"สส.ก้าวไกล" ตั้งกระทู้สดถาม “รมว.ยุติธรรม” เปิด 10 ข้อการพักโทษป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ "ทักษิณ" เข้าเกณฑ์ได้อย่างไร จี้เปิดชื่อหมอเทวดาที่รักษา “ทวี” รับทักษิณได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์พักโทษเล็กน้อย "ปธ.กมธ.ตำรวจ" บี้กรมราชทัณฑ์ตอบข้อสงสัย 2 มาตรฐาน ไม่กักตัว-ใช้เงิน สปสช.รักษาหรือไม่ "แก้วสรร" ร่อน จม.ถึง ป.ป.ช. ชี้ช่องสอบการพักโทษผิดกฎหมาย "กมธ.นิรโทษกรรม" เห็นพ้องขจัดความขัดแย้งทางการเมือง รับหากยกร่างกฎหมายใหม่ไม่ทันกรอบเวลา 60 วัน
ที่รัฐสภา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ถาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่องหลักเกณฑ์พักโทษให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยนายณัฐชากล่าวว่า ในการพิจารณาพักโทษนายทักษิณ เข้าเกณฑ์พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ กฎกระทรวง และประกาศกรมราชทัณฑ์อย่างไร ตามประกาศของกรมราชทัณฑ์ หลักแห่งการพักโทษคือ 1.ป่วยซึ่งต้องเป็นโรคที่กำหนดไว้ 7 ข้อ อาทิ โรคร้ายแรงที่รักษาไม่หายขาด ไตวายระยะสุดท้าย (ต้องฟอกไต) มะเร็งระยะสุดท้าย สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ เป็นต้น มีโอกาสเสียชีวิตหากอยู่ในเรือนจำต่อ หรือ 2.ชราภาพ อายุเกิน 70 ปี แต่จะต้องช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ด้วย โดยเกณฑ์ทั้งหมดที่ใช้วัดในแบบทดสอบ มี 10 ข้อ ต้องได้คะแนนไม่เกิน 11 คะแนน ประกอบด้วย กินอาหารด้วยตนเองไม่ได้, ใช้ห้องน้ำด้วยตนเองไม่ได้, ชำระร่างกายด้วยตนเองไม่ได้, สวมเสื้อผ้าด้วยตนเองไม่ได้, เดินไปมาภายในบ้านไม่ได้, ลุกจากเตียงไปนั่งเก้าอี้ไม่ได้, ขึ้นบันไดด้วยตนเองไม่ได้, อาบน้ำด้วยตนเองไม่ได้, กลั้นอุจจาระไม่ได้ และกลั้นปัสสาวะไม่ได้
"ถามว่านายทักษิณช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างไร" นายณัฐชากล่าว
นายณัฐชาถามเพิ่มเติมว่า แพทย์ที่ให้การรับรองนายทักษิณ 2 คนคือใคร และประเมินอาการป่วยกี่ครั้ง เพราะถือเป็นหมอเทวดารับรองให้นายทักษิณป่วยอยู่ในระยะร้ายแรง แต่หายได้ภายใน 180 วัน วันต่อมากลับมาอยู่บ้านได้ แล้ววันถัดมาก็รับแขกบ้านแขกเมืองได้
ด้าน พ.ต.อ.ทวีชี้แจงว่า เรื่องการพักโทษมีกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 52 ข้อ 7 และในกฎกระทรวงแบ่งการพักโทษเป็น 2 อย่างคือ พักโทษทั่วไป กับพักโทษเนื่องจากมีเหตุพิเศษ โดยเริ่มจากการเป็นความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ จากนั้นส่งไปให้คณะอนุกรรมการ 19 คน พิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งมาที่ รมว.ยุติธรรมพิจารณาอีกครั้ง โดยในครั้งที่ผ่านมามีการพิจารณา 945 คน ไม่ให้ผ่าน 15 คน ดังนั้นมีผู้ได้พักโทษ 930 คน ซึ่งทั้งหมดพิจารณาจากหลักฐานทางการแพทย์ทั้งสิ้น ทั้งนี้ การพักโทษมีมาตั้งแต่ปี 46 ยอดรวมถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับการพักโทษแล้ว 2,420 คน
“กรณีนี้ (ทักษิณ) อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เลข 11 เล็กน้อย ผมรู้สึกกังวล เพราะ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ห้ามเปิดเผยข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล หรือจะใช้อำนาจหรือสิทธิ์เพื่อขอเอกสารสุขภาพของบุคคลไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หมอที่วินิจฉัยเป็นคณะแพทย์จาก รพ.ตำรวจ ยืนยันการพักโทษเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ทางการแพทย์ ชอบธรรมด้วยเหตุผลและคุณธรรม” รมว.ยุติธรรมระบุ
นายณัฐชาได้กล่าวช่วงท้ายว่า วันนี้รัฐมนตรีได้ตอบหลักเกณฑ์ชัดเจนแล้วในสภา ดังนั้นต่อไปนี้นักโทษเด็ดขาดอายุ 70 ปีขึ้นไป สามารถไปขอแบบฟอร์มจากกรมอนามัย และประเมินตนเองส่งให้รัฐมนตรีได้เลย เพราะจะมีนักโทษมากมายที่เข้าหลักเกณฑ์ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็เอาเทปการประชุมวันนี้ไปเปิดให้อธิบดีฟังว่าเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
บี้ราชทัณฑ์ตอบ 2 มาตรฐาน
นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ กล่าวถึงการดำเนินการของ กมธ.เกี่ยวกับนายทักษิณที่ได้พักโทษกลับมาอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้วว่า เราคงไม่พูดถึงอาการป่วยของนายทักษิณ เพราะนายทักษิณเป็นผู้ที่ได้รับผล ได้กลับมาอยู่บ้านสู่อ้อมกอดครอบครัวแล้ว มันจบไปแล้ว แต่เรื่องทั้งหมดอยู่ที่กระบวนการยุติธรม และสิ่งที่เราต้องตามคือเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ที่ทาง กมธ.ขอไป คือ 1.ระเบียบที่กรมราชทัณฑ์เคยชี้แจงด้วยวาจาว่าเงินที่รักษานายทักษิณเป็นเงินของ สปสช. ถ้าเกินสิทธิ์สามารถใช้เงินส่วนตัวได้ ซึ่งอยากทราบว่าข้อนี้มีระเบียบอะไรรองรับ 2.กระบวนการการเข้ารับโทษทั้งหมดของนายทักษิณ ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่การกรอกประวัติ ไม่กักตัว ไม่ตัดผม ทางกรมราชทัณฑ์ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าเพราะอะไรถึงไม่กระทำสิ่งเหล่านี้ เพราะวันนี้สังคมไม่ได้สงสัยนายทักษิณ แต่กำลังสงสัยกระบวนการที่เกิดขึ้นว่าถูกต้องหรือไม่ 2 มาตรฐานหรือไม่
“เรามองย้อนกลับไปในอดีต ว่าสังคมไทยไม่มีความเสมอภาค เคยเรียกร้องกันมานักหนา แต่วันนี้ถ้าเจอกับตัวเอง แล้ว 2 มาตรฐาน สังคมไทยต้องมีมาตรฐานพอสมควร และถ้ากระบวนการทั้งหมดไม่ถูกต้องตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องชดใช้กรรมในอนาคต ขอเรียกร้องไปถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ออกมาชี้แจงกับสังคมให้ชัด ถ้าท่านชี้แจงสิ่งที่สังคมกำลังเคลือบแคลงสงสัยอยู่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และสังคมเข้าใจได้ไม่มีข้อครหา ทุกคนก็จบ แต่ถ้าชี้แจงไม่ได้ ขอให้จำไว้เลยว่าท่านจะเป็นจำเลยจนสิ้นลมหายใจ” นายชัยชนะกล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่ากฎหมายกำลังไล่ล่าผู้ที่เกี่ยวข้องใช่หรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า เรามองว่ากฎหมายไล่ล่าไม่ได้ เพราะสังคมต้องการความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเราให้ความเป็นธรรมทุกคนอยู่แล้ว ไม่ใช่การไล่ล่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบไม่ได้ก็ไม่จบ สมมติค่ารักษาพยาบาลของนายทักษิณ 180 วัน ให้ค่าห้องพักวันละ 1 หมื่นบาท เป็นจำนวน 1.8 ล้านบาท ค่าหมอ ค่ายา สมมติค่ารักษา 5 ล้านบาท อยากถามว่า สปสช.จ่ายให้ได้หรือไม่ 5 ล้านบาท ถ้าบอกว่าจ่ายได้ทั้งหมด ก็จะได้บอกญาติผู้ต้องขังทุกคนว่าต่อไปคุณก็ได้รับสิทธิ์นี้เช่นกัน ทาง กมธ.ทำเรื่องสอบถามไป 2 ฉบับแล้ว ถ้าฉบับที่ 2 ยังไม่ตอบกลับมาภายใน 90 วัน ต้องดูข้อกฎหมายว่าทำอะไรได้ต่อไป
เมื่อถามว่า การที่พรรค ปชป.เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ถือว่าช้าเกินไปหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ไม่ช้า เพราะจริงๆ แล้วร่างนี้เคยยื่นมาแล้วในสภาชุดที่แล้ว แต่สภาหมดวาระเสียก่อน ครั้งนี้พรรค ปชป.จึงยื่นเข้ามาใหม่ เพราะคิดว่าต่อไปการพิจารณาพักโทษ คณะกรรมการต้องมาจากหลายองค์กร เพื่อเป็นมาตรฐานกว่า
ถามย้ำว่า คิดว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะออกทันกับอดีตนายกฯ อีกคนที่อาจจะเปลี่ยนใจกลับเข้ามาในประเทศ นายชัยชนะ กล่าวว่า เราทำเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการเพื่อสกัดกั้นใคร แต่ทำเรื่องนี้เพื่อให้สังคมได้เห็นว่าสังคมไทยต้องไม่มี 2 มาตรฐาน ต้องมีความเสมอภาค ขอฝากเรื่องนี้ไปถึงนายกฯ ต้องบริหารให้สังคมไทยมีความเสมอภาค ถูกต้อง ถ้าเมื่อไหร่เราพึ่งพารัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ แล้วประชาชนจะพึ่งพาใคร
ขณะที่ นายเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง เข้ายื่นหนังสือต่อกมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปชีวิตในเรือนจำของผู้ต้องขัง ซึ่งมี น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ. เป็นผู้รับหนังสือ โดยนายเอกชัยกล่าวว่า เท่าที่ตนใช้ชีวิตในเรือนจำ หลายสิ่งที่ถูกละเมิดจนทำเหมือนนักโทษเป็นพลเมืองชั้นที่ 2 ซึ่งคนภายนอกไม่ทราบ ตนมองว่าไม่ควรเป็นเช่นนั้น จึงข้อเสนอแนะทาง กมธ.เพื่อไว้เป็นข้อมูล เช่น กรณีนักโทษคดีการเมือง ปัจจุบันถูกนำไปกักขังรวมไว้กับนักโทษคดีอาญาทั่วไป มองว่าไม่ควร เพราะมีพื้นฐานทางคดีไม่เหมือนกัน ควรจะตั้งเรือนจำชั่วคราว ยังมีหลายประเด็น ที่อยากจะเสนอให้ทาง กมธ. เพราะทราบว่ามีการตั้งอนุกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปเรือนจำ เพื่อนำไปพิจารณาในการปฏิรูปเรือนจำในอนาคต
ชี้ช่องสอบพักโทษผิด กม.
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง ขอแจ้งเค้ามูลการพักโทษนายทักษิณโดยผิดกฎหมาย พร้อมแนบตัวอย่างแบบประเมินความสามารถช่วยตัวเองของผู้สูงอายุ สรุปว่า ข้อกฎหมาย ตามหลักเกณฑ์การพักโทษของกรมราชทัณฑ์ ในประกาศกรมลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้เป็นองค์ประกอบ 3 ประการประกอบกัน คือ 1.นักโทษอายุ 70 ปีขึ้นไป 2.รับโทษมาแล้วเป็นเวลา 6 เดือนหรือ 1/3 ของโทษตามหมายแจ้งโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าเงื่อนเวลาใดจะยาวกว่ากัน 3.นักโทษนั้นต้องอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย
โดยองค์ประกอบข้างต้น นักโทษสูงอายุที่ติดคุกมา 6 เดือน จะพักโทษได้หรือไม่นั้น สภาพร่างกายต้องเสื่อมถึงขนาดด้วย มิใช่ว่าอายุมากแล้วติดคุกมาระยะหนึ่งก็พักโทษได้เลย ข้อเท็จจริง ตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เรื่องการพักโทษนายทักษิณระบุแต่เพียงเงื่อนไขทางอายุและเวลาที่ต้องโทษเท่านั้น มิได้ยืนยันระบุให้เห็นเลยว่านายทักษิณมีสมรรถภาพช่วยเหลือตัวเองได้เพียงใด ซึ่งเมื่อไม่มีการตรวจสอบให้ปรากฏองค์ประกอบในข้อนี้ การพักโทษที่ออกคำสั่งไปจึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายอย่างปฏิเสธไม่ได้ ขอให้ตรวจสอบว่าคำสั่งพักโทษนี้ได้มีการประเมินสมรรถภาพของนักโทษแล้วหรือไม่มีหลักฐานตามใบประเมินของกรมอนามัยมาแสดงโดยได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 11 คะแนน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่าการพักโทษครั้งนี้มีนายทักษิณคนเดียวที่ไม่ได้ถูกประเมินสมรรถภาพ กรณีก็จะชัดเจนทันทีว่ามีความทุจริตเกิดขึ้นแล้ว
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์คลิปพร้อมเนื้อหาในหัวข้อ “ดูภาพถ่าย 'ฮุน เซน กับทักษิณ' ใครคือคนป่วย?” ระบุว่า เห็นภาพที่สมเด็จฮุน เซน ถ่ายคู่กับคุณทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้าแบบชื่นมื่น มีการจับแขนของคุณทักษิณที่เข้าเฝือกเพราะเอ็นยุ่ย จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า ระหว่างสมเด็จฮุน เซน ที่มาเยี่ยมคุณทักษิณผู้ป่วยวิกฤตนั้น ดูจากภาพแล้วทำให้สงสัยว่าใครเป็นผู้ป่วยกันแน่ เพราะใบหน้าของคุณทักษิณอิ่มเอิบ สดใสกว่าใบหน้าของสมเด็จฮุน เซน ผู้มาเยี่ยมเสียด้วยซ้ำไป
นายเทพไทระบุว่า การที่คุณทักษิณเปิดโอกาสให้สมเด็จฮุน เซน เข้าเยี่ยมได้เป็นคนแรกนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าคุณทักษิณให้ความสำคัญมากกว่าบุคคลอื่น เพราะสมเด็จฮุน เซน ได้เข้าพบคุณทักษิณก่อนที่กรมคุมประพฤติจะเข้ารับการรายงานตัวจากคุณทักษิณด้วยซ้ำไป ส่วนตัวผมซึ่งเป็นผู้ได้รับการพักโทษเหมือนกับคุณทักษิณ ได้ไปรายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติด้วยตัวเอง แต่เมื่อคุณทักษิณยังสามารถเดินทางไปรายงานตัวต่อสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยตัวเองได้ แต่ทำไมไม่ไปรายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติด้วยตัวเอง ต้องให้เจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติ เดินทางไปเข้ามารับรายงานตัวที่บ้าน
เห็นพ้องยุติความขัดแย้ง
วันเดียวกัน นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ความเห็นส่วนใหญ่ในที่ประชุมมีเป้าหมายส่วนใหญ่ในการทำนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือยุติความขัดแย้งและความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความปรองดอง และอยู่ด้วยกันได้ หากมีความเห็นต่าง ก็ขอให้ความเห็นนั้นเป็นความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีต
เมื่อถามถึงการขอนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายชูศักดิ์กล่าวว่า มีความเห็นทั้งสองส่วน บางส่วนบอกว่ายังไม่ควรจะมี มีบางส่วนเห็นด้วย บางส่วนก็เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไขที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าการนิรโทษกรรมควรต้องมีลักษณะทำให้สิ่งที่เป็นความขัดแย้งนั้นยุติลง และไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก จึงมีเงื่อนไขบ้าง ขณะนี้ก็รับฟัง แต่ยังไม่ได้ตัดสินลงไปว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนจะรวมคดีทุจริตหรือไม่นั้น ในที่ประชุมยังไม่ถึงขั้นได้ข้อสรุปในเรื่อง
เมื่อถามว่า จากการเปิดรับฟังความเห็นแล้ว กมธ.จะมีการขยายระยะเวลาพิจารณาให้เกินกรอบเวลา 60 วันหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า กำลังหารืออยู่เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำในระดับไหน การประชุมยังไม่ถึงขั้นให้เสนอเป็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับใหม่ ถ้าคิดจะยกร่างไปด้วยก็ไม่น่าจะทันกรอบเวลาทำงานของ กมธ. 60 วัน เนื่องจากกฎหมายเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณารายละเอียด
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางตรากฎหมายนิรโทษกรรม กล่าวว่า ครั้งนี้จะต้องไม่พิจารณาแค่นิรโทษกรรมอย่างเดียว แต่ให้มองภาพรวมการสร้างความสมานฉันท์ โดยมีนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นหนึ่งในนั้น และในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่ยุติ เป้าหมายควรทำเพื่อที่จะหยุดการขยายความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือความรุนแรงที่มากขึ้นในอนาคต
ส่วนจะรวมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั้น นายชัยธวัชกล่าวว่า ทุกเรื่อง แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งตนก็ได้นำเสนอในแง่หลักสำคัญ เรื่องการทุจริตไม่ได้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่มาตรา 112 ยอมรับว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง เห็นด้วยกันในหลักการใหญ่
สำหรับการดำเนินการของพรรคก้าวไกล ในกรณีที่ผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองอดอาหาร นายชัยธวัชกล่าวว่า พรรคยังไม่สามารถเกี่ยวข้องได้ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พรรคก็เป็นห่วง ซึ่งหากเราคิดว่านิรโทษกรรมแล้วเว้นบางอย่างไว้ เพื่อให้ได้บางส่วนดีกว่า อาจจะไม่ตอบโจทย์ แต่เข้าใจความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ที่มีความห่วงใยว่าหากนิรโทษกรรมไปแล้วจะนำไปสู่สภาวะเดิมอีก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