ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ม.ค.ขยับเพิ่มขึ้น หนุนลดดอกเบี้ย

"ภูมิธรรม" ย้ำหนุน กนง. ลดดอกเบี้ย มาช้าดีกว่าไม่มา ปัดก้าวก่ายแบงก์ชาติ "ส.อ.ท." ชี้ Easy E-receipt ดันดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมขยับตัวเพิ่ม กระทุ้งรัฐดูแลดอกเบี้ย ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์   กล่าวถึงกรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงรัฐบาล ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละฝ่าย แต่ละหน้าที่ รัฐบาลเคารพการตัดสินใจ และจะไม่ก้าวก่ายการดำเนินนโยบายทางการเงิน ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมนัดพิเศษ ก่อนกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 10 เม.ย.67 หรือไม่ ต้องให้ กนง.เป็นผู้พิจารณา

"ความเห็นส่วนตัวก็อยากให้ลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ก้าวก่ายการทำงานของ กนง. ถ้าการลดดอกเบี้ยแล้วดีก็ช่วยกันทำ ไม่ใช่ว่าเป็นผลงานของใคร ถือเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่มีใครปฏิเสธว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องพึ่งทั้งมาตรการทางการคลังและการเงิน ทั้ง 2 อย่างต้องประสานกัน เพื่อประโยชน์โดยรวม

การพิจารณาเรื่องการประชุมของ กนง. ขึ้นอยู่กับการพิจารณาข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน หรือการประเมินความเหมาะสมของแต่ละส่วน ซึ่งมาช้าดีกว่าไม่มา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผลที่จะออกมา  ถ้าดำเนินการแล้วสามารถสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศได้ จะไม่มีใครถามถึงปัญหา และจะสบายใจต่อผลที่จะออกมามากกว่า" นายภูมิธรรม ระบุ

วันเดียวกัน นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ และนายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ระดับ 90.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 88.8 ในเดือนธ.ค.2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศสะท้อนจากคำสั่งซื้อและยอดขายสินค้าที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อรองรับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับอานิสงส์มาตรการ Easy E-receipt ในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2567 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว วีซ่า-ฟรี (Visa-Free) ส่งผลให้ในช่วงเดือน ม.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยกว่า 2,743,147 คน เพิ่มขึ้น 27.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ขณะที่ภาคการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลก และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ ตะวันออกกลาง และอินเดีย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินกิจการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นจากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกยังเผชิญกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากอัตราค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียมและค่าประกันต่างๆ ที่เกิดจากปัญหาการโจมตีเรือขนส่งสินค้าบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ขณะที่การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรปใช้ระยะเวลานานขึ้น เนื่องจากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮป

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,331 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่ม ส.อ.ท. ในเดือน ม.ค.67 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 82.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 73.7% ราคาน้ำมัน 50.1% เศรษฐกิจในประเทศ 45.2% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ  41.5% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 35.0%

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 96.2 ในเดือน ธ.ค.2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบมาตรการพักชำระหนี้เอสเอ็มอี แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบบริเวณทะเลแดงที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป รวมถึงกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต และความผันผวนของราคาพลังงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์  ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนอ่อนแอ  และความต้องการสินค้าจากไทยลดลง

ทั้งนี้ เอกชนยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1.ให้ภาครัฐเร่งหารือกับสายเรือเพื่อเพิ่มจำนวนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและเรือ ตลอดจนขอให้มีการชี้แจงแผนการเดินเรือและรายละเอียดในส่วนของค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน 2.ให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนไทย-เมียนมา รวมทั้งดูแลนักลงทุนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และ 3.เร่งพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 2567 รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในการใช้จ่ายงบให้ได้ตามเป้าหมายภายในปีงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายมนตรียังกล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ กนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยว่า ประเด็นที่ ส.อ.ท.เป็นห่วงคือผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และมีต้นทุนสูงจากดอกเบี้ยเงินกู้ ตอนนี้ยังไม่มีกลไกที่จะมากำหนดเรื่อง Spread ดอกเบี้ยที่เหมาะสม ขณะที่เพื่อนบ้านอยู่ที่ 4-5% แต่ของเราอยู่ที่ 7-10% ซึ่งทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลจะมีแนวทางส่งเสริมการดำเนินเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว แต่ไม่สนับสนุนเรื่องสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพราะยังกำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราที่สูง ขณะที่ควรจะเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบซอฟต์โลน เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง