กกต.ลั่นยุบก้าวไกลไม่ช้า!

“อิทธิพร” ลั่น กกต.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย จะไม่ยอมพายเรือให้โจรนั่ง บอกคดียุบพรรคก้าวไกลต้องรอคำวินิจฉัยกลางก่อน แจงไม่ชักช้าแน่ บอกของบ 1.8 พันล้านเลือกตั้งสภาสูงแล้ว  “จรัญ” ยันการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศไทย

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.พ.2567 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของ กกต. อาจเป็นเครื่องมือทางการเมืองจากกรณียุบพรรคการเมืองว่า กกต.ไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่ก็ไม่สามารถห้ามใครคิดแบบนั้นได้ กฎหมายพูดเสมอว่าให้ กกต.มีหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าบทบาทเป็นอย่างไร กกต.ก็ต้องทำ คงไม่ได้เป็นเครื่องมืออะไร

เมื่อถามว่า สังคมมองว่าที่ผ่านมา กกต.มักยื่นยุบพรรคที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล  โดยครั้งนี้ก็คือพรรคก้าวไกล ซึ่งมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องใช้การแก้ไขมาตรา 112 นายอิทธิพรกล่าวว่า การยุบพรรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ไม่ได้ดูชื่อพรรค ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า พรรคการเมืองใด ทำอะไรอย่างไร แล้วเรื่องมาถึงอำนาจหน้าที่ของ กกต. เราก็ทำตามนั้น ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำงานโดยแท้

 “เรื่องยุบพรรคก้าวไกล อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อความรอบคอบ เพื่อความเป็นธรรมและชัดเจน อาจให้ศึกษาคำวินิจฉัยกลาง ซึ่งแนวทางการทำงานทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาคำวินิจฉัยของศาล หลักฐานและดูว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่มีกรอบเวลาชัดเจน แต่เรื่องนี้ต้องทำโดยไม่ชักช้า เพราะมีคำวินิจฉัยออกมาชัดเจนแล้ว แต่กระบวนการทำงานหากทำละเอียด ครบถ้วนได้ก็จะเป็นประโยชน์” นายอิทธิพรกล่าว

นายอิทธิพรยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่ามีการของบประมาณไปแล้วประมาณ 1,800 ล้านบาท และเพิ่งจัดประชุมผู้อำนวยการจังหวัดทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และออกระเบียบการเลือก สว. ประกาศราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว และขอให้ทุกภาคส่วนที่เป็นทีม กกต. ศึกษา และเตรียมการทำงาน ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบคำร้องในการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 นั้น ได้ดำเนินการไปเยอะแล้ว โดยมีคำร้องเข้ามา 373 เรื่อง  เหลืออยู่ 35 เรื่อง ซึ่งตามระเบียบ กกต.ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งยังมีเวลาอีก 3 เดือน ก็จะพยายามทำให้เสร็จ ยืนยันว่าไม่ช้า

วันเดียวกัน คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา  จัดสัมมนาเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร” โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ในการวินิจฉัยตัดสินเรื่องขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกส่งต่อมาจากองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาศาลได้รับผลกระทบ ส่วนตัวก็เคยถูกข่มขู่ แต่ก็ต้องยืนยันว่าศาลต้องทำตามกฎหมาย และทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทำให้อดทนทำหน้าที่โดยไม่หวั่นไหว ส่วนผู้ที่ถูกศาลวินิจฉัยตัดสินก็ต้องยอมรับ หาข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วแก้ไขเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ใช่การปลุกประชาชนลงถนน ก่นด่าบนโลกออนไลน์

นายอิทธิพรกล่าวว่า กกต.ทุกชุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยสำนึกว่า กกต.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม  ชอบด้วยกฎหมาย ต้องกล้าหาญ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีมาตรฐานสูงอย่างต่อเนื่อง ทำหน้าที่กำกับดูให้พรรคการเมืองดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเมืองมีความเข้มแข็งพร้อมๆ กับการจัดระบบการเลือกตั้งที่อำนวยความสะดวกต่อประชาชน ที่สำคัญคือ กกต.จะพยายามอย่างเต็มที่ โดยประกาศเจตนารมณ์ว่าเราจะไม่พายเรือให้โจรนั่ง ไม่ขับรถบัสให้โจรนั่ง ซึ่งที่ผ่านมาก็อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.  3 ฉบับ ซึ่งในฉบับปี 2560 เพิ่มอาวุธให้ กกต.เยอะขึ้นมาก ส่วนเรื่องร้องเรียนที่ยื่นเข้ามาในปี 2566 มี 319 เรื่อง บางเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้อง 

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ มีการกำหนดเวลาการทำงานในแต่ละภารกิจไว้ ซึ่งจะมีผลให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น และสามารถสะสางคดีค้างเก่าได้มากพอสมควร ทำให้มั่นใจได้ว่าในปี 2567 จะสามารถพิจารณาเรื่องที่มีการร้องเรียนได้เสร็จกว่า  1,000 เรื่อง

นายจรัญยังตอบคำถามในงานสัมมนาเรื่องกรรมการองค์กรอิสระชุดนี้ไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน เพราะได้รับเลือกและแต่งตั้งในยุครัฐประหาร ว่าระบอบการปกครองที่ชื่นชมที่สุดคือการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นใด ระบอบการปกครองของประเทศใด ก็ควรจะสุมหัวกันของคนในประเทศนั้น แล้วออกแบบของตัวเอง ไม่ใช่ไปถือรูปแบบของประเทศอื่นใดมาเป็นตัวตัดสินสถานะระบอบการปกครองของเรา  แม้ตนเองไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งๆ ที่ก็เคารพคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็ภาคภูมิใจในฐานะและภารกิจที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นประมุขของประเทศ พระองค์ไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็จริง แต่รัฐธรรมนูญบัญญัติชัด อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนคือองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่ศาล ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี  ไม่ใช่รัฐสภา ทั้งนี้ รัฐสภาก็ดี ครม.ก็ดี ศาลต่างๆ ก็ดี เป็นช่องทางการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยองค์พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ นี่คือการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง

 “ผมไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้ขาดความเชื่อมโยงจากประชาชน เพราะผมไปโดยการเสนอรับรองของวุฒิสภา ในปี 2550 ซึ่งมาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และสรรหาอีกครึ่งหนึ่ง แต่ผมยังไม่ถือเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็น และเมื่อผมเป็นแล้ว ผมไม่มีทางคิดเป็นอย่างอื่น ไม่มีทางทำเป็นอย่างอื่น นอกจากยืนหยัดมั่นคงในระบอบเสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายจรัญกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก

เพื่อแม้วประสานเสียง 'ทักษิณ' ปราศรัยเดือดเชียงราย ทำได้ไม่ขัดระเบียบ กกต.

'วิสุทธิ์' ป้อง 'ทักษิณ' ปราศรัยเดือดเชียงราย อ้างไปแล้วไม่พูดหาเสียงจะไปทำไม 'ชูศักดิ์' เสริมอีกแรง ตามระเบียบจะพูดอะไรก็ได้ แจ้ง กกต. เรียบร้อย