ผู้ว่าฯธปท.ย้ำศก.ไม่วิกฤต

“ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” ให้สัมภาษณ์สื่อนอก ย้ำอีกครั้ง เศรษฐกิจไทยไม่วิกฤต ไม่ควรเร่งลดดอกเบี้ย ชี้ลดไปก็ไม่ช่วยดึงจีนใช้จ่าย ห่วงนักลงทุนไม่เชื่อมั่น เหตุรัฐบาลอัดธนาคารกลาง ส่วน "เศรษฐา" เหน็บห่วงจีน ไม่มีเรื่องประชาชนเลย ลั่นเราอยู่ในสังคมที่เจริญและพัฒนาแล้ว คุยกันได้

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวนิกเกอิ   (Nikkei Asia) โดยระบุว่า ธนาคารกลางไม่ดันทุรัง (not dogmatic) เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่สูงในรอบ 10 ปี แต่เรียกร้องให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เป็นลบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากอุปสรรคทางการเมืองทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า

 “ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะไม่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลต้องกระจายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่รองรับการเติบโตที่ช้า” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

นายเศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า แรงกดดันทางการเมืองต่อธนาคารกลางเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบติดต่อกัน 4 เดือน ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดหนุนพลังงานของรัฐบาล ควบคู่ไปกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการส่งออกที่หดตัว แต่ในการประชุมวันที่ 7 ก.พ. ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ปฏิเสธเสียงเรียกร้องของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ที่เรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ กรณีที่นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องอีกครั้ง ให้ ธปท.จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉุกเฉินก่อนการประชุมปกติครั้งต่อไปในวันที่ 10 เม.ย.2567

นายเศรษฐพุฒิกล่าวถึงความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ว่า  “เป็นมืออาชีพ” และ “จริงใจ” แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ทัศนคติของรัฐบาลต่อธนาคารกลางทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 “มีความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลาง ซึ่งยังคงอยู่ตรงนั้นเสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทำงานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่าเรามีบทบาทที่แตกต่างกันในการปฏิบัติตามกฎหมาย” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

ด้านนายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ว่า ก็ เป็นสิทธิ์ของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่ระบุว่ายังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่หน้าที่ของตนคือการอธิบายให้ฟังถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ความเป็นอิสระ และความที่เราไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่ตนเชื่อว่าตนและผู้ว่าฯ ธปท. มีความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 “ที่มีการเรียกร้องไป ผมคิดว่าผมมีเหตุผล และ 3 ข้อที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยไปไม่ได้ เรื่องของปิโตรเลียม เรื่องนักท่องเที่ยวจีน เรื่องอะไรต่อมิอะไร และเรื่องจับจ่ายใช้สอยที่งบประมาณยังไม่ลงมารวดเร็ว เรื่องเหล่านี้ผมเชื่อว่ามีการพูดคุยกันอยู่แล้ว ให้จีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น ให้นักท่องเที่ยวจีนมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากยิ่งขึ้น ในส่วนของงบประมาณเองทุกคนก็ทราบกันดีอยู่ว่าเราใช้นโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งตอนแรกคาดว่าจะใช้ได้เดือนพฤษภาคม แต่มีความเป็นไปได้มากว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้ในเดือนเมษายน เรื่องนี้ทุกฝ่ายก็พยายามทำกันอยู่แล้ว” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า ในเรื่องของประชาชน ความเดือดร้อนเป็นเรื่องสำคัญ และที่ท่านผู้ว่าฯ ธปท.พูดออกมา 3 ข้อไม่มีเรื่องประชาชนเลย ผมอยากให้ท่านกลับไปคิดว่าวันนี้ประชาชนเดือดร้อน เราช่วยกันได้ ก็คงต้องพูดคุยกันต่อไป

