ก.ก.ถอยไม่ซักฟอก ร้อนตัวปัดชิ่งชำแหละทักษิณ/อิ๊งค์บินมี.ค.คารวะฮุนเซน

ราชทัณฑ์ร้อนตัว! แจงยิบขั้นตอนพักโทษ บอกชัดใช้มาตั้งแต่ปี 2479 พร้อมลิสต์รายชื่อคณะทำงานที่ร่วมอนุมัติ รัฐมนตรี-สส.เพื่อไทยดี๊ด๊าหวังพบนายใหญ่ "อุ๊งอิ๊ง" ขอพ่อแม้วหายดีก่อน จ่อหอบ กก.บห.บินกัมพูชา “บิ๊กทิน” รีบปัดไม่มีหารือเรื่องเกาะกูดกับฮุน เซน แต่รับมีเกริ่นๆ ช่วงฮุน มาเนต มาเยือน อึ้ง! ประธานวิปรัฐบาลบอกชาวบ้านอย่าเชิญ สส.ไปงานวันพุธ-พฤหัสบดี แค่ส่ง “พร้อมเพย์” มาก็พอแล้ว รัฐบาลเฮ! ประธานวิปฝ่ายค้านส่องไทม์ไลน์แล้วอาจไร้ศึกซักฟอกสมัยประชุมนี้

เมื่อวันอังคารที่ 27 ก.พ.2567 กรมราชทัณฑ์ได้ออกเอกสารข่าวเกี่ยวการพักโทษ ระบุว่า จากกระแสสังคมในปัจจุบันที่ตั้งคำถามต่างๆ นานาต่อการพักการลงโทษ กรมราชทัณฑ์จึงขอให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารโทษในบริบทของงานราชทัณฑ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และมองเห็นภาพการทำงานได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้  1.กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2561  ระบุให้กรมมีหน้าที่และอำนาจกําหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแลตามหน้าที่ และอํานาจของกรมให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายของกระทรวง หลักอาชญาวิทยา และทัณฑวิทยา ตลอดจนข้อกําหนดมาตรฐานขั้นต่ำสําหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และข้อเสนอแนะในเรื่องที่เกี่ยวข้องขององค์การสหประชาชาติ

2.การพักการลงโทษ เป็นอำนาจ หน้าที่หนึ่งที่เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักทัณฑปฏิบัติ ซึ่งดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการพักการลงโทษเป็นการบริหารโทษที่กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามที่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 เป็นต้นมา ซึ่งเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ก็ยังคงระบุเรื่องการพักการลงโทษไว้เช่นเดิมไม่ใช่เรื่องใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้น

3.การพิจารณาการพักการลงโทษ ตั้งแต่ขั้นตอนในชั้นเรือนจำและทัณฑสถาน ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ได้ระบุให้มีบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัย โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำ/ผู้อำนวยการทัณฑสถานเป็นประธานร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนคุมประพฤติ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าพนักงานเรือนจำซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำแต่งตั้ง โดยเสนอผลการพิจารณาไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาเห็นชอบพักการลงโทษ  ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม, รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, อธิบดีกรมคุมประพฤติ, อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, อธิบดีกรมราชทัณฑ์, อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), เลขาธิการ ปปส., ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม, ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมการปกครอง, ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ, ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ, ผู้อำนวยการกลุ่มงานพักการลงโทษ และหัวหน้าฝ่ายพักการลงโทษ

 “สถิติในทุกๆ ปี กรมราชทัณฑ์มีการปล่อยตัวพักการลงโทษไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นราย โดยปี 2566 กรมราชทัณฑ์ได้ปล่อยตัวพักการลงโทษกรณีปกติ 10,552 คน พักโทษกรณีพิเศษ 1,776 คน รวมทั้งสิ้น 12,328 คน”

นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ว่าอยากให้ลูกพรรคได้ไปพบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน แต่ น.ส.แพทองธารได้เกริ่นไว้ว่าตอนนี้อยากให้นายทักษิณได้พักฟื้นร่างกายให้แข็งแรงก่อน และนายทักษิณก็ยังไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้เหมือนคนปกติ เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ฉะนั้นหากจะไปไหนก็ต้องรอให้อาการเจ็บป่วยของนายทักษิณดีขึ้นก่อน และคงต้องพูดคุยถึงว่าเมื่อไหร่จะพร้อมที่ สส.จะมีโอกาสพบท่าน แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมาที่พรรคเพื่อไทยหรือไม่ และไม่ได้เตรียมสถานที่เอาไว้

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงกำหนดวันจะไปเยี่ยมนายทักษิณที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้าว่า มีแต่ยังไม่กำหนดวัน ขอดูโอกาสที่เหมาะสม

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการเข้าเยี่ยมนายทักษิณว่า อยากให้พักผ่อนอยู่ที่บ้านกับครอบครัว แต่ถ้าเรียกมาก็จะไป เพราะไม่ได้มีข้อห้ามอะไร ซึ่งการไปพบถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไปยกมือไหว้ กราบไหว้ แสดงความยินดีถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเคยทำงานกับนายทักษิณมานาน และตัวนายทักษิณเองก็มีคุณงามความดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองมากมายมหาศาล การจะไปขอความคิดเห็นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และกฎหมายไม่ได้ห้ามอะไร การไปพบก็ถือเป็นประโยชน์ ก็ควรไปฟังบ้าง เพราะแม้แต่คนจากประเทศอื่นหลายประเทศก็ยังไปขอคำปรึกษา เหตุใดทำไมเราจะไม่ใช้คนที่มีความคิดดีๆ ต่อบ้านเมือง ดังนั้นหากมีโอกาสก็อยากจะไปพบ แต่นายทักษิณยังไม่ได้เรียกจึงไม่ได้ไป

มั่นใจ ‘เศรษฐา’ อยู่ครบ 4 ปี

  “ฝ่ายที่จะไปพบนายทักษิณน่าจะเป็นฝ่ายบริหารมากกว่า อาจไปขอคำแนะนำซึ่งก็ไม่ทราบ แต่ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา นายทักษิณไม่เคยมาแทรกแซง รวมถึงในพรรค พท.ก็ไม่เคยโทรศัพท์มาหาพวกผม เพราะขนาดเป็นประธาน สส.มา 2 สมัยแล้วก็ไม่เคยมาสั่งการแม้แต่เรื่องเดียว จึงถือว่านายทักษิณไม่ได้มาแทรกแซงอะไร แต่ถ้าผมมีโอกาสก็จะหาเวลาไปเยี่ยมบ้าง แต่ต้องแล้วแต่ว่านายทักษิณจะให้โอกาสเมื่อไหร่”

ส่วนนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทยมีนายกฯ 2-3 คนว่า ประเทศไทยมีนายกฯ คนเดียวคือนายเศรษฐา ทวีสิน เพราะเป็นนายกฯ ที่มาตามรัฐธรรมนูญ และจากการทำงานหนักของนายเศรษฐากว่า 6 เดือน เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนสัมผัสได้ว่านายเศรษฐาคือนายกฯ ตัวจริง ทำให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานว่าประเทศไทยมีนายกฯ คนเดียว และนายเศรษฐาจะเป็นนายกฯ  ขวัญใจประชาชนในที่สุด รวมถึงในสายตานานาชาติ ที่ได้เห็นการทำงานที่ขยันขันแข็ง และมั่นใจนายเศรษฐาจะเป็นนายกฯ จนสิ้นสุดวาระของรัฐบาล

