โยนวันแมปชี้ขาดชัยวัฒน์ลั่นมีคนผิด

“เศรษฐา” บอกไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อน! แค่ยึดกฎหมายเอาประชาชนเป็นที่ตั้งพอ “ประธานวิปรัฐบาล” มั่นใจไม่กระทบเสถียรภาพเพราะ 2  รมต.อยู่พรรคเดียวกัน ประชุมหย่าศึกรอบใหม่ “กษ.-ทส.” พร้อมใจซื้อเวลาอีก 2 เดือน โยนเผือกร้อนให้ “วันแมป” ชี้ขาด “เลขาธิการ ส.ป.ก.” ลั่นอดีตช่างหัวมันตอนนี้มานับหนึ่งกันใหม่ แต่ “ชัยวัฒน์” ประกาศจบหล่อๆ ไม่ได้  งานนี้ต้องมีใครผิดใครถูกให้ชัด

เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม ยังคงมีความต่อเนื่องจากการออกโฉนดที่ดินสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  (ส.ป.ก.) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ไปทับซ้อนที่ดินอุทยานแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จนมีการฟ้องร้องกันไปมา

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์  ปลัด ทส.จะประชุมเป็นการภายใน โดยให้เอาเรื่องที่ดินทำกินประชาชนเป็นที่ตั้งเพราะเป็นเรื่องใหญ่ และการทำเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งประเด็นกฎหมายและเรื่องการทับซ้อน ที่ต้องเอาแผนที่ทหาร 1 ต่อ 4,000 เป็นหลัก ตรงไหนเป็นที่ป่าต้องปล่อยให้เป็นที่ป่า ไม่ไปก้าวก่ายอยู่แล้ว และได้เน้นย้ำไปแล้วว่าทำอะไรต้องมีหลักการ  ถ้าเกิดไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ผิด ก็ไม่มีการทะเลาะกัน การทะเลาะกันก็ดี เพราะจะได้ชำระล้างนโยบายว่าถ้าเราทำถูกต้อง ทำดีก็จะได้หลุดไป โดยต้องสอบถามกันให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกินสักที และขอย้ำว่าต้องเอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า น่าจะจบศึกเรื่องนี้ได้หรือไม่ นายเศรษฐาตอบว่า ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาใหญ่อะไร แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า เชื่อว่าปัญหาจบกันได้เพราะ รมว.เกษตรฯ และ รมว.ทรัพยากรฯ อยู่พรรคเดียวกัน ก็คิดว่าเจรจากันได้ จึงคิดว่าเป็นทางออกที่คิดว่าไม่มีปัญหา และเชื่อว่าไม่กระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งการทำงานก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต่างฝ่ายต่างอยากสร้างผลงานให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน

ขณะเดียวกันมีการประชุมร่วมระหว่าง กษ.และ ทส.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือข้อพิพาทกรณีการออกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนแถลงข่าวร่วมกัน

โดยนายจตุพรกล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งสองกระทรวงมีเป้าหมายทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ นอกจากดูแลป่าและทะเลแล้วบางส่วน ก็ดูแลพื้นที่ของประชาชน  เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรฯ ที่ดูแลพื้นที่ทำกินของประชาชน วันนี้เราเอาข้อเท็จจริงมาพูดคุยกันทั้งหมด รวมถึงการวางแนวทางการทำงานร่วมกัน ซึ่ง ทส.ได้เสนอไปยัง กษ.ว่าการออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน ส.ป.ก.ต้องมีคณะกรรมการจาก 9 หน่วยงานไปร่วมรับรองแนวเขตด้วย สำหรับพื้นที่ที่เป็น Corridors หรือแนวกันชน  หรือพื้นที่รอยต่อต้องมีการอนุรักษ์ไว้สำหรับสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงขอไว้เป็นข้อตกลงหรือ MOU ร่วมกันระหว่างสองกระทรวง ยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า รวมถึงประชาชน

ส่วนนายประยูร อินสกุล ปลัด กษ. ยืนยันว่า พื้นที่กันชนจะไม่มีการนำมาจัดสรรเป็นที่ดินทำกินให้ประชาชน สำหรับพื้นที่ปัญหาบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมาและปราจีนบุรี จะรอให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติจัดทำวันแมปให้แล้วเสร็จก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติใน 2 เดือนนี้ โดยหากคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ข้อสรุปอย่างไร ทั้ง 2 กระทรวงก็จะยึดตามนั้น ส่วนพื้นที่ของ ส.ป.ก.ที่เป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ป่าหรือเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า หากจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรไปแล้วจะกระทบต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กษ. ขอให้เว้นไว้อาจทำเป็นป่าชุมชน ไม่ให้จัดสรรที่ดินดังกล่าวให้แก่เกษตรกร

