กรรมเช็กบิล! “ธีรยุทธ” หอบคำวินิจฉัยเซาะกร่อนบ่อนทำลายชง ป.ป.ช.แล้ว เผยประธานรับเรื่องและจะเร่งดำเนินการ ปูดจับตานิรโทษฯ ของสภาหากมีสอดไส้ 112 เจอดีแน่ ศาลรัฐธรรมนูญเปิดคำวินิจฉัยกรณี “พิธา” ถือหุ้นไอทีวีแล้ว “นครินทร์” เสียงข้างน้อยระบุชัดซุกหุ้นมายาวนาน “iTV” ยังไม่ขาดคุณสมบัติสื่อ
เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ก.พ.2567 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ขณะนั้น และพรรค ก.ก. เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีการรณรงค์ใช้หาเสียงเลือกตั้ง โดยนำสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 คดีดังกล่าวฉบับเต็มที่รับรองโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มายื่นแก่ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อใช้ประกอบคำร้องที่ได้ยื่นเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ขอให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของนายพิธา และ 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว
นายธีรยุทธยังกล่าวว่า ในการยื่นสำเนาดังกล่าว ได้สอบถามเจ้าหน้าที่และได้รับแจ้งว่าเป็นความเมตตาของประธาน ป.ป.ช.ที่จะรับเรื่อง และจะเร่งรีบรวบรวมพยานหลักฐาน โดยจัดตั้งเป็นคณะทำงานหรือคณะไต่สวนต่อไปเร็วๆ นี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนการดำเนินการกับ 44 สส.ที่ร่วมลงชื่อและขับเคลื่อนนั้น ขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานและข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เบื้องต้นจะเตรียมการเรื่องคำชี้แจงของนายพิธา และนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะขออนุญาตศาลคัดถ่ายคำให้การในชั้นไต่สวนพยานเปิดเผย ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยเพื่อยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ป.ป.ช. เพื่อทั้ง 2 หน่วยจะมีคำสั่งเรียกนายพิธาและนายชัยธวัชเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง โดยทั้ง 2 หน่วยงานสามารถใช้คำชี้แจงหรือคำให้การที่เคยให้ไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณาไต่สวนได้
นายธีรยุทธกล่าวว่า นอกจากการติดตามเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แล้ว ขณะนี้ยังติดตามความพยายามผลักดันความผิดตามมาตรา 112 ให้ไปอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรม เนื่องจากความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่ความผิดในทำนองทางการเมือง แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง ซึ่งอยู่คนละหมวดกัน เพราะศาลวินิจฉัยว่าการกระทำลักษณะ 112 ภายนอกสภา มีผู้รับทอดเข้ามาสู่สภา โดยผ่านกระบวนการซ่อนเร้น ใช้การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าสู่สภา
“การรณรงค์มาตรา 112 การตั้งม็อบ การตั้งขบวนต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อเจตนาต้องการทำลายการปกครอง ก็เท่ากับว่ามีเจตนาที่ไม่ดี มีเจตนาไม่ให้การเมืองมีอยู่ ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าเป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง ผมมองว่าไม่ใช่ เมื่อคุณทำลายการปกครอง ไม่ให้การเมืองมีอยู่ ข้อขัดแย้งก็ไม่มีอยู่ตามมาด้วย แต่คณะนิติบัญญัติที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการกำลังมองว่าการปกครองยังมีอยู่ ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันในทางการเมืองก็เลยยังมีอยู่ หากประสงค์จะล้างความขัดแย้ง ปลดปล่อยความวิตกกังวลต่างๆ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข ต่างกับคณะรณรงค์ 112 ผมจึงเห็นว่าหากได้บรรจุความผิดมาตรา 112 เข้าสู่กฎหมายนิรโทษกรรมจะตามไปดำเนินการบางอย่าง แต่ยังไม่ขอเปิดเผย” นายธีรยุทธกล่าว
เมื่อถามว่า มองว่าการแก้มาตรา 112 โดยชอบ ตามที่ศาลวินิจฉัยเอาไว้ควรจะเป็นอย่างไร นายธีรยุทธกล่าวว่า ยังเชื่อตามที่ศาลวินิจฉัยแล้ว ซึ่งไม่ได้ปิดประตูการแก้กฎหมาย แม้กระทั่งการแก้มาตรา 112 เพียงลักษณะที่พรรคก้าวไกลเสนอและประชาสัมพันธ์ไปยังสื่อสารมวลชน ใช้เป็นนโยบายหาเสียงมาตลอด ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นทำไม่ได้ เช่น การย้ายหมวด
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางในคดีที่ศาลมีมติ 8 ต่อ 1 ว่าสมาชิกภาพ สส.ของนายพิธาไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จากเหตุมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เนื่องจากในวันที่พรรค ก.ก.ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. แม้นายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในไอทีวี แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่าไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดแล้ว
ขณะเดียวกัน ก็ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ซึ่งคดีนี้ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ว่าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นตุลาการเสียงข้างน้อยเพียงคนเดียวที่เห็นว่า การที่นายพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธาสิ้นสุดลง โดยคำวินิจฉัยของนายนครินทร์ระบุเหตุผลตอนหนึ่งว่า เมื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังไม่ดำเนินการใดๆ อันจะถือได้ว่ามีเจตนาที่จะเลิกบริษัท ก็ยังต้องถือว่ามีเจตนาจะยังดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน อันเป็นวัตถุประสงค์หลักที่ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ส่วนการจะดำเนินธุรกิจหรือประกอบกิจการหรือไม่นั้น เป็นเรื่องภายในของไอทีวีโดยเฉพาะ
คำวินิจฉัยของนายนครินทร์ยังระบุว่า ยังเห็นว่าไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าในวันที่ 5 ก.ย.2550 นายพิธาเป็นผู้รับโอนหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก หรือถือครองหุ้นไว้แทนทายาทอื่น มีเพียงเอกสารหลักฐานซึ่งเชื่อได้ว่า ในวันที่ 5 ก.ย. นายพิธาในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนหุ้นของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ (บิดา) เจ้ามรดก มาเป็นของนายพิธา ดังนั้นนายพิธาจึงเป็นผู้ถือหุ้นในไอทีวีนับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. ส่วนที่นายพิธาอ้างว่าได้โอนหุ้นดังกล่าวให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ น้องชายในวันที่ 24 มิ.ย.2562 ที่ปรากฏชื่อตนเองเป็นผู้ครอบครองหุ้นจนถึงวันที่ 25 พ.ค.2566 จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็เป็นเพียงการครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่น เช่น ใบหุ้นซึ่งได้สลักหลัง หรือการลงทะเบียนการโอนหุ้น การโอนหุ้นเช่นนี้จึงไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อนายพิธายังคงมีชื่อปรากฏอยู่ในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของไอทีวีนับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2550 เรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 จึงโอนหุ้นดังกล่าวให้นายภาษิณ จึงต้องถือว่านายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในไอทีวีนับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2550 จนถึงวันที่ 25 พ.ค.2566 “ที่อ้างว่ามูลค่าหุ้นที่ถือนั้นมีจำนวนน้อยไม่สามารถครอบงำกิจการได้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ไม่จำต้องพิจารณาว่ามีอำนาจในการครอบงำ กิจการหรือบริษัทหรือไม่ จึงเห็นว่าในวันที่ 4 เม.ย.2566 ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต.โดยมีชื่อนายพิธาอยู่ในบัญชีลำดับที่ 1และวันดังกล่าวนายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในไอทีวีเป็นลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) กรณีจึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6)”
วันเดียวกัน นางอาจารี ศรีสุนาครัว รักษาราชการแทนผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง กล่าวถึงสภาพร่างกายของ น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.เนติพรที่ประกาศอดอาหารระหว่างคุมขังพิจารณาคดีว่า น.ส.ทานตะวันมีอาการอ่อนเพลีย จึงได้ส่งเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ราชทัณฑ์ตั้งแต่วันแรก จากนั้นได้ส่งตัวไปเข้ารับการรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้รับรายงานว่า น.ส.ทานตะวันยังคงให้การช่วยเหลือตัวเองได้ดี แต่มีอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากอดอาหารมาหลายวัน แต่ยังไม่ได้อยู่ในขีดอันตราย ส่วน น.ส.เนติพร แม้อดอาหารมาหลายวันแล้ว ก็ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่มีอาการร่างกายอ่อนเพลีย ส่วนถ้าหลังจากนี้มีอาการถึงขั้นที่จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เราก็จะส่งไปเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ราชทัณฑ์.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน