ยิ่งลักษณ์ลุ้นกลับไทย หลังชนะคดีโรดโชว์240ล. จับตาดีลลับโมเดลทักษิณ

ศาลฎีกานักการเมืองมีมติเอกฉันท์ 9-0 ยกฟ้อง ถอนหมายจับยิ่งลักษณ์ คดีโรดโชว์ 240 ล้าน นักวิชาการชี้เป็นการนับหนึ่งของกลุ่มคนรัก "ยิ่งลักษณ์" จะได้พบตัวจริงอีกครั้ง โดยใช้โมเดลเดียวกับ "ทักษิณ" กลับสู่ประเทศไทย เผยไม่มีคดีอาญาตกค้างอยู่ในศาล มีเพียงโทษจำคุก 5 ปีซึ่งน้อยกว่าพี่ชาย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายนิวัฒน์ธำรง  บุญทรงไพศาล, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, บริษัท มติชน  จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด  (มหาชน), นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 1-6

คดีนี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 65 โจทก์ยื่นฟ้องว่าเมื่อเดือน ส.ค. 56 ถึงวันที่ 12 มี.ค. 57 จำเลยที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเสนอโครงการ Roadshow ที่มิใช่กรณีเร่งด่วน โดยจำเลยที่ 2  ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ลงนามผ่านเรื่อง  แล้วจำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจบิดผันสั่งอนุมัติงบกลาง โดยเจตนาร่วมกันกำหนดให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดโครงการ โดยจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 เพื่อขออนุมัติจัดจ้างการดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังร่วมกันดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวด ทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขอันจะได้รับการยกเว้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนเงิน 239,700,000 บาท โดยจำเลยที่ 4-6  เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษจำเลยที่  1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12, 13 ลงโทษจำเลยที่ 4-6  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา  192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 12, 13 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 กับนับโทษจำเลยที่ 1  ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.211/2560 ของศาลนี้

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า การจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยวงเงิน 40,000,000  บาท ก่อน สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ริเริ่มให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เป็นการเสนอของเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้นโครงการ Roadshow กำหนดเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 56 และจำเลยที่ 3 เสนอเรื่องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 56 จึงไม่อาจใช้วิธีการประกวดราคา ทั้งหัวหน้าฝ่ายพัสดุ เกษียนข้อความรับรองว่าตรวจแล้ว ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ กรณีมีเหตุเพียงพอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาได้ว่าเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24(3)  เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 สั่งอนุมัติภายในวันเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ กรณีจึงมีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริต จึงขาดเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่าขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่และอำนาจของจำเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ แต่เป็นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเกินอำนาจอนุมัติของจำเลยที่ 3 จึงต้องเสนอจำเลยที่ 2 พิจารณา ดังนี้ การที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้เสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย จึงมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางนำข้อเสนอราคาของจำเลยที่ 4 มาใช้ในการกำหนดราคากลางนั้น เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง โดยไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริตหรือมีผู้ใดสั่งการหรือแทรกแซงการกำหนดราคากลางและคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้ต้องเลือกจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับจ้างแต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องก็ยังมีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 4-5 ไว้ก่อน

ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 4-6 ร่วมกันสนับสนุนจำเลยที่ 1-3 ในการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่  เมื่อข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1-3 กระทำความผิดดังวินิจฉัยแล้ว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4-6 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ส่วนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 แบ่งจังหวัดเพื่อจัดทำงานนำเสนอ (Presentation) เป็นขั้นตอนก่อนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง  จึงไม่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันเสนอราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4-6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ให้พิพากษายกฟ้องและถอนหมายจับ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า วันนี้ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานกว่า 2 ชั่วโมง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0  ยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวกรวม 6 คน

นายนิวัฒน์ธำรงให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้เรียกว่าเป็นการล้างมลทิน แต่เป็นเรื่องของการที่ได้ปฏิบัติงานอย่างสุจริตเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่เมื่อมีคนไปฟ้อง  ป.ป.ช.ก็ต้องตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูลจะนำไปสู่กระบวนการของศาล ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่าโล่งใจเพราะต่อสู้กันมาหลายปี และจากการสอบพยานทางเรามีหลักฐานแน่นว่าไม่มีแววในเรื่องของการทำทุจริต และตนก็มั่นใจมาโดยตลอด

ด้าน รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนเข้าไปร่วมฟังก็มองว่าทิศทางการเมืองหลังจากนี้ เมื่ออำนาจของฝ่ายตุลาการหมดไป หลังจากนี้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แม้ว่าจะไม่สามารถใช้อำนาจโดยตรงได้ แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบเรื่องของการพักโทษหรือข้อยกเว้นต่างๆ ทั้งเรื่องการรักษาตัว หรือระเบียบกำหนดพื้นที่อื่นเป็นที่คุมขัง ตนเชื่อว่าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์นำมาพิจารณา ว่าถึงเวลาที่เหมาะสมในการกลับประเทศไทยแล้วหรือยัง แต่เชื่อว่าเป็นการนับหนึ่งของกลุ่มคนยิ่งลักษณ์ที่จะได้พบตัวจริงอีกครั้ง

"ตอนนี้คุณยิ่งลักษณ์มีคดีอาญาที่ถูกยกฟ้องไปแล้ว 2 คดี ทำให้ตอนนี้ไม่มีคดีอาญาตกค้างอยู่ในศาล มีเพียงโทษจำคุกเพียง 5 ปีซึ่งถือว่าน้อยกว่าพี่ชาย เชื่อว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคุณยิ่งลักษณ์จะต้องมีการวางแผนกัน และเชื่อว่าจะใช้โมเดลเดียวกับพี่ชาย ทักษิณกลับสู่ประเทศไทย" รศ.ดร.ธนพรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย