สตง.เปิดตัวเลข 6ปีหน่วยงานรัฐ ใช้จ่ายมั่วแสนล.

สตง.เปิดตัวเลข สุดตะลึง!   พบ 6 ปีหน่วยงานรัฐใช้จ่ายงบไม่มีประสิทธิภาพ-ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม ทะลุ 1 แสนล้านบาท เฉลี่ยปีละ 2  หมื่นล้าน ระบุกฎหมายใหม่หากพบไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ทางหน่วยรับตรวจเพียงแต่แก้ไขให้ถูกต้อง หากพบทุจริตจะส่งเรื่องไป ป.ป.ช.ต่อไป

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังอยู่ในตำแหน่งมา 6 ปี กล่าวถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่า หลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน  พ.ศ.2561 ที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่ง สตง.จะมีบทบาทภารกิจในการตรวจสอบหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งเรียกว่าหน่วยรับตรวจ โดย สตง.จะมีการตรวจสอบ 3  ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.การตรวจสอบการเงิน 2.การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และ 3.การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย

"โดยการตรวจสอบทั้งสามประเภทของ สตง.ในช่วงที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สตง.พบความเสียหาย พบการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์รวมแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ก็เท่ากับเฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขบางปีก็เกือบ 4 หมื่นล้าน แต่บางปีก็ไม่กี่พันล้านบาท"

นายประจักษ์กล่าวว่า สตง.ไม่ได้อยากให้เจอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อยากให้ความเสียหายเหล่านั้นมันลดลง โดย สตง.ก็เน้นเรื่องการให้ความรู้ การตอบข้อซักถามของหน่วยรับตรวจ การเป็นที่ปรึกษาให้มากขึ้น ซึ่งหากเป็นกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับเก่า หาก สตง.ตรวจพบว่ามีการทำผิดกฎหมาย จะเสียหายหรือไม่เสียหาย ถือว่าทำผิดแล้ว ทาง สตง.ก็ต้องแจ้งการพบการทำผิดดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับปัจจุบัน กระบวนการเปลี่ยนไป เช่น หากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ  เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายต่างๆ   สตง.ต้องดูว่าสุดท้ายทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ มีการนำงบประมาณไปใช้แล้วได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์เมื่อใช้ไปแล้วประชาชนต้องได้ประโยชน์  เพราะบางทีดำเนินการไปครบถ้วน ได้ของที่จัดซื้อมาตามสเปกต่างๆ ที่กำหนดไว้หมด แต่ปรากฏว่ามีการข้ามขั้นตอนตามระเบียบ-กฎหมาย หรือกระบวนการไม่ถูกต้อง หากเป็นสมัยก่อนถือว่าผิดทันที             "แต่กฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับปัจจุบัน หากพบว่ามีความบกพร่อง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่พบว่าไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ทางหน่วยรับตรวจก็เพียงแต่แก้ไขให้ถูกต้องในโอกาสต่อไป ซึ่ง สตง.พบลักษณะดังกล่าวค่อนข้างเยอะ เพราะบางทีเขามุ่งไปที่เป้าหมาย-ความสำเร็จ แต่บางทีไม่เป็นไปตามระเบียบ เช่น การจัดซื้อเครื่องตรวจ ATK ในช่วงโควิด ที่เคยมีปัญหาต่างๆ ที่สุดท้ายได้ ATK ตามสเปกหมด แต่ขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งลักษณะแบบนี้กฎหมายฉบับปัจจุบันก็ไม่ได้ให้ลงโทษอะไร แต่หากไปดำเนินการไม่ถูกต้องแล้วเกิดความเสียหาย สตง.ต้องแจ้งหน่วยรับตรวจให้ตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อหาผู้รับผิดชอบ ต้องมีการชดใช้ความเสียหายดังกล่าว โดยหากแจ้งแล้วไม่มีการดำเนินการ หัวหน้าส่วนราชการของหน่วยรับตรวจต้องรับผิดชอบแม้จะไม่ใช่คนทำผิด เพื่อให้สิ่งที่ สตง.ตรวจพบและแจ้งไปต้องมีการดำเนินการและชดใช้คืน ส่วนคนที่มีความผิดตามวินัยข้าราชการ ก็ต้องโดนโทษทางวินัย  เช่น ภาคทัณฑ์หรือปลดออก"

ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในการตรวจสอบของ สตง. หากพบว่าเกิดความเสียหายและผิดระเบียบ อีกทั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต สตง.ก็จะส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป โดยตัวเลขความเสียหายที่ สตง.ตรวจสอบพบแล้วส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช. ปีหนึ่งๆ ก็ประมาณหลักร้อยล้านบาท เพราะด้วยบทบาทโดยรวม สตง.มีทรัพยากรที่จะตรวจสอบเรื่องทุจริตค่อนข้างมีจำกัด และประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่าเรื่องไหนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรใด ให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนั้นหากเป็นเรื่องทุจริต เรื่องฮั้วประมูล สตง.ก็จะส่งเรื่องไปที่สำนักงานป.ป.ช. แต่ถ้าไม่ถึงขั้นทุจริต ก็จะเป็นบทบาทของ สตง.

 “ในช่วง 6 ปีที่ผมเป็นผู้ว่าฯ สตง. ทาง สตง.มีการส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อรวมมูลค่าวงเงินก็ประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่ง 2 พันล้านบาทดังกล่าวจะอยู่ในแสนล้านบาทที่บอกข้างต้น เพราะ สตง.เราตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างน้อย เพราะหาก สตง.พบเจอหรือมีคนมาร้องเรียนให้ สตง.ตรวจสอบ หากเราพบว่า ป.ป.ช.เขาก็เข้าไปตรวจสอบด้วย สตง.ก็จะส่งเรื่องต่อไปที่ ป.ป.ช.ทันที แต่หาก ป.ป.ช.ยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ สตง.ก็จะเข้าไปดำเนินการก่อน จากนั้นถึงค่อยส่งให้ ป.ป.ช. ที่พอ ป.ป.ช.รับเรื่องต่อจาก สตง. ทาง ป.ป.ช.ก็สามารถตั้งอนุกรรมการไต่สวนต่อได้ทันทีเลย ก็เป็นความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช.กับ สตง.” ผู้ว่าฯ สตง.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา! สรรพากร-สตง. สอบที่มาทรัพย์สิน 'นายกฯอิ๊งค์' รวยหมื่นล้าน

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า นายกฯอุ๊งอิ๊ง ผวาที่มาทรัพย์สิน 1.3 หมื่นล้าน อาจถูกตรวจสอบที่มาของรายได้ และภาระภาษี 30%