อึ้ง!นายกฯชม ชัชชาติแก้ฝุ่น ผลงานเข้าตา

“เศรษฐา” ห่วงแท็กซี่-ไกด์ผี   มะเร็งกัดกร่อนท่องเที่ยว สั่ง ตร.จัดการ พร้อมป้อง “ชัชชาติ” แก้ฝุ่นได้ผล ปีนี้ลดลงกว่าปีก่อน สั่ง “พวงเพ็ชร” ช่วยประชาสัมพันธ์ กสม.แนะ กม.อากาศสะอาด ประชาชนต้องมีส่วนร่วม คนก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ห้องรัตนโกสินทร์  ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร กทม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าในการเร่งรัดการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมีนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายเศรษฐากล่าวตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ทำอยู่ในหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ต้องยอมรับว่าขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ และแม้จะมีการสนับสนุน ก็อาจจะไม่รวดเร็วทันใจ หลายๆ คนจะต้องเข้ามาช่วยกันทำให้ดีขึ้น วันนี้ไม่ได้เป็นการมาต่อว่า แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ได้มาพบปะกัน และอยากจะขอหลังจากนี้ให้มีการประสานงานของแต่ละฝ่ายกับทาง กทม. โดยให้นางพวงเพ็ชรเป็นผู้ประสาน อะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอยากให้ช่วยผลักดันให้เร็วขึ้น

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า ตอนนี้เป็นฤดูร้อน คงมีเวลา 2-3 เดือนก่อนที่ฝนจะตก ทางผู้บัญชาการทหารบกและกองทัพให้ความมั่นใจจะช่วยอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องการใช้รถก็เป็นปัญหา ถ้ารักษากฎจะดีขึ้น การจราจรที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่เราประสบปัญหากันมานาน เชื่อว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ได้ทำนโยบาย คิดว่าดีขึ้น เพียงแต่การสื่อสารของเราอาจจะยังด้อยไปนิด วันนี้เป็นการแข่งขันของโลก และอีกหลายๆ เมืองในต่างประเทศ เชื่อว่ารถติดมโหฬารมากกว่าเราเยอะ แต่ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่พัฒนาของเราต่อไป หากผู้ว่าฯ ทำอะไรดีๆ อยากให้มีการสื่อสาร และคิดว่านางพวงเพ็ชรช่วยได้ โดยผ่านหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะส่งผลกับเรื่องการท่องเที่ยวด้วย

นายกฯ ระบุว่า ส่วนการที่จะทำให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ ตนได้คุยกับผู้ประกอบการ เขาอยากให้ช่วยกันทำ ทางกรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคม น่าจะช่วยกันทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้นมาได้ ส่วนเรื่องของแท็กซี่ ตนคิดว่าเป็นปลายเหตุ ที่แท็กซี่ไม่ยอมกดมิเตอร์ จริงๆ ต้องเห็นใจเขาเหมือนกัน หากกดมิเตอร์ไปแล้วในช่วงที่รถติดจริงๆ  มิเตอร์ไม่ขึ้นเขาก็ไม่ได้เงิน เป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่จะต้องไปแก้ไขตรงนี้ จึงฝากไว้เรื่องระบบมิเตอร์ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ มีแล้ว ให้เปลี่ยนไปตามกลไกการแข่งขันที่สมบูรณ์จริงๆ ไม่ใช่ไรเดอร์มาได้เปรียบกว่าแท็กซี่ ตรงนี้น่าเห็นใจเหมือนกัน มันมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ตรงนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดัน

"เรื่องแท็กซี่ ไกด์ผีต่างๆ เป็นมะเร็งที่กัดกร่อนวงการท่องเที่ยวของประเทศไทย  ตรงนี้ต้องฝากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดูแลตรงนี้ดีๆ การที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอยากให้ก้าวแรกจนก้าวสุดท้ายเกิดความสะดวกสบายและมีความประทับใจ ไม่ว่าจะขั้นตอนต่างๆ ในสนามบิน หากหลุดมาแล้วเจอไกด์ผี เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม" นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐายังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหลายฝ่ายมองว่าเรื่องฝุ่น แม้ กทม.จะดำเนินนโยบายป้องกัน แต่เป็นเรื่องเดิมๆ    ว่าตนเห็นว่าจะต้องแฟร์กับทางเจ้าหน้าที่กทม.ทุกท่านด้วย ปัญหาฝุ่นมีทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้พิสูจน์ทราบได้ว่าปริมาณลดลงชัดเจน ผู้ว่าฯ กทม.เข้ามาเกือบ 2 ปีแล้ว ท่านได้ทำอะไรดีๆ หลายอย่าง ปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นใน กทม. เกิดจากการใช้รถยนต์ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราสามารถทำให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นได้ ถือเป็นเรื่องที่ดี ยืนยันทางรัฐบาลและกทม.ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ แต่จะให้ทั้งหมดกลายเป็นศูนย์เลยในระยะเวลานี้ มันคงไม่เป็นธรรมกับผู้ว่าฯ กทม.เท่าไหร่ เพราะท่านพยายามทำอย่างเต็มที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ความจริงจังและความจริงใจมีอยู่แล้ว

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า คิดว่าฝุ่นอาจจะมาจากด้านนอก กทม. เรื่องนี้เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ ในการออกมาตรการต่างๆ  เพราะจะกระทบกับชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเราได้มีการหารือกรมการขนส่งทางบก เรื่องการวางแผนระยะยาว ในการลดจำนวนรถเก่าลง ซึ่งคงจะเป็นเรื่องของกฎหมายที่จะค่อยๆ พัฒนาให้รอบคอบต่อไป

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนกรณีท่าเรือคลองเตย อยู่ในแผนวาระฝุ่นแห่งชาติอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 62 ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่อาจจะต้องมีการทบทวน ว่ามันเวิร์กหรือไม่เวิร์กขนาดไหน แต่จะเห็นตัวอย่างจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ท่าเรือที่อยู่ในเมืองเขาย้ายออกข้างนอก

ขณะที่นางพวงเพ็ชรกล่าวว่า ยินดีทำหน้าที่ผู้ประสานงานระหว่างรัฐบาลและกทม. เพื่อให้การดำเนินงานด้านต่างๆ  เห็นผลเป็นรูปธรรม และพร้อมสนับสนุนการทำงานด้านประชาสัมพันธ์ และตนจะหารือกับทาง สก. ควบคู่กับการพัฒนางานของ กทม. เรามี สก.ที่มาจากพรรคเพื่อไทยอยู่ถึง 24 คน ซึ่งมีการประสานงานสอดคล้องทั้งนโยบายรัฐบาลและนโยบายของทางกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าจะสามารถช่วยงานกันได้อย่างไร้รอยต่อและมีความเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น

วันเดียวกัน นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า สิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน ซึ่งรับรองโดยข้อมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ดังนั้น รัฐจึงมีพันธกรณีในการเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิดังกล่าวเป็นจริงด้วยมาตรการทางกฎหมาย บริหาร และตุลาการ

นายชนินทร์กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีว่าสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 ม.ค. มีมติรับหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด 7 ฉบับ มีเนื้อหาสาระเชิงบวกที่จะช่วยให้รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีในการส่งเสริม คุ้มครอง และทำให้ประชาชนบรรลุสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาดได้ อย่างไรก็ดี กสม.มีความกังวลว่าหากการจัดทำกฎหมายไม่ได้ถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการกำหนดข้อห้ามและบทลงโทษตามกฎหมายต่อกิจกรรมบางอย่าง เช่น การห้ามเผา หรือห้ามการใช้ยานพาหนะ อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การประกอบอาชีพและสิทธิของประชาชนบางกลุ่มอย่างไม่ได้สัดส่วน

รองเลขาธิการ กสม.ระบุว่า กสม.จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะ อาทิ การรับรองสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางสิ่งแวดล้อมไว้ในกฎหมาย ควรบัญญัติรับรองสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด ในส่วนของการห้ามเผาในที่โล่ง ควรให้บทบาทแก่ท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยให้คำนึงถึงความรุนแรงของสภาวะมลพิษ วิถีวัฒนธรรม ความเป็นธรรมและเหลื่อมล้ำทางสังคม ความจำเป็นในการเผาในที่โล่ง และผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ส่วนการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ ควรเปิดช่องให้มีการออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นนอกจากการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ นอกจากนี้ ในเรื่องความรับผิดและบทกำหนดโทษตามกฎหมาย ควรคำนึงถึงหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และหลักความเป็นธรรม รวมถึงควรยกเลิกการใช้โทษทางอาญา และเปลี่ยนโทษปรับเป็นพินัย ซึ่งเอื้อให้เกิดการบังคับโทษอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมกับผู้กระทำความผิดแต่ละรายมากกว่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง