จี้แบงก์แบกรับ หลอกออนไลน์ เตือนภัย5ลิงก์!

"ซูเปอร์โพล" เผยประชาชนชี้เงินถูกโจรกรรม "แบงก์" ต้องรับผิดชอบ หนุนยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์วาระแห่งชาติ "รมว.ดีอี" เตือนอย่าหลงเชื่อแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ AOC ลวงลงทุน ยันติดต่อช่องทางเดียวสายด่วน 1441 ไม่มีเฟซบุ๊ก-ไลน์ ตร.  ย้ำ 5 ลิงก์มหาภัย “ห้ามกด ห้ามกรอก ห้ามติดตั้ง”

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายนพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน  ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง  เปิดเผยว่า ในฐานะผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่เป็นอีกบทบาทหนึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายตำรวจแห่งชาติ ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีแนวโน้มของปัญหาเดือดร้อนของประชาชนเพิ่มขึ้นมาจากกรณีเงินถูกโจรกรรมในโลกออนไลน์ที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง สำนักวิจัย ซูเปอร์โพลจึงได้ทำการศึกษา "เงินถูกโจรกรรม ใครต้องรับผิด" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,125 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-24 ก.พ.2567

โดยเมื่อถามถึงเงินถูกโจรกรรมจากกลุ่มโจรไซเบอร์ ใครต้องรับผิด ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 ระบุธนาคารผู้รับฝากเงิน รองลงมาคือร้อยละ 56.4 ระบุโจรไซเบอร์, ร้อยละ 31.8 ระบุประชาชนเจ้าของบัญชี, ร้อยละ 23.0 ระบุธนาคารแห่งประเทศไทย และร้อยละ 13.5 ระบุตำรวจ ตามลำดับ เมื่อถามถึงความรู้สึกกังวลต่อความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินจากโจรไซเบอร์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 กังวลมากที่สุด, ร้อยละ 6.4 กังวลมาก, ร้อยละ 3.4 กังวลค่อนข้างน้อยและเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นกังวลน้อยถึงไม่กังวลเลย

ที่น่าพิจารณาคือ ความเห็นต่อการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขกฎหมายดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของชาติให้มากยิ่งขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.3 เห็นด้วยอย่างยิ่ง, ร้อยละ 26.8 เห็นด้วย, ร้อยละ 3.3 ค่อนข้างเห็นด้วย และเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้นไม่ค่อยเห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วย

ที่น่าเป็นห่วงคือ วลีและประโยคสำคัญสะท้อนความรู้สึกและข้อเสนอแนะจากประชาชนต่อทุกภาคส่วนรับผิดชอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ เงินของประชาชนในระบบออนไลน์ ได้แก่ ธนาคารไม่ใส่ใจ ไม่กระตือรือร้น ไม่ช่วยเหลือลูกค้าผู้ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ให้ทันเวลา เอาผิดธนาคารที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์ มีช่องโหว่ ถูกโจรกรรม ข้อมูลลูกค้ารั่ว ธนาคารต้องรับผิดชอบทุกกรณี เพราะลูกค้าเชื่อว่า ธนาคารปลอดภัยจึงเอาเงินไปฝาก มีกฎหมายเอาผิดธนาคารที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอายัดบัญชีคนร้ายทันที จำกัดวงเงินในการโอนแต่ละครั้งแต่ละวัน แก้กฎหมายเพิ่มโทษโจรไซเบอร์ เพิ่มจำนวนตำรวจปราบโจรไซเบอร์ ทำให้ตำรวจมีเทคโนโลยีทันสมัยเชื่อมโยงตามคนร้ายได้เร็ว รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเท่าทันโจรไซเบอร์ ควรแก้กฎหมายให้ครอบคลุมและทันการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโจรไซเบอร์ และเพิ่มโทษกฎหมายเอาผิด หน่วยงานรัฐ เอกชน ต้นทางทำข้อมูลสำคัญของประชาชนรั่วไหล เป็นต้น

นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาคุยกันจริงจังเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า สิ่งที่ต้องทำ 3 เรื่องเร่งด่วนคือ จำเป็นต้องยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติ และมีการแก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่ ให้ทุกหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสำคัญด้านความมั่นคงของชาติ เสาหลักของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต้องรับผิดชอบและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น 2.จำเป็นต้องบริหารจัดการทรัพยากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้เหมาะสมทันต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น การนำโมเดลรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างผู้ใช้บริการ-คู่ค้า กับผู้ให้บริการมาประยุกต์ใช้ และ 3.จำเป็นต้องมีการรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ทุกภาคส่วนของสังคมอย่างจริงจังต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงใช้บริษัทสัญชาติต่างชาติมาดูแลระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย

"เสนอให้ 'ขึ้นบัญชีดำโจรไซเบอร์'  และการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำของรูปแบบโจรไซเบอร์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ไม่ให้มาสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนได้อีก โดยยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงกฎหมายครั้งใหญ่บังคับใช้ให้ทุกภาคส่วนเกิดความรับผิดชอบ และสำนึกรับผิดชอบ เสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ของชาติและประชาชนให้แข็งแกร่งมั่นคงมากยิ่งขึ้น" นายนพดลระบุ

วันเดียวกัน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ชี้แจงถึงกรณีชาย 66 ปี ถูกหลอกลงทุนพยายามฝากเงิน 2 แสนให้มิจฉาชีพ โดยได้สนทนาไลน์กับบุคคลหนึ่งชื่อว่าฝ่ายปฏิบัติการ AOC ซึ่งอ้างว่าเป็นตำรวจให้ร่วมลงทุน   ชายคนดังกล่าวหลงเชื่อและโอนเงินไปฝากหลายครั้ง รวมทั้งสิ้นกว่า 100,000 บาท ในแชตสนทนาบอกอีกว่าหากต้องการถอนเงินทั้งหมดต้องโอนเงินไปฝากเพิ่มอีกกว่า 200,000 บาท และต้องโอนก่อนเวลา 21.00 น.นั้นว่า ปัจจุบันนี้ ศูนย์ AOC 1441 ติดต่อช่องทางเดียวเท่านั้น คือสายด่วน 1441 โดยสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่มีเพจเฟซบุ๊ก หรือ Line Official เป็นช่องทางติดต่อและไม่มีการโทร.หาประชาชนให้ลงทุนหรือให้โอนเงิน จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ

ทั้งนี้ AOC 1441 เป็นศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิส จัดตั้งโดยกระทรวงดีอี  ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหลอกลวงออนไลน์สำหรับประชาชน มีการจัดตั้งวอร์รูมเพื่อดำเนินการด้านคดีให้กับประชาชนแบบเร่งด่วนเชิงรุก โดยระงับ/อายัดบัญชีของคนร้ายให้แก่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกได้ทันที ใช้เวลา 15 นาที  ติดตามสถานการณ์แก้ไขปัญหาให้ผู้เสียหายทุกขั้นตอนได้ทันที เร่งการติดตามการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย เพิ่มประสิทธิภาพการจับกุม ดำเนินคดี และการขยายผลคดี หากพี่น้องประชาชนท่านใดตกเป็นเหยื่อโจรออนไลน์  สามารถแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ (เฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ที่เว็บไซต์นี้เท่านั้น www.thaipoliceonline.go.th หากมีข้อสงสัย สามารถโทร.ปรึกษาสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามหลัก “ห้ามกด ห้ามกรอก ห้ามติดตั้ง” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ โดยลิงก์ที่กลุ่มมิจฉาชีพมักนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด มี 5 รูปแบบดังนี้ 1. “ลิงก์ดูดเงิน” คือลิงก์ที่หลอกให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน หรือติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อทำธุรกรรมถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย 2. “ลิงก์หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล” คือลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีรูปแบบคล้ายกับเว็บไซต์ของผู้ให้บริการต่างๆ หากเหยื่อหลงเชื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัญชีผู้ใช้ หรือรหัสผ่าน กลุ่มมิจฉาชีพก็จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ  3.“ลิงก์หลอกลงทุน” คือลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์หรือติดตั้งแอปพลิเคชันลงทุนปลอม หลอกล่อให้ผู้เสียหายลงทุนในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง 4.“ลิงก์เว็บพนัน” คือลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์การพนันออนไลน์ อาจมีโปรโมชั่นหลอกล่อให้เหยื่อหลงเข้าไปเล่นการพนัน 5.“ลิงก์เงินกู้ปลอมหรือผิดกฎหมาย” คือลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์หรือบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่าใช้จ่ายในการกู้เงินก่อนแต่ไม่ได้รับเงินจริง หรือนำไปสู่เว็บไซต์ของกลุ่มเงินกู้นอกระบบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง