‘เพื่อไทย’ขู่อย่าซักฟอกตีกิน

"สรวงศ์" ชี้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องตอบ ระบุวิป รบ.ยังไม่ได้คุยประเด็นโดนซักฟอก   ลั่นถ้าพูดตีกินพรรคไม่ปล่อยผ่านแน่ "ธนกร" หยันหากข้อมูลไม่พออย่าฝืน แนะรองบฯ 67 ผ่านก่อนดีกว่า "พท." ซัดเลิกดันทุรังดิสเครดิตรัฐบาลปมพักโทษทักษิณ "ชัยธวัช" สวนข้อมูลซักฟอกมีเยอะจนต้องคัดออก บอกปมพักโทษไร้เจตนาแซะแม้ว แค่ต้องสร้างหลักนิติรัฐที่แข็งแรง "หมออ๋อง" มาตามนัด บุกทำเนียบฯ ทวง กม.ค้าง 31 ฉบับ ยันไม่มีวาระซ่อนเร้น "เศรษฐา" ย้อนถามพฤติกรรม "รอง ปธ.สภาฯ" ถูกต้องแล้วหรือ

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายสรวงศ์ เทียนทอง  สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีพรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า จริงๆ เขามีการคุยกันเบื้องต้นในเรื่องของวัน แต่เรื่องของประเด็นยังไม่ทราบ ซึ่งต้องรอดูว่าทางพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายใครบ้าง และในห้องประชุมวิปรัฐบาลเรายังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง แต่ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพรรค ก็คงแน่นอนว่าคงจะมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง แต่ในส่วนของกระทรวงยังไม่แน่ชัด

นายสรวงศ์กล่าวว่า เมื่อมีการอภิปราย ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องตอบ อะไรที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในนามของพรรคการเมืองเราก็อาจจะต้องปล่อย ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่อะไรที่อาจจะมากระทบกับพรรคการเมือง เช่น เรื่องของการตีกินทางการเมือง เราก็ปล่อยผ่านไม่ได้

ถามว่า นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ส่งสัญญาณจะไม่ช่วยรัฐมนตรีที่หนีตอบกระทู้ นายสรวงศ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกันมาหลายรอบแล้ว นายกฯก็ได้กำชับรัฐมนตรีทุกคนในวันพฤหัสบดีหากไม่จำเป็นอย่ารับงาน

ซักว่าในการประชุมวิปรัฐบาลครั้งต่อไป จะต้องมีการกำชับกับวิป ครม.ให้ไปกำชับ ครม.เพิ่มเติมอีกหรือไม่ รอง ปธ.วิปรัฐบาลกล่าวว่า คงจะต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งนายวิสุทธิ์จะมีการพูดถึงเรื่องนี้ แล้วคงจะขอความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคให้ไปกำชับรัฐมนตรีของทุกพรรคในการเข้าร่วมตอบกระทู้ในทุกครั้ง เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเราฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องทำงาน

"คงไม่มีผลกระทบต่อการอภิปรายในอนาคต เพราะการอภิปรายต่างๆ ขึ้นอยู่กับเนื้องาน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของการมาตอบกระทู้หรืออะไรต่างๆ หากเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านชูขึ้นมาแล้วเป็นประเด็นและเป็นที่ประจักษ์ พวกผมก็ไม่สามารถไว้วางใจได้เช่นกัน" รอง ปธ.วิปรัฐบาลกล่าว

ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า หากจะอภิปรายช่วงกลางปีถึงปลายปี ในสมัยประชุมหน้าก็ยังไม่สาย ต้องให้เวลาและให้โอกาสรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน สามารถเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ใช้ในโครงการต่างๆ ที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลสักระยะก่อน เมื่อถึงเวลานั้น หากพบการบริหารที่ผิดพลาด พบการทุจริต ฝ่ายค้านก็สามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติได้เลยทันที ก็ไม่สาย และจะยิ่งดีที่ฝ่ายค้านจะได้ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเต็มที่ด้วย

 “มองว่าหากข้อมูลยังไม่มากพอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ฝ่ายค้านควรให้เวลาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไปก่อน เพื่อให้นายกฯ ได้บริหารงบประมาณ แสดงผลงานอย่างเต็มที่ อาจจะไม่ทันสมัยประชุมนี้ก็ตาม เมื่อถึงเวลานั้นหากมีข้อมูลแน่นหนาเพียงพอก็สามารถขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติได้เลย  เพราะการที่รัฐบาลยังไม่ได้ใช้งบ แต่ฝ่ายค้านกลับยื่นซักฟอกจะกลายเป็นแค่การทำพิธีกรรมในสภาเท่านั้น” นายธนกรระบุ

พท.ซัด ก.ก.อย่าดันทุรัง

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึงกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุการยื่นอภิปรายแบบไม่ลงมติ เพราะปัญหาของการบริหารของรัฐบาลมีเยอะว่า ปัญหาที่นายชัยธวัชอ้างเยอะนั้นไม่น่าใช่ของรัฐบาลเศรษฐา แต่เป็นมุมมองของฝ่ายค้านที่ปิดหูปิดตาต่อข้อเท็จจริงที่ว่าพรรค พท.สามารถนำประเทศผ่านพ้นสุญญากาศหลังการเลือกตั้งปี 2566 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล บริหารในสภาวะวิกฤตมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 6 เดือน โดยไม่ได้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เลยแม้แต่บาทเดียว

ถามว่า กรณีนายชัยธวัชเตือนรัฐบาลต้องรับผิดชอบหากมีการเอื้อประโยชน์ต่อการพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น น.ส.ลิณธิภรณ์กล่าวว่า นายชัยธวัชพูดเหมือนไม่เคารพกฎหมาย ทั้งที่รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดว่ากรณีการพักโทษนายทักษิณนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยชอบทุกประการ ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์มีการแถลง ตลอดจนสื่อมวลชนมีการรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่อง และชัดเจนว่าคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไปของนายทักษิณนั้น ครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์ ไม่เหมือนอย่างที่หัวหน้าพรรค ก.ก.ดันทุรังกล่าวหาในลักษณะดิสเครดิตโดยปราศจากน้ำหนัก

"พรรค ก.ก.เคยร่วมเป็นฝ่ายค้านกับพรรค พท.ในสมัยที่แล้ว ไม่น่าลืมว่าฝ่ายค้านสร้างสรรค์เป็นอย่างไร ไม่ใช่ดันทุรังดิสเครดิตโดยปราศจากพื้นฐานข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนักเพียงพอ รัฐบาลพร้อมให้ตรวจสอบการทำงานเสมอ เพราะประเทศจะเจริญได้ก็ด้วยการลงมือทำงาน ให้คนทำงานมีโอกาสทำงาน หากมือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร" รองเลขาฯ พรรค พท.ระบุ

อย่างไรก็ตาม นายชัยธวัชให้สัมภาษณ์ยืนยันถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ไม่ต้องห่วง อันที่จริงข้อมูลเยอะจนต้องคัดออก ขอบคุณในความหวังดีของฝ่ายรัฐบาล อย่างไรฝ่ายค้านก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะการอภิปรายตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเป็นหน้าที่ที่จะมีประโยชน์ต่อประชาชน

ถามว่า จะมีการเปิดอภิปรายภายในสมัยประชุมนี้ใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า จะมีการเสนอและนัดประชุมอย่างเป็นทางการกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในสัปดาห์หน้า แต่คิดว่าพรรคหลักอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะพร้อมอยู่แล้วในเบื้องต้น

ซักว่าพรรค พท.ระบุให้เลิกดิสเครดิตรัฐบาลกรณีการพักโทษนายทักษิณ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญ เรายืนยันเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลของใคร แต่เป็นกรณีที่ถูกทำให้ตั้งคำถามจริงๆ ว่ามีการใช้กฎหมายหรือระเบียบ โดยที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมหรือไม่ เรามีคำถามที่ สส.ของพรรค ก.ก.ได้ตั้งกระทู้ถามไปแล้ว ว่าการพักโทษกรณีนายทักษิณได้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงระเบียบที่เกี่ยวข้องจริงหรือไม่ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน นอกจากบอกว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่มายืนยันว่าได้ทำตามระเบียบแล้วจริง โดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่สาธารณะตั้งข้อสงสัยอยู่

"คงไม่ใช่เป็นเรื่องการดิสเครดิต แต่เป็นหน้าที่ฝ่ายค้านที่จะต้องตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่บอกว่าจะต้องสร้างหลักนิติรัฐที่แข็งแรง เราจึงไม่อยากเห็นนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน เพราะจะทำให้สถานการณ์ทางการเมือง หรือความขัดแย้งจะคลี่คลายดีขึ้น หลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่คณะรัฐประหาร ประชาชนก็คาดหวังว่าระบบกระบวนการยุติธรรมจะดีขึ้น" ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คน ที่ 1 และ สส.พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม  เดินทางมาขอพบตัวแทนสำนักเลขาธิการนายกฯ และทวงถามร่างกฎหมายการเงินที่ยังค้างอยู่ 31 ฉบับ

นิดถามอ๋องทำถูกต้องหรือ

นายปดิพัทธ์ยืนยันไม่ใช่การมาบุก แต่เป็นการมาประชุมร่วมกันเพื่อติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมาย อยากมาขอหารือถึงการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีโอกาสหารือกัน และมองว่าการที่รัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ในรัฐสภา ทางสำนักเลขาธิการนายกฯ ก็ต้องทราบเหตุผล เพราะในบางครั้งเอกสารที่แจ้งมายังสภาก็ไม่ได้ระบุชัดเจน

"ผมไม่ได้ไร้เดียงสา เรื่องจังหวะการเมืองที่จะทำให้ร่างกฎหมายไหนเข้าพิจารณาหรือไม่ แต่อย่างน้อยต้องมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมาว่าติดเรื่องอะไร" นายปดิพัทธ์กล่าว

ถามว่าไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไรใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ไม่มี รีบคุยรีบกลับ ที่พรรค พท.มองว่าไม่มีมารยาททางการเมืองนั้น ตนขอถามกลับว่าการมาคุยเพื่อทำงานร่วมกันเป็นเรื่องผิดมารยาทตรงไหน ตนเข้ามาปิดทำเนียบฯ หรือ หรือมาไม่สุภาพ ยืนยันว่ามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ และขอความร่วมมือเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังให้สัมภาษณ์เสร็จสิ้น นายปดิพัทธ์ได้เดินเท้าต่อมายังบริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 เพื่อรอพบกับตัวแทนของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยระหว่างที่ยืนรออยู่หน้าตึกบัญชาการ 1 เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบรัฐบาลได้พยายามติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องว่าใครจะลงมาพูดคุย ทำให้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งยืนรออยู่พูดว่า "สำนักงานเลขาธิการนายกฯ มีกี่คน ไม่อยู่สักคนเลยเหรอครับ"

จากนั้น รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้โชว์ภาพเอกสารที่ส่งมายังสำนักเลขาธิการนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าจะมีการมาสอบถามความคืบหน้าของร่างกฎหมายต่อสำนักเลขาธิการนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล กระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที คณะของนายจงเจริญ สุวรรณรัตน์ ผอ.กองงานประสานงานทางการเมืองสำนัก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มาพบกับนายปดิพัทธ์ พร้อมกับเชิญขึ้นไปพูดคุยที่ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2

ที่สำนักจุฬาราชมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง  ให้สัมภาษณ์ระหว่างปฏิบัติภารกิจถึงกรณีนายปดิพัทธ์เข้าทำเนียบฯ ทวงร่างกฎหมายที่ค้างอยู่กว่า 31 ฉบับ ว่านายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ได้ประสานรับเรื่องไว้แล้ว เดี๋ยวก็คงต้องไปดู

ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเดินทางมาทำเนียบฯ ไม่ได้มีการประสานล่วงหน้า ทำให้เกิดภาพมายืนรอ ไม่มีใครต้อนรับนานพอสมควร นายเศรษฐากล่าวว่า  อันนี้ตนไม่ทราบ ก่อนย้อนถามว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องหรือไม่ ที่รองประธานฯ จะบุกมาที่ทำเนียบรัฐบาล ตนไม่แน่ใจว่าต้องมีการประสานให้ชัดเจนหรือไม่ ถ้าประสานกันดี บอกเวลา แนะแนว ตนว่าทำเนียบฯ เราก็เปิดรับ เราเป็นคนไทย เราต้องรับแขกอยู่แล้ว

ย้ำว่ามันไม่ใช่ธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันต้องมีครั้งแรกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ต้องให้ความเป็นธรรม ก็จะไปดูแลให้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรค พท. กล่าวว่า การที่นายปดิพัทธ์มาทำเนียบฯ ไม่ใช่หน้าที่รองประธานสภาฯ  เล่นเกินบทบาท ทำตัวเป็นประธานของฝ่ายค้าน โดยข้างล่างไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องจิตใจเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเลือกข้าง แต่ว่าในขณะขึ้นทำหน้าที่ อย่าให้เขาเห็นว่าเราเป็นประธานที่เลือกข้าง ต้องแสดงความเป็นเป็นกลางไว้ ซึ่งไม่เคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์มาก่อนที่รองประธานมีการแถลงข่าวต่อว่ารัฐบาลเรื่องทำกฎหมายค้าง หรือไม่มาตอบกระทู้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของประธานวิปฝ่ายค้าน

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567" ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน ดัชนีการเมืองไทยประจำเดือน ก.พ.2567 เฉลี่ย 5.16 คะแนน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนม.ค.2567 ที่ได้ 5.48 คะแนน

ผศ.ยอดชาย ชุติกาโม ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ภาพรวมของดัชนีการเมืองไทยเดือน ก.พ.เฉลี่ย 5.16 คะแนน ลดลงจากเดือนที่แล้ว มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา นายกฯ มีปฏิสัมพันธ์กับสื่อมวลชนด้วยความระมัดระวังในการสื่อสารมากขึ้น และเน้นการลงพื้นที่ทำงาน

"การครองพื้นที่สื่อเดือนนี้ยังเป็นข่าวของฝ่ายค้าน โดยตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุดคือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.52 คะแนน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเพิ่งกลับสู่สถานภาพการเป็น สส. ได้คะแนนถึงร้อยละ 68.41 ที่น่าสนใจคือผลงานตรวจสอบในเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตของฝ่ายค้าน ที่ได้คะแนนถึงร้อยละ 57.93 ในเดือนนี้ปัญหาเศรษฐกิจกลับมีความโดดเด่นมากกว่าปัญหาการเมือง รัฐบาลต้องเร่งประชาสัมพันธ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งผลงานยังไม่เป็นที่พึงพอใจของประชาชน" ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิตฯ ม.สวนดุสิตระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง