หนี้ครัวเรือนพุ่ง แตะ16.2ล้านล. ว่างงานลดลง

"สภาพัฒน์" เผยไตรมาส 3/66 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 90.9% แตะ 16.2 ล้านล้านบาท  เพิ่มขึ้น 3.3% ส่วนไตรมาส 4/66 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น  ว่างงานลดลง จับตาสินเชื่อบ้าน-กู้สินเชื่อยานยนต์

เมื่อวันจันทร์ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 และภาพรวมปี 2566 ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไตรมาส 3/2566 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 90.9% มีมูลค่าหนี้อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 16.09 ล้านบาท หรือ 3.3%

สำหรับหนี้ครัวเรือนยังมีอัตราเพิ่มขึ้น แต่เป็นในทิศทางที่ชะลอตัวลง สะท้อนว่าครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในทุกสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อยานยนต์ คาดว่าเป็นผลจากมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ได้เร่งให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อที่จะสร้างวินัยและความรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อ ตามความต้องการลดปัญหาหนี้ครัวเรือนลง

 “ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับยังมีการขยายตัวที่ 15.6% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 18% แม้จะชะลอตัวลง แต่มีการขยายตัวค่อนข้างสูง ดังนั้นต้องมีการเข้าไปดูแลทั้งระบบเพื่อลดการก่อนหนี้ลง“ นายดนุชากล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อพบว่าด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ จากข้อมูลธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส  3/2566 พบยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.79% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ 2.71%  ขยายตัว 7.9% จาก 2.7% ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน เมื่อแยกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 3.34% สินเชื่อที่อยู่อาศัย 3.24% สินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ 2.38% และสินเชื่อยานยนต์ 2.1%

นายดนุชากล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อยานยนต์ยังมีต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 40.9%  เป็น 27.3% ในไตรมาส 3/2566 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตยังมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 13.6% จากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 7.2%  ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 2.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 0.4% และสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นที่ 10.2% จากไตรมาสก่อนที่ 3% สะท้อนว่าหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ หากพิจารณาหนี้ที่มีการค้างชำระ 1-3  เดือน (SMLs) พบว่าภาพรวมสัดส่วน SMLs ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ 6.7% แต่หนี้ SMLs ของสินเชื่อยานยนต์ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์คุณภาพหนี้ยานยนต์สอดคล้องกับข้อมูลสถิติการยึดรถยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000-30,000 คันต่อเดือนจากปี 2565  ที่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คันต่อเดือน

ดังนั้น ส่วนของสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ที่อาจจะกลายเป็นหนี้เสีย โดยสินเชื่อยานยนต์อยู่ที่ 14.55%  และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 4.45% ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต  4.50% และสินเชื่อส่วนบุคคล 4.48 ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ต้องติดตาม และนำเอากลุ่มเสี่ยงเร่งทำการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนจะเป็นหนี้เสีย

นายดนุชากล่าวอีกว่า ประเด็นนี้ครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญคือ 1.การติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 มีมาตรการสำคัญประกอบไปด้วย การช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้เรื้อรังสามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น  และการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้

2.การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน โดยหนี้เสียมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 40.2% เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่อนุมัติเร็วและง่าย แต่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น และเป็นทางเลือกในการกู้ยืมเพื่อเติมสภาพคล่อง

และ 3.การติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอก ต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ หรือเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ ซึ่งอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมแก่กลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่เป็นกลุ่มที่มีเครดิตไม่ดีนัก รวมทั้งต้องมีการติดตามความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งรายงานการสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทยในปี 2565 ของ ธปท. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบกลุ่มดังกล่าวยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ  สาเหตุมาจากฐานะทางการเงินหรือรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีความรู้ความเข้าใจ และผลิตภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อหนี้นอกระบบได้ในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป