่งด่วน  คือเป็นประธานวันสถาปนา ส.ป.ก.,   พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบรองปลัดกระทรวงทรัพย์เข้าชี้แจงแทน, สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ทางสำนักงานฯ ไม่เข้าร่วมชี้แจงและไม่ส่งผู้แทน, ผู้แทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ, เจ้ากรมแผนที่ทหาร, รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา, นายอำเภอปากช่อง

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการ กมธ.การที่ดินฯ สอบถามว่า รับข้อมูลจากประชาชนและส่วนราชการในพื้นที่ว่ามีการเปลี่ยนมือ และมีการใช้ที่ดินผิดประเภท รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่ หากกระบวนการออก ส.ป.ก.มีการทุจริต ผลประโยชน์จะไม่ได้ตกสู่มือประชาชน ส.ป.ก.จะจัดการปัญหาการทุจริตอย่างไร จะป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริตจะทำอย่างไร นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลยังได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการจัดการพื้นที่ทับซ้อน ในทางปฏิบัติหาก ส.ป.ก.ออกในพื้นที่ที่มีแนวทางชัดเจนว่าเป็นเขตอุทยาน จะดำเนินการอย่างไร หากมีการออก ส.ป.ก.ให้กับชาวบ้านจริง แต่อยู่ในพื้นที่อุทยานจะทำอย่างไร

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่า  แผนที่เป็นตัวกำหนดว่าใครผิดกฎหมายหรือใครผิดระเบียบ หากผิดระเบียบก็แค่กล่าวตักเตือน หากเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.สามารถดำเนินการได้ เจ้าหน้าที่ที่ไปรังวัดเป็นพื้นที่ป่า ผิดระเบียบ ไม่ได้ผิดกฎหมาย ตอนนี้ต้องดูว่าหากอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แล้วผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องถูกดำเนินคดี

 “ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นเขตอุทยานหรือเขต ส.ป.ก. และ ส.ป.ก.มีอำนาจในการเข้าไปขีดเขตแดนหรือไม่ เพราะกฤษฎีการะบุว่าไม่สามารถทำได้ ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย หากบอกว่าเรื่องแผนที่เขตแดนจบแล้ว ไม่ต้องมาคุยกัน  แต่หากออกมาโดยไม่ชอบ ผมขอจบในชั้นศาล” นายชัยวัฒน์กล่าว

นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กล่าวว่า เรื่องที่ดิน ส.ป.ก. หากอะไรที่ไม่ได้ออกถูกต้องตามระเบียบเงื่อนไข เพราะการประกาศคือการคลุมทั้งหมด เราต้องดูตามความเป็นจริง หากเป็นพื้นที่ป่า ระเบียบและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจทำ ในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่เป็นปัญหาที่มีการทำรังวัดไปแล้ว 5 แปลง แต่สภาพไม่เหมาะสำหรับการทำกินเพราะเป็นพื้นที่ป่า เขาก็ไม่ออกให้

ส.ป.ก.ได้มีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ของตนเองไปแล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ของ ส.ป.ก. ซึ่ง ส.ป.ก.จะอนุมัติได้ต้องมีร่องรอยของการทำกิน และระเบียบมีการเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนที่มีการสอบถามว่าหากมีการยกเลิก ส.ป.ก.ไปแล้วจะทำอย่างไรนั้น ในส่วนของกระทรวงทรัพย์เราได้มีการจัดที่ดินให้ราษฎรภายใต้กฎหมายของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ซึ่งจะให้สิทธิราษฎรในการทำกิน และยังอนุญาตให้อยู่ตามปกติหากมีการเพิกถอน ส.ป.ก.

ขณะที่นายอภิชาติได้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายึดหน่วยงานที่ประกาศแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาเป็นที่ตั้ง ก็แสดงว่าสิ่งที่กรมแผนที่ทหารทำมาเป็นแค่ข้อสังเกต เอามาสรุปว่าเป็นแนวเขตของใครไม่ได้ใช่หรือไม่

โดยตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบว่า กฤษฎีกาเคยมีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเขตดำเนินการของ ส.ป.ก.ในขณะนั้นว่าน่าจะทำได้เฉพาะในเขตที่มีการจำแนกออกจากพื้นที่ป่าไม้ถาวรเท่านั้น คือพื้นที่กว่า 3.3 หมื่นไร่ ถ้านอกเขตจำแนกไม่สามารถดำเนินการได้ ตามมาตรา 25 วรรคสาม กำหนดไว้ว่าการที่จะกำหนดเขต ส.ป.ก. ให้ดำเนินการเฉพาะเขตที่จะปฏิรูปที่ดินเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหากับประชาชน ต้องขออนุญาต ส.ป.ก.ก่อนดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ เมื่อมีการแก้ไขกฎหมาย ส.ป.ก.ในปี 2532 กฎหมายจึงเขียนไว้ชัดว่าให้ดำเนินการเฉพาะในเขตที่จะดำเนินการปฏิรูปเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งอำเภอที่ได้ประกาศคลุมไว้ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็น

ในกรณีที่เป็นปัญหานี้ ทาง ส.ป.ก.อ้างว่ามีความล่าช้าและมีปัญหาเรื่องงบประมาณต่างๆ แต่จริงๆ แล้วเขตดำเนินการ ส.ป.ก.ทั้งหมดไม่ใช่ทั้งอำเภอ แต่เฉพาะบางส่วนของอำเภอเท่านั้น ทั้งนี้ กมธ.ได้ขอเอกสารจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้งหมดเกี่ยวกับการออก ส.ป.ก.เพื่อมาประกอบการพิจารณาด้วย

นายเลาฟั้งกล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ ได้ทราบจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีการทุจริตออกโฉนดให้คนที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ มีภูมิลำเนามาจากต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ซึ่งตามกฎหมาย ส.ป.ก. ถือว่าไม่มีคุณสมบัติในการออกโฉนดหรือถือครองที่ดิน โดยพบว่ามีจำนวน 58 รายชื่อ โดยมี 10 รายชื่อที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ จึงขอมอบเอกสารหลักฐานให้ ป.ป.ช.นำไปตรวจสอบต่อไป

ขณะที่ตัวแทน ป.ป.ช.เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตั้งอนุฯ ไต่สวนหาผู้กระทำผิดต่อไป

นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กล่าวว่า ควรจะมีการจัดลงสำรวจพื้นที่เพื่อความชัดเจน ซึ่งคณะที่ประชุมก็เห็นด้วย และจะร่วมลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าจะสามารถลงพื้นที่เพื่อร่วมกันรังวัดที่ดินได้ภายในสัปดาห์หน้า และเชื่อว่าทุกอย่างจะจบที่คณะกรรมการวันแมป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย