ไทยโพสต์ ๐ "พิธา" ยันฝ่ายค้านไม่แผ่ว แต่เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ เน้นคุณภาพมากกว่าความเร็ว โวเปิดซักฟอกต้องออกอาวุธเมื่อมีประโยชน์มากที่สุด ลั่นถูกสกัดให้ยุติชีวิตทางการเมือง ท้าทำเลย ไม่มีอะไรค้างคาใจอีกแล้ว เพราะก้าวไกลคือพรรคที่เอาชนะเพราะการทำงานเพื่อประชาชน ชม "ปดิพัทธ์" สุดเจ๋งบุกทวงกฎหมายถึงทำเนียบฯ แต่ประธานวิปรัฐบาลชี้เป็นการแทรกแซงฝ่ายบริหาร "เรืองไกร" ร้อง กกต. เข้าข่ายแทรกแซงข้าราชการพลเรือน
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่จังหวัดอุดรธานี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงคำวิจารณ์ว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่แผ่วลง ว่าไม่แผ่ว แต่เรามองเป็นยุทธศาสตร์ การที่ทำอะไรเร็วๆ ลวกๆ ใช่จะเป็นเรื่องดีเสมอไป ขอเน้นคุณภาพมากกว่าความเร็ว ไม่ได้หมายความว่าวุฒิสภาอภิปรายแล้วเราต้องอภิปรายบ้าง ต้องดูข้อมูลและฐานความสำคัญของประชาชน ที่ต้องอธิบายให้ประชาชนฟังว่า ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไป 1 ปีมีแค่อย่างละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องออกอาวุธเมื่อมีประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ตอนที่โดนเร่งเร้าให้ใช้ หากมีเรื่องอภิปรายที่สำคัญก็กลับมาใช้สิทธิ์นั้นไม่ได้แล้ว พร้อมย้ำ 1 ปีต้องมียุทธศาสตร์
สำหรับแนวโน้มที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ นายพิธากล่าวว่า ก็เป็นไปได้ ทั้งการอภิปรายทั่วไปและอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากตอบตรงๆ เขาก็รู้
นายพิธายังประเมินการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลา 6 เดือนว่า ในใจอยากให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาประเทศให้มากขึ้น ข้อดีที่เห็นอยู่คือ เรื่องการต่างประเทศ ที่ช่วยวิกฤตสงครามในอิสราเอล แต่เข้าใจว่าขณะนี้ยังมีคนอุดรธานีติดอยู่ที่นั่นประมาณ 7-8 คน จึงขอฝากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติดตามเรื่องนี้ให้กับพี่น้องชาวอุดรธานีด้วย
เขาบอกว่า มีพี่น้องถามว่าก้าวไกลจะเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เป็นตำบลกระสุนตกเลยหรือไม่ ก็บอกว่าวิกฤตของพรรคก้าวไกลไม่ยิ่งใหญ่เท่าวิกฤตประชาชน และตนไม่ได้พูดเล่น ตนไม่ได้พูดเอาคะแนนเสียงอย่างเดียว ตนศึกษามาแล้วว่าครั้งที่แล้วคนอุดรธานีไปเลือกตั้งน้อยมาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ เลยไม่ได้เลือก ซึ่งเป็นปัญหามาจากปัญหาหนี้สิน ปัญหาความแห้งแล้ง ดังนั้น วิกฤตของประชาชนยิ่งใหญ่กว่าวิธีของพรรคก้าวไกล
“ถ้าเขาอยากจะยุติชีวิตทางการเมืองของผม ทำเลย ผมไม่มีอะไรค้างคาใจอีกแล้ว เราคือพรรคที่เอาชนะเพราะการทำงานเพื่อประชาชน แล้วผมก็วางแผนในการบริหารองค์กรไว้เยอะแยะ ยังมีคนเก่งอีก 20 คน ข้างหลังยังมีคนเก่งอีกรออยู่ข้างหลัง” นายพิธากล่าว
ส่วนเรื่องภายในประเทศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีสิ่งที่จะต้องแก้และแตะโครงสร้างให้มากกว่านี้ รวมถึงร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ที่เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามเรื่องร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์กับรัฐบาล ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะฝ่ายค้าน แต่มีของรัฐบาลด้วย หากรัฐบาลอยากแก้ไขปัญหาอะไร แต่กฎหมายไม่เอื้อ มันก็แก้ไม่ได้ เพราะติดโครงสร้างกฎหมายอยู่ จึงเชื่อว่านายปดิพัทธ์ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และช่วยรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาได้ดีมากขึ้น พร้อมเห็นว่า เป็นการปฏิบัติตามมารยาททุกอย่าง ประสานงานไป 2 ครั้ง โดยส่งหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 และ 21 กุมภาพันธ์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับมาเป็นรูปธรรม จึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เป็นเหตุให้เข้าไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ เป็นเรื่องดี เพราะเป็นการประสานงานให้กับประชาชน ถือเป็นประโยชน์ให้กับรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลด้วยซ้ำ
ส่วนที่รัฐบาลออกมาติงว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่บุกไปทำเนียบรัฐบาล นายพิธาถามกลับว่า ไม่เหมาะสมตรงไหน เพราะเท่าที่ติดตามข่าว ท่านก็ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าประสานก็มีคนต้อนรับแล้ว คำตอบที่ได้ยินต่อมาคือประสานไป 2 ครั้ง โดยย้ำว่าได้ทำหนังสือไปที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 และ 21 กุมภาพันธ์ถูกหรือไม่ จึงไม่เข้าใจว่าที่ไม่เหมาะสมคืออะไร เพราะหากเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง
แทรกแซงฝ่ายบริหาร
"กฎหมายบางฉบับยื่นไปให้เซ็น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งมีกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งวาระทางนิติบัญญัติ ถ้ารวดเร็ว ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่สภาอย่างเดียว แต่อยู่ที่รัฐบาลและพี่น้องข้าราชการ ที่กฎหมายเอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ก็ไม่ทราบว่าไม่เหมาะสมตรงไหน ขอคำอธิบายจากรัฐบาลด้วย" นายพิธากล่าว
ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มองว่านายปดิพัทธ์ ทำเกินอำนาจหน้าที่ของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมองว่าเป็นเรื่องที่เกินเลยไปมาก การไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามร่างกฎหมายของนายปดิพัทธ์เช่นนี้ จะเป็นการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร หน้าที่และอำนาจของประธานและรองประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจไปแทรกแซงฝ่ายบริหาร ต้องเป็นตัวแทนของสภา สื่อสารประสานงานเท่านั้น และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินกิจการของสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และที่สำคัญแทบจะทุกเรื่องจะต้องอาศัยมติของสภา ในส่วนของการพิจารณากฎหมาย สามารถสั่งระงับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรอง แค่นั้น
เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะนำไปหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาลในสัปดาห์หน้าหรือไม่ ประธานวิปรัฐบาลตอบว่า เรื่องนี้ต้องจบได้แล้ว จะไม่นำไปหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องที่ควรคิดได้ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับงานสภา จึงไม่ควรนำมาหารือในที่ประชุมวิป
ถามว่าที่ผ่านมาเคยทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกับนายปดิพัทธ์ จะมีการพูดคุยหรือชี้แนะนายปดิพัทธ์หรือไม่ นายวิสุทธิ์แจงว่า ไม่มีอคติกับนายปดิพัทธ์ แต่อยากให้ข้อคิดว่าการทำหน้าที่บนบัลลังก์ และการทำหน้าที่ของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นกลาง ถือเป็นหน้าตาของฝ่ายนิติบัญญัติ
“อยากให้คุณปดิพัทธ์ระวังในเรื่องนี้ เพราะเมื่อมาเป็นรองประธานสภาฯ แล้ว ถือว่าไม่มีพรรคไม่มีพวก มีแค่ทำหน้าที่ให้ประชาชน จะไปติดตามเรื่องใดโดยเฉพาะนั้นทำไม่ได้” นายวิสุทธิ์ กล่าว
ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว พบว่านายปดิพัทธ์ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2567 แล้ว และก่อนหน้านั้นได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรวม 2 ฉบับ คือหนังสือที่สภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ 0001.03/18 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 และหนังสือที่สภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ 0001.03/26 ลงวันที่ 21 ก.พ.2567 ด้วย
แทรกแซงข้าราชการพลเรือน
เรื่องนี้จึงควรพิจารณาถึงหน้าที่และอำนาจของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 9 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 ที่ได้มีมติรับทราบแนวทางป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ
นายเรืองไกรกล่าวว่า ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/152 วันที่ 23 พ.ย.2566 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบนั้น หน้า 4 ข้อ (2.2) ระบุว่ากรณีสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 185 (1) และ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้น สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (7) หรือมาตรา 111 (7) แล้วแต่กรณี ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้มีหน้าที่เพื่อดำเนินการให้มีการวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามนัยมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป”
เขาบอกว่า ยังไม่พบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 หรือไม่ อย่างไร ดังนั้น จึงมีเหตุอันควรทำหนังสือไปถึง กกต.แทน เนื่องจากมาตรา 82 วรรคสี่ ให้อำนาจ กกต.ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ด้วย
นายเรืองไกรกล่าวว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบและพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่นายปดิพัทธ์ได้ลงนามออกหนังสือไปถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับ และการเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ดังกล่าว เข้าข่ายขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 9 หรือไม่ และเข้าข่ายอันควรสงสัยตามข้อ (2.2) ตามหนังสือของสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/152 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายจะทำให้สมาชิกภาพของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) เพราะเข้าข่ายกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 185 (1) หรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"