เมื่อถามว่า ในส่วนรัฐบาลได้ส่งสัญญาณไปแล้วถึง 3 ครั้ง นายกฯ กล่าวว่า ตนก็จะทำครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 ต่อไป แล้วดูซิว่าคนอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราอยู่ในสังคมที่เจริญและพัฒนาแล้ว มีความเห็นต่างก็พูดคุยกันได้ ไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้ง หรือมีบรรยากาศที่ไม่ได้ทำงานร่วมกัน แม้วันนี้จะยังไม่ได้รับการขานรับก็ยังต้องคุยต่อไป และพยายามต่อไปใช้เหตุและผล ตัวเลขการชี้นำของเศรษฐกิจต่างๆ ก็บ่งบอกอะไรหลายๆอย่าง

เมื่อถามว่า การที่ผู้ว่าฯ ธปท.บอกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดจะส่งผลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน นายกฯ กล่าวว่า นี่ครัวเรือนปัจจุบันก็สูงอยู่แล้ว และคนที่ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แล้วดอกเบี้ยค้างจ่ายไปอยู่ที่ไหน ก็ไปอยู่ที่หนี้ครัวเรือนก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันเดียวกันนี้ นายเศรษฐาแถลงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” โดยเป็นการกล่าววิสัยทัศน์ 8 ด้าน ได้แก่ 1.ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว 2. ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ 3.ศูนย์กลางอาหาร 4.ศูนย์กลางการบิน 5. ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค 6.ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต 7.ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และ 8.ศูนย์กลางทางการเงิน ทั้งนี้ มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หัวหน้าส่วนราชการ ปลัดกระทรวง อธิบดี ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน เข้าร่วม

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ด้วยข้อได้เปรียบทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ภูมิอากาศที่อบอุ่น ตลอดปีโครงสร้างที่พร้อมต่อยอด และที่สำคัญคือศักยภาพของคนไทย ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ (Medical Hub) เพราะระบบพยาบาลของประเทศไทยเรา เป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เรามั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นจุดศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล คนไทยไม่ได้เก่งน้อยในด้านเทคโนโลยี แต่เราขาดโอกาส  ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการที่จะเข้าสู่ดิจิทัล ทำให้เกิดเจ้าสัวน้อยในวงการอุตสาหกรรมได้ เรามีบุคลากร มีสถานศึกษา ซึ่งเวลาที่ตนไปไหนก็จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลได้มาขอเจอกับตน ทำให้ภูมิใจมาก แม้จะไม่ได้พูดตรงๆ ว่าต้องการอะไร แต่เขารู้สึกประทับใจว่าประเทศไทยมีนักพัฒนาแอปต่างๆ กว่า 3 แสนคน ซึ่งถือว่าเยอะมาก เขาจึงอยากหาโอกาสมาร่วมกับไทย เพราะฉะนั้นเราจะต้องเห็นโอกาสดังกล่าว เพื่อเข้าถึงโอกาสเหล่านั้น และต้องเก็บบุคลากรเหล่านี้ไว้ในประเทศไม่ให้เขาอยากอยู่นอกประเทศ เพื่อทำการพัฒนาประเทศต่อ

นายเศรษฐากล่าวตอนท้ายด้วยว่า  รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะปีนี้เป็นปีมหามงคล ที่เราต้องให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดของบ้านเมือง ซึ่งรัฐบาลนี้ได้สั่งการแล้วว่าเรื่องของถนน เรื่องสายไฟลงดิน ขยะ จะต้องมีการบริหารจัดการไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมมา ซึ่งเรื่องที่พูดมาทั้งหมดอยากจะฉายแสงสว่างอนาคตที่ดี และหวังว่าวันนี้ประชาชนจะเห็นอนาคตที่ดี และพวกเราทุกคนที่นั่งในที่นี้ เป็นบุคคลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ เราทุกคนจะร่วมกันในวันนี้ส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลานเราทุกคนแน่นอน อย่างที่กล่าวในเบื้องต้นเรามี 8 หัวข้อ พบกันอีกครั้งในวันที่ 1 มีนาคม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง