ฮุนเซนเยี่ยมทักษิณ กินข้าวเที่ยงบ้านจันทร์ส่องหล้า/พิชิตท้าสภาเปิดซักฟอก

"สมเด็จฮุน เซน" บินเยี่ยม  "ทักษิณ" กินข้าวเที่ยวบ้านจันทร์ส่องหล้า   21 ก.พ. "อุ๊งอิ๊ง" บอกหลังถึงบ้านพ่อความดันสูง สภาพจิตใจค่อยๆ ดีขึ้น "โฆษก  พท." แจงยิบอาการดามคอ-คล้องแขน ย้ำป่วยหนักจริงตั้งแต่ติดโควิด 3 รอบ  "เศรษฐา" ยังไม่มีแพลนเข้าเยี่ยม "พิชิต” ท้าใครข้องใจได้รับอภิสิทธิ์พักโทษ ให้เปิดสภาซักฟอก ฮึ่ม! อัยการขอถ่ายรูปทักษิณ  “สมศักดิ์” แนะกรมราชทัณฑ์ขยันแจงให้ละเอียดปัญหาจบ "ทวี" ยันเงื่อนไขคุมประพฤติ “ทักษิณ” เหมือนผู้พักโทษทั่วไป "ก.ก." จี้เปิดข้อมูลการแพทย์จบข้อสงสัยสังคม "จตุพร" ฟันธงกลางวงเสวนา "ทอล์ก ออฟ เดอะ ที ไทยโพสต์" เศรษฐาหลุดเก้าอี้ก่อนสงกรานต์

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. มีรายงานว่าในวันพุธที่ 21 ก.พ. สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน หรือสมเด็จฮุน เซน ประธานองคมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ซึ่งสมเด็จฮุน เซน มีกำหนดถึงไทยเวลา 10.30 น. หลังจากนั้นจะเดินทางกลับประเทศกัมพูชาในเวลาประมาณ 14.00  น.

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะบุตรสาวนายทักษิณ กล่าวยอมรับถึงกรณีสมเด็จฮุน เซน จะเดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณว่า  "ค่ะ"

เมื่อถามว่า สมเด็จฮุน เซน จะเดินทางมายังบ้านพักเวลากี่โมง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า น่าจะมาทานข้าว ไม่แน่ใจว่ายังไง เมื่อถามย้ำว่าจะมาทานข้าวเที่ยงใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า "ค่ะ เห็นว่าอย่างนั้น" ซักว่าจะเดินทางไปรับด้วยหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า "ไปค่ะ  ไป"

ถามต่อว่า ที่เดินทางมาเพราะคิดถึงอยากมาเยี่ยมหรืออยากมาพูดคุย น.ส.แพทองธารกล่าวว่า จริงๆ เป็นหมายส่วนตัว และน่าจะเป็นห่วง เห็นว่าได้คุยตอนออกมา ก็คิดว่าเป็นห่วง เมื่อถามต่อว่า สมเด็จฮุน เซน นัดหมายกับนายทักษิณโดยตรงใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธาร ชะงักไปเล็กน้อยแล้วกล่าวว่า "ค่ะ"

เมื่อถามว่า หลังออกจากโรงพยาบาลอาการของนายทักษิณดีขึ้นแล้วใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ก็ยังไม่ต้องกลับไปที่โรงพยาบาล กลับมาถึงบ้านก็มีความดันสูงนิดหน่อย ส่วนสภาพจิตใจก็ค่อยๆ ดีขึ้น

"ไปถามหลายๆ คนที่อยู่ที่ที่เดียวมานานๆ ก็ใช้เวลาปรับตัวนิดนึง" น.ส.แพทองธารกล่าว

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรค พท. แถลงถึงอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณว่า จากการสอบถามอาการป่วยของนายทักษิณกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. เนื่องจากภาพที่ออกมาอดีตนายกฯ ทักษิณมีการดามคอ คล้องแขนออกมา ซึ่งหัวหน้าพรรคระบุว่าก่อนที่อดีตนายกฯ ทักษิณจะเข้ามากลับประเทศไทย ได้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ถึง 3 รอบ โดยรอบแรกติดจากเชื้ออู่ฮั่น ทำให้มีอาการหนักถึงขั้นเข้าไอซียูเป็นเดือน ดังนั้นปอดจึงไม่สามารถใช้งานได้ 100% เหมือนบุคคลทั่วไป จากนั้นได้ป่วยด้วยโควิดอีก 2 รอบ ทำให้อดีตนายกฯ มีอาการลองโควิดเยอะมาก เพราะท่านเป็นผู้ป่วยที่มีอายุกว่า 70 ปีแล้ว

นายดนุพรกล่าวว่า ที่อดีตนายกฯทักษิณต้องดามคอ เพราะเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม ซึ่งผลจากการตรวจละเอียดหรือเอ็มอาร์ไอที่ รพ.ตำรวจ ทางโรงพยาบาลแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งเป็นไปตามวัย แต่ท่านขอออกมาก่อนแล้วค่อยกลับเข้าไปรักษาตัวอีกครั้ง ส่วนกรณีคล้องแขนออกมา ก็เป็นโรคเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย ต้องได้รับการกายภาพไม่ต่ำกว่า 1 ปีจึงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุ

'อิ๊งค์' ยันพ่ออาการหนักจริง

"ที่ทำให้ท่านหายช้า เพราะตลอด 6 เดือนที่อยู่ รพ.ตำรวจ แทบไม่สามารถออกกำลังกายได้เลย ทำให้ร่างกายร่วงโรยเร็วกว่าคนที่ออกกำลังกายได้ตามปกติ ระหว่างที่รักษาตัวอยู่ รพ.ตำรวจ ได้รับการผ่าตัดเพื่อให้เส้นเอ็นเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ดังนั้นขอฝากไปถึงหลายคนที่ห่วงใยอาการของอดีตนายกฯ ซึ่งท่านพยายามรักษาตัวและพบแพทย์ตลอด เพื่อให้อาการทุเลาและกลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด" นายดนุพรกล่าว

โฆษก พท.กล่าวว่า ทราบดีว่ามีทั้งคนที่ชอบและจ้องจะจับผิด ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเคยเป็นนักการเมืองและเป็นอดีตนายกฯ ก็จะมีคนพูดถึงทั้งในแง่บวกและแง่ลบ วันนี้ขอสื่อสารไปถึงคนที่รักและห่วงท่าน รวมถึงครอบครัวท่าน ยืนยันว่ามีอาการเจ็บป่วยและอาการหนักจริง จะพยายามรักษาตัวให้แข็งแรงที่สุด และกลับมาเพื่อใช้ความรู้ความสามารถของท่าน คอยแนะนำนักการเมืองที่จะทำเพื่อประชาชนต่อไป โดยตนจะอัปเดตอาการของอดีตนายกฯ ทักษิณจากท่านหัวหน้าพรรค พท.ให้ทราบเป็นระยะ

ส่วนความเคลื่อนไหวที่บ้านจันทร์ส่องหล้า วันเดียวกันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 09.46 น. รถตู้ของกรมคุมประพฤติได้ เลี้ยวเข้าไปในบ้านจันทร์ส่องหล้า โดยคาดว่าเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติเข้าพบนายทักษิณ เนื่องจากตามขั้นตอนของการพักโทษที่กำหนดไว้ คือกรมคุมประพฤติต้องมาแจ้งเงื่อนไขการคุมประพฤติให้กับนายทักษิณ และทำความเข้าใจข้อกำหนดการพักการลงโทษ รวมถึงแจ้งวันเวลานัดหมายการรายงานตัวในเดือนถัดไป

พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า นายทักษิณเตรียมเข้าสู่กระบวนการรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน 3 วันนับตั้งแต่ได้รับการพักโทษ โดยปกติแล้วผู้ได้รับการพักโทษแม้ยังไม่มีหนังสือแจ้งการพักโทษจากกรมราชทัณฑ์มายังกรมคุมประพฤติ   ก็สามารถเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติในท้องที่ของตัวเองได้

"กรณีของนายทักษิณ ถือเป็นผู้สูงอายุ และยังมีอาการเจ็บป่วย ซึ่งตามหลักการปฏิบัติ กรมคุมประพฤติจะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพร่างกายของผู้ได้รับการพักโทษ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องเป็นฝ่ายเดินทางเข้าพบผู้ได้รับการพักโทษในสถานที่นัดหมายแทน" รองอธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.58 น. ได้มีรถตู้ยี่ห้อเบนซ์ สีบรอนซ์เงิน ซึ่งเป็นรถของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยาของนายทักษิณ และรถติดตาม 1 คัน ขับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าทางฝั่งซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 โดยรถคันดังกล่าวปิดผ้าม่านอย่างเเน่นหนา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย ได้พูดคุยเรื่องนี้อย่างไรว่า ยังไม่มีเรื่องนี้เข้ามา ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ถามว่า จะเกิดวาทกรรมใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ หากมีการนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับประเทศเช่นเดียวกับกรณีของนายทักษิณ  นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้

"ยืนยันนับตั้งแต่ที่นายทักษิณเดินทางกลับมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย" นายเศรษฐากล่าว

ช่วงเย็น นายเศรษฐาเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อเข้าร่วมประชุม สส.ประจำสัปดาห์ โดยทันทีที่มาถึงมีแฟนคลับเข้ามาขอถ่ายรูปด้วย พร้อมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ถึงการวางแพลนเข้าเยี่ยมนายทักษิณว่า ตอนนี้ยังไม่มีแพลน

ท้าข้องใจพักโทษเปิดซักฟอก

นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงวิจารณ์กรณีนายทักษิณได้รับการพักโทษว่า หากใครเห็นว่ากระบวนบังคับโทษไม่ถูกอย่างไรก็ควรใช้เวทีสภา เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในสังคม ไปตั้งกระทู้ถาม หรือหากถึงเวลาที่เหมาะสมพรรคฝ่ายค้านก็ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วตรวจสอบกันในระบบสภา ดีกว่าจะเลือกที่รักมักที่ชัง มีอคติต่อกัน แล้วให้ประชาชนตัดสินว่าการชี้แจงอันไหนตอบได้-ไม่ได้ เคลียร์-ไม่เคลียร์

ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องอาการนายทักษิณ ที่ระบุว่าวิกฤต แต่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวว่า ป่วยจริงหรือไม่ป่วยจริงให้ตรวจสอบกันในระบบรัฐสภา และคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการพักโทษมีรวมแล้ว 19 หน่วยงาน เรื่องนี้อยากให้ดูหลักเกณฑ์ ถ้าเอาความรู้สึกมาวัดจะเถียงกันไม่จบ

ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวว่า "เมื่อวานไม่สบายใจ ระหว่างที่ท่านไปมอบตัวได้ข่าวว่ามีอัยการท่านหนึ่งพยายามขอถ่ายรูปท่าน ไม่สบายใจครับ อยากให้ไปตรวจสอบกันว่าเป็นท่านใด ผมไม่สบายใจจริงๆ ไม่รู้จุดประสงค์ว่าจะถ่ายรูปเพื่ออะไร ทีมงานรายงานผมมา ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ไม่อยากเอ่ยนามว่าท่านใด"

ซักว่าขั้นตอนการรับทราบข้อกล่าวหาไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพใช่หรือไม่ นายพิชิตกล่าวว่า ไม่ควรถ่ายภาพอย่างยิ่ง ส่วนจะเป็นการละเมิดสิทธิ์หรือไม่นั้น ตนมองว่าท่านควรรู้เลยว่าผิดกฎหมายเลย ไม่ใช่แค่เรื่องละเมิดสิทธิ์

เช่นเดียวกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ตั้งแต่ที่นายทักษิณเดินทางกลับมาประเทศไทย จนครบเวลาได้รับการพักโทษ ทุกอย่างทุกขั้นตอนเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เรื่องนี้ไม่มีข้อสงสัยแต่อย่างใด มีวิธีพิจารณาเกณฑ์อายุ เกณฑ์การพักโทษ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เสียงวิจารณ์การพักโทษนายทักษิณ ส่วนหนึ่งอาจจะไม่รู้ข้อกำหนดหรือระเบียบ พูดไปโดยไม่มีข้อเท็จจริงหรือหลักเกณฑ์ทางราชการ พูดไปตามความรู้สึก แต่หากไปดูหลักเกณฑ์การพักโทษแล้วจะไม่สงสัยอะไร และจากที่ตนได้ดูหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ถามว่า ในฐานะอดีต รมว.ยุติธรรม เป็นห่วงข้าราชการกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ถูกร้องเรียนเรื่องการกระบวนการพักโทษว่าชอบหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในเรื่องที่มีการร้องเรียน หากตอบไปตามข้อเท็จจริง ทำการบ้าน ขยัน ถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่มีปัญหาเลย แต่หากไม่ทำการบ้านให้ละเอียดแล้วตอบตามความรู้สึกมันจะยุ่ง  ขอให้ดูให้ครบถ้วนกระบวนความ ถ้ารู้รายละเอียดทั้งหมดไม่มีปัญหาแน่นอน

ที่กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงเงื่อนไขของกรมคุมประพฤติ ที่กำหนดให้ผู้ได้รับการพักโทษปฏิบัติตามหลังได้รับการปล่อยตัวว่า ปกติแล้วผู้ได้รับการพักโทษจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมคุมประพฤติประมาณ 11-12 ข้อ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ใช้กับบุคคลทั่วไป เช่น การให้เข้ารายงานตัวตามระยะเวลาที่ระเบียบกำหนดระยะเวลาที่จะต้องเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติ โดยเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติจะควบคุมให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัด  เนื่องจากถือว่ายังอยู่ในกระบวนการของศาล

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า กรณีนายทักษิณขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานคุมประพฤติในเขตที่รับผิดชอบ และจะรายงานไปยังอธิบดีกรมคุมประพฤติเท่านั้น ไม่ต้องรายงานมายังรัฐมนตรี เนื่องจากทั่วประเทศมีผู้ที่ถูกคุมประพฤติกว่า 400,000 คน และมีผู้ที่ถูกคุมประพฤติหลังได้รับการพักโทษอีกจำนวนมาก และไม่ว่าผู้ถูกคุมประพฤติจะถูกดำเนินคดีในข้อหาใด ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เดียวกันที่ได้กำหนดมาตั้งแต่ปี 2546 ไม่มีใครได้รับสิทธิประโยชน์เป็นพิเศษ

"กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป และคนเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการก็จะมีหลักเกณฑ์โดยเฉพาะ เพราะมองว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้อยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต ต้องการอยู่กับครอบครัวและบุคคลที่รัก มีโอกาสหลบหนีหรือก่อเหตุร้ายในสังคมได้น้อยกว่า" พ.ต.อ.ทวีกล่าว

ชี้ทุกคนต้องได้สิทธิเท่าเทียม

ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า เข้าใจว่าอาการป่วยไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ได้รับการประกันตัว แต่โดยพื้นฐานพรรค ก.ก.ให้การสนับสนุนการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงต้องสันนิษฐานว่าทุกคนบริสุทธิ์ ดังนั้นหากใครไม่ได้รับการประกันตัวต้องเป็นกรณียกเว้นจริงๆ เรื่องนี้จะต้องมีการปฏิบัติกันอย่างเท่าเทียมทางกฎหมาย และการได้รับการประกันตัวควรเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับทุกคน แม้แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหามาตรา 112 ด้วย

นายชัยธวัชกล่าวว่า อัยการคงไม่มีอำนาจมาวินิจฉัยเรื่องอาการป่วย เพราะต้องว่าตามเอกสารทางการแพทย์ที่จะไปเกี่ยวข้องกับเหตุผลที่นายทักษิณได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ประกาศของกระทรวงในการพักโทษ ดังนั้นคนที่ให้คำตอบได้ไม่ใช่อัยการ แต่ต้องเป็นแพทย์ กรมราชทัณฑ์  รมว.ยุติธรรม ทางที่ดีที่สุดคนที่เกี่ยวข้องควรออกมาเปิดเผยข้อมูลว่านายทักษิณได้รับสิทธิ์โดยชอบแล้วอย่างไร หากหน่วยงานเกี่ยวข้องมั่นใจว่าเรื่องนี้ทำถูกต้องแล้ว และเปิดเผยเอกสารทางการแพทย์เรื่องนี้ก็จบ สังคมจะได้เลิกสงสัยไม่ตั้งคำถามกับรัฐบาล

"สถานการณ์ที่คิดว่าเรื่องใหญ่คือการไปตอกย้ำความรู้สึกของคนไทยจำนวนมากที่รู้สึกว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม มีการปฏิบัติต่อประชาชนไม่เท่าเทียมกันในกระบวนการนิติรัฐ อภิสิทธิ์ชน ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อต้องการให้สังคมเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน วิธีใดที่คิดว่าจะเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับนายทักษิณที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากอดีตที่ผ่านมา ไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยวิธีการตอกย้ำ ผลิตซ้ำความอยุติธรรมที่จะสร้างปัญหา” นายชัยธวัชกล่าว

วันเดียวกัน ในเวทีเสวนาการเมือง  TALK OF THE TEA  ตอน จากทัณฑ์ทิพย์ สู่ทิศทาง (การเมือง) ไทย จัดโดย “ไทยโพสต์” มีนายจตุพร พรหมพันธุ์  วิทยากรหลอมรวมประชาชน, นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และนายวันวิชิต บุญโปรง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นวิทยากร

นายจตุพรกล่าวตอนหนึ่งว่า ถามกันว่านายทักษิณได้รับโทษหรือยัง ก็ต้องดูตั้งแต่ต้นว่าผลของคำพิพากษาของศาลอาญาคดีการเมือง หนีไปต่างประเทศ กลับมาประกาศว่าสำนึกผิด พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ หลังจากกลับประเทศ การเข้าอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ เจ้าหน้าที่ อัยการที่ดำเนินการมาตลอดนั้น เป็นการดำเนินการที่ทิพย์หรือไม่

นายจตุพรกล่าวว่า ก่อนที่ตนจะออกจากเรือนจำ เห็นว่ามีการเตรียมบิลต์ห้องใหม่เพื่อเตรียมรับทักษิณอยู่แล้ว ซึ่งการเข้าไปในเรือนจำจะต้องผ่านประตูใหญ่ และผ่านประตูเตี้ย เข้าไปไหว้เจ้าพ่อคุก  ผ่านการซักถามจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือไม่ มีถ่ายรูปบัตรประจำตัวนักโทษ  พิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่แน่ใจว่าได้ผ่านกระบวนการเหล่านี้หรือไม่ ทุกจุดมีกล้องวงจรปิด แม้กลางคืนแสงสว่างตรงนั้นก็เพียงพอที่จะเห็น ในกรณีป่วยเราจะเห็นถึงความโกลาหลในการเข้าไปช่วย ดังนั้นถ้าไปเอาวงจรปิดมาดูจะเห็นทั้งหมด  ยกเว้นทั้งหมดเป็นกระบวนการ ราชทิพย์  วงจรทิพย์ กล้องเสียไม่มีอยู่จริง แม้กระทั่งตอนมาอยู่ รพ.ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุม 4 คน 2 ผลัด ถ่ายรูปกับนักโทษทุก 2 ชม. ถ้า 180 วัน ก็รวมแล้ว 2,000 รูป เพื่อรายงานว่านักโทษอยู่ในการควบคุม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเรียกว่ารับโทษไม่ได้  เรียกว่าเป็นการพักใน รพ.มากกว่า และถ้ากล้องไม่ทิพย์ ก็เชื่อว่างานนี้ระนาวแน่  และอนาคตต้องมีคนติดคุกแน่นอน

ตู่เชื่อก่อนเม.ย.เปลี่ยนนายกฯ

 “ผมเชื่อว่าถ้ายังไม่เบี้ยวดีลกัน กล้องก็จะเสียต่อไป แต่ถ้าเบี้ยวก็กล้องวงจรปิดรพ.ตำรวจ กรมราชทัณฑ์ก็จะกู้ได้เร็วนับแต่เข้าโรงพยาบาลตำรวจคืนวันที่ 22 ส.ค.ถึง 23 ส.ค. ซึ่งความสงสัยเรื่องอยู่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ จะเป็นเรื่องรายละเอียดต่อไป รวมไปถึงการออกตัวแทนของรองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย ที่บอกว่าเอ็นไหล่ขาด นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่บอกว่ากระดูกหัก หรือ อัยการที่บอกว่าเสียงแหบ นั่งรถเข็นมา  ตกลงทักษิณป่วยเป็นอะไรกันแน่ เพราะต่างที่พูดไม่ตรงกัน” นายจตุพรกล่าว

ถามถึงทิศทางการเมือง นายจตุพร กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าการเลือกตั้งปี 66 พรรคเพื่อไทยได้แต้มน้อยที่สุดตั้งแต่มีไทยรักไทยมา ไม่มีเหลือสภาพเดิม ฉะนั้นการได้กลับประเทศไทยโดยไม่ต้องติดคุกซักวันเดียว เกิดขึ้นจากดีล ก่อนวันที่ 22 ส.ค.พรรคพวกในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้รับคำสั่งในการโหวตเลือกเศรษฐาในช่วงเช้าวันนั้นแล้วต้องสังเกตถัดจากนั้นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐาไม่ได้ราบรื่น เขาตั้งใจเลือกนายเศรษฐาเพราะเขามีเรื่องเยอะ มีการตั้งเรื่องร้องเรียนจากนักร้อง แถมยังไม่ได้ทำผลงาน ใช้งบประมาณไม่ได้ เพราะทำล่าช้า พ.ร.บ.งบฯปี 67 จะใช้ได้ก็เดือนพฤษภาคม

"ถ้าคำนวณปรากฏการณ์การนับวันที่ 10 เม.ย. ก่อนสงกรานต์ ไล่เรียงขึ้นไปแล้ว ศาลฎีกานัดคดีโรดโชว์ของยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ที่เลื่อนมาเป็นวันที่ 4 เม.ย. และวันที่  15 มี.ค. กรรมการดิจิทัลวอลเล็ตน่าจะได้ข้อสรุป แล้วส่งให้คณะรัฐมนตรี ถ้าดีลเดินหน้าก็ต้องเข้า ครม. ก็ต้องดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเข้าประชุมหรือไม่ ถ้านโยบายนี้ไม่ผ่าน ครม.เศรษฐาก็ต้องไป  เหตุการณ์ก็จะเกิดก่อนสงกรานต์ แล้วเวลาจะบรรจบกับ สว.หมดอายุ ถ้าเป็นไปตามกำหนดการนี้ มีการเปลี่ยนตัวนายกฯแน่นอน เชื่อว่านายกฯ คนใหม่อยู่ใน 3 แคนดิเดตหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ผมไม่เชื่อว่าเขาจะไม่วางตัวอุ๊งอิ๊ง ดังนั้นถ้าไม่เบี้ยวดีลเศรษฐาต้องไปก่อนสงกรานต์ แต่คิดว่ากระดานนี้ไม่ใช่ชื่อประวิตร" นายจตุพรกล่าว

ส่วนนายนันทิวัฒน์กล่าวว่า ยังมีข้อกังขาว่านายทักษิณป่วยเป็นอะไร เดิมบอกว่าเป็นการป่วยขั้นวิกฤต แต่ที่ออกมาตนมองว่าไม่วิกฤต ทำอะไรอย่างนี้ไม่เนียน ตนพบอดีต อสส.ท่านหนึ่งโดยบังเอิญ ท่านเรียกกรณีที่ว่ามันบิดตะกูด ไม่อยากเชื่อว่าลูกน้องเก่าท่านจะเป็นอย่างนี้ ส่วนที่ตั้งคำถามว่าติดคุกจริงหรือไม่ ก็ชัดเจนว่าทางราชทัณฑ์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนอะไร สุ่มเสี่ยงว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะถูก ม.157 ย้อนหลังได้ ปรากฏการณ์ทัณฑ์ทิพย์ที่เกิดขึ้น ยังส่งผลในภาพรวมต่อสังคม ทำให้คนทั่วไปรู้สึกไม่สบายใจ และเห็นว่าความเท่าเทียมจริงมันไม่มี

"หากมองทิศทางการเมือง ถ้าผมเป็นนายเศรษฐาจะคิดอย่างไร เพราะต่อไปนี้น่าจะมีการสั่งงาน สั่งการอยู่เบื้องหลัง  ข้ามหัวตัวเอง ผมเห็นด้วยกับนายจตุพร  ถ้าว่าดิจิทัลวอลเล็ตไปไม่ได้เพราะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลไม่อยากติดคุกด้วย   พรรคเพื่อไทยจะมีอะไรไปขายในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ และยังมองว่านายทักษิณไม่ไว้ใจคนอื่นนอกจากคนในตระกูลอย่างเดียว" นายนันทิวัฒน์กล่าว

ด้านนายวันวิชิตยังเชื่อว่านายเศรษฐาจะไม่ได้พ้นจากเก้าอี้ในเดือนเม.ย. เพราะประเจิดประเจ้อเกินไป ไทม์ไลน์ของนายจตุพรน่าสนใจ แต่ตนไม่เชื่อว่าจะไปง่ายขนาดนั้น แม้อุ๊งอิ๊งจะมาเร็ว แต่ก็ช้ำเกินไปจะมาตอนนี้ แต่แคนดิเดต 3 คนที่เหลือ  พล.อ.ประวิตรเป็นตัวเลือกแรกที่ตัดออก  เพราะประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์โพดผล และบริบทรอบข้างของพรรคพลังประชารัฐมีอะไรให้น่าสรรเสริญ นายพีระพันธุ์ไปเปลืองตัวกับกรณี เจ๋ง ดอกจิก ส่วนนายอนุทินนั้นเชื่อว่าพรรคภูมิใจอาจแฮปปี้ในสถานการณ์แบบนี้

 “ผมเชื่อว่าเศรษฐาจะลากไปหนึ่งปี กรณีดิจิทัลวอลเล็ตมันจะเกิดขึ้น จากนั้นถึงจะเกิดความรับผิดชอบทางนโยบาย อย่าลืมว่าตอนนี้จะเข้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่น จะไม่มีนโยบายอะไรไปหาเสียงถ้าไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต ผมเชื่อว่าช่วงเวลาอันใกล้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีมากกว่า” นายวันวิชิตกล่าว

นักวิชาการผู้นี้มองว่า พรรค พท.ต้องยื้อไปที่สุดในการเป็นรัฐบาล ไม่อยากให้เปลี่ยนใครมาแทน แต่ในอนาคตในลิสต์นายกฯ ที่มีพรรคเพื่อไทยดันคนของตัวเองขึ้นมานั้น ไม่น่าจะใช่ ตนมองที่นายอนุทินเป็นเบสต์ชอยส์ที่สุด จากร่องรอยในการการสะสมกำลังพลทางการเมืองในแต่ละจังหวัดมากขึ้น ด้วยคาแรกเตอร์ความเป็นคนกันเอง และมีเสน่ห์ในเรื่องการเก็บรายละเอียด ประนีประนอมสูง จึงต้องดูว่าจะเป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยมได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนพีระพันธุ์ ประวิตร ก็ค่อยหายไปตามวัฏจักรเวลา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง