ไทยโพสต์ ๐ เปิดศึกต่อ ส.ป.ก.ออกแถลงการณ์ย้ำที่ดินข้อพิพาทเขาใหญ่ ตัวเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยชอบ "พิธา" หาเสียงเลือกตั้ง อบจ. ติดกระดุมเม็ดแรก ถ้าอยากเห็นประเทศพัฒนาเจริญขึ้น ริบที่รัฐเป็นของประชาชน ที่ดินของรัฐบาลจะมีทำไมเยอะแยะ
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมขอแถลงการณ์เรื่อง กรณีพิพาทระหว่างแนวเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมากับแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตามที่ได้ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เข้าทำการรื้อถอนหมุดหลักฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในท้องที่หมู่ 10 บ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อันอาจก่อให้เกิดเป็นประเด็นพิพาทในระหว่างส่วนราชการด้วยกันนั้น
ส.ป.ก.ยืนยันว่า 1.ที่ดินในบริเวณพิพาทเป็นที่ดินที่ ส.ป.ก.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 26 (3) และมาตรา 36 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 ซึ่งกรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบข้อมูล Field book ซึ่งเป็นการบันทึกการรังวัดขอบเขตของกรมอุทยานฯ เอง ตามมาตรฐานแผนที่และการรังวัดสากลแล้วยืนยันพื้นที่ข้อพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ แต่ประการใด
2.ที่ดินในบริเวณพิพาทตามข้อ 1 นั้น ส.ป.ก.ได้รับมาจากการนำที่ดินที่จำแนกออกจากป่าเขาใหญ่เฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวน (พื้นที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505) เนื้อที่ประมาณ 33,896 ไร่ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ครั้งที่ 6/2527 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2527 ที่มีกรมป่าไม้ (ผู้รับผิดชอบงานอุทยานแห่งชาติในขณะนั้น) และ ส.ป.ก. ร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งได้สำรวจเป็นที่ยุติแล้วว่า พื้นที่ที่ส่งมอบให้ส.ป.ก.ข้างต้นมีสภาพการใช้ประโยชน์โดยการประกอบเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่กว่า 86.25%
3.ส.ป.ก.จึงมีอำนาจหน้าที่นำที่ดินเนื้อที่ประมาณ 33,896 ไร่ ที่ได้รับมอบมาข้างต้น รวมถึงที่ดินบริเวณพิพาท มาจัดให้แก่เกษตรกรตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการทับซ้อนของแผนที่แสดงแนวเขตในบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่ประการใด
พร้อมฟัน จนท.มิชอบ
4.อย่างไรก็ดี ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีนโยบายให้ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐตามโครงการ One Map เพื่อให้ที่ดินที่ ส.ป.ก.ได้รับมาในบริเวณพิพาทไปอยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาตินั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ และช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้สุจริตซึ่งเสียสิทธิตามกฎหมาย ว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จากผลกระทบดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ จำนวน 10 ข้อ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติต่อไป
