“สภาพัฒน์” เผยจีดีพีปี 66 โต 1.9% คาดเศรษฐกิจปี 67 ขยายตัว 2.2-3.2% ขอ ธปท.ทบทวนปรับลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ย้ำต้องใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม "เศรษฐา" ได้ทียำแบงก์ชาติ ทำไมไม่พูดคุยต่อหน้าสาธารณชนบ้าง ว่าถึงเวลาต้องลดดอกเบี้ย
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัว 1.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 0.6% โดยรวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.3% ของจีดีพี
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2-3.2% อัตราเงินเฟ้อ 0.9-1.9% โดยยังไม่นำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเข้ามาคำนวณ เนื่องจากต้องหารือกับอีกหลายฝ่าย คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3% การลงทุนขยายตัว 3.5% ด้านการท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทย 35 ล้านคน มีการใช้จ่ายในประเทศ 1.22 ล้านล้านบาท นับเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ รัฐบาลต้องดูแลความปลอดภัยการท่องเที่ยวในประเทศ การยกเว้นวีซ่าระยะยาวให้ชาวต่างชาติ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีกำลังซื้อสูง เพื่อเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ
“ขณะนี้มีความเป็นห่วงตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก คาดว่าขยายตัว 3.5% ในปี 2567 เพราะการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัว 2.9% ในปี 2567 เทียบกับการลดลง 1.7% ในปี 2566 จึงต้องหารือกับสภาอุตสาหกรรม, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการส่งออกเริ่มดี แต่ทำไมเอกชนไม่สามารถผลิตสินค้าให้เติบโตได้ทันตามที่มีคำสั่งซื้อเข้ามา เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงถึง 27-28% ของจีดีพี หากเอกชนไม่ขยับจะกระทบต่อจีดีพีของประเทศหนักมาก” นายดนุชากล่าว
นายดนุชากล่าวว่า เศรษฐกิจที่ออกมาสะท้อนถึงปัญหาที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย คือหนี้ที่สูงโดยเฉพาะภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆ เกือบทั้งหมดแล้ว เช่นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุนใหม่ในประเทศ แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจยังอยู่ ทำให้น่าจะถึงช่วงเวลาที่มาตรการการเงินจะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจแล้ว โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังในช่วงถัดไปคือ มาตรการด้านการเงินต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี อาทิ อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเน้นลงไปที่ภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินอย่างจริงจัง โดยลดดอกเบี้ยจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ต่อปี ลดช่องว่างสัดส่วนกำไรสุทธิระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากให้แคบลง และกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำในการชำระบัตรเครดิต จากปัจจุบัน 8% ให้เหลือ 5% เพื่อลดภาระทางการเงินของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี ที่ต้องพึ่งสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นทุนหมุนเวียน อีกทั้งยังเห็นสัญญาณผู้ผิดนัดชำระหนี้ กลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น
นายดนุชากล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2567 ต้องหามาตรการดูแลภาคหนี้ครัวเรือน เพราะหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงต่อเนื่องมาหลายปียังไม่ลดลง หวั่นกระทบรายย่อยอย่างมาก สำหรับการดูแลผู้ส่งออกกำลังหารือกับกระทรวงการคลัง สร้างระบบค้ำประกันการส่งออกเป็นรายบุคคล หากมีคำสั่งซื้อเข้ามาควรนำเอกสารดังกล่าวยื่นค้ำประกันการกู้เงินจากแบงก์ เพื่อนำทุนมาผลิตสินค้าได้โดยไม่ต้องรอการค้ำประกันจาก บสย.ในแต่ละชุด เพื่อออกมาดูแลเอสเอ็มอีผู้ส่งออก
นอกจากนี้ ต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมาย และเตือนระวังภัยแล้งจากอุณหภูมิสูงในปีนี้ จนกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตร รัฐบาลต้องเตรียมแผนรองรับ หวั่นกระทบต่อเกษตรกรหนักมาก อีกทั้งความรุนแรงในตะวันออกกลางยังกระทบต่อค่าระวางเรือ และต้นทุนการส่งออกของไทย
ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ได้พูดไปหลายหนแล้ว และน่าจะทราบจุดยืนของตนอย่างชัดเจน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของเราเฉลี่ยโตต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เทียบกับลำดับจีดีพีโลกเราก็ต่ำลงไปเรื่อยๆ และอย่าลืมว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามายังไม่สามารถใช้งบประมาณได้เลย เร็วที่สุดที่น่าจะใช้ได้ก็คือ 1 เมษายน 2567 แต่ทุกกระทรวงได้ใช้นโยบายเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบเลย ซึ่งหลายสำนักมีการปรับประมาณการจีดีพีลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินการทุกมาตรการที่มีอยู่ ส่วนตัวขอฝากไว้ว่านโยบายดอกเบี้ยไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% หากลดลงเหลือ 2.25% เพียงสลึงเดียวก็จะช่วยบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชนทุกคนได้ แต่เขาไม่ลดกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ได้พูดเรื่องนี้มาตลอดแต่ไม่ได้รับการตอบรับจาก ธปท.เลยหรือ นายเศรษฐาถามกลับว่า “ดอกเบี้ยนโยบายใครเป็นคนควบคุม ก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย” ตนพูดคุยกับเลขาธิการสภาพัฒน์ ก็บอกว่าเราได้ทำทุกวิถีทางแล้ว และมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒน์ระบุว่า ได้คุยกับผู้ว่าการ ธปท.ว่าถึงเวลาที่จะต้องลด
“ผมจึงบอกว่าทำไมไม่พูดคุยต่อหน้าสาธารณชนบ้าง และพูดคุยในภาษาที่ชัดเจน ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผมเองต่างก็จบเศรษฐศาสตร์มา ตรงนี้เราไม่ได้มาเอาชนะกัน แต่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้น เพื่อรองบประมาณที่จะคลอดออกมา ผมก็ได้สอบถามกับเลขาธิการสภาพัฒน์ว่าสามารถทำอะไรได้อีก หากมีอะไรที่ทำได้ก็ขอให้เสนอมา ผมไม่ได้จมปลักอยู่กับการลดดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่การลดดอกเบี้ยก็เป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งเห็นอยู่แล้วสำหรับตัวเลขที่ออกมา อย่างเช่นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็พยายามที่จะออกมาให้เร็วที่สุด“ นายกรัฐมนตรีกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า การเติมเงินเข้าไปในระบบจำนวน 500,000 ล้านบาท จะทำให้เงินเฟ้อ นายกรัฐมนตรีกล่าวชี้แจงว่า ปัจจุบันนี้ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบอยู่แล้ว หากจะบอกว่าติดลบจากการที่รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนผ่านมาตรการลดราคาน้ำมัน หรือพยุงราคาไฟฟ้า ซึ่งหากถอดดัชนีตรงนี้ออกไปเงินเฟ้อขึ้นมาไม่ถึง 1% ยังไม่ถึงกรอบต่ำสุดด้วยซ้ำ ซึ่งหลายเรื่องที่รัฐบาลทำต้องใช้เวลา รวมไปถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วย หากทุกคนเห็นด้วยและพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีการทุจริตและประพฤติมิชอบ ก็จะพยายามทำให้เร็วที่สุด อยากจะให้เกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม และนโยบายอื่นก็พยายามดำเนินการอยู่ ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินการทุกอย่างที่สามารถทำได้ ณ วันนี้ยินดีรับฟังว่าอยากให้รัฐบาลทำอะไร แต่ต้องคำนึงว่างบประมาณสามารถใช้ได้หรือไม่ อย่างเร็วที่สุด 1 เมษายน ซึ่งพยายามเร่งอยู่แล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