นายประยูรกล่าวอีกว่า การพิสูจน์เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไปแล้วก่อนหน้านี้ ว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่นั้น ได้มอบหมายไปยังผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับเขตและระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบว่าเกษตรกรที่เป็นเจ้าของเอกสารสิทธิเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ หากไม่ใช่ต้องยกเลิกเอกสารสิทธิดังกล่าว และให้ดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่ออกเอกสารสิทธิให้แก่คนที่ไม่ใช่เกษตรกร พร้อมยืนยันว่าพื้นที่ใดที่เป็นอุปสรรคหรือมีปัญหาเรื่องการทับซ้อน จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ โดยใช้วันแมปเป็นตัวตัดสิน

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งขาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้คุยกับเลขาฯ ส.ป.ก.แล้วและจะมีการกำหนดทีมงานเพื่อทำงานร่วมกัน โดยวางกรอบระยะทำงาน 30 วันแรกเป็นการวางขอบเขตของทั้ง 2 หน่วยงาน ว่ามีพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ ตรงกันหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าทั้งประเทศมีพื้นที่ใดบ้างที่ไม่ตรงกัน ซึ่งภายใน 1 เดือนนี้พื้นที่ใดไม่มีปัญหาเรื่องการทับซ้อน ก็สามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการวันแมป ส่วนที่เหลือจะรอการจัดทำพื้นที่ร่วมกันของคณะกรรมการวันแมป

ส.ป.ก.บอกให้ลืมอดีต

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาฯ ส.ป.ก. กล่าวว่า  เมื่อที่วันที่ 23 ก.พ.ได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย 9 หน่วยงาน  ว่ามีการทับซ้อนหรือรุกล้ำหน่วยงานใดหรือไม่ เพื่อเข้ามาเป็นคณะทำงานช่วยดูว่าการออกเอกสารสิทธิของ ส.ป.ก.ทับซ้อนหรือไม่ หรือรุกล้ำหน่วยงานใดหรือไม่ เพื่อให้ยืนยันว่า ส.ป.ก.ออกเอกสารสิทธิถูกที่ถูกทาง ไม่ไปล้ำที่ป่าไม้ หรือสถานที่สำคัญของหลวง ยืนยันว่าจากนี้พื้นที่ตรงไหน ที่มีปัญหาทับซ้อนกัน เราจะไม่ทะเลาะกัน จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการวันแมป และหากพื้นที่ใดเข้าใกล้พื้นที่กันชนหรือพื้นที่เตรียมการสำหรับการอนุรักษ์ อยากให้กรมอุทยานฯ แจ้งมายัง ส.ป.ก. เพราะก่อนหน้านี้ต่างคนต่างทำงาน และต่อจากนี้จะทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น

“อดีตที่ผ่านมาก็ช่างหัวมัน เพราะสุดท้ายต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ เพราะสุดท้ายพี่ชัยวัฒน์ก็ต้องทำงานให้ชาวบ้าน  ผมก็ต้องทำงานให้ชาวบ้าน เพียงแต่เจตนารมณ์ของแต่ละหน่วยงานมีมิติการทำงานไม่ตรงกัน พี่ชัยวัฒน์มีหน้าที่อนุรักษ์ ส่วนผมก็มีหน้าที่หาที่ดินให้คน ผมก็ต้องทำตามหน้าที่” นายอรรถพลกล่าวและว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.ที่ได้ออกไปแล้ว ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการคุยกันของรัฐ หากที่สุดแล้วมีมติออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรัฐจะเยียวหาให้แน่นอน

ถามถึงเรื่องคดีความที่ 2 หน่วยงานแจ้งความดำเนินคดีไว้นั้น นายจตุพรกล่าวว่า ทั้งสองหน่วยงานตกลงกันว่าจะรอให้การตรวจสอบแนวเขตเสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน ส่วนคดีความตนจะรับผิดชอบเอง ดังนั้นจึงไม่มีปัญหา ขอให้ทุกอย่างดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ให้รอข้อเท็จจริง  ข้อกฎหมาย และหลักวิทยาศาสตร์ หลังจากวันแมปชี้ขาดเส้นแนวเขตแล้วเรื่องคดีค่อยมาพูดคุยกัน และหากมีพื้นที่ทับซ้อนก็จะต้องพูดคุยตกลงว่าจะยกพื้นที่นั้นให้ใครดูแล หากตกลงกันได้ก็จะดำเนินการต่อทันที แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะส่งให้คณะกรรมการวันแมปเป็นผู้ชี้ขาด

ด้านว่าที่ ร.ต.พีรพล มั่นจิตต์ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ระบุว่า สคทช. ให้ความสำคัญกับเรื่องการแบ่งเส้นที่ดินของรัฐให้ชัดเจน  แต่หากหน่วยงานผู้ปฏิบัติดำเนินการแล้วมีความขัดแย้งกัน  สคทช.ก็มีอนุกรรมการตามกฎหมายช่วยเหลือเพื่อเสนอเข้าสู่ ครม. ส่วนความคืบหน้าการทำวันแมปใน 77  จังหวัดทั่วประเทศ มีการแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ทำเสร็จเรียบร้อยเสนอเข้า ครม.ไปแล้ว 3 กลุ่ม และกลุ่มที่ 4  กำลังจะเข้า ส่วนกลุ่มที่ 5-7 อยู่ในปีงบประมาณ 2568

เมื่อถามถึงกรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยประกาศว่าไม่ยอมรับแผนที่ของวันแมปนั้น นายชัยวัฒน์ชี้แจงว่า สิ่งที่พูดไปคือไม่ยอมรับการที่กรมแผนที่ทหารนำแผนที่ที่ตัวเองรังวัดใหม่ไปส่งให้คณะกรรมการวันแมป แล้วคณะกรรมการยอมรับแผนที่ดังกล่าว แต่เมื่อมีการหารือกันระหว่าง 2 หน่วยงานให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการวันแมปเป็นผู้ขีดเส้น หากอยู่ในพื้นที่ของใครก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับอีกฝ่าย ดังนั้นผลการพูดคุยวันนี้เป็นที่น่าพอใจ เพราะต้องการแค่ความถูกต้อง และสิ่งที่ภูมิใจมากคือการหยิบยกพื้นที่คอร์ริดอร์ หรือพื้นที่ปลอดภัยของสัตว์สำหรับหลบภัยตามแนวตะเข็บ หากสามารถทำได้จริงจะมีพื้นที่ป่าอีกส่วนหนึ่งที่จะคืนให้ประเทศ 

'ชัยวัฒน์' ลั่นจบหล่อๆ ไม่ได้

นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวถึงกรณี ส.ป.ก.ไปแจ้งความเอาผิด นายชัยวัฒน์ ตามพระราชบัญญัติปราบปรามการทุจริต ว่าตำรวจจะใช้เวลาแสวงหาข้อเท็จจจริง 30 วัน ก่อนส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 159 เนื่องจากนายชัยวัฒน์เข้าไปถอนหมุด ส.ป.ก. โดยที่เข้าใจว่าเป็นพื้นที่อุทยานฯ แต่ ส.ป.ก.บอกเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. ดังนั้นนายชัยวัฒน์จะเจตนาหรือไม่อยู่ที่ความตั้งใจ ซึ่ง ป.ป.ช.จะตรวจสอบต่อไป แต่ในระหว่าง 2 หน่วยงานได้ปรับความเข้าใจจนได้ข้อยุติแล้ว

นายชัยวัฒน์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เรื่องแจ้งความต้องมีการพิสูจน์ แต่คาดว่าเขาก็ต้องแจ้งความ เนื่องจากไปถอนหมุดเขามา หากไม่แจ้งก็แสดงว่าหลักนั้นเป็นหลักเถื่อน เป็นหลักเท็จ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายยื่นหลักฐานมาตัดสินกันไม่ได้ ต้องให้คณะกรรมการเป็นคนตัดสินตามหลักฐานที่มี  หากตัดสินว่าเป็นพื้นที่ในเขต ส.ป.ก. ก็ต้องรับเต็มทั้งเรื่องแจ้งความเท็จหรือเรื่องอื่นๆ แต่หากอยู่ในเขตอุทยานฯ ก็จะฟ้องกลับเช่นเดียวกันไม่ว่าเป็นใครที่สั่งการ วันนี้จะจบแบบหล่อๆ ไม่ได้ เพราะเหตุที่เกิดขึ้นเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็พยายามที่จะสื่อสารมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เป็นผล วันนี้ได้ข้อยุติระดับหนึ่ง ซึ่งรออีก 2 เดือนว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นของใคร ยืนยันว่าหลักฐานเรามีเพียงพอที่จะยืนยันว่าเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

“ที่บอกว่าจะจบแบบหล่อๆ ไม่ได้ คือจะจบแบบไม่มีใครผิดไม่ได้ งานนี้ต้องมีคนผิด เมื่อเขาไม่ผิดผมก็ต้องผิด  เพราะเราทิ้งตัวแล้ว ไม่ใช่ว่าผมจะเกษียณแล้วทิ้งตัว แต่ผมสู้มาตลอดชีวิต การจะจบโดยไม่มีใครผิดไม่ได้ ใครที่ทำหลักฐานเท็จ ใครออกโฉนดโดยมิชอบต้องมีคนผิด หากเขาไม่ผิด ผมก็ต้องผิด ซึ่งต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองอยู่แล้ว” นายชัยวัฒน์กล่าว

วันเดียวกัน ที่ จ.นครราชสีมา นายอภิชาติ ศิริสุนทร  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะลงพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อน โดยระบุว่าพื้นที่ป่าไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนในการออก ส.ป.ก. ของเขาใหญ่วันนี้มีช่องโหว่มาก เป็นพื้่นที่ที่ไม่สมควรออก  และจะขอเอกสารผู้ได้รับเอกสารสิทธิ 5 รายนี้ว่าเป็นใคร  มีวิธีการสอบสิทธิอย่างไร ก็จะเอาไปตรวจสอบอีกครั้ง และเอาเข้าที่ประชุม กมธ.การที่ดินฯ ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่าง กมธ.การที่ดินฯ และ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง