ศก.ฟื้นตัวดีขึ้น ‘เงินเฟ้อ’ลดลง จับตาภาระหนี้

“แบงก์ชาติ” ยันเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.2567 ฟื้นตัวดีขึ้น   แต่ยังขยายตัวในระดับต่ำ รับอานิสงส์ท่องเที่ยว-ส่งออกช่วยหนุน แจงจับตาเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลังแรงส่งยังไม่เสถียร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย   (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.2567 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จำนวน 3.04 ล้านคน  ตามจำนวนนักท่องเที่ยวลาว ยุโรป ไม่รวมรัสเซียและอินเดีย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ จีนและมาเลเซีย ชะลอลงบ้าง ส่วนหนึ่งเพื่อรอเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือน ก.พ. ขณะที่รายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนวันพักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวต่อนักท่องเที่ยวระยะสั้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้น หลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้าโดยเฉพาะ 1.สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวขาวไปยังอินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย 2.สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการส่งออกอุปกรณ์สื่อสารไปฮ่องกงและสหภาพยุโรป และ 3.ผลิตภัณฑ์เคมีและเคมีภัณฑ์  ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์เคมีไปยังอินเดียและญี่ปุ่น แม้การส่งออกปิโตรเคมีไปจีนยังลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกในบางหมวดปรับลดลง อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซีย  น้ำมันดีเซลไปอาเซียน และชิ้นส่วนประกอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell) ไปสหรัฐ

ขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง ตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน

 “ภาพรวมในเดือน ม.ค.2567 ดีขึ้นจากเดือน ธ.ค.2566 แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตามอง แม้ว่าแนวโน้มจะปรับดีขึ้นมาจริง แต่ก็ยังเป็นการขยายตัวได้ในระดับต่ำ ดังนั้นแรงส่งต่างๆ ยังไม่คล่องตัวมากนัก มีหลายปัจจัยที่ต้องจับตามอง แม้กระทั่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ตอนนี้อาจจะไม่ลงต่อ อยู่ในช่วงพักฐานแล้ว แต่ก็ต้องดูว่าจะกลับไปลงต่อหรือไม่ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ แต่ถ้าเทียบกับช่วงก่อนหน้าก็ถือว่าดีขึ้นบ้าง แต่ยังขยายตัวต่ำกว่าคาด ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวถือว่าขยายตัวได้ดีกว่าคาด” น.ส.ชญาวดีกล่าว

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสด จากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง   โดยการจ้างงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

อย่างไรก็ดี ในส่วนของด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ  เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ช้าออกไป หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าคาด

ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน ม.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.94% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.43% จากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมบางส่วนชะลอการผลิต

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 10.30% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งการกลับมาขยายตัวดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนีเอ็มพีไอหลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

"เศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน ก.พ.2567 เริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด จากแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐมีส่วนสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ทั้งยังจำเป็นต้องจับตามองปัญหาภาระหนี้สินภายในประเทศที่มีระดับสูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร" นางวรวรรณกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทักษิณเสือกทุกเรื่อง ฟุ้งกลับมาช่วยปชช.ลืมตาอ้าปาก/ไม่ครอบงำมีแต่อิ๊งค์สั่งพ่อ

เสื้อแดงแห่ต้อนรับ "ทักษิณ" ลงอุดรฯ ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียงครั้งแรกในรอบ 18 ปี