5.สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ส.ป.ก.ยังคงยึดมั่นในหลักการว่า หากปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ว่ามีเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก.ได้ดำเนินการรังวัดจัดที่ดินในพื้นที่ที่ยังมีสภาพป่า ย่อมเป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยระเบียบและข้อตกลงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ ส.ป.ก.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายด้วยแล้ว และหากพบว่าเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก.ผู้ใดได้กระทำความผิดหรือมีการจัดที่ดินโดยฝ่าฝืนเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย หรือกระทำการใดๆ ที่ไม่ถูกต้อง อันก่อให้เกิดความเสียหายกับการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส.ป.ก.จะดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา กับผู้เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด และในทางกลับกัน หากตรวจสอบแล้วพบว่า ส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดที่ดินที่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ก็เป็นกรณีสมควรที่เกษตรกรจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิกฎหมายและมีความชอบธรรมในการถือครองที่ดินของ ส.ป.ก.ต่อไป โดยไม่ควรที่จะมีหน่วยงานใดก็ตามรบกวนหรือรอนสิทธิของประชาชนเหล่านี้
ทั้งนี้ ส.ป.ก.จะยืนหยัดในการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายทุกประการ และจะดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก. ที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพื่อพิสูจน์ทราบ และหากพบการกระทำความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป
ที่ตลาดบิ๊กซัน ต.หนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี พรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร, นายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.และทีมก้าวไกลจังหวัดอุดรธานี เปิดเวทีรับฟังปัญหาที่ดินจากชาวบ้านหนองวัวซอ เพื่อนำไปเป็นแนวทางแก้ไขและผลักดันในสภา โดยมีชาวบ้านกว่า 500 คนเข้าร่วมงาน
ริบที่รัฐให้ประชาชน
นายพิธากล่าวถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่า อยากจะรอดู One Map ว่าเป็นอย่างไร เพราะตลอดเวลาที่เป็นกรรมาธิการ ก็ยังไม่ชัดเจน และองค์กรที่ดูก็ย้ายไปย้ายมา แต่ก็ต้องยอมรับมีการนำพื้นที่ ส.ป.ก.ไปทำประโยชน์อย่างอื่นเยอะ
ดังนั้น ควรจะมีการสังคายนาแบบไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพล เพราะมีการพูดกันว่าจะสังคายนา แต่พื้นที่ไข่แดงเต็มไปหมด จึงต้องเรียกร้องถึงความกล้าหาญทางการเมือง ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงรองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ
เมื่อถามว่า หากมี ONE MAP จริงๆ จะเกิดข้อพิพาทมากขึ้นหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ปัญหาที่ซ่อนไว้ใต้พรมมันจะได้เกิดเป็นความถูกต้อง แล้วจะได้ Set Zero ปัญหาที่ดินใหม่ทั้งหมด เพราะอย่างที่บอกปัญหาที่ดินมี 8 กระทรวง ก็ 8 แผนที่ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชน ดังนั้นควรจะเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง รวบรวมที่ดินทุกแผนที่ และเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
นายพิธากล่าวต่อว่า ป่าสงวนที่เคยเป็นป่า แต่ตอนนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม มีที่ทำการของรัฐ มีอนามัย มีโรงเรียน ก็ไม่น่าจะเป็นป่าแล้ว และที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ควรจะดึงกลับมา ไม่ว่าจะนำมาเป็นป่าหรือที่ดินทำกินให้กับประชาชน ที่สำคัญคือสัดส่วนการครอบครองที่ดินที่เหมาะสม ควรจะเป็นรัฐบาลถือ 40 เอกชนถึง 60 และไปลดเรื่องของความเหลื่อมล้ำในฝั่งของเอกชนด้วย น่าจะเป็นกระดุมเม็ดแรกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก
นายพิธามั่นใจว่า หากเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง ไม่เอาการเมืองเป็นที่ตั้ง ปัญหานี้จบได้แน่นอน แต่พอเอาการเมืองมาเป็นที่ตั้ง มันก็เลยมีปัญหา และขั้นตอนการทำงานมันก็ไม่ใช่แค่การขัดแย้งระหว่าง 2 หน่วยงาน แต่ถ้าแยกพื้นที่ให้ชัด และนำพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ไปอยู่ ในมือนายทุนดึงกลับมาให้หมด เหมือน Set Zero ใหม่ จากนั้นเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ใช้ท้องถิ่นเข้ามาช่วย ดีกว่ารวมศูนย์อยู่ที่คณะกรรมการ เชื่อว่าปัญหานี้จะจบ
เขายังกล่าวว่า วันนี้มาลงพื้นที่เพื่อดูเรื่องความเหลื่อมล้ำในสิทธิที่ดินของประชาชน จากสภาถึงหนองวัวซอ สัปดาห์ที่แล้วก็เห็นว่ามีปัญหาของพ่อแม่พี่น้องเข้ามาอยู่ในสภา วันนี้ก็เลยลงมาพื้นที่ เพื่อที่จะได้เห็นปัญหาของพ่อแม่พี่น้องอย่างแท้จริง เพราะพวกเราไม่ใช่นักรบห้องแอร์ ต้องการลงพื้นที่ให้เห็นจริงๆ
ตนต้องขอพูดถึงการที่พี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีให้ความไว้วางใจพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างถล่มทลายกว่า 300,000 คะแนน ถือว่าเป็นการเติบโตที่ไม่ธรรมดา ตนจึงต้องลงมาด้วยตนเอง เพื่อมาขอบพระคุณพ่อแม่พี่น้อง เพื่อให้ความไว้วางใจพวกเราพรรคก้าวไกล ถึงจะไม่ได้มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็สู้ขาดใจแน่นอน
'พิธา' ใช้ที่ดินหาเสียง
นายพิธากล่าวว่า ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีความสำคัญ เราเป็นผู้บริหารท้องถิ่นที่มีความยึดโยงกับประชาชน ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นคนที่บริการสาธารณะให้กับพ่อแม่พี่น้องชาวอุดรธานี เหมือนเป็นจิกซอว์สุดท้าย ตามวิสัยทัศน์ของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการเห็นจังหวัดอุดรธานีเท่าเทียมกันและเท่าทันโลก
ตนอยากเห็นพี่น้องชาวอุดรธานีหากินได้ในจังหวัดอุดรธานี ไม่ต้องไปเมืองนอกเมืองนา คราวนี้ว่าที่ผู้สมัคร อบจ. พรรคก้าวไกลยอมรับว่าเราเป็นมวยรองที่มีโอกาสชนะแน่นอน เพราะเลือกตั้งที่ผ่านมาบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลได้มาอยู่ 300,000 คะแนน ในขณะเดียวกันการเจริญเติบโตของพวกเราก็มีมากเรื่อยๆ
ประการต่อมา เป็นเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ตนต้องแจ้งให้กับพี่น้องให้ฟังว่า ในประเทศไทยเป็นที่ดินของรัฐบาลเยอะ เป็นที่ดินของราชการเยอะ ในประเทศไทยมี 320 ล้านไร่ 60% เป็นของรัฐบาล 40% เป็นที่ของประชาชน ซึ่งมีแค่กำมือเดียวเท่านั้น ถ้าอยากเห็นประเทศพัฒนาเจริญขึ้น ไม่ต้องเป็นหนี้สิน เข้าถึงระบบได้โดยไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ จะต้องมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะคำว่าสิทธิที่ดินแปลได้หลายอย่าง เป็นสิทธิในการทำกิน ให้เป็นสิทธิในการเช่า เป็นสิทธิในการบริหารจัดการก็ได้
“รัฐบาลให้สิทธิในการเช่าแค่ 3 ปี อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ ผมจะทำร้านก๋วยเตี๋ยว ทาสียังไม่แห้ง เขาจะเอาคืนก็ได้ พ่อแม่พี่น้องจะปลูกมะม่วง สักปีสองปีถ้าเขาอยากเอาคืน ภายใน 3 ปีเอาคืนได้ ความมั่นคงในชีวิตมันไม่มี แม่นบ่แม่น” นายพิธากล่าว
นายพิธาย้ำว่า เรื่องการได้เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดิน ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการแก้ไขหนี้สินนอกระบบอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นวิธีคิดของตนไม่ใช่บอกว่าให้ประชาชนเป็นที่อยู่อาศัย คอยจ่ายค่าเช่าให้กับรัฐบาล ไม่ใช่แบบนั้น ไม่ใช่แค่ขอให้มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แต่ต้องเป็นสิทธิในการบริหารอนาคตของตัวเอง สิทธิในการมอบที่ดินให้กับลูกหลาน การมีกรรมสิทธิ์ในการจะเอาที่ดินเข้าธนาคาร นำเงินออกมาแก้ปัญหา ช่วยทำให้อุดรธานีน่าอยู่
ไม่ต้องไปทำงานเมืองนอก
“แรงงานเก่งๆ ไม่ต้องไปอยู่ไต้หวัน อิสราเอล ไปอยู่เกาหลีใต้ ให้เขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ในอุดรฯ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีนักการเมืองมาบอกพี่น้องว่าเราจะให้ถึงสิทธิที่ดิน พี่น้องถามเขากลับไปเลยว่าสิทธิที่ดินที่ท่านพูดถึงหมายความจังได๋” นายพิธากล่าว
นายพิธากล่าวว่า ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่หลักคิด อยู่ในวิสัยทัศน์ เรื่องของการจัดการที่ดิน ประเทศที่ร่ำรวยแล้วส่วนใหญ่ที่ดินเป็นของราษฎรทั้งนั้น ที่ดินของรัฐบาลจะมีทำไมเยอะแยะ รัฐบาลจะต้องไปสำรวจ จะปลูกป่ากี่ไร่ก็ว่าไป ขอยืนยันกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนว่า ความไว้วางใจที่พี่น้องให้กับพวกเรามาด้วยกันเลือกตั้งที่ผ่านมาจะไม่สูญเปล่าแน่นอน
ด้านนายอภิชาติกล่าวแซวชาวบ้านเป็นภาษาอีสานว่า มีปัญหาทำไมไม่บอกรัฐบาล มาหาทำไม กรรมาธิการที่ดินฯ พร้อมย้ำว่าพรรคก้าวไกลอยากเปลี่ยนชนบทให้เข้มแข็ง เป็นรากฐานให้ประเทศ แต่จะเปลี่ยนได้ต้องติดกระดุมเม็ดแรก คือเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การซื้อขายที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ ต้องมีการยกระดับสิทธิให้กับพี่น้อง ถ้าแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้กระดุมเม็ดต่อไปก็ติดไม่ได้ ถ้าติดอยู่ที่หน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐ ก็จะใช้กลไกกรรมาธิการ ถ้าพี่น้องประชาชนอยู่มาก่อน ทางราชการต้องน้อมรับ โมเดลที่ดีต้องให้สิทธิประชาชนก่อน ดังนั้นกรรมาธิการที่ดินฯ จะรวบรวมข้อมูล และนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ ในเรื่องที่ดิน ต้องมีการจัดระบบน้ำใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้ง เรื่องราคาข้าวตกต่ำ เรื่องหนี้สิน ถึงแม้เราเป็นฝ่ายค้าน แต่เราจะใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นตั้งกระทู้ถามกรรมาธิการ ช่วยพี่น้องขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาและการแก้ไขปัญหา โดยการรวบรวมข้อมูล จัดระบบข้อมูลนำไปนำเสนอ
ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาการที่เอกเอกสารสิทธิทับซ้อน เพื่อเบิกจ่ายงบในการอพยพ จึงอยากขอให้พรรคก้าวไกล ผลักดันในสภา ว่าชาวบ้านจะได้รับความเป็นธรรมอย่างไร นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ชื่อไม่ตรงกัน โดยคนที่ทำอาชีพเกษตรกรจริงๆ ไม่ได้รับเงิน ส่วนคนที่ได้รับเงินกลับเป็นคนที่สวมสิทธิ์ ไม่ได้ทำกินจริงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68
ทักษิณจ่อพบอันวาร์ในไทย
"ทักษิณ" ยันเตรียมพบ "อันวาร์" กำลังรอคอนเฟิร์ม
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
สมัครอบจ.คึกคักพท.เกทับปชน.
เปิดรับสมัครนายกและสมาชิก อบจ.วันแรกทั่วไทยสุดคึกคัก
รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง สื่อทำเนียบฯตั้งฉายา‘แพทองโพย’อิ๊งค์มองมุมดีส่งเสริมกัน
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” นายกฯ "แพทองโพย" วาทะแห่งปี
‘แม้ว-หนู’จูบปากตีกอล์ฟ ‘แก้วสรร’ให้ลุ้นกลางปี68
ชื่นมื่น! “ทักษิณ” ควง "อนุทิน” ตีกอล์ฟ สยบรอยร้าวรัฐบาล