มั่นใจหลักฐานมัด‘โจ๊ก’ปปช.ฟ้องได้

ป.ป.ช.ร่ายข้อกฎหมายยิบ มติเสียงข้างมากรับพิจารณาคดี “บิ๊กโจ๊ก” กับพวกเอี่ยวเครือข่ายเว็บพนันมินนี่    พร้อมเรียกคืนสำนวน “ภาคภูมิ” ลูกน้องมือขวากลับมา “บิ๊กเต่า” บอกไม่เสียใจ ต่อไปเป็นหน้าที่ ป.ป.ช.จัดการ

เมื่อวันอังคารที่ 5 มี.ค.2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก   ป.ป.ช. แถลงรายละเอียดกรณี ป.ป.ช.มีมติรับสำนวน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพวก  รวม 5 คน พัวพันเครือข่ายเว็บพนันมินนี่    ว่าตามที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีกล่าวหา พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 4 กับพวก เรียกรับผลประโยชน์จากเว็บไซต์การพนันออนไลน์ การกระทำความผิดฐานฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน ตามมาตรา 61 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่ง ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องกล่าวหาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. แต่ผู้ถูกกล่าวหามิใช่ตำแหน่งระดับสูง และยังไม่เข้าข่ายความผิดร้ายแรง จึงมีมติให้ส่งเรื่องกล่าวหาดังกล่าวคืนคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ แล้วรายงานผลให้ ป.ป.ช.ต่อไป ตามมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

นายนิวัติไชยแถลงต่อว่า ต่อมาคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้มีหนังสือลงวันที่ 27 ธ.ค.2566 ส่งเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม กรณีกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก รวม 5 คน กรณีเรียกรับผลประโยชน์จากเว็บไซต์การพนันออนไลน์ การกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 61  โดยคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเห็นว่า คดีที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติมเกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกันกับสำนวนการสอบสวนคดีเดิม โดยผู้ต้องหาเพิ่มเติมบางคนเป็นถึงข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือได้ว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้ต้องหาบางคนร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุนเจ้าของเว็บไซต์ให้สามารถเปิดเว็บไซต์ จึงเป็นการร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนัน เป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดฯ      เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกล่าวหา ดังนั้น สำนวนการสอบสวนที่ ป.ป.ช.ส่งคืนให้พนักงานสืบสวนสอบสวน จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมคดีนี้ เพราะเป็นการดำเนินการกับตัวการ  ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน และเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกันและความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน ต่อมาหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้มีหนังสือ ลงวันที่ 2 ก.พ.2567 ขอทราบมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เกี่ยวกับการรับเรื่องกล่าวหาดังกล่าวไว้ดำเนินการ

นายนิวัติไชยกล่าวอีกว่า ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 26/2567 เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (2) ได้กำหนดให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และวรรคท้ายของบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดว่า กรณีจำเป็นจะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง หรือที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางระดับ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 61 ประกอบระเบียบ ป.ป.ช.ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ.2561 ข้อ 28 (2) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการมอบหมายหรือส่งเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 28 (2) และ (4) ที่มิใช่ความผิดร้ายแรง ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามข้อ 29 วรรคสอง ได้กำหนดว่า ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในภายหลังว่า เรื่องกล่าวหาที่ ป.ป.ช.มีมติให้ส่งคืนหรือมอบหมายตามวรรคหนึ่ง เป็นเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งสูงกว่าอำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่า หรือเป็นเรื่องกล่าวหาที่มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง หรือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ป.ป.ช.อาจเรียกเรื่องกล่าวหาและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเพื่อดำเนินการต่อไปตามระเบียบนี้ก็ได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติเสียงข้างมากรับเรื่องกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กับพวก รวม 5 คน กรณีเรียกรับผลประโยชน์จากเว็บไซต์การพนันออนไลน์ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งสูงกว่าอำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่า และพฤติการณ์มีการได้รับผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนมาก อีกทั้งเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป อันเข้าลักษณะเป็นความผิดร้ายแรงหรือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางไว้ดำเนินการ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ประกอบกับสำนวนการสอบสวนคดี พ.ต.อ.ภาคภูมิ กับพวก  เป็นคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 234 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 61 ประกอบระเบียบ ป.ป.ช. ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ.2561 ข้อ 29 วรรคสอง จึงให้เรียกสำนวนการสอบสวนเรื่องกล่าวหา พ.ต.อ.ภาคภูมิ และเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคืนมาเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว  รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง   กล่าวว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่สามารถพิจารณารับทำคดีดังกล่าว 8 นายตำรวจ และสามารถพิจารณาสำนวนที่มีนายตำรวจ 8 นาย ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นพนักงานอัยการกลับไปทำคดีรวมสำนวนกับตำรวจ 5 นาย เนื่องจากเป็นคดีที่มีความเชื่อมโยงกัน แต่ ป.ป.ช.จะต้องมาสอบถามสำนวนคดีกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ว่ามีหลักฐานหรือรายละเอียดอย่างไร ซึ่งถือว่าคดีดังกล่าวทั้ง 2 สำนวน ในชั้นพนักงานสอบสวนได้สิ้นสุดอำนาจหน้าที่แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการพิจารณาสำนวนและส่งฟ้องคดี

 “พนักงานสอบสวนไม่ได้เพลี่ยงพล้ำทางเทคนิค แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยตรง ที่สามารถรับทำคดีได้เอง  ส่วนทางด้านพนักงานสอบสวนไม่ได้เสียกำลังใจ และขอยืนยันว่า พยานหลักฐานที่มีนั้นครบถ้วน ที่จะสามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้ทั้งหมด”  พล.ต.ต.จรูญเกียรติระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย