ชงแก้เงื่อนไขพิสูจน์สิทธิ ทางออก‘สปก.เขาใหญ่’

"กมธ.ที่ดินฯ" ถกส่วนราชการ-ภาค ปชช.โคราช หาทางออกปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ "อภิชาติ"   แนะผู้ว่าฯ นครราชสีมาหาข้อยุติกับชุมชมใหม่ ชงนายกฯ เพิ่มมาตรการพิสูจน์สิทธิ  ด้าน "ชาวบ้านน้ำเมา" วอนรัฐบาลช่วยปลดล็อกออกโฉนดให้ "ภูมิธรรม" ย้ำใช้วันแมปเป็นมาตรฐานกลาง มีคนผิดหรือไม่ต้องดูข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 5  มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  (ส.ป.ก.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.เป็นเรื่องเก่าที่ต้องสะสาง เพราะเป็นเรื่องที่มีหน่วยราชการรับผิดชอบหลายหน่วย อีกทั้งมีแผนที่ที่มองไม่ตรงกัน จึงได้แก้ปัญหาในการจัดทำแผนที่วันแมป ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยประมาณ 1-2 วันที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมพูดคุยกัน ซึ่งทุกคนต่างยอมในการที่จะใช้วันแมป 1 ต่อ 4,000 ให้เป็นมาตรฐานกลาง

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ปัญหาที่ไม่ยอมรับแผนที่วันแมป ตอนนี้คิดว่าดีขึ้นแล้ว เพราะที่ประชุม คทช.ได้พูดคุยกับหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ส.ป.ก. เขตอุทยาน เขตอุทยานชายฝั่ง และกรมที่ดิน ซึ่งตนพยายามให้ทุกฝ่ายได้คุยกัน และขณะนี้ในคณะกรรมการ คทช.มีความเข้าใจกันมากขึ้น ส่วนเรื่องนี้จะมีคนผิดหรือไม่มีคนผิด ซึ่งขึ้นอยู่ที่ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ว่าเราอยากให้มีคนผิดหรืออยากให้มีคนถูก  หากข้อเท็จจริงถูก ก็ต้องว่าถูก

ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา   คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ประชุมร่วมกับนายวิจิตร กิจวิรัตน์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายนพดล นิกรแสน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา, นายอำมริต คงแก้ว ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี รักษาราชการแทนปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา และนายอาทิตย์ ชามขุนทด ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พี่น้องเกษตรกรส่วนหนึ่งที่มีปัญหาในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว, อ.สีคิ้ว และ อ.เมืองฯ รวมทั้งหลายหน่วยงานของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่ จ.นครราชสีมา

นายอภิชาติกล่าวภายหลังการประชุม ว่า กรณีของอำเภอสีคิ้ว เคยเป็นกระบวนการขับเคลื่อนให้มีการพิสูจน์สิทธิมาแล้ว ในเมื่อเป็นข้อสงสัย กมธ.ก็เห็นว่าควรจะมีการพิสูจน์สิทธิระดับจังหวัดให้ชัด กมธ.จึงเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.) ดำเนินการพิสูจน์สิทธิ หาข้อเท็จจริงร่วมกับชุมชนใหม่ ส่วนในระดับนโยบาย เราก็จะมีการเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีนโยบายในกระบวนการพิสูจน์สิทธิที่เพิ่มมาตรการในการพิสูจน์สิทธิ

ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ   ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า แต่ละหน่วยงานต่างอ้างกฤษฎีกาของตนเองในการปักหมุด ต้องไปคุยกันในระดับนโยบาย เรื่องแนวเขตที่ทั้ง 2 หน่วยงานไม่ยอมรับแนวเขตซึ่งกันและกัน ว่าควรออกแนวไหน ถ้าเป็นแนววันแมปต้องเร่งรีบทำ เพื่อเป็นข้อสรุปให้ได้

 “ตอนนี้ต้องดูรายละเอียดว่าทำไม ส.ป.ก.นครราชสีมาต้องเร่งออกแบบรวดเร็ว ไม่มีการตรวจสอบแนวเขต ทั้งที่มีการคัดค้านถึง 2 ครั้ง รวมถึงยังเป็นพื้นที่ป่า ที่ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ เป็นพื้นที่ที่ไม่สมควรออก เพราะเป็นป่าสมบูรณ์ เมื่อเร่งรีบออก ส.ป.ก. แล้วจัดสรรให้ใคร ต้องดูชื่อผู้ครอบครองทั้ง 5 ราย มีคุณสมบัติหรือไม่ เอื้อต่อใครหรือไม่ กระบวนการของ ส.ป.ก.มีช่องโหว่มาก มีการเอื้อหรือทุจริตหรือไม่” ประธาน กมธ.การที่ดินฯ กล่าว และว่า ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกขอเอกสารว่า 5 รายนี้เป็นใคร มีวิธีการสอบสิทธิอย่างไร ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ล่าสุดตอนนี้ได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจาก ส.ป.ก.นครราชสีมา ซึ่งนอกจากเอกสารการจัดรูปแปลงให้เกษตรกร 5 รายที่ได้ขอไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังพบว่ามีการจัดรูปแปลงที่ดินทั้งหมด 59 แปลง  เพื่อให้ครอบคลุมกับทุกแปลงที่ ส.ป.ก.ได้จัดสรรออกไปแล้ว เพื่อดูรายละเอียดข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ประสานงานขอเอกสารการจัดรูปแปลงที่ดิน พร้อมทั้งชื่อบุคคลที่ถือครองที่ดินทั้งหมด เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ ในวันที่ 6 มีนาคม ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่าง กมธ.การที่ดินฯ และ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ  กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์และการปฏิรูป

ด้านนางลลิดา อุ่นจันทึก ชาวบ้านน้ำเมา ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา  เปิดเผยหลังเข้าพูดคุยกับ กมธ.การที่ดินฯ   กรณีปัญหาพิพาทที่สาธารณประโยชน์บ้านน้ำเมาว่า ที่มาวันนี้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ภาครัฐออกโฉนดที่ดินให้ทั้งหมด ที่ผ่านมาจะมีการมาทำรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ซึ่งชาวบ้านไม่ยอม จึงต้องมาเรียกร้อง เพราะที่ดินผืนดังกล่าวเราอยู่มานานแล้ว มีหลักฐานว่าบรรพบุรุษได้จับจองมาหลายชั่วอายุคน ก่อนที่รัฐจะประกาศปี 2460 มองว่าเรื่องนี้น่าจะจบตั้งแต่ ครม.ปี 2539 ที่ลงมติว่าให้ชาวบ้านออกโฉนดได้ เพราะที่ดินแปลงนี้ชาวบ้านอยู่มาก่อน จนนำมาสู่การพิสูจน์ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2495 เพื่อยืนยันสิทธิ ปรากฏร่องรอยชาวบ้านอาศัยอยู่มาก่อน และมีใบเหยียบย่ำ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉย ไม่มีความชัดเจน และไม่ช่วยเหลือ มีแต่โยนปัญหากันไปมา จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการออกโฉนดให้

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับประธาน กมธ.การที่ดินฯ วันนี้ ประธาน กมธ.การที่ดินฯ ก็รับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือ พร้อมมองว่าที่ยังไม่ออกโฉนดให้ เพราะจะมีการเอื้อประโยชน์ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยปลดล็อกให้ เพราะชาวบ้านอยู่ในพื้นที่กันมานานแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง

'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.