 “นายทักษิณนั้นถือเป็นอดีตนายกฯ ที่อยู่ในดวงใจของประชาชน เชื่อว่าทั้ง สส.พรรคเพื่อไทย และประชาชนคนไทยต่างก็อยากได้เจอนายทักษิณเช่นเดียวกับดิฉัน หากมีโอกาสก็อยากจะเข้าไปพบ หลังจากที่นายเศรษฐาเข้าไปพบนายทักษิณแล้ว โดยเฉพาะคนอีสานยังคงคิดถึงนายทักษิณ หลายคนบอกว่าเตรียมผ้าขาวม้ามาแล้ว อยากจะไปผูก อยากจะไปกอดนายกฯ ทักษิณ เตรียมกับข้าว นี่คือความรู้สึกผูกพันที่ประชาชนมีต่อนายทักษิณ”นางมนพรกล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงวาทกรรมมีนายกฯ 2-3 คน ว่าจะกี่คนก็แล้วแต่ แต่เวลาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นมีคนเดียวคือนายเศรษฐา และเป็นเรื่องปกติที่นายกฯ จะต้องมีทีมที่ปรึกษาที่เก่ง การบอกว่ามีนายกฯ 2-3 คน อาจเป็นการที่นายกฯ ขอคำปรึกษากลุ่มต่างๆ ถ้าอย่างนั้นจะบอกได้หรือไม่ว่ามีนายกฯ 20 คน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ ตามทีมที่ปรึกษาจะให้ข้อมูล แต่ท้ายที่สุดนายกฯ  มีเพียงหนึ่งเดียวในการตัดสินใจ และดำเนินการตามครรลองของ ครม.

ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กล่าวถึงกระแสการปรับ ครม.ในส่วนของ กษ.ว่า ไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของนายกฯ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าอาจถูกปลดจากตำแหน่งนั้น ก็แล้วแต่ท่านนายกฯ ไม่ได้ข่าว พร้อมหันมาพูดกับสื่อมวลชนว่า “ใครจะรู้ดีเท่าพี่ มีแต่ข่าวลือ แต่ข่าวจริงอยู่ที่นี่”

วันเดียวกัน ที่พรรคเพื่อไทย นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรค พท. กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. ตอบรับคำเชิญจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดี  เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกฯ กัมพูชา เดินทางไปเยือนกัมพูชาภายในเดือน มี.ค.นี้ว่า เป็นการไปเยี่ยมเยือนเพื่อสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยจะหารือเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ โดย น.ส.แพทองธารจะเดินทางไปพร้อมกับคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค พท. ส่วนจะมีใครบ้างนั้นจะหารือกันอีกครั้ง 

เมื่อถามว่า จะพูดคุยเรื่องนายวันเฉลิม  สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือไม่ นายดนุพรกล่าวว่า ยังไม่ได้ประชุมว่าจะพูดคุยเรื่องอะไรบ้าง แต่โดยปกติแล้ว หากเป็นการเชิญระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลของสองประเทศ เราจะไม่พูดคุยถึงเรื่องส่วนบุคคล แต่จะเป็นการแลกเปลี่ยนนโยบายของพรรค เราจะพูดคุยกันถึงเรื่องเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าที่จะนำเรื่องส่วนตัวของใครไปนั่งพูดคุยกันบนโต๊ะประชุม แต่แน่นอนว่าหากเรื่องนี้สังคมให้ความสนใจ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ กก.บห.จะนำไปประชุมกัน

‘บิ๊กทิน’ ปัดหาเรื่อง ‘เกาะกูด’

ขณะที่นายสุทินกล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นทับซ้อนไทยกับกัมพูชาว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ซึ่ง กต.จบอย่างไร กระทรวงกลาโหมก็รักษาแนวเขตนั้นให้  กห. ไม่ใช่เป็นฝ่ายไปเจรจา ส่วนที่ กห.อยู่ในคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) นั้นก็จะมีบางเรื่องที่เราคิดว่ามีเรื่องความมั่นคงเข้าไปด้วย อาจต้องนำความเห็นของ กห.ไปร่วมด้วย ส่วนเรื่องเกาะกูดยังไม่มี

เมื่อถามว่า มีความเชื่อมั่นในตัวนายทักษิณว่าจะไม่ไปเจรจาเรื่องนี้จนทำให้ไทยเสียเปรียบใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า เชื่อว่าไม่มี ทุกคนอยู่ในที่แจ้งหมด และท่านก็ระมัดระวังอยู่ ส่วนปัญหาเรื่องเกาะกูดนั้น เรื่องว่าเรื่องนี้ไม่มีวาระซ่อนเร้น และน่าจะออกมาดี ทุกคนทำด้วยสุจริตใจ เพราะสังคมดูอยู่แล้ว 

เมื่อถามย้ำว่า ต้องคุยกับกัมพูชาอีกรอบหรือไม่ว่าจะไม่เอาพื้นที่เกาะกูดไปเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชา นายสุทินกล่าวว่า อันนี้ต้องถามทาง กต. ซึ่งความคืบหน้าการพูดคุยในปัจจุบันนั้น ยอมรับว่ามันหยุดไปพักนึง ตอนนี้อาจเริ่มคุยกัน เพราะตอนนั้นเป็นคนละรัฐบาล บรรยากาศการพูดคุยของแต่ละรัฐบาลไม่เหมือนกัน และเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะพูดอะไรก็ต้องระมัดระวัง

ถามอีกว่า การที่สมเด็จฮุน เซน เดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณ คิดว่าคุยกันเรื่องนี้หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่พูดเรื่องนี้หรอก และในช่วงที่สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนไทย ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องนี้ เพียงแต่คุยว่าเรื่องนี้ต้องคุยให้เกิดประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และระมัดระวังอย่าให้เป็นเรื่องที่ต้องทะเลาะกัน ก็เท่านั้น

ส่วนนายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวถึงกระแสข่าวนายทักษิณหารือประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชากับสมเด็จฮุน เซน ว่าอดีตนายกฯ ไม่ได้เจรจาเรื่องดังกล่าว ขอให้ยุติการสร้างความสับสนในเรื่องนี้ เพราะการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลซึ่งจะมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาระหว่างสองประเทศ และคณะกรรมการนี้ปกติประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านความมั่นคง และอื่นๆ ซึ่งเชื่อมั่นในกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมแผนที่ทหาร และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่จะรักษาประโยชน์ของประเทศ

 “ผู้ให้ความเห็นในลักษณะที่ว่ามีคนไปแอบเจรจานั้นควรยุติเสีย เพราะการเจรจาเรื่องนี้เป็นไปตามกรอบเอ็มโอยูปี 2544 ไม่สามารถไปงุบงิบเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์กันได้โดยคนไม่กี่คน และต้องเจรจาโดยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ขอให้ประชาชนได้สบายใจ อย่าเชื่อการบิดเบือนใส่ร้ายและสร้างความสับสนของบุคคลบางกลุ่ม” นายนพดลกล่าว

ขณะเดียวกัน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการปรับวันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่สำนักงบประมาณรายงานว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 เร็วกว่าที่กำหนดไว้ตามปฏิทินจึงได้ปรับพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้เร็วขึ้น และทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้จากเดิมวันที่ 17 เม.ย. เป็นวันที่ 3 เม.ย.2567

มีรายงานว่า นายเศรษฐาได้ลงนามหนังสือคำสั่งนายกฯ เรื่องการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) โดยแต่งตั้งให้นายวิสุทธิ์ทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาล  และให้นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรค พท. เป็นรองประธานวิปรัฐบาลคนที่หนึ่ง, นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เป็นรองประธานวิปรัฐบาลคนที่สอง, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. พรรค พท. เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม และเพิ่มนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เป็นวิปรัฐบาล

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า อยากแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบว่าวันพุธและวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขอร้องประชาชนอย่าได้เชิญ สส.ไปเป็นประธานงานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะงานจะยุ่งมาก ในสภาอาจโหวตญัตติหรือข้อกฎหมายสำคัญต่างๆ ที่จะต้องบังคับใช้กับคนไทยทุกคน หาก สส.ถูกเชิญไปต่างจังหวัดในช่วงเวลาดังกล่าว จะถือว่าการทำหน้าที่ในสภาไม่สมบูรณ์

 “อย่าเชิญผู้แทนฯ ไปงานบวช งานบุญ งานแต่งเลยครับ ส่งพร้อมเพย์มาให้ผู้แทนฯ ก็ได้ เขาก็ดูแลอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราอยากให้ผู้แทนฯ อยู่ในสภา และเชื่อมั่นว่าผู้แทนฯ สมัยใหม่มีความรับผิดชอบ ซึ่ง สส.ฝ่ายรัฐบาลก็มีความพร้อมทำหน้าที่เป็นองค์ประชุม จึงไม่เกรงเรื่องสภาล่ม” นายวิสุทธิ์กล่าว

สำหรับความเคลื่อนไหวการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านนั้น นายวิสุทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก เพราะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่ายังไม่มีผลงาน เนื่องจากขณะนี้งบประมาณ 2567 ยังไม่ผ่านสภา ยืนยันว่ารัฐบาลมีผลงาน เพราะราคาอ้อยขึ้นตันละเกือบ 2,000 บาท ราคายางพาราขึ้นกิโลกรัมละ 64 บาท และข้าวก็ขึ้นราคา ส่วนผลงานต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมต้องรองบประมาณผ่านก่อน

ฝ่ายค้านแบไต๋ไร้อภิปราย

นายวิสุทธิ์กล่าวต่อว่า ส่วนการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 153 ของวุฒิสภานั้น เชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถชี้แจงได้ และทีมของรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายก็ได้เตรียมความพร้อมที่จะชี้แจงไว้แล้ว จึงไม่น่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายของวุฒิสภาหรือของฝ่ายค้าน

ขณะที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวในเรื่องนี้ว่า สว.จะเปิดอภิปรายทั่วไปปลายเดือน มี.ค. และในช่วงใกล้เคียงกันจะมีวาระ 2 ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ซึ่งดูจากไทม์ไลน์แล้วคิดว่าอาจยังไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไปในสมัยประชุมนี้

 “ต้องบอกตามตรงว่าซักฟอกที่เป็นอภิปรายไม่ไว้วางใจโอกาสมีน้อยมากจริงๆ เพราะรัฐบาลก็เพิ่งมา ยังไม่ได้ใช้งบประมาณที่ตนเองเป็นคนทำเลยแม้แต่บาทเดียว” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

เมื่อถามว่า ยืนยันแน่นอนว่าไม่เปิดอภิปรายใช่หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ยังไม่ยืนยัน 100% แต่ยอมรับว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงนี้เป็นไปได้ยาก ส่วนการอภิปรายทั่วไป เราก็ยังพูดคุยกันอยู่ว่าถ้ายังไม่มีเรื่องงบประมาณด้วย ช่วงเวลาที่รัฐบาลทำงานอาจยังไม่ได้เยอะมากพอ หรือยังไม่มีประเด็นที่ใหญ่มากที่จะเปิดอภิปราย แต่หากมีประเด็น เราก็พร้อม สมมติเปิดวันเดียว เปิด 2 วันก็เปิดได้

“ถ้าเปิดแล้วไม่มีคุณภาพ ไม่เปิดดีกว่า เราใช้วาระทั่วไปเหมือนกระทู้สดที่ถามทุกสัปดาห์ก็ได้ ควรใช้เมื่อเหมาะสม และมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ส่วนเรื่องนายทักษิณที่ถูกมองว่าฝ่ายค้านไม่กล้าแตะนั้น ก็เพิ่งถามกระทู้ไป ลำพังพรรคก้าวไกลเองถามไป 2 รอบแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่เราใจดีหรือโอนอ่อนอะไรไป ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล” นายปกรณ์วุฒิกล่าว และว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นค่อนข้างตรงกันว่า ถ้าเป็นเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์และเป็นข้อมูลที่หนักแน่นแล้ว ก็พร้อมเปิดอภิปราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป

บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด

ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ

ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ

“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